ทั้งรักทั้งเกลียด อินเดีย หน้า5 หาที่เรียนในเมืองแขก

Phindia profile image Phindia


                                       


เพื่อความมั่นใจในสถาบันที่เราจะไปศึกษาต่อ หากท่านอยากทราบว่ามหาวิทยาลัยที่เราจะไปเรียนต่อนั้น ทาง กพ.รับรองวุฒิหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปเช็คได้ที่ ทางเว็บไซด์ ส่วนมหาวิทยาลัยที่คนไทยนิยมมาเรียนกันนั้นมีกระจายอยู่ทุกภาคของอินเดีย เป็นสิ่งลำบากมาก ในการจะติดต่อกันระหว่างนักศึกษาไทยแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะว่าบางมหาวิทยาลัยนักศึกษาไทยไม่สามารถรวมตัวกันได้ เพราะสภาพการเป็นอยู่ที่กระจัดกระจายกัน ดังนั้นจึงมีปัญหาหากจะหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ที่แน่นอนและที่อยู่ถาวร หรือสมาคมนักศึกษาไทยของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ถึงกระนั้นก็มิได้หมายความว่าบางรัฐจะไม่มีสมาคมนักศึกษาไทยเลย ก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาไทยในบางมหาวิทยาลัยก็ตั้งสมาคมขึ้นมา เพื่อเป็นจุดเชื่อมในการติดต่อแต่ละมหาวิทยาลัยในอินเดีย 


                                                   


 แต่หากจะไปเยี่ยมนักศึกษาไทยจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งค่อนข้างลำบากในเรื่องของการเดินทาง นี้เป็นเรื่องของการติดต่อที่ค่อนข้างลำบากในอินเดีย ส่วนรายละเอียดของคณะที่ท่านจะมาติดต่อเรียน ต้องติดต่อบุคคลภายในที่อยู่อินเดียอีกทีหนึ่ง เพราะบางมหาวิทยาลัย มีคณะเปิดสอน แต่ว่าสมัครเรียนไม่ได้ก็มี  อาจจะมีเหตุผลหลากหลายประการขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของคณะครูอาจารย์หรือบางมหาวิทยาลัยเขาพิจารณาความสามารถทางภาษาอังกฤษด้วย บางคณะเราอยากเรียน แต่สาขาที่เราจบ ไม่ตรงกันกับคณะที่เราสมัคร ทางคณะครูอาจารย์ผู้รับผิดชอบพิจารณา ไม่พิจารณารับก็มี และการเดินเอกสารในการสมัครเรียนค่อนข้างใช้เวลานาน และใช้ความอดทนสูงมาก ในการที่จะไปรอ แล้วก็รอแขก....เป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน 


                                                 


 เจ้าหน้าที่แขกแต่ละคนทำงานเหมือนกินข้าววันละสองมื้อ คือเช้าชามเย็นชาม  ขอให้รำลึกเสมอว่าผู้ที่เดินเอกสารให้กับเราต้องมีความเสียสละอย่างมาก ถึงจะทำได้ บางคราวก็โดนแขกด่าที่ต้องคอยตื้อสอบถามรายละเอียดบ่อยๆให้กับเรา โดยที่แขกเขาก็คงไม่รู้หรอกว่า ตูก็รำคาญเหมือนกันที่จะต้องคอยมาถามทุกเมื่อเชื่อวัน ขอยืนยันว่ามีจริงๆ ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยเรียน โดยส่วนมากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอินเดียพอสมควร  

              

 

เมื่อครั้งที่ผมมาเรียนอินเดียครั้งแรก ผมไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากนัก ในเรื่องของระดับหรือเกรดมหาวิทยาลัย ตลอดจนมหาวิทยาลัยไหนบ้างในอินเดียที่ กพ.รับรองหรือไม่รับรอง ตลอดจนในเรื่องของเงินเดือนเงินดาว์นที่จะได้รับหากเรียนจบหรือมีงานทำ  อาจจะเป็นเพราะผมไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในอินเดีย รุ่นพี่ที่ศึกษาในอินเดียพามาและมหาวิทยาลัยต้นสังกัดที่ผมเรียนจบปริญญาตรีส่งตัวมา สิ่งที่ผมคิดอันดับแรกก็คือจะตั้งใจเรียนให้จบภายในหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด


                                        


 มหาวิทยาลัยที่ผมพอจะรู้ว่ามีนักศึกษาไทยเรียนอยู่บ้าง อาจจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจพิจารณาเลือกที่จะมาเรียน เป็นมหาวิทยาลัยที่คนไทยนิยมมาเรียนประจำเกือบทุกปี แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรของตัวเอง ผมไม่สามารถบอกได้ว่าท่านจะเรียนกี่ปีถึงจะจบ เพราะการจะจบเมื่อไหร่นั้น  ท่านและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ย่อมรู้ดีกว่าใคร  ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้นผมแค่คาดคะเนประมาณการและสอบถามเพื่อนที่เรียนอยู่ตามสถาบันดังกล่าว ส่วนค่าใช้จ่ายนอกระบบอย่างอื่นนั้นขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเอง รายชื่อมหาวิทยาลัยทั้งหมดนี้อาจจะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ท่านอยากจะไปเรียนก็ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยมี College สามารถนำบุตรหลานมาเรียนได้


                                      


            1.มหาวิทยาลัย JNU (Jawaharalal Nehru University) เมืองนิวเดลฮี ชาวต่างชาติมาเรียนเยอะ ระบบการเรียนการสอนค่อนข้างเป็น International หากคุณคิดว่าภาษาอังกฤษอยู่ในระดับใช้ได้และมีเงิน อยากให้พิจารณามหาวิทยาลัยนี้เป็นอันดับแรก คณะที่น่ามาศึกษาคือสังคม-และรัฐศาสตร์ คณะที่ดังน่าจะเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, Social science แต่ต้องขอบอกว่าภาษาอังกฤษของคุณต้องอยู่ในระดับที่ดี หากไม่อย่างนั้น ค่อนข้างจะเรียนหนัก อาจจะใช้เวลานานพอสมควร หรือหากเรียนจบ แต่เกรดอาจจะไม่สวยสักเท่าไหร่ ระบบมหาวิทยาลัยดี แต่ค้าใช้จ่ายค่อนข้างแพงมาก หากนักศึกษาที่ได้ทุน ICCR เหมาะที่จะมาเรียนมาก ส่วนสภาพหอพักนักศึกษาถือได้ว่าน่าอยู่มาก ความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์ต่อชาวต่างชาติค่อนข้างดี ค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000-120,000 รูปี / ปี หรืออาจจะไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ถือว่าไม่แพงสำหรับคนมีตังค์


                                             


            2.มหาวิทยาลัย เดลฮี (University of Delhi) เมืองเดลฮี  เป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่มีคนไทยมาเรียนทุกๆปี คณะที่น่ามาศึกษาหรือเป็นที่รู้จักกัน คือ ศึกษาศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ค่าครองชีพค่อนข้างแพง คนที่จะมาเรียน ภาษาอังกฤษควรอยู่ในระดับพอใช้ได้ สามารถสนทนากับครูอาจารย์ได้ นักศึกษาส่วนมากจะพักอยู่ในหอนอกมหาวิทยาลัย เพราะหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีจำกัดในเรื่องของโควต้าสำหรับนักศึกษาต่างชาติ แต่หากเป็นนักศึกษาปริญญาเอก อาจจะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ แต่ส่วนมากนักศึกษาจะเช่าบ้านอยู่ข้างนอกมากกว่า เพราะหากพักอยู่หอใน ค่อนข้างมีเรื่องจุกจิกในเรื่องเงินมัดจำ เสียค่าชาร์จสำหรับนักศึกษาต่างชาติครั้งเดียว 500 ดอลล่าร์ ไม่ว่าคุณจะเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หากพักอยู่หอในมหาวิทยาลัยค่าใช้จ่ายประมาณ ปีละ 70,000 รูปี/ ปี หากพักอยู่หอนอกมหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายประมาณละ 90,000 รูปี / ปี ค่าใช้จ่ายโดยรวมประมาณ 100,000-120,000 รูปี / ปี


 


            3.มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (Banaras Hindu University) เมืองพาราณสี มีนักศึกษาไทยค่อนข้างมาก ข้อดีของการมาศึกษายังมหาวิทยาลัยนี้ก็คือ ประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายและมีกลุ่มคนไทยมาเที่ยวบ่อยๆ อาจจะจบตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด  แต่มีข้อเสียอย่างมากก็คือไม่ค่อยจะได้ในเรื่องภาษา  อาจจะได้ภาษาท้องถิ่นไปแทน เพราะทางมหาวิทยาลัยจัดให้นักศึกษาไทยอยู่เป็นสัดส่วนค่อนข้างชัดเจน นักศึกษาไทยบางคนบางวันแทบไม่มีโอกาสได้พูดภาษาอังกฤษ แต่โอกาสที่จะได้คุยกับฝรั่งค่อนข้างมีมาก หากพยายามสร้างเซลล์ผิวหน้าให้หนากว่านักศึกษาคนไทยด้วยกันเอง เป็นเมืองที่มีนักศึกษาชาวต่างชาติมาเรียนทุกๆปี น้อยบ้างมากบ้าง แล้วแต่คณะ แต่สภาพบ้านเมืองไม่ค่อยจะดูดีมากนัก ตลอดจนอุปนิสัยใจคอของแขกในพื้นที่แย่มาก เหมาะสำหรับเรียนปริญญาเอกมากกว่าปริญญาโทและปริญญาตรี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์กับนักศึกษาไทยค่อนข้างดี ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเล่าเรียนประมาณ 50,000-60,000 / ปี


                                                      


            4. Jamia Millia Islamia University เมืองนิวเดลฮี ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยไม่มาก แทบจะเรียกว่าน้อยมากครับ ส่วนค่าใช้จ่ายในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ผมไม่แน่ใจ แต่ในระดับปริญญาเอก เหมาจ่าย ปีละ 1200 $ คณะที่น่าสนใจก็มี ศึกษาศาสตร์, วารสารศาสตร์, Social work, computer etc. ส่วนสภาพความเป็นอยู่มีข้อจำกัด คือ ในหอพักเขาจะบังคับให้ทานอาหารหอ ซึ่งเป็นอาหารแขก แต่หากไม่อยากยุ่งยากในเรื่องอาหารการกินก็ต้องออกไปเช่าบ้านอยู่ข้างนอก ค่าใช้จ่ายโดยรวมประมาณปีละ 100,000-1200,000 รูปี


 


5.มหาวิทยาลัยอัคร่า  (Agra University) เมืองอัคร่า ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อย และค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าเล่าเรียนถือได้ว่าไม่แพงมาก ส่วนความเป็นอยู่ ส่วนมากนักศึกษาไทยจะเช่าบ้านอยู่ข้างนอกมหาวิทยาลัยมากกว่า เพราะสะดวกสบายในเรื่องอาหาร คือทำกับข้าวทานเองได้ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่อากาศค่อนข้างร้อนมากในช่วงหน้าร้อน และอาจจะมีฝุ่นทรายเป็นของแถม แต่ส่วนมากนักศึกษาไทยจะไปเที่ยวยังเมืองอื่น ในช่วงหน้าร้อน ในระดับปริญญาเอก ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่มหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 รูปี / ปี


                                        


            6.มหาวิทยาลัยปูเณ่ (Pune) ชื่อเก่ารู้จักกันดีในนาม ปูณ่า เป็นมหาลัยอีกแห่งหนึ่งที่ผมใฝ่ฝันอยากจะมาเรียน แต่ความฝันก็ต้องหยุดชะงัก เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงมากระบบมหาวิทยาลัยค่อนข้างดี บ้านเมืองสะอาด มีสมาคมนักศึกษาไทยและมีนักศึกษาไทยให้ความสนใจมาเรียนทุกๆปี จะมีปัญหามากในการเรียนหากภาษาอังกฤษเราไม่ดีพอ ค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000-120,000 รูปี / ปี


 


            7.มหาวิทยาลัยมัสราส มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อยมากในอนาคตอาจจะไม่มีก็ได้ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง สภาพบ้านเมืองน่าอยู่ ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี แต่มีเพื่อนๆหลายคนที่เรียนอยู่ที่นี้บอกว่าค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องระบบเพราะมหาวิทยาลัยเปลี่ยนกฎบางอย่าง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อนักศึกษาต่างชาติในเรื่องค่าเล่าเรียน 100,000-120,000 รูปี / ปี


 


            8.มหาวิทยาลัย ไมซอร์ มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อยมาก ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง สภาพบ้านเมืองน่าอยู่ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่ามาเรียน ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 -120,000 รูปี/ ปี


 


            9.มหาวิทยาลัย ปัญจาบ (Punjab) เมืองจันดิการ์ฮ มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อย เป็นเมืองที่น่าอยู่ อากาศดีและผู้คนก็นิสัยดี เพราะส่วนมากคนพื้นที่เป็นแขกซิกข์ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ภาษาต้องอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ หรือค่อนข้างดี การเรียนอาจจะประสบผลสำเร็จ มีหอพักชายและหญิงเป็นสัดส่วนในมหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000-120,000 รูปี / ปี


 


                                                    


            10.มหาวิทยาลัยคุรุเกษตร (Kurukseta University) ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยไม่ค่อยมาก แต่ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยปัญจาบมากนัก สามารถไปมาหาสู่กันได้ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ค่าเรียนไม่ค่อยแพง ส่วนมากนักศึกษาไทยมักจะเช่าบ้านอยู่ข้างนอกมากกว่าที่จะอยู่ในหอพักในมหาวิทยาลัย การเช่าบ้านถ้าจับกลุ่มแชร์กันอาจจะประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายได้มาก ประมาณ 80,000 รูปี / ปี


 


            11.มหาวิทยาลัยสันตินิเกตัน มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อยมากหรือหากจะบอกว่าในแต่ละปีแทบไม่มีนักศึกษาไทยเข้ามาเรียนก็ว่าได้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างจะเข้าเรียนลำบาก เพราะข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ไม่ค่อยชัดเจน คนที่อยากจะมาเรียนภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับใช้ได้  เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าอยู่ และผู้คนก็อัธยาศัยดี ค่าใช้จ่ายประมาณ ปีละ 800,000 รูปี / ปี


 


            12.มหาวิทยาลัย สันสกฤต สัมปูรณานัน (Sampurnanand Sanskrit University)  เมืองพาราณสี มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อย ส่วนมากกำลังอยู่ศึกษาในระดับปริญญาเอก ทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาสันสกฤต นักศึกษาไทยที่เรียนในระดับปริญญาโทไม่ค่อยมี ค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก เหมาะสมสำหรับบุคคลที่ต้องการจะเรียนภาษาสันสกฤตโดยตรง เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยบาณารัส (มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี) สามารถไปมาหาสู่กันได้ ค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000-60,000 รูปี / ปี


 


            13.มหาวิทยาลัยนาคปูร์ อยู่ในเมืองเล็กๆ ที่น่าอยู่อีกเหมือนกัน คนพื้นเมืองโดยส่วนมากนับถือพุทธ แต่มีอะไรให้น่าศึกษาอีกมากในเรื่องระบบ ต้องสอบถามคนที่เรียนจบโดยตรง  ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยไม่มาก ค่าใช้จ่ายในการเรียนปริญญาโทประมาณ 100,000-120,000 รูปี


 


            14.มหาวิทยาลัย ดร.เอมเบดการ์ ชื่อเต็มคือ (Dr. Basaheb Ambrekar Mahathawa University) มีนักศึกษาไทยไม่มาก สภาพความเป็นอยู่ดี บ้านเมืองสะอาด ผู้คนอัธยาศัยดี แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ประมาณ 100,000-120,000 รูปี / ปี ในระดับปริญญาเอก ในกรณีที่ตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้ นักศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่มหาวิทยาลัยก็ได้


                                                         


            15.มหาลัยวิทยาลัย กัลกัตต้า เมืองกัลกัตต้า มีนักศึกษาไทยค่อนข้างน้อย เป็นมหาวิทยาลัยที่คนไทยเริ่มเข้าศึกษาได้ไม่นาน อยู่ในตัวเมืองใหญ่ หากคิดจะมาเรียน ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับที่สนทนากับครูอาจารย์รู้เรื่อง อ่านออกเขียนได้ ค่าเรียนถูก แต่ค่าครองชีพแพง ประมาณ 100,000-120,000 รูปี/ปี เท่าที่ผมรู้ มีมหาวิทยาลัยดีๆหลายแห่ง แต่คนไทยไม่นิยมมาเรียนที่นี่ อาจจะเป็นเพราะเหตุผลด้านภาษาก็ได้ เพราะบางคณะ หากภาษาอังกฤษของเราไม่เก่งพอ เขาก็ไม่รับพิจารณา โดยเฉพาะคณะ English literature ค่อนข้างมีปัญหากับคนไทย ในระดับปริญญาเอก


 


            ส่วนในระดับมัธยม เมืองที่พอจะทราบมาและเคยไปสัมผัสที่มีนักเรียนไทยค่อนข้างมาเรียนเยอะนั่นก็คือ เมืองฉิมล่า เป็นเมืองที่น่าอยู่มาก บรรยากาศดีอาจจะดีกว่าเชียงใหม่ด้วยซ้ำ ตัวเมืองอยู่บนภูเขา บางแห่งเป็นโรงเรียนกินนอน การเดินทางค่อนข้างสะดวก หากนั่งเครื่องมาลงที่เมืองหลวง (New Delhi) ข้อเสียนั่นก็คือการที่มีเด็กนักเรียนไทยกระจุกอยู่รวมกันมากๆ อาจจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาในเรื่องภาษา บางคนอยู่เป็นปี แต่กลับพูดภาษาอังกฤษได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ผมไปเที่ยวประมาณปี 47 อาจารย์แขกที่โน้นบอกว่ามีนักเรียนไทยประมาณเกือบ 200 คน และที่เมืองดาร์จี่ลิ่ง มีนักเรียนไทยค่อนข้างเยอะเหมือนกันสภาพบ้านเมืองก็ไม่แตกต่างอะไรกับเมืองฉิมล่าแต่ดาร์จี่ลิ่งค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องน้ำ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ไม่เคยว่างเว้นจากคนไทย และต้องระมัดระวังคอยเตือนบุตรหลานในเรื่องสิ่งเสพติด เพราะกัญชาหาง่ายมากในอินเดีย แต่สถานที่เที่ยวในยามค่ำคืนเช่น ผับบาร์ เทค ค่อนข้างหายาก บางเมืองแทบไม่มีให้เห็นเลยก็ว่าได้ และที่เดอราดูน ก็ถือว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งที่เจริญ แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอย่างมากก่อนที่จะนำบุตรหลานมาเรียนครับ  เพราะบางโรงเรียนคนไทยก็กระจุกกันอยู่เป็นร้อย สถานที่ที่ผมได้แนะนำมา บางแห่งก็ต้องใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบเป็นอย่างมาก เพราะอนาคตของบุตรหลานเรา สถาบันการศึกษาก็มีช่วยชี้นำทิศทางไปสู่อนาคตที่ดี


                                                    


            หากคิดจะไปเรียนยังมหาวิทยาลัยที่สบายๆ ง่ายๆ เรียนๆ เล่นๆ เดี๋ยวก็จบไปเอง ก็มีให้เลือกเยอะครับ มหาวิทยาลัยห้องแถวในอินเดียมีเยอะมาก แต่จบมาแล้วจะมาทำอะไร ต้องคิดตรงจุดนี้ด้วย (และต้องคิดให้มาก) แต่มหาวิทยาลัยที่ผมได้บอกไปแล้วในเบื้องต้น ส่วนมากจะมีพี่เบิ้มอยู่ประจำทุกมหาวิทยาลัย จบปริญญาโทแล้วก็ลงปริญญาโท หรือจบปริญญาเอกแล้วก็ลงปริญญาโทอีกใบหนึ่ง คืออยู่ค่อนข้างนาน ซึ่งเป็นขาใหญ่ประจำคณะนักศึกษาไทย บางคนอยู่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง ถ้าคิดจะไปเรียนยังมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคนไทยอยู่ ค่อนข้างลำบากหากมีปัญหา ช่วงแรกๆผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าอยากไปหาที่ไหนสักแห่งหนึ่งไม่มีคนไทยเรียน ความคิดที่ว่าหลบหนีคนไทยไปเรียนควรเป็นในช่วงซัมเมอร์จะดีกว่าครับ คือหนีจากคนไทยสักระยะในช่วงมหาวิทยาลัยปิดเทอม แต่หากจะหลบคนไทยไปเรียนอยู่ตามลำพังอย่าลืมว่าค่อนข้างลำบากหากมีปัญหา ไม่มีใครช่วยเราได้จริงๆ นอกเหนือจากคนไทยด้วยกันเอง จะช่วยได้มากหรือน้อย อย่างน้อยคนไทยก็ไม่เคยทิ้งกัน ส่วนการข้อเสียของการที่คนไทยกระจุกอยู่รวมกันนั่นก็คือภาษา อาจจะมีเงื่อนไขอีกมากที่ประกอบในการตัดสินใจเลือก ต้องคิดให้ดี ก่อนที่จะโทษตัวเองในการตัดสินใจผิด


                                                     


 ส่วนมหาวิทยาลัยที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดในเบื้องต้นส่วนมากนักศึกษาที่เรียนในอินเดียค่อนข้างจะรู้จักหรืออาจจะมีมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยนอกเหนือจากนี้ที่ไม่ได้เอ่ยนาม ที่มีนักศึกษาไทยเรียนอยู่ หากตกหล่นต้องขอประทานอภัย ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าประเทศอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก เมืองที่ผมอยู่ หากจะเดินทางไปทางใต้ของอินเดียต้องใช้เวลาเกือบ 3 วัน นี้เป็นรายชื่อมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยเรียนอยู่ประจำทุกปี อาจจะมากบ้างน้อยมาก ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลและมีคณะที่เราสามารถเข้าเรียนต่อได้ ท่านสามารถสอบถามรายชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งว่าท่านสามารถติดต่อขอเรียนได้หรือไม่ หรือมีคนที่รู้จักที่เรียนอยู่ยังสถาบันนั้นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้โดยตรง ตลอดจนสามารถขอเช็ครายชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านี้ว่า กพ.รับรองหรือไม่


 


            ส่วนสภาพมหาวิทยาลัยในอินเดียไม่ค่อยจะแตกต่างกันมากนักในเรื่องของอาณาบริเวณ มีเนื้อที่ 3,000-3,500 ไร่เกือบทุกมหาวิทยาลัย ภายในมหาวิทยาลัยร่มรื่นในเรื่องของต้นไม้ แต่สภาพอาคารของมหาวิทยาลัยก็อาจจะแตกต่างกันไป ตามวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของแต่ละเมืองแต่ละรัฐ


ทั้งรักทั้งเกลียด อินเดีย หน้า5 หาที่เรียนในเมืองแขก

ความคิดเห็น
guest profile guest
สวัสดีคะ หนูชื่อหนุงหนิงนะคะ คือปีหน้าอยากไปเรียนที่อินเดียเพราะมีพี่ชายอยู่ที่นั้น แต่ว่ายังไม่รู้เลยมหาลัยที่ไหนดี คือพี่ชายไม่มีความรู้ทางด้านภาษาเลย เลยไม่สามารถให้คำปรึกษาอะไรไม่ค่อยได้ ส่วนตัวหนูภาษาพอใช้ได้ อ่านออกเขียนได้ดีในระดับหนึ่ง จึงอยากทราบว่ามหาลัยทมี่ไหนดีบ้างเกี่ยวกับบริหารโปรดักดีไซ การตลาด และอื่น ๆ คือสนใจเรียนหลายคณะมากๆจะไปเรียนที่อินเดียคนเดียว ทางบ้านก็กลัวโดนแขกหลอกมากๆเลย ฃ่วยติดต่อกลับด้วยนะคะ collection_ning@hotmail.com
guest profile guest
ปีละ 100,000 - 120,000 นี่ค่าเรียน หรือค่าครองชีพรายปีคะ? ถ้าเรียน JNU อ่าค่ะ?

หนูอยากไปเรียนโทอังกฤษ เห็นว่าคณะนี้ JNU กับ Delhi ติด rank ในเอเชีย น่าสนใจมากๆค่ะ 

แต่ก็เสียดาย Himchal Pradesh University ในฉิมล่านะคะ บรรยากาศเขาๆ น่าอยู่อ่ะค่ะ ไม่ติดโผอะไรเลย ^^"
guest profile guest

ลองติดต่อกับ studyhelper.net ซิค่ะ เหมือนลูกดิฉันเลย ที่ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่บังกาลอร์ พี่ๆเค้าดูแลดีมาก ลูกดิฉันกลับมาเก่งมากเลยค่ะ


รู้จักการใช้ชีวิต และใช้เวลาว่างให้เป็นปะโยชน์มาขึ้น พึ่งส่งไปปลายปีที่แล้วเอง อายุ 13 ปี เค้าดูแลดีจริงๆค่ะ แนะนำ ดิฉันเองผู้ปกครอง


ก็สบายใจมากๆด้วยค่ะ ก็อยากแนะนำผู้ปกครองท่านอื่นด้วย


ออฟฟิตของเค้า http://www.studyhelper.net/node/Our-address/


นี้ค่ะลูกดิฉัน  http://www.studyhelper.net/listings/N-Jam-English-Summer-Course/    พี่ๆเค้าเอาลงไว้


guest profile guest
ลืม Magadh U. หรือครับ

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

10 ปีที่ผ่านมา
guest Icon อยากไปเรียน นวด ที่อินเดีย 1 อ่าน 4,616 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon บังเอิญเกิดเร็ว (ไปหน่อย) 29 อ่าน 14,586 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon เสียดายคนหูหนวกไม่ได้ฟัง 1 อ่าน 7,212 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon เงื่อนไขของชีวิต? อ่าน 4,219 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon ผี ฝาโลง คนตาย..คนเป็นๆ 1 อ่าน 4,119 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา