บพท.จับมือ ม.ทักษิณผุดโครงการ “กระจูดแก้จน” นำร่อง 3 อำเภอพัทลุง เติมสุข - เป๋าตุง คนชุมชน

punkik profile image punkik

บพท.ประสานพลังมหาวิทยาทักษิณ เดินหน้าโครงการ”กระจูดแก้จน” เติมความรู้ เพิ่มทักษะ จากงานศึกษาวิจัย เสริมความเข้มแข็ง ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสอบทานข้อมูลคนจนในระบบ TP-MAP ทำให้ค้นพบว่ามีครัวเรือนยากจนจำนวน 14,205 ครัวเรือน และค้นพบคนจนรวมทุกครัวเรือน จำนวน 59,449 คน โดยพื้นที่ที่มีคนจนกระจุกตัวอยู่มากที่สุดของจังหวัดพัทลุงคือ อ.ควนขนุน  อ.เมือง และ อ.ปากพะยูน 2.การส่งต่อการช่วยเหลือคนจนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.การติดตามข้อมูลภายหลังการส่งต่อการช่วยเหลือ และ 4.การจัดทำโครงการ “โมเดลแก้จน”  หรือ “กระจูดแก้จน” ที่ อ.ควนขนุน ถือเป็นโครงการนำร่อง ภายใต้หลักคิดของการผสมผสานเรื่ององค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น เข้ากับระบบภูมินิเวศน์และองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างมีศักยภาพและมีพลัง  ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ- การปลูกกระจูดในพื้นที่ กลางน้ำ-การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน  และปลายน้ำ-การทำตลาด โดยกลุ่มคนจนเป้าหมายจะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและร่วมวางแผน ภายใต้การหนุนเสริมของภาคีในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และหน่วยราชการในพื้นที่ เป็นห่วงโซ่ของความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อย่างกิจการกระจูดวรรณี เป็นพี่เลี้ยง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีพลังของคนในชุมชนทะเลน้อย จัดตั้งกลุ่ม “เลน้อยคราฟ”  สามารถยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์กระจูดให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น เสริมสร้างทักษะด้านการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด  การใช้สีจากธรรมชาติ การย้อมสีให้มีความคงทน สร้างเพิ่มมูลค่าของสินค้า รวมถึงส่งเสริมช่องทางการทำตลาด ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้ในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่าตัว โดยจะมีการต่อยอดขยายฐานไปสู่กลุ่มคนจนเป้าหมายในพื้นที่ ต.ทะเลน้อยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่คนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะที่นางบุษรา ทองนวล ประธานชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง กล่าวว่า ก่อนที่ทีมทำงานวิจัยเข้ามาชาวบ้านที่นี่เขาก็ประกอบอาชีพในการทำจักสานกระจูด แต่ไม่มีวัตถุดิบจึงต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอชะอวด โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าวัตถุดิบแล้วจะเหลือประมาณไม่เกินวันละ 150 บาทเท่านั้น มหาวิทยาลัยได้เข้ามาให้ความรู้กับทางชุมชน ตั้งแต่เริ่มแรกคือสอนเรื่องการคัดเส้นใยกระจูดก่อน การย้อมสีธรรมชาติ  ส่วนเรื่องการสานขึ้นรูปกระเป๋าก็จะมีการสอนจากบรรดาผู้สูงอายุ ซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมจากการสานกระเป๋า สานเสื่ออยู่แล้ว โดยมีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือด้านการทำตลาด และวรรณีกระจูดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง นำสินค้าไปช่วยโปรโมท รวมทั้งยังมีการสอนเรื่องการขายทางออนไลน์ และการไลฟ์สดขายสินค้า ให้ด้วย ผลจากการเข้าร่วมโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ทำให้คนในชุมชนทะเลน้อยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว  จากที่เคยได้รับ 4,500 บาทต่อเดือนเป็นหมื่นบาทขึ้นไป   อีกประการคือ เป็นการผสมผสานระหว่างวัยในการทำงานได้ดีมาก ในขั้นตอนการทำลวดลายคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เก่งและคล่องเท่ากับคนรุ่นอาวุโส  กลุ่มผู้สูงอายุที่ชำนาญในการทำก็เข้ามาช่วยสอนให้บรรดาลูกหลานหรือคนหนุ่มคนสาวได้  ขณะที่การไลฟ์สดขายทางออนไลน์ กลุ่มคนรุ่นใหม่จะทำได้ดีมาก ๆ เพราะมีทักษะด้านไอที-เทคโนโลยี เป็นต้น  ประการสำคัญที่สุดคือ งานวิจัยยังช่วยในเรื่องของสุขภาพ เดิมงานสานกระเป๋าก็ดีหรือสานเสื่อมักจะนิยมใช้สีเคมีในการผลิต ซึ่งสีเหล่านี้จะทำลายสุขภาพ แต่สีธรรมชาติซึ่งเราสามารถหาได้ในพื้นที่ทะเลน้อย เรียกว่ามันดีต่อคนที่รักสุขภาพอย่างแท้จริง                                                    

----------------------------------------------------------

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) น.ส.อุษณี เอ่งล่อง             โทรศัพท์ 089-473-3389


บพท.จับมือ ม.ทักษิณผุดโครงการ “กระจูดแก้จน” นำร่อง 3 อำเภอพัทลุง เติมสุข - เป๋าตุง คนชุมชน

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

2 ปีที่ผ่านมา
2 ปีที่ผ่านมา
punkik Icon ทีเส็บเปิดตัวโครงการ MICE Winnovation อ่าน 131 3 ปีที่ผ่านมา
3 ปีที่ผ่านมา