โรคไต อาการที่บ่งชี้

wangstation profile image wangstation

ความรู้เกี่ยวกับโรคไตที่ควรทราบ


โดย  นาวาอากาศเอก นายแพทย์ อนุตตร   จิตตินันทน์

กองอายุรกรรม  โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

 

          ไตเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะซึ่งมีหน้าที่สร้างปัสสาวะ   ทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยส่วนต่างๆ  4  ส่วน  คือ ไต  ท่อไต  กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ  ไตเป็นอวัยวะที่ผลิตปัสสาวะจากการกรองเอาของเสีย น้ำและเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไต   ปัสสาวะเมื่อผลิตจากไตแล้วจะผ่านมาทางท่อไตไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ  เมื่อปริมาณปัสสาวะที่เก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะมากพอเราจะรู้สึกปวดปัสสาวะ  เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวและหูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะเปิดออก  ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอก 

          หน้าที่สำคัญของไตคือการสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย   นอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต  และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง  ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย

 

อาการของโรคไต

บวม

          ทุกคนคงเคยมีการบวมมาแล้ว  การบวมส่วนใหญ่เป็นการบวมเฉพาะที่  เช่นถูกแมลงกัดต่อย  พกช้ำหลังเล่นกีฬา   การบวมแบบนั้นมักไม่มีปัญหามาก  การรักษาเฉพาะที่จะทำให้อาการบวมดีขึ้นในเวลาไม่นาน   การบวมที่มีความสำคัญก็คือการบวมทั้งตัว   ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และหน้า  จะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น  ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง  ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตุไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น   อาการบวมเกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย   โรคสำคัญที่ทำให้บวมก็คือ  โรคไต  โรคหัวใจ  และโรคตับ   ดังนั้นถ้ามีการบวมทั้งตัวความรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็ค  และอาจจำเป็นต้องเจาะเลือด  ตรวจปัสสาวะด้วย    การซื้อยามารับประทานเอง อาจช่วยให้อาการบวมหายไปได้  แต่มักไม่ได้มีผลรักษาโรคโดยตรง   ยาแก้บวมส่วนใหญ่ คือยาขับปัสสาวะซึ่งทำให้มีปัสสาวะมากขึ้น   แต่อาจมีผลเสียจากยาและบดบังอาการของโรค ทำให้การรักษาล่าช้าไป

ปัสสาวะเป็นเลือด

          ปัสสาวะคนเราจะมีสีเหลืองใส  อาจมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อยถ้าดื่มน้ำน้อย  ถ้าปัสสาวะที่ออกมามีสีออกแดงหรือเป็นแบบสีน้ำส้างเนื้อแสดงว่ามีเลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ  ถ้าจะให้แน่นอนว่ามีเลือดออกจริงหรือไม่จะต้องตรวจปัสสาวะดู   คนปกติไม่ควรมีปัสสาวะเป็นเลือด  ดังนั้นหากมีปัสสาวะดังกล่าวควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดจากโรคต่างๆ ได้หลายอย่างเช่น  นิ่ว  เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ  อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือ เส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ  โรคเหล่านี้ถ้ารีบรักษาตั้งแต่ระยะแรกมักจะได้ผลดีกว่าทิ้งไว้นาน   ดังนั้นหากมีปัสสาวะสีผิดปกติควรมาพบแพทย์  แพทย์มักจะต้องให้ตรวจปัสสาวะ  และถ้าพบเม็ดเลือดแดงก็จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป

ปัสสาวะบ่อย

          คนเราแต่ละคนจะมีความถี่บ่อยของการปัสสาวะแตกต่างกัน  ขึ้นกับการฝึกหรือนิสัยส่วนตัว  รวมทั้งปริมาณน้ำที่ดื่มและน้ำที่เสียไปทางเหงื่อกับอุจจาระ  การที่มีปัสสาวะบ่อยกว่าที่เคยเป็นอยู่   ในระยะเริ่มต้นอาจสังเกตุได้ไม่ชัดเจน  อาการที่ต้องนึกถึงว่ามีปัสสาวะบ่อยผิดปกติก็คือ การตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน  ในคนปกติจะไม่ตื่นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนบ่อยกว่าคืนละครั้ง  อาการปัสสาวะบ่อยเป็นอาการของโรคไตบางชนิด  แต่ความจริงแล้วผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อยมักจะไม่ได้เกิดจากโรคไต  แต่เกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่าที่พบบ่อยที่สุดก็คือ  โรคเบาหวาน  นอกจากนั้นอาจเกิดจาก  เบาจืด,   กระเพาะปัสสาวะอักเสบ   หรือการกินน้ำมากเกินไป   นอกจากนั้นยังอาจเป็นอาการของโรคไตวายในระยะแรก  ดังนั้นถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย  โดยเฉพาะหากมากกว่าวันละ 3 ลิตร  หรือตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

ปัสสาวะน้อยลง

          โดยทั่วไปเมื่อคนเราดื่มน้ำมากปัสสาวะมักจะมากขึ้น  เมื่อดื่มน้ำน้อยปัสสาวะก็มักจะน้อยลงเช่นกัน  แต่หากดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะไม่ออกมากตามหรือปัสสาวะไม่ออกเลย  มักเกิดจากการทำงานของไตเสียไป  หรือมีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ  ดังนั้นเมื่อสังเกตุว่าปัสสาวะน้อยลงให้ลองรับประทานน้ำเพิ่มขึ้นและสังเกตุว่ามีปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่  หากยังคงมีปัสสาวะออกน้อยถึงแม้จะดื่มน้ำมากขึ้นแล้วควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาโดยทันที

ปัสสาวะลำบาก

          ขณะที่เราปัสสาวะเมื่อเกิดการปวดปัสสาวะนั้น   การปัสสาวะควรจะคล่องดีโดยไม่มีอาการขัด แสบ หรือปัสสาวะลำบาก  หากมีอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะโดยเฉพาะการตีบตันของบริเวณกระเพาะปัสสาวะส่วนล่างหรือการตีบของท่อปัสสาวะ  เช่น นิ่ว  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ  ท่อปัสสาวะอักเสบหรือตีบตัน  และต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย   หากมีอาการปัสสาวะลำบากควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษา  โดยทั่วไปมักจำเป็นต้องตรวจปัสสาวะหรือตรวจพิเศษเพิ่มเติม

ปัสสาวะเล็ดราด

ร่างกายจะควบคุมให้เรากลั้นปัสสาวะไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะโดยส่วนของกระเพาะปัสสาวะที่ต่อกับท่อปัสสาวะจะมีหูรูดบีบไว้ไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราด   เมื่อมีปริมาณของปัสสาวะมากขึ้นเต็มกระเพาะปัสสาวะแล้ว  กระเพาะปัสสาวะก็จะบีบตัวพร้อมกับหูรูดจะขยายออกทำให้ขับปัสสาวะออกมา   หากมีความผิดปกติของหูรูดดังกล่าวทำให้หูรูดไม่ทำงาน   ทำให้ไม่สามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้    อาการปัสสาวะเล็ดราดพบได้บ่อยในผู้หญิง  โดยเฉพาะคนที่คลอดลูกหลายคน  ทำให้เกิดการหย่อนยานของมดลูกหรือที่เรียกว่ากระบังลมหย่อน  นอกจากนั้นอาจเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ  หรือเนื้องอกของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับหูรูด  

 

โรคไตและโรคระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากเชื้อโรค  เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักเป็นเชื้อโรคที่อาศัยอยู่บริเวณปลายของท่อปัสสาวะ  ซึ่งเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายในผู้หญิงเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย   กระเพาะปัสสาวะอักเสบจึงมักพบในผู้หญิงโดยเฉพาะในคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะ  อาการสำคัญได้แก่  ปัสสาวะลำบาก  ปัสสาวะบ่อย   แสบขัด  ขุ่น  บางครั้งอาจมีปัสสาวะเป็นเลือดและไข้ร่วมด้วย   หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อปัสสาวะ  แพทย์มักให้การรักษาโดยการรับประทานยาฆ่าเชื้อ   การปล่อยให้มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดกรวยไตอักเสบเฉียบพลันร่วมด้วยได้   การป้องกันไม่ให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่สำคัญก็คือการไม่กลั้นปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบ

กรวยไตเป็นส่วนของไตซึ่งเป็นที่รวมของปัสสาวะที่กรองจากไตก่อนผ่านไปยังท่อไตและท่อปัสสาวะ   กรวยไตอาจเกิดการอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง   แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลันซึ่งเกิดต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ    กรวยไตอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่พบในผู้หญิง  ผู้ป่วยมักมีอาการ ไข้หนาวสั่น  ปวดหลัง  เคาะเจ็บบริเวณหลัง  มักมีปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย  แสบขัด และ ขุ่น ร่วมด้วย   หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อปัสสาวะ  รวมทั้งให้การรักษาโดยเร็ว  หากอาการไม่มากรักษาโดยการรับประทานยาฆ่าเชื้อได้  แต่ถ้ามีอาการมากอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลและฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าเส้นเลือด   การปล่อยให้มีกรวยไตอักเสบโดยไม่ได้รับการรักษาโดยทันท่วงทีอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้

ไตวายเฉียบพลัน

          ไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  สาเหตุที่สำคัญมักเกิดจากการสูญเสียเลือดหรือน้ำและเกลือแร่จากร่างกายอย่างรุนแรง  เช่น  เสียเลือดจากอุบัติเหตุ  หลังการผ่าตัด  เลือดออกในกระเพาะอาหาร  ท้องเสีย   อาเจียน  หรือการช็อคจากสาเหตุต่างๆ   นอกจากนั้นอาจเกิดจากยาหรือสารพิษที่มีพิษกับไตโดยตรง   อาการสำคัญของผู้ป่วยคือปริมาณปัสสาวะลดลง ร่วมกับสาเหตุต่างๆ ดังกล่าว   ผู้ป่วยมักมีอาการหนักจนต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล   แพทย์จะให้การรักษาอย่างเร่งด่วนและอาจจำเป็นต้องล้างไตในผู้ป่วยบางราย  ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เป็นสาเหตุของไตวายเฉียบพลัน   แต่ถ้าผู้ป่วยมีชีวิตรอด ไตมักจะฟื้นตัวกลับเป็นปกติ   โดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาแบบเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรัง

          เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง  แสดงว่าเนื้อไตบางส่วนถูกทำลายไปอย่างถาวร  มีการเกิดพังผืดและแผลเป็นในไต  เนื้อไตส่วนที่เหลือจะพยายามทำหน้าที่แทน  แต่ก็ไม่สามารถทำงานทดแทนได้ทั้งหมด  ยังไม่มียาที่สามารถช่วยคืนสภาพไตให้กลับสู่ปกติได้  ยาที่ผู้ป่วยได้รับมักมีฤทธิ์ในการป้องกันไม่ให้เนื้อไตที่เหลืออยู่เสื่อมสภาพไปอีก  ดังนั้นธรรมชาติของโรคมักจะดำเนินไปและเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  จำเป็นต้องรักษาตลอดชีวิต   สาเหตุของไตวายเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  เก๊าท์  การรับประทานยาบางอย่างที่มีพิษต่อไต  แต่ผู้ป่วยจำนวนมาไม่พบสาเหตุของไตวายเรื้อรังที่แน่นอน  การปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ป่วยก็คือการลดปริมาณของโปรตีน ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์และไข่ลง  งดโปรตีนจากพืช  เช่น  ถั่ว   ถ้ามีอาการบวมและความดันโลหิตสูงควรงดของเค็ม  ทานอาหารที่จืด   สำหรับผลไม้นั้นรับประทานได้เล็กน้อย โดยต้องลดปริมาณลง  ส่วนพวกแป้ง  เช่น ข้าว,  ก๋วยเตี๋ยว สามารถรับประทานได้ตามปกติ   นอกจากนั้นจะต้องรับประทานยาและมาตรวจตามนัดโดยสม่ำเสมอ  หากมีการเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีผลเสียต่อไต  ทำให้ไตเสื่อมได้เร็วขึ้น

          การรักษาโรคไตวายนอกจากให้การรักษาโดยการควบคุมอาหารและรับประทานยาเพื่อป้องกันการเสื่อมของไตแล้ว  เมื่อไตสูญเสียการทำงานไปมากกว่าร้อยละ 10  ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ซึ่งเกิดจากการคั่งของของเสียและความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร  คลื่นไส้อาเจียน  สะอึก  อ่อนเพลีย  เหนื่อหอบ เป็นต้น  ในกรณีที่ไตเสียไปมากดังกล่าว  ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาโดยวิธีพิเศษที่เรียกกันทั่วไปว่าการล้างไต

        การล้างไตเป็นวิธีการกำจัดของเสีย  และน้ำกับเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกายของผู้ป่วยไตวาย  ในกรณีของไตวายเรื้อรัง เมื่อจำเป็นต้องล้างไตแล้ว แสดงว่าไตเหลือหน้าที่การทำงานน้อยกว่าร้อยละ 10   การล้างไตความจริงแล้วมีความหมายไม่ตรงกับคำแปลนัก  การล้างไตไม่ได้เอาอะไรไปล้างให้ไตสะอาด  จึงไม่ได้ทำให้ไตที่วายดีขึ้นโดยตรง   แต่เป็นการทำหน้าที่ทดแทนไตที่สูญเสียหน้าที่ไป  ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำเป็นต้องรักษาโดยการล้างไตแล้วต้องทำการล้างไตไปตลอดชีวิต  หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต

          การล้างไตมี 2 ชนิดคือ การฟอกเลือด และการล้างทางช่องท้อง  การรักษาทั้งสองแบบได้ผลใกล้เคียงกัน   ผู้ป่วยล้างไตโดยการฟอกเลือด  ต้องมาทำในโรงพยาบาลที่มีเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง  ครั้งละ 3 - 5 ชั่วโมง   ส่วนผู้ป่วยรักษาด้วยการล้างช่องท้องสามารถล้างไตได้ที่บ้านด้วยตนเอง  โดยการใส่น้ำยาเข้าช่องท้องเองวันละ 4 - 5 ครั้ง

        การปลูกถ่ายไต  เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังวิธีหนึ่ง  โดยแพทย์จะผ่าตัดใส่ไตที่ได้รับบริจาคฝังเข้าในตัวผู้ป่วย  ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ตัดไตของผู้ป่วยออก   และไม่ได้นำไตใหม่มาเปลี่ยนกับไตเดิม  ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอาจได้จาก 2 วิธีคือ  จากผู้ป่วยที่สมองตายแล้วอุทิศให้  หรือได้จากบุคคลที่มีชีวิตอยู่  ในกรณีแรกการได้รับไตเร็วหรือช้าจะขึ้นกับว่าเนื้อเยื่อของผู้รอรับไตกับผู้บริจาคจะเข้ากันได้ดีมากน้อยแค่ไหน  ดังนั้นระยะเวลาที่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รอรับไตอยู่จนได้รับการปลูกถ่าย จึงไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน  บางคนรอเป็นปี  แต่บางคนใช้เวลาแค่ 2-3 สัปดาห์ก็ได้รับไตแล้ว   ส่วนไตของผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ถ้าเนื้อเยื่อเข้ากันได้ดี  ก็สามารถทำการปลูกถ่ายได้เลย  ผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตนั้นมักได้จาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ลูก  ซึ่งสมัครใจที่จะบริจาคไตให้ผู้ป่วย

โรคนิ่ว

          นิ่วของทางเดินปัสสาวะ เป็นการตกตะกอนของผลึกต่างๆ ในทางเดินปัสสาวะ  พบได้บ่อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่นอนแต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธ์ หรือสภาพแวดล้อม   อาการที่สำคัญคืออาการปวดท้องหรือปวดหลัง  ปัสสาวะขัด  ปัสสาวะเป็นเลือด  บางครั้งอาจมีลักษณะของปัสสาวะมีก้อนนิ่วหลุดออกมาได้    ในบางคนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนจากนิ่วได้ เช่น กรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ   ท่อไตหรือท่อปัสสาวะอุดตันจากนิ่วทำให้เกิดไตวายได้   หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นนิ่วควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา  เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นทำให้ายากแก่การรักษา

          หากพบว่าเป็นนิ่วของทางเดินปัสสาวะการรักษาระยะแรกคือการรักษาอาการปวดโดยรับประทานยาแก้ปวด หรือหากมีอาการมากอาจต้องฉีดยาแก้ปวดให้  การรักษาขั้นต่อไปคือเอานิ่วออก  หากนิ่วมีขนาดเล็กอาจหลุดออกมาได้เมื่อดื่มน้ำมากๆ   แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่และมีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยมักจำเป็นต้องผ่าตัดเอานิ่วออก  การผ่าตัดอาจใช้วิธีผ่าตัดผ่านทางผิวหนังหรือส่องกล้องเข้าทางท่อปัสสาวะคีบเอานิ่วออกมา   ในปัจจุบันมีการรักษาที่เรียกว่าสลายนิ่วโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทำให้เกิดการสั่นสะเทือนทำให้ก้อนนิ่วแตกออกเป็นก้อนเล็กๆ หลุดออกมาได้   นอกจากการรักษาเพื่อเอานิ่วออกมาแล้ว   หลังการรักษามักจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วซ้ำ

นาวาอากาศเอก นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์


ที่มา
http://www.nephrothai.org/news/news.asp?type=KNOWLEDGE&news_id=89
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน