วันสรงกรานต์ ปี๒๕๕๔

kroowut profile image kroowut

สงกรานต์

เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ
     เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็น ถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี ปัจจุบันสงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๓,๑๔,และ๑๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนบุพการีและสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง [คลิกที่นี่เพื่อดูประวัติ (ตำนาน) วันสงกรานต์อย่างพิศดาร]

 
ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทย
    
ในสมัยโบราณ ไทยเราถือเอา วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็น วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งคนสมัยก่อนจะถือว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม ต่อมาก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต วันปีใหม่จึงเปลี่ยนเป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน หรือประมาณเดือนเมษายน อันเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์จุลศักราชโดยถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมาเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม และใช้กันมาจนปัจจุบัน
 
สงกรานต์ปีใหม่แบบไทย
    
แม้เราจะนับวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยมตามที่กล่าวมาแต่ด้วยลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่โบราณไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่างๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
 
ความหมายของสงกรานต์
     คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น" หรือ "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้าย" หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปอีกราศีหนึ่ง เช่น เคลื่อนจากราศีพฤกษภไปสู่ราศีเมถุน ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่าสงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตามก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" อันหมายถึงการก้าวขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยการนับทางสุริยคติ ซึ่งจะตกในราววันที่ ๑๓,๑๔ หรือ ๑๕ เมษายน ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้
 

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ ๑๒ เดือน
วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า "วันเนา" แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เข้าเคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว
วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย ๑ องศา

    
ทั้งสามวันนี้ ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์ และการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริง ๆ ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
 
คุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์
    
การที่สงกรานต์ยังเป็นประเพณีที่ไทยเรายังถือปฏิบัติ และสามารถสืบทอดต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะความหมาย คุณค่า และสาระที่แฝงอยู่ คือ
     -
คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้เกิดความรักความผูกกกพันในครอบครัว เช่น สมาชิกในครอบครัวมาทำบุญร่วมกัน ลูกหลานมารดน้ำขอพรจากพ่อแม่เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่
     - คุณค่าต่อชุมชน
เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานในชุมชน เช่น การได้มาพบปะสังสรรค์ ทำบุญร่วมกันในวัด ชมการละเล่นสนุกสนาน หรือเล่นสาดน้ำในหมู่เพื่อนฝูง คนรู้จักด้วยมิตรไมตรี
     - คุณค่าต่อสังคม
เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ของตนให้สะอาดหมดจดเพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน หรือช่วยทำความสะอาดสาธารณสถานต่าง ๆ ไม่ว่าวัดวาอาราม อาคารสถานที่ราชการ เป็นต้น
 
   - คุณค่าต่อศาสนา การทำบุญ ตักบาตรเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ ปฏิบัติธรรมหรือปล่อยนกปล่อยปลา เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นการปฏิบัติที่นำความรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตทั้งสิ้น

สงกรานต์ ปีนี้ ดีหรือร้าย?
เล่าตำนาน “7 นางสงกรานต์” ลูกสาวท้าวกบิลพรหม
ประกวดนางสงกรานต์กันทุกปี เคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่า “นางสงกรานต์” ต้นตำรับเป็นใคร มาจากไหน แล้วทำไมคนไทยสมัยก่อน สนใจใคร่รู้จักนักว่าปีนี้ "นางสงกรานต์" ชื่ออะไร พาหนะทรงเป็นสัตว์ชนิดไหน คำทำนายทายทักวันสงกรานต์จะออกมาดีหรือร้าย...
       จริง ๆ แล้ว นี่เป็นเพียงความเชื่อ ของคนไทย สมัยก่อน เกี่ยวกับการทำนาทำไร่ คนไทยส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงอยากจะรู้นักหนาว่า ปีนี้จะแล้ง หรือ อุดมสมบูรณ์        

       สำหรับ “นางสงกรานต์” นั้น เป็นลูกสาวของท้าวกบิลพรหม ซึ่งไม่ใช่คนเดียวแต่มีถึงเจ็ดคน แถมยังเป็นบาทบริจาริกา (เมียน้อย) ของพระอินทร์อีกด้วย ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน(ยง เสถียรโกเศศ) อธิบายไว้ว่า นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ อันเป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณี เป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นการเถลิงศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันใด นางสงกรานต์ที่มีชื่อสมมุติเข้ากับวันนั้นๆก็จะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ไปสรงน้ำ

       จากตำนานเล่าถึงท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร ต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะต่างๆผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์”       

       ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง นอกจากตำนานข้างต้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั่นก็คือ นางสงกรานต์ของแต่ละวัน จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่างๆ กันออกไป       
       ๑. สงกรานต์ตรงกับ วันอาทิตย์  นางทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช(พลอยสีแดง) ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ
       ๒. สงกรานต์ตรงกับ วันจันทร์ นางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ        
       ๓. สงกรานต์ตรงกับ วันอังคาร างรากษส (ราก-สด) ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู) เป็นพาหนะ        
       ๔. สงกรานต์ตรงกับ วันพุธ นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ       
       ๕. สงกรานต์ตรงกับ วันพฤหัสบดี นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ       
       ๖. สงกรานต์ตรงกับ วันศุกร์ นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือ (ควาย) เป็นพาหนะ
       ๗. สงกรานต์ตรงกับ วันเสาร์ นางมโหทร ทัดดอกสาวหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ
 


ท้าวกบิลพรหมและลูกสาวทั้ง ๗ [คลิกที่นี่เพื่อดูประวัติ (ตำนาน) วันสงกรานต์อย่างพิศดาร]


๑. นางทุงษะ นางสงกรานต์ประจำ วันอาทิตย์
   

๒. นางโคราคะ นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์

๓. นางรากษส นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร

๔. นางมณฑา นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
   

๕. นางกิริณี นางสงกรานต์ประจำวันวันพฤหัสบดี

๖. นางกิมิทา นางสงกรานต์ประจำ วันศุกร์

๗. นางมโหทร นางสงกรานต์ประจำ วันเสาร์
   
       ทั้งนี้ นอกจากนางสงกรานต์แต่ละวัน นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนปีตามนักษัตรใหม่แล้ว ยังมีสาระเกี่ยวกับการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆทั้งดีและร้ายซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างปี ซึ่งตามตำรามหาสงกรานต์ได้อธิบายไว้ ดังนี้

คำทำนายเหตุการณ์ดีร้าย       
       สงกรานต์วันอาทิตย์ ผลผลิตทุกอย่าง ได้แสนโสภางค์ ออกผลมากมาย ของมิสูงแพง มิแล้งรู้หมาย ตามคำทำนาย บ่งไว้เช่นนี้ หมายถึง ผลผลิตต่างๆดี ข้าวของไม่แพง
       
       สงกรานต์วันจันทร์ รู้มั่นเชิงมี ข้าลากมากชี้ ช่องแพ้ ท้าวพระยา อีกเสนาบดี เด่นดีนักหนา จงทราบกิจจา ข้อเค้ากล่าวไว้ หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนคุณหญิงคุณนายจะเรืองอำนาจ
       
       สงกรานต์วันอังคาร และวันเสาร์ ผ่านเข้าเสาร์นัย ระวังเจ็บไข้ ขโมยมากมี แถมพระเพลิงร้อน ห่อนได้หลีกหนี เข้าบุกคลุกคลีแก่เหล่าอาณา หมายถึง โจรผู้ร้ายจะชุกชุม เกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง

       สงกรานต์วันพุธ สุดแสนเปรมปรา ลาภยุคท้าวพระยา มาจากต่างเมือง ลูกอ่อนก่อเหตุ อาเพศขุ่นเคือง มักจะเกิดเรื่อง ให้เร่งระวัง หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
       
       สงกรานต์วันพฤหัสบดี เรื่องขัดข้องตั้ง แพ้ท้าวพระยา หวังล้วนไม่สู้ดี พระสงฆ์ทรงศีล ถูกปีนป่ายชี้ เดือดร้อนเหลือที่ ให้ตั้งทางธรรม หมายถึง ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่และเจ้านาย
       
       สงกรานต์วันศุกร์ ทุกข์หมดปลดช้ำ ข้าวปลาเหลือล้ำ อุดมสมบูรณ์ ระวังเจ็บตา ฝนพายุพูน เด็กล้วนประมูล มากโทษให้แล หมายถึง พืชพันธ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ แต่ฝนชุกพายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก


       นอกเหนือไปจากคำทำนายข้างต้น อันเน้นเรื่องวันที่ ที่พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษที่เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” ว่าตรงกับวันใด มีคำนายว่าอย่างไรแล้ว ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ก็มีคำนายไว้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดเป็นอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา มีอยู่ ๔ ท่า ซึ่งตามความเชื่อโบราณบอกไว้ว่า ดังนี้

คำทำนายเหตุการณ์ดีร้าย       
       . ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง นางสงกรานต์จะยืนบนพาหนะ และถ้ายืนมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น คนจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
       
       . ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเที่ยงจนถึงค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งบนพาหนะ ถ้านั่งมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ

       ๓. ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมตาบนพาหนะ ถ้านอนลืมตา มีความเชื่อว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
       
       . ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับตาบนพาหนะ ถ้านอนหลับตา มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

 
 

ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เว็บมาสเตอร์ http://www.songkran.net
เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 11 เมษายน 2548
บริษัทสยามแกลเลอรี่ จำกัด, สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพาณิชย์,
ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบและที่มาของ

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

nt88555 Icon slot online play to erun อ่าน 43 1 ปีที่ผ่านมา
1 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันสำคัญของไทย 1 อ่าน 1,846 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon ไม้มงคล ๙ ชนิดของไทย 1 อ่าน 1,953 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันสรงกรานต์ ปี๒๕๕๔ อ่าน 1,673 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันเด็กแห่งชาติ อ่าน 1,874 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon ประวัติวันขึ้นปีใหม่ อ่าน 1,779 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันแม่แห่งชาติ 1 อ่าน 3,731 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันภาษาไทย 2 อ่าน 3,790 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon คลิปวันอาสาฬหบูชา อ่าน 2,751 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon ประวัติวันเข้าพรรษา อ่าน 3,349 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon นิทานเรื่องหนูน้อยช่างฝัน 3 อ่าน 2,718 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon นิทานเรื่องหนูน้อยขี้สงสัย 2 อ่าน 2,641 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา