ม้าโทรจัน Trojan Horses คืออะไร ?

guest profile image guest
ม้าโทรจัน Trojan Horses (อันตราย การป้องกัน การกำจัด)

         กลยุทธม้าโทรจัน เรื่องนี้คนที่เป็นแฮกเกอร์จะรู้ดี เพราะเป็นกลยุทธที่ใช้ได้แม้กระทั่งในอินเทอร์เน็ต
         ม้าโทรจันเป็นนิยายกรีก คือมีสงครามระหว่างเมืองสองเมือง เมืองโทรจันกับเมืองทรอย สู้รบกันยืดเยื้อยาวนาน สุดท้ายเมืองโทรจันจึงวางแผน สร้างม้าไม้ขึ้นมาตัวหนึ่ง ให้ทหารเข้าไปอยู่ในม้า แล้วเอาม้าไปวางหน้าประตูเมืองทรอย ทหารเมืองทรอยก็สงสัยว่าม้าอะไร จึงลากม้าเข้าเมือง แล้วทหารที่อยู่ในม้าก็แอบออกมาเปิดประตูเมือง ทำให้ทหารเมืองโทรจันบุกเข้าไปยึดเมืองทรอยได้

         Trojan = เกี่ยวกับเมืองทรอย (Troy) หรือชาวเมืองทรอย สงครามระหว่างกรีซกับทรอย อ้างอิงจาก Dict. Eng-Thai ส.เศรษฐบุตร

         ถ้ากล่าวถึงม้าโทรจัน ในทางคอมพิวเตอร์ จะหมายถึงโปรแกรมที่ถูกโหลดเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เพื่อ ปฎิบัติการ "ล้วงความลับ" "ยึดเป็นฐานที่มั่นเพื่อโจมตีคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น" สำหรับในคอมพิวเตอร์ ความลับนั้นคืออะไรบ้าง รหัสผ่าน User Name , และข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับการ Login ระบบ ที่ถูกพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ดโดยผู้ใช้งาน

        โดยส่วนใหญ่แฮคเกอร์จะส่งโปรแกรม "ม้าโทรจัน" เข้าไปในคอมพิวเตอร์เพื่อดักจับข้อมูลดังกล่าว แล้วนำไปใช้ในการเจาะระบบ และเพื่อโจมตีคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ระบบเครือข่ายอีกที ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อการโจมตีเพื่อ "ปฎิเสธการให้บริการ" (Denied of Services)
        โปรแกรมม้าโทรจัน ถือเป็นโปรแกรมที่สอดคล้องกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ ไม่มีคำสั่งหรือการปฏิบัติการที่เป็นอันตรายต่อคอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆมันไม่ใช่ "ไวรัส ซึ่งถูกถือเป็นเชื้อโรค" แต่ม้าโทรจันเป็นโปรแกรมธรรมดา ที่โปรแกรมตรวจสอบไวรัสไม่สามารถตรวจจับพฤติกรรมร้ายๆได้ แต่วัตถุประสงค์ของโปรแกรมม้าโทรจันนั้นกลับเป็นการทำงานเพื่อละเมิดความปลอดภัย และก่อให้เกิดการโจมตีระบบและความเสียหายอื่นๆ ตามมา ดังนั้นม้าโทรจันจึงไม่เป็นที่ปรารถนาของใครๆ

ม้าโทรจันในคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร
         อย่างที่กล่าวแล้วว่า ม้าโทรจันแตกต่างจากไวรัสที่การทำงาน ไวรัสทำงานโดย ทำลายคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง ไวรัสบางตัวอย่าง Love BUG ทำลายไฟล์โดยการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในไฟล์ ไวรัส CIH ทำให้ไบออสของคอมพิวเตอร์เสีย และเข้าถึงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ไม่ได้ แต่ "ม้าโทรจัน" ไม่ทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ ม้าโทรจันไม่มีคำสั่งหรือพฤติกรรมการทำลายคอมพิวเตอร์เหมือนไวรัส ม้าโทรจันเหมือนโปรแกรมทั่วไปในคอมพิวเตอร์

         สมัยก่อนเวลาพูดถึงม้าโทรจัน จะว่ากันว่าขนาดของไฟล์ แตกต่างจากไวรัสที่ขนาดของม้าโทรจันนั้นเป็นโปรแกรมขนาดเล็ก และเป็นโปรแกรมที่ไม่ถือว่ามีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางการกำจัดไวรัส จะมีการตรวจสอบโดยการดูลักษณะการทำงาน ไวรัสนั้นมีคำสั่งอันตราย แต่โทรจันไม่มี ดังนั้นโปรแกรมตรวจสอบไวรัสไม่มีทางที่จะตรวจสอบหา "ม้าโทรจัน" พบ
         ม้าโทรจันนั้นเป็นเครื่องมือของแฮคเกอร์ในการเจาะระบบ ว่ากันว่าบรรดาแฮคเกอร์นั้นมีสังคมเฉพาะที่แจกจ่าย เผยแพร่ม้าโทรจันออกไปใช้งาน โดยส่วนใหญ่ม้าโทรจันซึ่งปัจจุบันมีอยู่นับพันโปรแกรม ถูกพัฒนาโดยพวกนักศึกษา แฮคเกอร์ และมือสมัครเล่นอีกหลายคน เพราะม้าโทรจันนั้นคือโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อบันทึกว่าแป้นคีย์บอร์ดแป้นไหนถูกกดบ้าง ด้วยวิธีการนี้ก็จะได้ข้อมูลของ User ID, Password หลังจากนั้นโปรแกรมม้าโทรจันจะบันทึกข้อมูลลงไปใน RAM , CMOS หรือ Hidden Directory ในฮาร์ดดิสก์ แล้วก็หาโอกาสที่จะอัพโหลดตัวเองไปยังแห่งที่ผู้เขียนม้าโทรจันกำหนด หรือบางทีแฮคเกอร์อาจจะใช้วิธีการเก็บไฟล์ดังกล่าวไปด้วยวิธีอื่น การใช้อินเตอร์เน็ต ใช้โมเด็ม หรือใช้ LAN

        อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นยุคของอินเตอร์เน็ต ขนาดของโปรแกรมม้าโทรจันนั้นใหญ่ขึ้น และทำอะไรได้เบี่ยงเบนความสนใจมากขึ้น เช่น แสดงรูปภาพสกรีนเซฟเวอร์น่ารักๆ แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของม้าโทรจันคือ "สืบเสาะหาความลับ" ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แถมตัวใหม่ที่รันบนวินโดวส์ 95/98 นั้น สืบหาความลับมากกว่าเดิมด้วย เอาข้อมูลส่วนบุคคลส่งไปได้เลย ม้าโทรจันบางตัวเข้ามาเพื่อ "เปิดประตู" จริงๆ คือ เปิดช่องว่างด้านระบบรักษาความปลอดภัยรอพวก "หัวขโมย" เข้ามาปฎิบัติการอีกที และอย่างที่เราทราบกันแฮคเกอร์บางคนวางแผนยึดเครื่องพีซีเพื่อดำเนินการโจมตีเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการทางอินเตอร์ให้หยุดให้บริการ


ประเภทต่างๆของม้าโทรจัน
         ม้าโทรจันนั้นไม่มีเพียงประเภทเดียว แต่มีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท ตามลักษณะการคุกคามและการทำงาน
- Client / server ม้าโทรจันแบบนี้จะส่งจากเซิร์ฟเวอร์ไปไว้ที่ไคลเอ็นต์ โดยสั่งเปิด
พอร์ตที่ไคลเอ็นท์แล้วให้เครื่องไคลเอ็นต์อีกเครื่องไปควบคุม

- DDOS Distributed Denial of Service แฮคเกอร์จส่งโทรจันไปไว้ที่เครื่องไคลเอ็นต์หลายๆเครื่อง หลังจากนั้นจะใช้เครื่องไคลเอนต์เหล่านั้นโจมตีเว็บไซต์เป้าหมายพร้อมๆกันเพื่อให้หยุดบริการอย่างที่ได้ยินกันในเดือนมิถุนายน 2543 ที่ผ่านมา

- Destructive โทรจันประเภทนี้ทำงานเหมือนไวรัสคือ พยายามทำลายไฟล์ระบบของเครื่อง จนกระทั่งบูตไม่ได้

- FTP โทรจันแบบนี้ทำให้ไดรฟ์ C สามารถใช้คำสั่ง FTP ได้ ข้อมูลในไดรฟ์ C จะถูกดูดออกไปด้วย

- IRC Internet Relay Chat ทำให้เปิด Connection กับ Chat Server หลายๆตัว

- Keylogger ทำหน้าที่บันทึกแป้นคีย์บอร์ดที่ถูกคีย์ลงไปขณะที่เราใช้คอมพิวเตอร์ การบันทึกนั้นรวมถึงรหัสผ่าน User Name และทุกๆคีย์ที่ถูกกดผ่านคีย์บอร์ด

- Password Stealer ตัวขโมยรหัสผ่าน โดยขโมยรหัสผ่านของ ICQ , e-mail , ระบบคอมพิวเตอร์ ,การต่อเชื่อม ISP แล้วเก็บรหัสผ่านนั้นไว้ในไฟล์หนึ่ง แล้วเอาม้าโทรจันอีกตัวมาอัพโหลดไฟล์นั้นไปยังปลายทาง

- Remote Flooder ทำงานเหมือนกับ DDOS คือส่งโทรจันไปที่เครื่องปลายทาง (รีโมท) แล้วสั่งจากเครื่องมาสเตอร์ให้เครื่องปลายทาง (รีโมท) โจมตีเป้าหมายอีกทีหนึ่ง

- Telnet ม้าโทรจันตัวนี้จะยึดเครื่องรีโมทเป็นอาวุธโจมตีเครื่องปลายทาง โดยผ่าน Telnet ใช้คำร้องขอบริการ Telnet เพื่อจัดการกับเครื่องเหยื่อเป้าหมาย เหมือน DDOS อีกตัว

- VBSscript ตัวนี้เป็นโทรจันที่อันตราย เพราะมันอาจจะซ่อนตัวในเว็บไซต์ รอโจมตีเครื่องเป้าหมาย แล้วหลังจากนั้นก็เผยแพร่ผ่าน e-mail Outlook Express เพื่อโจมตีหรือกระจายไวรัสต่อไป นอกจากนี้ VBScript ยังมีอันตรายอย่างมากด้วย เพราะสามารถใช้คำสั่งในการรันคำสั่งอื่นเพื่อทำลายระบบ หรือเปลี่ยนไฟล์ได้


ป้องกัน-กำจัดม้าโทรจันสำหรับสำนักงาน
        นับวันม้าโทรจันจะยิ่งมีโอกาสในการแพร่ระบาดสูงขึ้น เพราะพัฒนาการของของเทคโนโลยีพีซี จากยุคเก่าที่มีเพียงเครื่องมินิคอมพิวเตอร์หรือเมนเฟรม 1 เครื่อง และ Dumb Terminal ที่ Dumb Terminal นั้นไม่มีดิสก์เก็ต ดังนั้นโอกาสที่ม้าโทรจันจะถูกโหลดผ่านดิสก์เก็ตย่อมไม่มี แต่หลังจากนั้น Dumb Terminal ถูกแทนที่โดย Thin Client ซึ่งอาจจะมีดิสก์เก็ตและมีฮาร์ดดิสก์ ทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดของม้าโทรจัน นอกจากนี้ การที่อินเตอร์เน็ตถูกนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้การแพร่ระบาดของม้าโทรจันง่ายขึ้น ดังนั้นการวางแผนและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมจะช่วยป้องกันม้าโทรจันได้

สำหรับในสำนักงาน การป้องกันม้าโทรจัน ทำได้หลายวิธี เช่น
         การห้ามไม่ให้เอาแผ่นดิสก์เก็ตจากแหล่งภายนอกมาใช้งาน การใช้ Firewall เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากแฮคเกอร์ เพราะแฮคเกอร์ใช้ม้าโทรจันเป็นเครื่องมือเช่นกัน การป้องกันโดยการห้ามไม่ให้พนักงานใช้โมเด็มต่อเชื่อมเข้าด้วยอินเตอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์เครื่องที่ต่อเชื่อมกับระบบเครือข่ายภายในสำนักงานก็เป็นวิธีหนึ่งด้วย ประเด็นนี้สำคัญนะครับ โดยมาก ฝ่าย IS ของหลายๆแห่งกำหนดไว้ชัดเจนเลย แต่ถ้ายังไม่กำหนด ก็รีบเถอะครับ

         ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ Firewall ใหม่หลายตัว ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันการโจมตีของม้าโทรจันโดยเฉพาะ โดยผนวกเอาคุณสมบัติการป้องกันม้าโทรจันเข้าไปในผลิตภัณฑ์ Firewall ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ยังเพิ่มฟังก์ชันในการตรวจสอบว่าระบบถูกการโจมตีแบบ DDOS หรือไม่ด้วย

         สำหรับสำนักงานแล้ว ดูเหมือนเป็นหน้าที่ของฝ่ายไอทีในการตรวจสอบ (Audit) ระบบ เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกโทรจันหรือไม่ เพราะแต่ละองค์กรมีความเสี่ยงเรื่องการถูกโทรจันไม่เท่ากัน เช่นองค์กรที่เคยใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะในองค์กรเท่านั้น และมีการควบคุมที่ดี ย่อมเสี่ยงต่อมาโทรจันน้อย แต่ต่อมา ถ้าหากองค์กรนั้นต่อเชื่อมระบบเครือข่ายของตัวเองเข้ากับอินเตอร์เน็ต ความเสี่ยงย่อมสูงขึ้น ทำให้ฝ่ายไอทีต้องสำรวจว่ามีเครื่องมือที่เหมาะสมในการป้องกันหรือไม่

         สำหรับสำนักงาน การป้องกันม้าโทรจัน ควรกำหนดแผนการป้องกันไว้ก่อนที่จะติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และควรมีการตรวจสอบ (Audit) ระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากม้าโทรจัน บางที่ม้าโทรจันอาจจะถูกนำมาวางไว้ที่ไหนสักแห่งในคอมพิวเตอร์และปฎิบัติการอย่างเงียบๆ

         กรณีที่ต้องการตรวจสอบระบบ ซอฟต์แวร์ในการป้องกันและตรวจสอบโทรจันที่มีประสิทธิภาพดีพอ อย่าง The Cleaner จาก Moosoft มาใช้ในการตรวจสอบว่ามีโทรจันในคอมพิวเตอร์หรือไม่


ป้องกัน-กำจัดม้าโทรจันสำหรับคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
         ส่วนการใช้งานคอมพิวเตอร์ภายในบ้าน โดยการออนไลน์ปกติโดยการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ภายในบ้านที่ใช้ Dial Up Network โดยการต่อเชื่อมผ่านโมเด็มนั้น เสี่ยงต่อม้าโทรจันเช่นกัน ผมเคยถูกม้าโทรจันหลายๆตัวโจมตีภายในเดือนเดียวกัน 5 ครั้ง วิธีการป้องกันได้แก่การติดตั้งโปรแกรม อย่าง NetBUS Detective จะคอยตรวจจับม้าโทรจันพวก Netbus ,BO Orifice , หรือโปรแกรม NukeNubber ก็ป้องกันระบบ โดยการตรวจสอบพอร์ตต่างๆของ TCP/IP ถึง 50 พอร์ต

         ระบบการป้องกันสำหรับบ้านที่ดีที่สุดคือ ไฟร์วอลส่วนตัว (personal firewalls) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ติดตั้งในพีซี เช่น Norton Personal Firewall 2.0 , Norton Internet Security 2.0 , ZoneAlarm 2.1.44 โปรแกรม Firewall เหล่านี้จะเป็นทหารยามป้องกันการลักลอบแฝงเข้ามาในพอร์ตต่างๆของการต่อเชื่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต

         สำหรับกรณีที่ต้องการตรวจสอบว่ามีม้าโทรจัน หรือต้องการกำจัดนั้น ต้องทำความเข้าใจคือ โปรแกรมป้องกันไวรัสทั้งหลายที่มีขายในท้องตลาดนั้น อาจจะป้องกันและตรวจสอบม้าโทรจันได้ไม่ครบ ทางที่ดีแนะนำให้ใช้โปรแกรมการป้องกัน ตรวจสอบม้าโทรจันเฉพาะ อย่าง PC Guard , The Cleaner ซึ่งในการตรวจจับม้าโทรจันโดยเฉพาะ

         นโยบายการป้องกันม้าโทรจันนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละที่ โดยส่วนใหญ่จะต้องใช้วิธีการ กันไว้ดีกว่าแก้ โดยการติดตั้ง Firewall ไว้ก่อนเลยในชั้นแรก แต่ถ้าหากวันหนึ่งเกิดสงสัยว่าในระบบคอมพิวเตอร์นั้นมีม้าโทรจันถูกส่งมาหรือไม่ ก็ต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจจับ

ซอฟต์แวร์สำหรับการตรวจจับและทำลายโทรจัน
        กรณีที่ต้องการตรวจจับและทำลายม้าโทรจัน ซอฟต์แวร์กำจัดไวรัสทั่วไปอย่าง Norton Antivirus , Mcafee Virus SCAN นั้นสามารถตรวจจับและกำจัดม้าโทรจันได้บ้างบางตัว แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งนี้เพราะซอตฟ์แวร์ป้องกันกำจัดไวรัสนั้น มุ่งจะกำจัดไวรัส (โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีอันตรายต่อคอมพิวเตอร์) มากกว่าจะตรวจจับและทำลายโทรจัน วิธีการส่งเข้ามาในคอมพิวเตอร์ และพฤติกรรมการทำงานของโทรจันนั้นแตกต่างจากไวรัส เครื่องมือในการตรวจจับ การป้องกัน จึงแตกต่างจากไวรัสด้วย

         The Cleaner 3.1 จาก Moosoft เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ทั้ง ป้องกัน ตรวจจับ และกำจัดไวรัสที่ได้รับความนิยมมากตัวหนึ่ง เพราะทาง ZDNet ,Tucows และอีกหลายๆสื่อออนไลน์ที่ได้รีวิวซอฟต์แวร์ตัวนี้ต่างก็โหวดให้ประสิทธิภาพของการทำงาน "ยอดเยี่ยม" ทั้งหมด พูดได้ว่า The Cleaner เป็นซอฟต์แวร์ในการกำจัดโทรจันที่เป็นที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยม ประสิทธิภาพของ The Cleaner นั้นมีฐานข้อมูลโทรจันที่ตรวจสอบและกำจัดได้กว่า 3000 ตัว และยังมีการอัพเดททุกๆ เดือน การตรวจจับความเร็วสูง สนับสนุนการตรวจสอบไฟล์ที่บีบอัดไว้ (Compress Files) OS ที่ The Cleaner สนับสนุนคือ Windows 95/98/ME , NT 4.0 Server , 4.0 Workstation , Windows 2000 Pro , Windows 2000 Server นอกจากส่วนที่ทำหน้าที่ในการ Cleaner แล้ว ยังมีส่วนที่ยับยั้งไม่ให้ไวรัสทำงานคือ TCActive นอกจากนี้ยังมี TCMonitor ที่จะมีการตรวจสอบไฟล์ของระบบวินโดวส์ตัวที่อาจจะมีการส่งโทรจันมาด้วย

         Trojan Remover เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำจัดโทรจันอีกตัวหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพัฒนาถึงเวอร์ชัน 4.0.4 แล้ว Trojan Remover ได้รับความนิยมเช่นกัน ถึงแม้ว่า OS ที่ Trojan Remover สนับสนุนจะมีเพียง 95/98/ME เท่านั้นเอง Trojan Remover ทำงานไม่แตกต่างจาก The Cleaner คือ ถ้าหากตรวจสอบพบว่าไฟล์ระบบหรือไฟล์ข้อมูลได้มีโทรจันแฝงตัวอยู่ Trojan Remover จะดำเนินการแก้ไขไฟล์นั้นให้เข้าสู่สภาพปกติ รวมไปถึงการแก้ไข Registry ของวินโดวส์ด้วย นอกจากนี้สำหรับโทรจันที่แฝงตัวในหน่วยความจำ Trojan Remover ก็มีวิธีการที่ชาญฉลาดในการจัดการโดยใช้กระบวนการ REMOVE all traces

         Anti-Trojan 5 ซอฟต์แวร์จากเยอรมัน เป็นซอฟต์แวร์สำหรับจัดการกับ Trojan อีกตัวที่น่าสนใจ Anti-Trojan มีขนาดไฟล์สำหรับติดตั้ง 4.8 เมกะไบต์ มากกว่า Trojan Remover และ The Cleaner การพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงเวอร์ชัน 5.0 น่าจะประกันได้ว่าซอฟต์แวร์ป้องกันโทรจันตัวนี้น่าสนใจไม่น้อย การทำงานของ Anti-Trojan ทำงานในการตรวจสอบโทรจันโดยการสแกนพอร์ต (เพราะโทรจันโดยส่วนใหญ่จะเล็ดลอดเข้ามาและเปิดพอร์ตต่างๆ) สแกน Registy และสแกนฮาร์ดดิสก์ การค้นหาและตรวจจับไวรัสใช้ Signature ของโทรจัน การสแกนในไฟล์รวมถึงการสแกนไฟล์บีบอัดด้วย คุณสมบัติเด่นของ Anti-Trojan คือ รู้จัก Trojan มากกว่า 5000 รายการ
ความเร็วในการตรวจจับสูง และมีฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับไวรัสให้อัพเดทเช่นกัน นอกจากนี้ยังรวมถึง Plugin ของ PortScanner , Processviewer ด้วย

         ทั้งสามตัวนั้นมีการอัพเดทข้อมูลโทรจันตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นกรณีที่ต้องการให้การป้องกันมีประสิทธิภาพที่สุด ผู้ใช้ควรอัพเดทข้อมูลโทรจันด้วย
ความคิดเห็น
guest profile guest
ดีครับๆๆๆๆๆๆ

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

guest Icon ม้าโทรจัน Trojan Horses คืออะไร ? 1 อ่าน 6,820 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon combofix คืนค่าพื้นฐานให้ windows อ่าน 826 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา