แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์

rovers profile image rovers
แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๑) : โรงหนัง โรงไฟฟ้า ถ่ายรูป วงเวียน ไอติม
           แต่เดิมอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  ในยุคที่ยังไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอกมากนัก ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นไม่มาก ตัวเมืองของอำเภอเหมือนชนบททั่วไป 

          แต่หลังจากมีการตัดถนนที่เป็นการคมนาคมเชื่อมต่อทั้งในระดับท้องถิ่นกับชุมชนรอบข้าง และในระดับภูมิภาคต่างๆของประเทศ เช่น ทางหลวงสายเหนือจากกรุงเทพ แยกตากฟ้า ผ่านหนองบัวขึ้นสู่ภาคเหนือ

           ทางหลวงจากนครสวรรค์ ชุมแสง ผ่านหนองบัวไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตรงแยกหนองบัว-จังหวัดชัยภูมิ

          การคมนาคมที่ดีขึ้นมากเหล่านี้ ทำให้หนองบัว  เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          หลายอย่างนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของชุมชนแล้ว  เมื่อนำมาเล่าขาน  ท้าวความเป็นมา ก็จะเป็นเรื่องราวที่ให้ความผูกพันแก่ผู้คน สานสำนึกและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกันของคนรุ่นต่อรุ่น เลยขอบันทึกไว้เพื่อจุดประกายนำไปสู่การถักทอเรื่องราวช่วยกันของคนในท้องถิ่น   ในบางเรื่องที่พอจะดึงออกมาจากความทรงจำได้

         โรงไฟฟ้าเกาะลอย โรงไฟฟ้าเมื่อแรกมีไฟฟ้าของหนองบัว  คนรุ่นหลังและคนทั่วไปอาจจะนึกภาพชุมชนหนองบัวเมื่อก่อนทศวรรษ 2510-2520 ไม่ออก ณ เวลานั้น ชุมชนส่วนใหญ่ของหนองบัวใช้ไต้และตะเกียงน้ำมันก๊าด ศูนย์กลางความเป็นชุมชนคือวัดหลวงพ่ออ๋อยและตลาดสดหนองบัว 

          สองข้างทาง นับแต่โรงสีข้าว จนถึงบริเวณศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์และท่ารถเมล์  ซึ่งเป็นบริเวณมีความเป็นเมืองมากที่สุดในเวลานี้นั้น  ตอนนั้น เป็นบ้านชาวบ้านและเรียงรายไปด้วยคอกวัวควาย  มีคลองขนาบสองข้าง ซึ่งหน้าน้ำหลาก จะมีเรือยาววิ่งไปได้ถึงอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งไกลออกไปอีก 30 กิโลเมตร

          เมื่อค่ำมืด  หนองบัวก็จะกลายเป็นเมืองที่วังเวง โดดเดี่ยวอยู่ในความมืด  มียามคอยถีบจักรยานและตีแผ่นเหล็กคอยบอกเวลา

          ณ เวลานั้น หนองบัว ก็เริ่มมีมีโรงปั่นไฟฟ้าอยู่ที่ข้างเกาะลอย  มีนายช่างคอยดูแลซึ่งก็เป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพนับถือของผู้คนในหนองบัวมาก

          ในยุคนั้น โรงไฟฟ้า จะปั่นไฟเป็นเวลา  พอตกดึกสามสี่ทุ่มก็ปิด ละแวกที่ได้ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าเมื่อแรกมีของหนองบัว กินอาณาบริเวณไปไม่กว้างเท่าใดนัก เช่น  เลยไปแถวบ้านช่องอีกฟากหนึ่งของเกาะลอย ชาวบ้านก็ใช้ตะเกียงแทนไฟฟ้าแล้ว 

         การใช้ไฟฟ้าจึงเป็นความทันสมัยและบ่งบอกความแตกต่างของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่กับชุมชนที่อยู่ในตัวอำเภอ  ชาวบ้านจึงมีการเปรียบเปรยว่า 'คนรวยและเจ๊ก อยู่ตึกและใช้ไฟนีออน ไทยกับลาวใช้ตะเกียงและบ้านมุงแฝก'

          โรงหนังเมื่อแรกมีของหนองบัว  ยุคหนึ่ง หนองบัวเคยมีโรงหนังถึงสองโรง และกำลังจะมีโรงที่สามที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์  แต่ก็เพียงผุดขึ้นมาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้พัฒนาต่อ

           โรงหนังโรงแรกดั้งเดิมที่สุด ตั้งอยู่ตรงบริเวณโรงสีข้าวตรงหัวตลาด ซึ่งติดกับบริเวณที่ในปัจจุบันกำลังจะเป็น 7 ELEVEN * แห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของหนองบัวในปัจจุบัน เป็นโรงหนังขึ้นโครงด้วยเสาไม้ไม่กี่ต้นแล้วก็ปะโดยรอบด้วยสังกะสี 

          ใช้ท่อนไม้พาดบนตอม่อเป็นที่นั่งดูหนังเป็นแถวๆ  พื้นเป็นดิน มักฉายแต่หนังแขก ระหว่างฉาย จะมีคนเดินขายถั่ว อ้อยควั่น ตะโกนกันขโมงโฉงเฉง  คนดูหนังสูบยาฉุนควันคลุ้ง ความจุสัก 100-200 คน

            ต่อมา ก็มีโรงหนังแห่งใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โรงหนังแห่งที่สองนี้สร้างขึ้นที่เยื้องๆ หน้าอำเภอหนองบัว อยู่คนละฟากถนน ของศาลาประชาคมและที่ว่าการอำเภอหนองบัว สภาพดีกว่าและทันสมัยกว่าโรงหนังแห่งแรกทุกอย่าง แต่ว่าในยุคนั้นต้องถือว่าหลุดออกไปเกือบนอกตัวเมืองของอำเภอ โรงหนังโรงใหม่นี้มักฉายหนังไทย หนังจีน และหนังฝรั่ง หลายครั้งมีหนังโป๊แทรก โดยทำให้ดูเหมือนกับใส่ฟิล์มผิด ซึ่งก็จะมีอยู่เป็นประจำ เป็นการแข่งขันเรียกลูกค้าอย่างหนึ่งเหมือนกัน

            อำเภอเล็กๆแค่นั้น เวลาจะฉายหนังก็ต้องช่วงชิงคนดูโดยใช้รถตระเวนโฆษณา รอบแล้วรอบเล่า  และเวลาจะฉายก็สร้างบรรยากาศเร้าให้คนตื่นตัวที่จะไปดูอยู่นั่นแล้ว  แต่ก็ไม่ฉายสักที 

           บางทีก็เปิดเพลงมาร์ชหมดเกลี้ยงทั้ง 4 เหล่าทัพ  เพราะโดยปรกติ  เวลาได้ยินเพลงมาร์ช  ก็จะเป็นที่รู้กันของผู้คนว่าหนังกำลังจะฉาย เร้าให้รีบออกไปดูหนังและจ้ำเท้าก้าวเดิน แต่คนก็ยังน้อยอยู่ดี  เลยก็ต้องเปิดมาร์ชทั้งสี่เหล่า วนแล้ววนอีก  พอฉายจบและปิดโรงหนัง  จึงจะเปิดเพลงสรรเสริญบารมี ไม่เหมือนกับปัจจุบันของทั่วไปที่จะเปิดก่อนเริ่มต้นฉาย

             หนองบัวเกือบมีย่านศูนย์การค้าและโรงมหรสพเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์  ตอนก่อสร้างมีโรงมหรสพขนาดใหญ่  โครงไม้หลังคาสังกะสี  ใช้จัดฉายหนังล้อมผ้า  เวทีมวย และจัดแสดงดนตรี

            คุณครูทิม บุญประสม คุณครูโรงเรียนหนองบัว เคยนำวงดนตรี Yellow Brown หรือ วงน้ำตาลเหลือง ของโรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัวไปเล่นปิดวิกที่นั่น ประกบกับวงดนตรีของคณะล้อต๊อก วงดนตรีลูกทุ่งและคณะตลกที่โด่งดังที่สุดของเมืองไทยในยุคนั้นเลยทีเดียว นึกถึงแล้วก็ทั้งขำและประทับใจ เพราะหะแรกเขาก็ให้เล่นก่อนวงของคณะล้อต๊อก แต่ไปๆมาๆก็บอกว่า คณะล้อต๊อกยังมาไม่ถึงและยังไม่พร้อมเล่น  ให้พวกเราเล่นคั่นไปก่อน 

            ด้วยความเป็นแม่เหล็กของล้อต๊อกในยุคนั้นคนก็ยังรอสิครับ เข้ามาแน่นโรงไปหมด แต่ดึกๆ ไปอีกก็ยังไม่มา มีแต่หางเครื่องและคนในวงของล้อต๊อกมา คราวนี้เลยบอกให้วง Yellow Brown เล่นรอล้อต๊อก สลับกับมีคนที่บอกว่ามาจากวงดนตรีลูกทุ่งของล้อต๊อก ออกมาพูดกับคนดูเป็นระยะๆ แรกๆก็พอเอาอยู่ครับ  แต่พอหลายๆเพลงเข้าก็ชักเริ่มเกิดการมีส่วนร่วมจากคนดูขึ้นไปยังเวทีที่พวกผมเล่นดนตรีอยู่ครับ

            ช่วงหนึ่ง ขณะที่เล่นและร้องเพลงกันอยู่  ผู้ชมซึ่งเกิดอาการไม่พอใจที่ล้อต๊อกไม่มาสักทีก็เริ่มอาละวาดล่ะซีครับ มีอิฐลอยมาหล่นบนเวทีสอง-สามก้อน จากนั้น  ก็เกิดการป่วนโกลาหล กระทั่งโรงแตกและต้องเลิกเล่น กลายเป็นรับเคราะห์ทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยที่คนดูก็คงไม่รู้พอที่จะแยกแยะได้ว่าพวกเราไม่ใช่วงลูกทุ่งของล้อต๊อก แต่เป็นวงดนตรีน้ำตาลเหลือง วงดนตรีนักเรียนของโรงเรียนประจำอำเภอหนองบัว ซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขาเอง

            โรงหนังแห่งใหม่หน้าอำเภอ ต่อมาก็ถูกไฟไหม้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วก็ไม่สร้างขึ้นใหม่อีกเลย และทั้งหมดก็ล่มสลายไป  คนเดี๋ยวนี้อาจจะไม่รู้ว่า อำเภอหนองบัวเคยมีโรงหนังถึงสามโรงด้วยกัน

            ร้านถ่ายรูปสุริยา  ก่อนหน้านั้น  หนองบัวมีแต่ช่างถ่ายรูป  ตระเวนไปถ่ายตามงานต่างๆ และเป็นยุคที่ยังใช้แฟลชหลอด หรือที่ช่างถ่ายรูปเราเรียกว่า Flash-Bulb เวลาถ่ายจะมีแสงจ้าเหมือนฟ้าแลบ  ชาวบ้านเวลาเข้าแถวถ่ายรูป พอเจอแสงแฟลชก็จะตกใจเพราะคุ้นเคยแต่แสงฟ้าแลบ-ฟ้าผ่า  ไม่เคยเห็นอะไรที่จะแปลบปลาบและวาบอย่างฉับพลันขนาดนั้น จึงหากไม่วงแตก  วิ่งกระเจิง  ก็จะกรีดร้องและหลบวูบวาบ 

           ต่อมา ก็มีร้านถ่ายรูปเกิดขึ้น คือร้านถ่ายรูปสุริยา ที่ศูนย์การค้าและท่ารถเมล์ธารบัวสวรรค์ นับว่าเป็นร้านถ่ายภาพเมื่อแรกมีของหนองบัว ผู้ที่เรียนจบและทำใบสุทธิระดับต่างๆ รวมทั้งนาค ผู้บวชพระ คนกำลังแตกหนุ่มแตกสาว ส่วนใหญ่ก็จะไปถ่ายรูปกันที่ร้านถ่ายรูปสุริยานี้  การมีรูปถ่ายทั้งสำหรับติดบ้าน ติดกระเป๋า และใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนกัน นับว่าเป็นความโก้และมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีโอกาสได้ถ่ายรูป

            นายช่างสุริยาเป็นคนมีอัธยาศัยเหมือนกับคนในชนบททั่วไปที่กลมกลืนและทำอยู่ทำกินเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน  แกรับถ่ายรูปทั้งที่ร้านตนเองและตามไปถ่ายตามงานบ้าน งานหนาแน่นจนเล็บมือแกเป็นสีน้ำตาลเข้มเพราะงานเยอะและต้องสัมผัสกับน้ำยาถ่ายรูปอย่างไม่มีเวลาวางมือ

            วงเวียนหอนาฬิกาสี่แยกหนองบัว หนองบัวเมื่อยุคทศวรรษ 2510  มีหอนาฬิกาเป็นเหมือนวงเวียนจราจรไปในตัวอยู่ที่หัวตลาด ซึ่งเป็นศูนย์พบปะ และเป็นท่ารถแห่งแรกๆ ของหนองบัว ในยุคก่อนที่จะมีรถเมล์เขียวและรถเมล์แดง  หอนาฬิกาดังกล่าว  บนยอดสุดติดลำไพงเครื่องกระจายเสียง 4 ตัว หันไปรอบทิศ  นับว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารและบริหารจัดการความเป็นส่วนรวมในยุคแรกมี 

           ด้านข้างในระยะแรกๆของวงเวียนหอนาฬิกา ก็มีต้นมะขามและแคร่ไม้สำหรับเป็นแหล่งพบปะของผู้คนท้องถิ่น รวมทั้งมีปั๊มน้ำมันสามทหาร กลางวันคนก็จะนั่งคุยและเล่นหมากรุก-หมากฮอร์ส กินโอยั๊วะรอรถ พอตกเย็นก็ผสมด้วยวงเหล้าขาว เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับสร้างวงสังคม ถักทอผู้คนในหนองบัวและชุมชนโดยรอบ ให้ได้รู้จักคุ้นเคยกันทั้งอำเภอ รู้จักและนับญาติกันไปจนถึงพ่อแม่และโคตรเหง้าเหล่ากอเลยทีเดียว

           มีข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งมีงานหรือจะไหว้วานสิ่งใดกันก็เพียงบอกกล่าวถึงกัน ไม่ต้องมีการ์ด ก็รู้กันทั่วทั้งอำเภอ

                        

                        ภาพแยกตลาดหนองบัวเดิม  วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

ภาพแยกตลาดหนองบัวเดิม ตรงทางแยก มีวงเวียนหอนาฬิกาและหอนาฬิกานั้นก็ติดตั้งลำโพงเพื่อกระจายเสียงตามสาย ข้างหอนาฬิกามีป้อมตำรวจ ด้านซ้ายถัดจากป้อมตำรวจเป็นปั๊มน้ำมันสามทหาร มีต้นมะขาม ต้นมะขามเทศ และท่ารถไปเหมืองแร่ เขามะเกลือ ปากดง รถบรรทุกแร่และรถบรรทุกไม้ จากเหมืองแร่และปากดงไปยังชุมแสงและปากน้ำโพ จะผ่านที่แยกนี้ ถนนเป็นถนนลูกรังและดินเหนียว ฝุ่นหนาเป็นปึก

ระหว่างป้อมตำรวจกับปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นแยกที่เข้าไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาส เป็นทั้งทางรถ ทางเกวียน ทางวัวและควาย เวลาแห่นาคจากด้านชุมชนวัดเทพสุทธาวาสมาวนตลาดหนองบัว หรืออาจจะมาวัดหนองกลับ ก็มักจะออกมาทางถนนแคบๆนี้

ด้านขวาของป้อมตำรวจ มีกลุ่มอาคารพาณิชย์ เป็นอาคารไม้สองชั้น ๒ ฟากถนน ห้องแรกตรงคูหาริมขวานั้น เดิมเคยเป็นโรงพยาบาลคริสเตียน ซึ่งต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งอีกที่หนึ่งนอกตัวเมืองกระทั่งพัฒนาเป็นโรงพยาบาลหนองบัวดังปัจจุบัน

ห้องติดกับที่เป็นโรงพยาบาลคริสเตียนเดิม มักเห็นเป็นที่นั่งซ้อมวงดนตรีของชาวไทยจีนสำหรับแห่ล่อโก๊ะและเล่นงานงิ้ว ทางแยกที่เข้าไปแยกนี้ จะทะลุไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาสเช่นกัน เวลาแห่ขบวนเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว จะเข้าไปที่แยกนี้

ข้างอาคารหัวตลาดด้านขวามือของภาพ มักเป็นที่จัดกิจกรรมขายของของพ่อค้าเร่ เช่น เล่นกล และรถขายยา ร้านหัวตลาดที่เห็นในภาพเป็นร้านอาหารตามสั่ง ในปี ๒๕๑๑ นั้น ร้านตรงหัวตลาดนี้มีโทรทัศน์ขาวดำแล้ว

ครั้งที่มีการถ่ายทอดยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดบนดวงจันทร์นั้น คนทั้งอำเภอแห่กันมานั่งดูโทรทัศน์กันที่่ร้านนี้ แม้แต่โรงเรียนก็หยุดการเรียนการสอนชั่วครู่เพื่อให้เด็กๆและคุณครูมาดูการถ่ายทอดโทรทัศน์ยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดดวงจันทร์

            โรงน้ำแข็งและโรงทำไอติมเมื่อแรกมี  หนองบัวมีโรงทำน้ำแข็งและทำไอติม อยู่ติดกับสระน้ำวัดหลวงพ่ออ๋อยด้านถนนที่ออกไปยังเกาะลอย  เป็นโรงทำน้ำแข็งและทำไอติม  ทั้งไอติมหลอด ไอติมไข่ และไอติมกะทิ 

                      

                    ภาพเจ๊กต่ายหาบถังไอติมขายเข้าไปในหมู่บ้านไกลออกไปจากหนองบัวนับสิบกิโลเมตร ไอติมในถังเป็นไอติมหวานเย็น มีการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆซื้อโดยหากกัดกินแล้วไม้ไอติมมีสีแดงก็จะได้ไอติมฟรีอีกหนึ่งแท่ง เจ๊กต่ายเป็นคนเก่าแก่ เป็นที่รักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านหนองบัว ลูกของเจ๊กต่ายคนหนึ่งต่อมาเป็นหมอ คือ นายแพทย์วีรวัฒน์ พานทองดี เป็นศิษย์เก่าศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

             เด็กๆ จะชอบไอติมหลอด  เวลากินแล้วก็จะรีบกัดเพื่อดูว่าไม้ไอติมมีสีแดงหรือไม่  หากมีก็จะไปแลกได้เพิ่มอีก  ชาวบ้านรอบนอก  โดยเฉพาะชาวนา  จะชอบไอติมไข่และไอติมกะทิ  โดยจะนึ่งข้าวเหนียวและทำข้าวเหนียวมูล และซื้อไอติมไปกินกับข้าวเหนียวมูลเป็นกาละมัง  กินกันเป็นกลุ่มๆ เวลาเกี่ยวข้าวและทำนาทำไร่.

โรงปั่นไฟฟ้าและเครื่องปั่นไฟฟ้ายุคแรกเริ่มของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 

ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

                        

โรงปั่นไฟฟ้าแห่งแรกของอำเภอหนองบัว ตั้งอยู่ที่เกาะลอย ด้านข้างมีตีนกุด ตีนกุฏ : กุฎีเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีนารายณ์ สัญลักษณ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชนอำเภอหนองบัว ทั้งวัฒนธรรมชาวไทยจีน พุทธศาสนา คริสตศาสนา การนับถือผี เจ้า ร่างทรง

เมื่อถึงเดินกุมภาพันธุ์-มีนาคม ของทุกปี บริเวณที่เป็นที่ตั้งโรงปั่นไฟฟ้า จะเป็นแหล่งจัดเทศกาลทางวัฒนธรรมของชาวหนองบัว คือ งานงิ้วและงานเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีนารายณ์ หากไปเยือนชุมชนอำเภอหนองบัวในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะเต็มไปด้วยบรรยากาศความมีชีวิตชีวา คึกคัก ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นพิเศษ

คนหนองบัวที่จากไกลบ้านก็มักถือเป็นโอกาสกลับบ้านไปด้วย ทำให้ทั้งอำเภอเต็มไปด้วยความครึกครื้น รื่นรมย์ มีบรรยากาศเฉลิมฉลองและการเยี่ยมเยือนคารวะกัน อวลด้วยมิตรภาพและความยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าช่วงเวลาปรกติ

ด้านข้างทางทิศตะวันออก เป็นอาคารกึ่งอยู่อาศัยและค้าขายสองคูหาขนาบข้างถนนเอนกประสงค์ ทั้งสำหรับเกวียน ควายเดิน จักรยาน และรถเข็นฟืน-ถ่าน เข็นน้ำ ด้านหนึ่งไปออกที่ขอบสระน้ำวัดหนองกลับ และอีกด้านหนึ่งเปิดเข้าสู่ละแวกบ้านของชาวบ้านซึ่งทะลุออกไปบ้านธารทหารได้

เกาะลอยเป็นผืนดินขนาดสัก ๑ งาน อยู่กลางแอ่งน้ำ มีโรงไม้เล็กๆที่สามารถดัดแปลงเป็นเวทีการแสดงหรือศูนย์ประชาสัมพันธ์งานงิ้ว หรือเป็นที่ไหว้เทพเจ้าที่จัดขึ้นในระหว่างมีงานงิ้ว ปัจจุบันได้ไถดินทิ้งไปหมดและไม่มีเกาะลอยแล้ว

*  บันทึกเมื่อธันวาคม 2551

 ที่มา : http://gotoknow.org/blog/civil-learning/232492

ความคิดเห็น
PAIRVARA profile PAIRVARA
เห็นภาพนี้แล้วอยากย้อนกลับไปอยู่ในยุคนั้นจังเลย  ชอบบรรยากาศธรรมชาติไม่วุ่นวาย

guest profile guest
ขอแสดงความยินดีกับเว็บบอร์ดของโรงพยาบาลหนองบัวครับ
ผมเลยนำเรื่องราวของชุมชนหนองบัวและบางส่วนก็มีแง่มุมที่เกี่ยวกับสภาวการณ์การพัฒนาสุขภาพ โรงพยาบาล และหน่วยบริการสุขภาพในอำเภอหนองบัว ก่อนจะมีโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวครับ....
(๑) เวทีคนหนองบัว ในนี้มีเรื่องของหนองบัวที่ผมและคนหนองบัวช่วยกันประมวลขึ้นจากประสบการณ์ความเป็นคนหนองบัวและจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่ช่วยกันปะติดปะต่อจนเริ่มสะสมเป็นข้อมูลและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีคุณค่ามากทั้งต่อารเรียนรู้ตนเองของชุมชนและสามารถเป็นข้อมูลพัฒนาวิธีคิดการพัฒนารทางด้านต่างๆให้เสริมทุนทางสังคมของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีครับ ...http://gotoknow.org/blog/nongbua-community
(๒) สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการทำส้วมในยุคก่อนมีส้วมซึม ตัวอย่างการสร้างข้อมูลการพัฒนาชุมชนให้เห็นผู้คนและสิ่งที่ชุมชนเป็น ที่นอกจากสะท้อนความเป็นมาทางด้านสาธารณสุขชุมชนแล้ว ก็ให้การเรียนรู้ทางสังคมที่รอบด้าน เป็นพื้นฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของสุขภาพและสาธารณสุขกับระบบสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เห็นอีกมิติหนึ่งได้ตามความรู้เรื่องราวตนเองของชุมชนว่า การสร้างชุมชนและสังคม เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างสุขภาวะและทำให้ประชาชนพลเมืองมีสุขภาพดี ....http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
nbhos profile nbhos
ขอบคุณนะคะสำหรับประวัติหนองบัว มีประโยชน์มากเรยค่ะ

guest profile guest
อยู่มาก็นาน เพิ่งรู้จริงๆนะบางเรื่องเนี่ย
ขอขอบคุณม๊ากมาก

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

13 ปีที่ผ่านมา
nbhos Icon สิ่งดีๆเพื่อทุกคน.. อ่าน 737 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
fasai2553 Icon มันคือ โรคอะไร น่ากลัว 2 อ่าน 2,266 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
lsmpt Icon รอยร้าวจากตะปู 3 อ่าน 2,227 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
rovers Icon แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ 4 อ่าน 7,192 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
sriiss Icon ฉลองแชมป์ 2 อ่าน 1,209 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
PAIRVARA Icon สัจธรรมในการทำงาน 1 อ่าน 2,161 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
nbhos Icon รายงานความคืบหน้า webpage กันหน่อย 9 อ่าน 2,108 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
sasomsub Icon สวัสดีค่ะ 1 อ่าน 940 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
sriiss Icon วันนี้หงส์หรือสิงห์ 2 อ่าน 1,216 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
nbhos Icon การบ้าน!!!!!! 3 อ่าน 1,356 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
angle Icon ถึงอาจารย์จันทร์เจ้า 8 อ่าน 2,393 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
spider Icon คิดถึงอาจารย์..จัง 3 อ่าน 1,271 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา