ลำน้ำก่ำ หรือ ลำน้ำกรรม (ตำนานฟานด่อน-หนองหานสกลนคร)

guest profile image guest






ลำน้ำก่ำ หรือ ลำน้ำกรรม (ตำนานฟานด่อน-หนองหานสกลนคร)

..............


ลำน้ำก่ำ หรือในตำนานอุรังคนิทานเรียกว่าลำน้ำกรรม เป็นลำน้ำขนาดเล็กที่ไหลจากหนองหานสกลนคร ไปออกแม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จุดเริ่มต้นของน้ำก่ำก็อยู่แถวบ้านท่าวัด อำเภอเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นชุมชนเก่าสมัยทวาราวดีก่อนที่อาณาจักรขอมจะเรืองอำนาจเสียอีก แม้มาถึงยุคขอมชุมชนบ้านท่าวัดก็ยังสามารถรักษาความเป็นชุมชนเอาไว้ และมีการปรับเปลี่ยนแนวความเชื่อแบบพุทธศาสนามาเป็นความเชื่อตามแบบขอม (อาจเป็นมูลเหตุที่โบราณสถาน-วัตถุโบราณ สมัยทวาราวดีสูญหายไปจำนวนมาก ทั้งๆที่จุดนี้น่าจะเป็นชุมชนที่มีความสำคัญและมีความเจริญพอสมควร)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวในโลกนี้ที่เป็นผู้มีจินตนาการ และมนุษย์มีระบบความเชื่อที่ผูกกับศาสนา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดการผูกโยงเรื่องราวเกิดเป็นตำนาน นิทาน เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งเพื่อความสนุกสนานและเพื่อกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆ

ลำน้ำก่ำ หรือ ลำน้ำกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนานฟานด่อน หนึ่งในสองตำนาน(ผาแดง-นางไอ่)ที่เกิดมาควบกับเมืองหนองหานหลวง

 

 

ความในตำนาน..
ขุนขอม ราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ได้มาสร้างเมืองหนองหานหลวงขึ้นบริเวณท่านางอาบ(บ้านน้ำพุ-บ้านท่าศาลา) ริมหนองหาน ขุนขอมมีบุตรคนหนึ่งชื่อสุรอุทก ในวันประสูติกุมารน้อยสุรอุทกมีอัศจารรย์บังเกิดน้ำพุขึ้นริมหนองหานใกล้ๆกับเมือง ขุนขอมจึงตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า”ซ่งน้ำพุ” (ที่ตั้งบ้านน้ำพุ อ.โพนนาแก้ว) ต่อมาเจ้าสุรอุทกมีพระชนม์๑๕พรรษา ขุนขอมบิดาก็ถึงแก่กรรม

พระยาสุรอุทกได้ขึ้นครองเมืองปกครองไพร่ฟ้าสืบมา พระองค์มีบุตร๒องค์ คือ เจ้าสุวรรณภิงคาร และ เจ้าคำแดง วันหนึ่งพระยาสุรอุทกก็เกณฑ์ไพ่พลเพื่อออกตรวจตราแนวเขตบ้านเมือง ครั้นเดินทางไปถึงปากน้ำมูนนที ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเมืองหนองหานหลวงกับเมืองอินทปัฐนคร เสนาอำมาตย์จึงเข้ารายงานว่า..”เส้นแบ่งเขตระหว่างเมืองหนองหานหลวง กับ เมืองอินทปัฐนคร ที่ยึดถือเอาลำน้ำมูนนที ไปจรดดงพระยาไฟ นั้น ขุนขอมซึ่งเป็นพระบิดาของพระองค์ได้ตกลงกับเจ้าเมืองอินทปัฐนคร โดยมอบหมายให้ “ธนมูนนาค” พญานาคผู้มิอิทธิฤทธิ์ให้ดูแลแนวเขตนี้ต่อไป

 

ฝ่ายพระยาสุรอุทกได้ฟังก็ทรงพิโรธ หาว่า..ทำไมปู่กับบิดาถึงมอบให้สัตว์เดรัจฉานเยี่ยงธนมูนนาคเป็นผู้ดูแลบ้านเมืองเช่นนี้ ซึ่งเป็นการไม่บังควร เป็นการลบหลู่พระเกียรติยศ ว่าแล้วพระยาสุรอุทกก็ชักพระขันธ์ออกมาแสดงอิทธิฤทธิ์ไต่ขึ้นเหนือน้ำธนมูนนทีเพื่อเป็นการข่มขู่ธนมูนนาค 
ฝ่ายธนมูนนาค ก็ไม่พอใจเช่นกันที่ถูกลบหลู่เช่นนั้น ต่างฝ่ายจึงต่างแสดงอิทธิฤทธิ์ออกมาข่มกันแบบไม่มีใครยอมใคร

จนเมื่อพระยาสุรอุทกเดินทางกลับเมืองหนองหานหลวง ธนมูนนาคก็ยังไม่หายเจ็บแค้น จึงเกณฑ์ไพร่พลนาคตามมา โดยสำแดงเดชให้ไพร่พลทั้งหลายกลายร่างเป็น “ฟานด่อน” สีขาวบริสุทธิ์สวยงามแก่ผู้พบเห็น ไพร่พลของธนมูนนาคได้เดินทางมาถึงบ้านโพธิ์สามต้น(ปัจจุบันคือ ต.โพธิไพศาล อ.เมืองสกลนคร) ชาวเมืองได้พบเห็นความอัศจรรย์ฟานด่อนจำนวนมาก ก็นำความกราบบังคมทูลพระยาสุรอุทกให้ทรงทราบ

 

 

พระยาสุรอุทกเมื่อทรงทราบ ก็ไม่ได้เฉลียวใจในความอัศจรรย์นั้น สั่งให้นายพรานไปจับตัวมาถวาย ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย เมื่อนายพรานพร้อมพวกเดินทางไปถึงบ้านโพธิ์สามต้น ก็เห็นฝูงฟานด่อนแทะเล็มหญ้าอยู่ ครั้นจะเข้าไปจับฝูงฟานด่อนนั้นกลับเร้นกายหายไปราวกับอยู่ในความฝัน ยังคงเหลือแต่ฟานด่อนที่ชื่อธนมูนนาคตัวเดียวที่ยังคงแทะเล็มหญ้าอยู่โดยไม่แสดงท่าทีตกใจหนีไป แต่ก็ใช่ว่าจะจับได้โดยง่าย ธนมูนนาคหลอกล่อจนนายพรานเหนื่อยก็ยังจับไม่ได้ จนมาถึงบ้านหนองบัวสร้าง(บ้านหนองบัวสร้าง ต.โพธิไพศาล ตั้งอยู่ติดกับถนนสายนาหว้า-สกลนคร) นายพรานจึงตัดสินใจใช้ปืนอาบยาพิษยิงฟานด่อนตัวนั้น

ฝ่ายธนมูนนาค เมื่อถูกยิงครั้นจะต่อสู้กับนายพรานซึ่งไม่มีฤทธิ์เดชอะไรก็กลัวจะเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงสูบเอาวิญญาณของตนออกจากร่างฟานด่อน จากนั้นฟานด่อนก็ถึงแก่ความตาย

เมื่อฟานด่อนตายแล้ว ธนมูนนาคก็ทำอิทธิฤทธิ์ให้ฟานด่อนตัวนั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนนายพรานไม่สามารถนำร่างฟานด่อนกลับไปเมืองหนองหานหลวงได้ จึงลากศพฟานด่อนตัวนั้นมาไว้ที่ริมหนองหานแล้วกราบบังคมทูลพระยาสุรอุทกให้ทรงทราบ 

 

 

ฝ่ายพระยาสุรอุทกก็สั่งให้แล่เอาเนื้อไปถวาย ที่เหลือก็แบ่งกันไป นายพรานและชาวบ้านแถวนั้นพากันแล่เนื้อฟานด่อนตัวนั้นถึง๓วัน๓คืนก็ยังไม่หมด ยิ่งแล่ก็ยิ่งมากขึ้นจนคนในเมืองหนองหานหลวงได้กินกันทุกคน พระยาสุรอุทกเมื่อได้เสวยเนื้อฟานด่อนตัวนั้นแล้วก็รู้สึกมีความสุขยิ่งนัก

ฝ่ายธนมูนนาค ซึ่งยิ่งเพิ่มไฟแห่งความโกรธมากขึ้น ก็เตรียมไพร่พลนาคเข้าทำการขุดดินใต้เมืองหนองหานหลวง หวังให้ล่มเป็นหนองน้ำ การต่อสู้ระหว่างกองทัพพระยาสุรอุทก กับ ธนมูนนาค จบลงที่พระยาสุรอุทกถูกจับตัวได้ ธนมูนนาคใช้บ่วงบาศก์ที่เสกเวทย์มนต์พันธนาการพระยาสุรอุทกไว้ แล้วก็ชักลากพระยาสุรอุทกไปตามทุ่งนาป่าเขา วกไปวนมาหวังให้ได้รับความทุกขเวทนา ความลำบาก พอถึงแม่น้ำโขงพระยาสุรอุทกก็ขาดใจตาย ธนมูนนาคจึงส่งศพพระยาสุรอุทกไปยังเมืองอินทปัฐนครซึ่งเป็นเชื้อสายเดิม

 

 

หนทางที่ธนมูนนาค ชักลากพระยาสุรอุทกไปยังแม่น้ำโขงนั้นได้กลายเป็นล่องลึกและกลายมาเป็นลำน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกลำน้ำนี้ว่าลำน้ำกรรม(ลำน้ำก่ำ ในปัจจุบัน) เพราะธนมูนนาคทรมานพระยาสุรอุทกให้ได้รับกรรมเช่นเดียวกับที่พระองค์สั่งให้คนลากร่างฟานด่อนมายังริมหนองหาน

ส่วนหนทางที่นายพรานลากฟานด่อนมาถึงริมฝั่งหนองหาน ก็เกิดเป็นร่องลึกจนกลายมาเป็น”คลองน้ำลาก” ไหลจากตำบลโพธิไพศาลมาตกยังหนองหานในปัจจุบัน

 

เมื่อสิ้นสมัยพระยาสุรอุทก พระยาสุวรรณภิงคารผู้เป็นโอรสองค์โตก็ครองเมืองแทน และอภิเษกสมรสกับพระนางนารายณ์เจงเวง ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์จากเมืองอินทปัฐนคร(เชื้อสายเดียวกัน) ส่วนพระยาคำแดงพระอนุชา เมืองหนองหานน้อยห้วงเวลานั้นเว้นว่างผู้ครองเมือง เสนาอำมาตย์จึงเสี่ยงทายหาเจ้าผู้ครองนคร ปรากกว่าราชรถเสี่ยงทายมาเกยที่วังของเจ้าคำแดง ณ เมืองหนองหานหลวง พระยาคำแดงจึงได้ไปครองเมืองหนองหานน้อยนับแต่นั้นมา.




ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

konbandon Icon บทนำของโครงการ อ่าน 451 9 ปีที่ผ่านมา
9 ปีที่ผ่านมา
9 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon นิทานก้อม อ่าน 1,291 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon บทเพลงแห่งท้องนา อ่าน 1,091 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon การประดิษฐ์เกี่ยวข้าว อ่าน 4,751 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon ลำล่องมหาแดงลืมโต อ่าน 1,854 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon ผญาอีสาน อ่าน 16,394 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
konbandon Icon หมอลำพันปี อ่าน 745 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา