การทำหมันชาย

wangstation profile image wangstation

การทำหมันชาย

การทำหมันชาย เป็นการคุมกำเนิดประเภทถาวรที่ง่ายและได้ผลดีในเพศชาย โดยวิธีการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่มาจากลูกอัณฑะทั้งสองข้าง เริ่มทำเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริการาวต้นคริสตวรรษที่ 20 ปัจจุบันคู่สมรสกว่าร้อยละ 7 - 15 จะเลือกการทำหมันชายนี้เป็นวิธีการคุมกำเนิด แม้จะง่าย ปลอดภัย และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยแต่กลับมีสัดส่วนการใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิดน้อยกว่า เพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการทำหมันหญิงเท่านั้น เนื่องจากความเชื่อและความเข้าใจผิดต่างๆ ที่ว่า การทำหมันชายจะทำเกิดอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงจนไม่สามารถทำงานหนักเป็นปกติได้ ที่สำคัญทำให้พลังหรือสมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอยลง การทำหมันชายนั้น จัดเป็นหัตถการที่ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบระหว่างทำผ่าตัด ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ก็เพียงพอ และหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด สามารถกลับบ้นหรือกลับออกไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชาย
คู่สมรสโดยเฉพาะเพศชายที่เลือกคุมกำเนิดด้วยการทำหมันชายนั้น ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชายก่อนการตัดสินใจ และจะช่วยลดความวิตกกังวลต่างๆลงในระหว่างและภายหลังการทำหมันชายอีกด้วย ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการทำหมันชาย มีดังนี้
1. การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ
เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้ออสุจิปนออกมาในน้ำกามที่หลั่งออกมา หาใช่การตัดเอาลูกอัณฑะออกเพื่อตอนไม่
2. การทำหมันชายไม่มีผลทำให้พละกำลังการทำงานหนักตามปกติลดลง
3. การทำหมันชายไม่มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความรู้สึกต้องการและความพึงพอใจทางเพศ การแข็งตัวขององคชาต ตลอดจนการเข้าถึงจุดสุดยอดจนหลั่งน้ำกามนั้นจะเป็นปกติ
4. การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดประเภทถาวร การผ่าตัดแก้หมันในภายหลังจึงได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ หากยังต้องการมีบุตรอีกควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทชั่วคราวอื่นแทน
5. การทำหมันชายมีอัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิดไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีอัตราความล้มเหลวของการคุมกำเนิดต่ำมากเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ

การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย

  1. คู่สมรสที่เลือกการทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิด ควรมีบุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันชายเพื่อต้องการมีบุตรอีกในภายหลังนั้น ได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์
  2. บุตรคนสุดท้องควรมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กในขวบปีแรกมักจะป่วยเป็นโรคอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ง่าย
  3. ประวัติโรคประจำตัวที่สำคัญ ควรระวังและต้องเรียนให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ได้แก่ ภาวะเลือดออกผิดปกติและเลือดแข็งตัวช้า เช่น มีจ้ำเลือดหรือห้อเลือดตามตัว ประวัติเคยแพ้ยาโดยเฉพาะยาชาจากการผ่าตัดครั้งก่อน ซึ่งแพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลเลือกวิธีการผ่าตัดทำหมันที่เหมาะสมต่อไป
  4. โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ชายภายนอก ได้แก่ ตุ่มหนองที่ผิวหนังถุงอัณฑะ หูดที่องคชาต เป็นต้น ควรจะรับรักษาให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดทำหมันชาย
  5. การเตรียมตัวโกนขนรอบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เพื่อความสะดวกและสะอาดระหว่างการผ่าตัดทำหมัน

การดูแลปฏิบัติตัวหลังการทำหมันชาย
เนื่องด้วยหลังเสร็จสิ้นการทำหมันชายผู้รับการทำหมันสามารถกลับบ้านหรือกลับออกไปปฏิบัติงานได้เป็นปกติ การดูแลปฏิบัติตัวด้วยตนเองจึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น การปฏิบัติตัวเหล่านี้ ได้แก่

  1. ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผลผ่าตัดที่ถุงอัณฑะในวันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่ว ยลดอาการบวม ความเจ็บปวด และป้องกันการเกิดห้อเลือด
  2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหรือยกของหนักเป็นเวลา 3 วัน
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์หลังทำหมันชายทันทีนั้น จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเจริญเข้าต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ตัดและผูกแยกจากกันแล้ว ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว
  4. ใช้การคุมกำเนิดชั่วคราวประเภทอื่นแทนหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ กระทั่งตรวจพบว่าเป็นหมันโดยถาวรคือ ไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา
  5. ควรรับการตรวจน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังทำหมันชายไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ เพื่อความแน่ใจว่าเป็นหมันโดยถาวร คือไม่พบเชื้ออสุจิ และควรตรวจติดต่อกัน 2 ครั้งเพื่อความมั่นใจ

ระยะเวลาการเป็นหมันโดยถาวรหลังทำหมันชาย
การเป็นหมันโดยถาวรหลังทำหมันชายนั้น หมายถึง การตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการหลั่งน้ำกามออกมา มากกว่าระยะเวลาหลังการทำหมันชาย โดย

  1. ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80-90 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังที่มีการหลั่งน้ำกามออกไปแล้ว 12-15 ครั้ง
  2. ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาหลังการทำหมันแล้ว 6 สัปดาห์ โดยไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความบ่อยครั้งของการหลั่งน้ำกาม
  3. เชื้ออสุจิที่เหลือค้างอยู่ในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ จะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวใน 3 สัปดาห์ภายหลังทำหมันชาย
  4. ไม่ควรตรวจพบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ภายหลังทำหมันชายแล้ว 3 เดือนหากตรวจพบและยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ แสดงว่าเกิดความล้มเหลวในการผ่าตัดทำหมันชาย
  5. การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิด มีความล้มเหลวน้อยกว่าร้อยละ 1 ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ รวมทั้งประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ที่ทำ

ภาวะแทรกซ้อนหลังทำหมันชาย
พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของผู้รับการทำหมันชาย ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย และสามารถให้การรักษาตามอาการ ในบางรายอาจต้องรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ นี้ จะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ที่ทำผ่าตัด ได้แก่

  1. ห้อเลือด พบบ่อยประมาณร้อยละ 1 ของผู้รับการทำหมันชาย มีสาเหตุจากการทำบาดเจ็บต่อเส้นเลือดที่อยู่โดยรอบท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ระหว่างการฉีดให้ยาชาเฉพาะที่ หรือระหว่างการผ่าตัดแยกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิและจับผูกเส้นเลือดไม่ดีพอ ถ้ามีขนาดเล็กจะดูดซึมหายไปได้เองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ หากมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมาก ควรมาพบแพทย์ซึ่งอาจต้องทำผ่าตัดควักเอาห้อเลือดออก และจับผูกตำแหน่งเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุ
  2. แผลผ่าตัดติดเชื้อ พบได้น้อยมากในปัจจุบันและมักพบร่วมกับการเกิดห้อเลือด โดยแผลผ่าตัดที่ติดเชื้อจะมีอาการบวมแดง และปวดเจ็บเวลากดหรือนุ่งกางเกง บางรายที่เป็นมากอาจพบมีหนองไหลออกมา หากเกิดอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์โดยทันทีเพื่อให้การรักษา
  3. การอักเสบของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ติดกับลูกอัณฑะ พบประมาณ 1-3 รายใน 500 รายของผู้รับการทำหมันชาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบวมอักเสบ เนื่องจากความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังการตัดและผูก ให้รักษาโดยการนั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใส่เครื่องช่วยพยุงถุงอัณฑะที่นักกรีฑาใช้กัน และให้ยาลดอาการอักเสบประเภท NSAIDs อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองภายใน 6-12 สัปดาห์
  4. ก้อนในถุงอัณฑะ เป็นก้อนเชื้ออสุจิที่เกาะอยู่รอบๆปลายท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ตัดและผูกไว้ เกิดจากเชื้ออสุจิรั่วออกมาและเกิดการอักเสบขึ้นโดยรอบ จนจับตัวกันเป็นก้อนห่อหุ้มปลายท่อนั้น พบประมาณ 2 ใน 3 ของผู้รับการทำหมันชาย แต่จะตรวจคลำพบเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ก้อนในถุงอัณฑะนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเข้าเชื่อมต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว มักพบภายใน 12 สัปดาห์หลังการทำหมัน แต่อาจเกิดหลังจากนั้นนานนับ 10 ปี มีข้อดีคือ ทำให้ความดันภายในท่อลดลง เพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดต่อหมัน
  5. ปวดหน่วงเรื้อรังที่อัณฑะ พบประมาณ 1 ใน 2,000 รายของผู้รับการทำหมันชาย มีสาเหตุจากความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อที่ติดกับลูกอัณฑะ อาการปวดหน่วงนี้เป็นไม่มากและต้องการการรักษาตามอาการเป็นบางครั้งเท่านั้น ในรายที่มีอาการปวดมากอาจต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อหมันกลับเป็นอย่างเดิม หรือทำผ่าตัดเอาท่อที่ติดกับลูกอัณฑะออกหมด

ผลที่ตามมาหลังการทำหมันชาย
ผู้ที่ทำหมันชายส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ผลที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่จากการสำรวจติดตามผลในผู้ที่ทำหมันชายไปแล้วนานกว่า 25 ปีมากกว่า 10,000 ราย ไม่พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติในระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้น

1. ระบบการสืบพันธุ์ โดยความดันที่เพิ่มขึ้นหลังทำหมันชายจะทำให้ท่อที่ติดกับลูกอัณฑะโปร่งพองขึ้น เกิดรอยแตกเล็กๆ และการจับเกาะตัวเป็นก้อนของเชื้ออสุจิ
กระจัดกระจาย ส่งผลให้เกิดการ อุดตันขึ้นจากการกดทับภายนอกท่อ ทั้งนี้พบว่าท่อ เหล่านี้จะเสี่ยงต่อการอุดตันอย่างสิ้นเชิงหลังทำหมันชายไปแล้ว 10 ปี แต่จะไม่ส่งผล
ต่อเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศในลูกอัณฑะ ระดับฮอร์โมนเพศชายในกระแสไหลเวียนโลหิตจึงเป็นปกติ และไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ปริมาณ น้ำกามที่หลั่งออกมาก็เป็นรวมทั้งสีและกลิ่นก็ปกติ เนื่องจากน้ำกามกว่าร้อยละ 90-95 ที่หลั่งออกมานั้น มาจากสารคัดหลั่งของต่อมลูกหมากและถุงเก็บเชื้ออสุจิที่อยู่หลังต่อกระเพาะปัสสาวะ
2. ระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม โดยปกติเชื้ออสุจิจะถูกแยกจากระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายจากสิ่งกีดขวางที่อยู่ภายในลูกอัณฑะ ความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นหลังทำหมันชายนั้น จะทำให้สิ่งกีดขวางเหล่านี้ถูกทำลายลงเชื้ออสุจิจึงรั่วไหลเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และแสดงตัว เป็นสิ่งแปลกปลอมหนึ่งของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น เพื่อจับรวมตัวกับเชื้ออสุจิและขจัดออก ภูมิต้นทานนี้จะค่อยๆ ลดหายไปได้เองในระยะเวลา 2-4 ปีหลังทำหมันชาย มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังมีปรากฏอยู่หลังจากนั้น และบางส่วนจะพบปรากฎในน้ำกามที่หลั่งออกมา โดยจะไม่มีผลต่อการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้นอาจมีผลทำให้โอกาสการตั้งครรภ์หลังการทำผ่าตัดต่อหมันชายลดลง
การทำหมันชายกับมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชาย
ความเชื่อที่ว่าความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิหลังการทำหมันชาย น่าจะมีผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะลูกอัณฑะและต่อมลูกหมากซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์เหล่านี้มากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามความสัมพันธ์ดังกล่าว กลับพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดย

1. ในต่อมลูกหมาก เชื่อกันว่าจะทำให้ต่อมลูกหมากสร้างและขับสารคัดหลั่งออกมาลดลง เซลล์ภายในจึงมีการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดขึ้น ร่วมไปกับการเพิ่มขึ้นฮอร์โมนเพศชายในกระแสไหลเวียนโลหิต ส่งผลกระตุ้นและสนับสนุนโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามกระทั่งปัจจุบันพบว่า การทำหมันชายจะไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานของต่อมลูกหมาก และระบบต่อมไร้ท่อทั้งต่อมใต้สมองและลูกอัณฑะ สาเหตุที่ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ที่ทำหมันชายมากกว่าปกตินั้น น่าจะมาจากผู้ที่ทำหมันชาย มักจะมา พบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพบ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการทำหมัน และได้รับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักบ่อยกว่า จึงทำให้มีโอกาสตรวจพบมากกว่าคนปกติ
2. ในลูกอัณฑะ เชื่อกันว่าความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อหลังทำหมันชาย จะมีผลต่อการสร้างเชื้ออสุจิภายในลูกอัณฑะ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการก่อเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาติดตามพบว่า ชายที่ทำหมันชายเพื่อคุมกำเนิดนั้น มักจะอยู่ในช่วงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะอยู่แล้ว และในรายงานทางการแพทย์ที่พบ มะเร็งลูก อัณฑะหลังทำหมันชายนั้น เป็นการตรวจพบหลังทำหมันชายแล้ว 3 เดือน เนื่องจากมีอาการ ปวดถ่วงที่ลูกอัณฑะตลอดเวลา จึงมีการตรวจอย่างละเอียดและพบมะเร็งอัณฑะดังกล่าว

โดยสรุป

การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิดนั้น จัดเป็นหัตถการการผ่าตัดที่ง่ายและได้ผลดีในการคุมกำเนิดอย่างถาวร เทคนิคการผ่าตัดทำหมันชายใหม่ๆ ในปัจจุบัน ช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้นลงได้มาก ซึ่งอาจเป็นผลให้การทำหมันชายในวันข้างหน้าเป็นที่นิยมมากขึ้น เพศชายส่วนใหญ่มักจะคิดกังวลและมีความสับสนว่า การทำหมันชายเป็นการตอนตัดลูกอัณฑะออกทิ้ง จนไม่สามารถทำงานหนักได้เป็นปกติ และมีความเสื่อมถอยในสมรรถภาพทางเพศ การทำ ความเข้าใจและรับคำปรึกษาจากแพทย์ จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดเหล่านี้และลดความ กังวลลง จากการศึกษาวิจัยในอดีตกระทั่งปัจจุบันพบว่า การทำหมันชายยังเป็นวิธีการที่ ปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

 

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

9 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon 49 52 ความสำคัญที่บางคนก็ลืม อ่าน 3,447 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon ท่วงท่าเพิ่มรสลีลารัก อ่าน 5,110 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon เตรียมตัว 5 นาทีก่อนมีเซ็กส์ อ่าน 5,795 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon Quick SEX (มีเซ็กส์แบบฟาสฟู๊ด) อ่าน 2,281 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon การทำหมันชาย อ่าน 3,201 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon ข้อดีของการมีเซ็กส์ อ่าน 4,093 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
wangstation Icon จูบ การใช้มือ และไคลแมกส์ อ่าน 3,545 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา