บทนำของโครงการ

konbandon profile image konbandon

โครงการพุทธอุทยานหนองหารหลวง และสร้างมหาเจดีย์บรรจุพระเกศา
สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร

1.บทนำ
การสร้างอุทยานหนองหารหลวง  จะเป็นหนึ่งในโครงพัฒนาหนองหารให้เป็นแหล่งที่มีทัศนียภาพที่งดงาม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์เชิงตำนานการเกิดขึ้นของเมืองสกลนคร  เพราะอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวเชิงตำนานสำคัญๆเช่น น้ำพุธรรมชาติ  ที่เป็นสิ่งแสดงบุญญาธิการของเจ้าเมืองหนองหารหลวง พระขรรค์และน้ำพุ เกิดขึ้นพร้อมกับการประสูติของพระยาสุรอุทก ท่านางอาบ   และบ้านท่าวัดซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองเก่าที่เจริญรุ่งเรืองโดยค้นพบหลักฐานมากมาย   ทั้งเรื่องราวของพญานาคผู้มีมหิทธิฤทธิ์คุ้มครองปกปักรักษาหนองหาร  จะกลาย เป็นแหล่งพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี เป็นศูนย์ประพฤติปฏิบัติธรรมที่สามารถดึงดูดนักปฏิบัติธรรมและนักท่องเที่ยวทางธรรมะสู่จังหวัดสกลนครอีกแห่งหนึ่ง  สมกับคำขวัญเมืองสกลนครว่า “ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”

การสร้างพระมหาเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระเกศาสมเด็จย่านั้น  ถือได้ว่าสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมหามงคลที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเมืองทั้งแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป  สามารถเป็นที่พึ่งที่ระลึกทางจิตใจอันประเสริฐจะก่อเกิดประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าทั้งเหล่าทวยเทพเทวดาและมนุษย์ 
ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้น ยังทรงเป็นผู้ใฝ่ในการศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรมโดยตลอด  ทรงนำหลักธรรมมาให้การอบรมสั่งสอนพระโอรสธิดา  จนปวงชนชาวไทยมีพระมหากษัตริย์ที่งดงาม ทรงประกอบด้วยธรรมคือทศพิธราชธรรม บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาอย่างมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด  การสร้างพุทธอุทยานเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมจึงนับเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการเป็นผู้ใฝ่ธรรมและปฏิบัติธรรมของพระองค์    และพุทธอุทยานแห่งนี้ยังจะกลายเป็นสิ่งสำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นพระมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระเกศาของสมเด็จย่าหนึ่งเดียวในประเทศไทย  เสมือนดั่งพระตำหนักภูพานราชนิเวสน์ที่มีเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน  นับเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่จะเกิดประโยชน์ได้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล

        จากเหตุผลดังกล่าว  ทางคณะสงฆ์และชาวจังหวัดสกลนครและพสกนิกรผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้พร้อมใจกันจัดทำโครงการก่อสร้าง “พุทธอุทยานหนองหารหลวง” ขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สังคมชาติบ้านเมืองประชาชนทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของโครงการ

 
 
 

 
       สืบเนื่องจากคุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์  อดีตนายกสมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และอดีตเจ้าของสถานเสริมสวยและโรงเรียนสอนตัดผมจันทนา  ผู้ซึ่งมีโอกาสรับใช้สนองพระเดชพระคุณในเบื้องยุคลบาทของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิราสราชนครินทร์   สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อยู่เนืองนิตย์
        ในปี พ.ศ.2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณหญิงฯ ได้เข้าถวายงานรับใช้พระเดชพระคุณเบื้องยุคลบาทในการถวายงานพระเกศาประจำพระองค์  และทรงพระเมตตาพระราชทานพระเกศาส่วนหนึ่งเพื่อความเป็นมหาศิริมงคลแก่คุณหญิงสุชาดา ซึ่งทรงแสดงพระเมตตาต่อคุณหญิงฯเสมือนหนึ่งเป็นข้าในพระองค์  คุณหญิงได้เก็บรักษาพระเกศาไว้สักการบูชาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด     จนกระทั่งคุณหญิงฯมาปรารภว่า    “พระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯของไทยเราถึง 2 พระองค์  แสดงถึงทรงมีพระบุญญาธิการยิ่งใหญ่  การที่พระเกศาของพระองค์เก็บรักษาอยู่กับคุณหญิงฯหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งส่วนตัวนั้น  ต่อไปภายหน้าถ้าหากไม่มีใครเห็นความสำคัญให้การสักการบูชาแล้ว ย่อมเป็นการไม่บังควรเหมาะสม ทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็น้อยไม่ยิ่งใหญ่ไพศาล   พระเกศาสมเด็จย่าซึ่งเป็นมงคลสูงสุดนี้  จึงสมควรเหมาะสมกับผู้มีบุญญาธิการที่จะได้ไว้สักการบูชา จึงเห็นสมควรนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงอยู่ในฐานะเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกแทนพระองค์  พระราชทานพระราชวโรกาสให้คุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย     พระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี           ณ พระตำหนักนนทบุรี เวลา 17.15 น. ตรงกับวันศุกร์ที่ 7มิถุนายน  พ.ศ.2539

        ส่วนพระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีส่วนที่ 2 คุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์มีความปรารถนาอยากให้นำมาประดิษฐานเป็นสมบัติของชาวจังหวัดสกลนครยังถิ่นมาตุภูมิ เพื่อให้ชาวจังหวัดสกลนครและพสกนิกรทั่วไปได้สักการบูชาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเป็นมหาศิริมงคล ได้ถวายความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า  จึงได้ถวายพระเกศาส่วนนี้แก่พระมหาคาวี  ญาณสาโร  เจ้าอาวาสวัดสะพานคำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวสกลนครที่คุณหญิงฯเคารพนับถือ ได้กำหนดวันถวายในวันมหามงคลของชาวไทยวันที่ 5 ธันวาคม  พ.ศ.2548  ณ บ้านเลขที่ 120/2สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา  กรุงเทพมหานคร 

        นายปรีชา  กมลบุตร  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครและภริยา  ได้จัดขบวนอัญเชิญพระเกศาสมเด็จย่าจากสนามบินสกลนครมาประดิษฐานที่วัดสะพานคำอย่างสมพระเกียรติ และเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2549 ได้จัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร มีมติเห็นร่วมกันที่จะจัดสร้างพระมหาเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาสมเด็จย่า เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติแก่สมเด็จย่า  
        ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม  พ. ศ2554 พระมหาคาวี  ญาณสาโร  จึงได้ออกสำรวจพื้นที่และได้เห็นพื้นที่เหมาะสม  ณ  บ้านนาแก้ว  ตำบลนาแก้ว  อำเภอโพนนาแก้ว  จังหวัดสกลนคร ริมฝั่งหนองหารด้านตะวันออกจำนวน 72 ไร่  จึงได้ขอความร่วมมือจากนายช่างวิศวกรโยธาจังหวัดสกลนครออกไปสำรวจพื้นที่  เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2555 พระมหาคาวี ญาณสาโร พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร ได้เข้าไปพบนายจรินทร์ จักกะพาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร   เพื่อขอคำปรึกษาและสนับสนุนโครงการ  ซึ่งท่านได้เห็นชอบและยินดีที่จะสนับสนุนผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จตามที่เสนอ

พระมหาคาวี ญาณสาโร ได้นำโครงการนี้ไปปรึกษาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถรป.ธ.9 ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ซึ่งได้รับความเห็นชอบและยินดีให้การสนับสนุนโครงการนี้ด้วยดี

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

konbandon Icon บทนำของโครงการ อ่าน 450 9 ปีที่ผ่านมา
9 ปีที่ผ่านมา
9 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon นิทานก้อม อ่าน 1,291 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon บทเพลงแห่งท้องนา อ่าน 1,091 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon การประดิษฐ์เกี่ยวข้าว อ่าน 4,750 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon ลำล่องมหาแดงลืมโต อ่าน 1,854 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon ผญาอีสาน อ่าน 16,394 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon หมอลำพันปี อ่าน 745 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา