การดูแลรักษาใบปัดน้ำฝน และยางปัดน้ำฝน

uttaradit profile image uttaradit

การดูแลรักษาใบปัดน้ำฝน และยางปัดน้ำฝน






          หลายคนคงจะรำคาญบ้างนะครับที่ทุก ๆ เดือน หรือสองเดือนต้องมานั่งเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนหรือยังปัดน้ำฝน ทั้งที่ยางที่ซื้อมาก็เป็นเกรดดี ซิลิโคนไม่ใช่ของถูก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการละเลยการดูแลรักษายางปัดน้ำฝน หรืออาจจะดูแลไม่ถูกวิธีครับ

คำว่า ยางปัดน้ำฝนทุกคนที่ขับรถย่อมรู้จักกันดี หน้าที่ของมันก็คือ ใช้ปัดน้ำที่มีอยู่ที่กระจกบังลมหน้า, หลัง หรือในบางครั้งก็อาจจะเป็นสิ่งอื่น เช่น โคลน, ใบไม้, แมลงหรืออื่นๆ เพราะฉะนั้นการใช้ยางปัดน้ำฝนไม่จำเป็นที่จะต้องปัดน้ำเพียงอย่างเดียวมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย

    

ที่ปัดน้ำฝนและฉีดน้ำล้างกระจกที่ปัดน้ำฝน

เรื่องของ "ที่ปัดน้ำฝน"ดูจะพูดมากและพูดถึงกันบ่อย แต่ก็ต้องว่า และ ตอกย้ำกันต่อไปเนื่องจากมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการช่วยเพิ่มทัศนวิสัยของการขับขี่ยามฝนตก ส่วนใหญ่มักจะละเลยและไม่นึกถึง จะมาเห็นความสำคัญก็ตอนที่ เจอฝนซึ่งตอนนั้นมันอาจจะสายเกินไปแล้ว ส่วนประกอบ ของที่ปัดน้ำฝน มีไม่มากนักเท่าที่สำคัญก็มีด้วยกัน 4 อย่าง คือ

- มอเตอร์ไฟฟ้า

- ขาคันชัก ก้านดึงและข้อต่อ

- ก้านที่ปัดน้ำฝน

- ยางใบปัดน้ำฝน

    

มอเตอร์ไฟฟ้า

ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าหรือมอเตอร์ที่ปัดน้ำฝนส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานยาวนานมีความทนทานสูง ไม่ค่อยจะเกิดการเสียหาย ได้ง่ายนักแต่ถ้าต้องการบำรุงรักษาอาจจะลำบากต้องออกแรงกันบ้างอย่างแรกต้องหาตัวมันให้เจอก่อน พวกที่ติดตั้งไว้ในห้องเครื่องก็เจอหน้าตากันง่าย ส่วนพวกที่ซุกไว้ใต้แผงปิดช่องระบายอากาศ ก็ต้องแคะคุ้ยกัน ถ้ามีฝีมือทางช่างอาจจะเปิดฝาประกับตัวเฟืองออกมาแล้วเติม จาระบีช่วยในการหล่อลื่นลดการสึกหรอของเฟือง เพราะเมื่อใช้งานมานานจารบีมักจะแห้ง หายไปมั่ง แต่ถ้าไม่อยากออกแรงมาก ก็เพียงแค่ตรวจเช็คน็อตยึดต่างๆและน็อตแกนกลาง ว่ามีการคลายตัวหรือไม่ แล้วใช้พวกสเปรย์กันความชื้น ฉีดตรงแกนกลางเพื่อช่วยป้องกัน สนิม และช่วยหล่อลื่นตัวบู๊ชเพราะสเปรย์พวกนี้จะมีคุณสมบัติในการแทรกซึมสูง และสามารถช่วยในการหล่อลื่นได้ด้วย ขาคันชัก ก้านดึงและข้อต่อ ลักษณะของที่ปัดน้ำฝนมีหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นใบปัดแบบ 2 อัน ยกเว้นรถบางรุ่นก็ใช้ใบปัดน้ำฝนเพียงอันเดียวก็มี ยกเว้นพวกที่ใช้ใบปัดคู่ แล้วอยากเท่ จึงถอดใบปัดออกทิ้งไปอันนึง พวกนี้ต้องอยู่ในพวกใบปัดคู่ และเมื่อเป็นแบบใบปัดคู่แล้ว ก็ต้องมี ก้านต่อเพื่อโยงการทำงานให้สอดคล้องกัน

    

ก้านที่ปัดน้ำฝน

ตัวก้านที่ปัดน้ำฝนดูจะเป็นจุดที่ถูกละเลยมากที่สุด ทั้งๆ ที่ตัวมันมีความสำคัญไม่น้อย รับหน้าที่เป็นตัวถ่ายทอดการทำงานจาก มอเตอร์ และเป็นตัวกดตัวยางใบปัดให้แนบไปกับกระจก ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าไม่ค่อยจะมีอะไรเสียหาย แต่ความเป็นจริง มันก็สามารถ ก่อเรื่องได้เช่นกัน จุดที่ควรดูแลตรวจเช็คกันบ้าง อย่างแรก คือ จุดยึดโคนก้านปัดเข้ากับปุ่มหมุนจากมอเตอร์ ซึ่งมักจะมีตัวน็อตยึด ตัวนี้ด้วย รวมทั้งตรวจเช็คข้อต่อของใบปัดที่ยึดเข้ากับก้านปัด ว่ามันยังคงแน่นหนาดีหรือไม่ ยางใบปัดน้ำฝน ลักษณะของยางใบปัดน้ำฝน จะเป็นแผ่นยางบางๆ โดยแนบด้านที่มี ความคม เข้ากับกระจก ทำการกวาดน้ำออกจากแผ่นกระจก จากแรงกด และการ ขยับของก้านปัดน้ำฝน ซึ่งตัวยางใบปัด จะถูกยึดเอาไว้ด้วยโครงโลหะ ที่ออกแบบ ให้เป็นรูปร่างต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ทำหน้าที่เป็นสปริงกด ให้ตัวยาง สามารถ แนบตัว ไปตามความโค้งของกระจกได้สนิททั้งใบ ดังนั้นเวลาซื้อใบปัดน้ำฝน อันใหม่มาเปลี่ยน ควรจะพิจารณารูปทรงของเจ้าโครงตัวนี้ด้วย โดยเฉพาะพวกรถที่มีส่วนโค้งของกระจกมากเป็นพิเศษ มันอาจไม่สามารถกดใบปัดให้แนบสนิทไปกับความโค้งของกระจกได้ หรือพวกที่นิยมของถูก โดยการเปลี่ยนเฉพาะส่วนของยางใบปัดไม่ได้เปลี่ยนทั้งโครง ความเป็นสปริง หรือรูปทรงอาจเสื่อมไป ตามอายุการใช้งาน ทำให้ไม่สามารถแนบสนิทไปกับกระจกได้ดีพอ และก่อปัญหาว่าปัดน้ำได้ไม่เกลี้ยง คุณภาพของยางใบปัดถือว่ามีความสำคัญที่สุด ลักษณะของยางใบปัดที่ดีต้องประกอบด้วย

- ทนทานต่อสิ่งสกปรก และสภาวแวดล้อม เช่น ควัน ไอเสีย ฝนกรด

- ทนทานต่อการสึกหรอมีอายุการใช้งานยาวนาน

- ทนทานต่อการเปลี่ยนรูป ไม่แข็งตัว หรืออ่อนตัวจากความร้อน

- ไม่มีเสียงเสียดสีกับกระจกเวลาเลื่อนตัวไปมา

    

การใช้งาน

ส่วนสำคัญของที่ปัดน้ำฝนจะอยู่ที่ยางใบปัด ซึ่งทำมาจาก ยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ผสมกับสารเคมี เพื่อให้มีคุณสมบัติสูงขึ้น เหมาะแก่การใช้งาน สามารถคงรูปอยู่ได้ มีความทนทานต่อการใช้งาน และ ทนทานต่อสภาพอากาศ ถึงกระนั้นมันก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา แต่ถ้าใช้งานกันไม่ถูกวิธีก็ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงไปกว่าเดิมเยอะ จึงควร ใช้งาน และบำรุงรักษาใบปัดให้ถูกต้องด้วย ตัวการที่บั่นทอนสุขภาพของยางใบปัดได้มากที่สุด คือการใช้ที่ปัดน้ำฝนอีตอนที่มีฝุ่น โคลนเหนียว หรือโคลนแห้งเกาะที่กระจก การใช้งานควรฉีดน้ำล้างกระจก เพื่อให้ฝุ่นที่กระจกเปียก ลดความเหนียวของโคลน หรือทำให้โคลนแห้งอ่อนตัวลงก่อน วิธีนี้จะช่วย ลดความฝืดของกระจก นอกจากเป็นการช่วยให้ใบปัดไม่เสียหายเกิดการชำรุดฉีกขาดแล้ว ยังช่วยไม่ให้กระจกเป็นรอย และยังทำให้ มอเตอร์ ตลอดจนข้อต่อต่างๆ ไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป โดยเฉพาะพวกชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติค ไม่ว่าจะเป็นเฟืองทด หรือบู๊ชข้อต่อ ก็ตาม ซึ่งง่ายต่อการเสียหาย การใช้ที่ปัดน้ำฝน ต้องเลือกสปีดให้เหมาะสม กับลักษณะของฝน และความเร็วของรถ เดี๋ยวนี้ที่ปัดน้ำฝนสามารถ ปรับตั้งจังหวะการใช้งาน ได้ ก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง ไม่ใช่ว่าฝนตกเป็นละอองเพียงนิดหน่อย แต่ใช้สปีดเร็ว แบบนี้ยางใบปัดย่อม ไม่อยู่ให้รับใช้กันนานนัก ต้องมีการทำ ความสะอาดยางใบปัดกันบ้าง เพราะตอนใช้งานนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน หรือ น้ำโคลนที่มาเกาะกระจก อาจจะมีพวกสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อยางติดมา ด้วย ถ้าปล่อยให้มันเกาะค้างคาเอาไว้จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพได้ สำหรับ การทำความสะอาดยางใบปัดน้ำฝน ให้ใช้ผ้านุ่มชุบน้ำ แล้วบิดพอ หมาดๆ เช็ดรูดไปตามความยาวของยางใบปัด หรือแม้จะไม่ได้ใช้งาน ใบปัดเลย ก็ควรทำทุกครั้งที่มีการล้างรถ ข้อสำคัญคือ ไม่ควรใช้ผงซักฟอกผสมน้ำ ทำความสะอาดอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้ยางเสื่อม สภาพแล้ว ยังทำให้สีรถเสียหายได้ด้วย เวลาจอดรถตากแดดไว้นานๆ เราอาจใช้วิธีดึงก้านที่ปัดน้ำฝนออกจากกระจกบังลม เพื่อไม่ให้ยางใบปัดสัมผัสแนบอยู่กับกระจก เพราะตัวแผ่นกระจกจะร้อนกว่าบรรยากาศรอบๆ ซึ่งความร้อนของกระจกจะทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็วขึ้น



ที่มา : www.usedcar2u.com


ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

uttaradit Icon GPS ตามที่กรมการขนส่งกำหนด อ่าน 916 8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา