“ในหลวง” ทรงติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนฯ

rosemous10 profile image rosemous10
[Archived]
ในหลวงเสด็จฯ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี วนอุทยานปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี และเสด็จพระราชดำเนินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อทรงทอดพระเนตรความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เวลา 16.47 น.วันนี้ (9 ม.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทอดพระเนตรความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี ที่กรมป่าไม้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปตท รักษ์ป่า และชาว ต.ปากน้ำปราณ ร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนด้วยการปลูกป่าเพิ่มเติม ปัจจุบันประสบความสำเร็จดีเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และการอนุรักษ์อนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารสำหรับการดำรงชีวิตอย่างพึ่งพากันและกัน ระหว่างมนุษย์ สัตว์ ป่าไม้ที่สมบูรณ์ โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังพื้นที่ป่าแห่งนี้ ในพิธีน้อมกล่าวน้อมกระหม่อมถวายโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นปีที่ 50 ป่าชายเลนนี้จะเป็นผืนป่าประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในความทรงจำของชาวไทยทั้งมวล ในวันนั้นทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ด้วย เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี 2547 และพระราชทานชื่อป่าแห่งนี้ว่า สิรินาถราชินี มีความหมายว่าที่พึ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล โอกาสนี้ทอดพระเนตรความสมบูรณ์ของป่าชายเลน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 600 เมตร ป่าโกงกางบริเวณนี้มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ปลูกแบบหนาแน่น ทุกต้นเติบโตไล่เลี่ยและแย่งแสงแดดกัน ส่วนต้นที่ปลูกในที่กว้างจะเติบโตเป็นทรงพุ่ม เตี้ยกว่ากลุ่มที่ปลูกหนาแน่น จากการประเมินความสามารถสูงสุดในการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนในบริเวณนี้ แปลว่ามีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 7,000 ตันต่อปี และปลอดปล่อยก๊าซออกซิเจนกว่า 5,000 ตันต่อปี ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับสวนป่าสักอายุ 17 ปี ส่วนการเจริญเติบโตของต้นโกงกางใบใหญ่ทรงปลูก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 ปัจจุบันมีอายุ 11 ปี รอบลำต้นประมาณ 29 เซนติเมตร สูงประมาณ 550 เซนติเมตร มีขนาดแตกต่างกันจากต้นไม้โดยรอบ เนื่องจากโดยรอบจากต้นไม้ทรงปลูกไม่มีต้นไม้ชนิดอื่นอยู่ใกล้หนาแน่น ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ระยะเวลาในการปลูกแตกต่างกัน ต้นไม้ทรงปลูกมีอายุ 11 ปี ส่วนต้นไม้โดยรอบมีอายุ 16 ปี ในการนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลาจุ่มพรวด หรือปลาตีน จำนวน 16 ตัว บริเวณนี้มีทั้งปลาวัยอ่อน และปลาโตเต็มวัย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า พื้นที่นี้มีความหลากหลายของสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีว่าป่าชายเลนสิรินาถราชินี มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การดำรงอาศัยของพืช และสัตว์ มีปลากระบอก ปลากุแล ปลาบู่ใส สัตว์น้ำที่อาจพบเห็นตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลง รวมทั้งฤดูที่แตกต่างกันไป ระหว่างเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินจัดแสดงเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้จับสัตว์น้ำ ส่วนนิทรรศการตำนานการสร้างผืนป่าจากนากุ้งร้าง แสดงประวัติความเป็นมาของการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่นากุ้งร้าง ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปตท เพื่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 ระยะแรกต้นไม้ตาย เนื่องจากสภาพดิน และน้ำไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ภายหลังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชุมชน ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการไถพรวนดิน และเปิดทางระบายน้ำ เพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่าชายเลน ในปี 2540 เริ่มปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง พืชพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม เช่น บริเวณที่มีดินเลนลึกปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ ดินเลนตื้นปลูกโกงกางใบเล็ก และปลูกต้นแสมทะเลในจุดที่น้ำท่วมถึงได้น้อย ปี 2541 ต้นไม้ตั้งต้นได้ และมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นทุกปี ที่ศาลาท่าน้ำทรงปล่อยปูทะเล 9 ตัว จากการทำงานแบบบูรณาการทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน วัดในพื้นที่ปากน้ำปราณ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันได้ช่วยกันดูแลบริหารจัดการ และหาแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน และศูนย์แห่งนี้ยังเหมาะสมและยั่งยืน มุ่งหวังให้เกิดเป็นตัวอย่างในการทำงานอย่างมีส่วนร่วม และบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับผู้ปฏิบัติงานให้ร่วมมือช่วยเหลือกันดูแลทั้งป่าต้นน้ำ และป่าชายเลน ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังทรงห่วงใยและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ให้ช่วยกันทำงาน และปลูกฝังจิตสำนึก และให้ความรู้แก่ประชาชนและคนในชุมชน เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ความคิดเห็น