การเจริญสติปัฏฐานเป็นอุบายดับทุกข์ทั้งปวง

guest profile image guest

การเจริญสติปัฏฐานเป็นอุบายดับทุกข์ทั้งปวง 

     ในเทศนาอริยสัจ ๔ ตรัสไว้แล้วว่า อริยสัจข้อที่ ๔ คือพระอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั่นเอง เป็นอุบายดับทุกข์ หรือเป็นอุบายบรรลุถึงพระนิพพานธรรมที่ดับทุกข์ เพราะตรัสเรียกอริยสัจข้อนี้ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งพระนิพพานธรรมที่ดับทุกข์ เพราะฉะนั้น พระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั้นเองที่ชื่อว่า ข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ทั้งปวง

     แต่เพราะเหตุที่พระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ นับว่าเป็นข้อปฏิบัติข้อสุดท้าย หรือเป็นเบื้องปลายของการปฏิบัติ เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ธรรมที่พึงเจริญ หรือทำให้เกิดได้ในเบื้องต้น อันว่าบุคคลจะสำเร็จพระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้ ก็ในเมื่อเขาได้อบรมปัญญาจนเกิดวิปัสสนาปัญญาเสียก่อนเท่านั้น วิปัสสนาปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมเห็นสังขารทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยงบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอนัตตาบ้าง หากได้อบรมวิปัสสนาปัญญานี้ให้แก่กล้าไปตามลำดับได้ โดยการเห็นอย่างนั้นนั่นแหละซ้ำๆซากๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าสังขารทั้งหลายนี้มีแต่โทษมีแต่ภัย น่าเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายหมดความยินดีในสังขารทั้งหลายแล้ว ก็จะปล่อยวางสังขารทั้งหลายได้ ซึ่งในวาระนี้พระอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะเกิดขึ้นทำจิตให้หันกลับจากการถือเอาสังขารเป็นอารมณ์ แม้โดยอาการที่เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นนั่นแหละ มาถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะนั้นนั่นเองเรียกว่า ทำพระนิพพานให้แจ้ง การปฏิบัติชื่อว่า สำเร็จแล้ว ก็ในขณะที่มรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือบรรลุพระนิพพานนี้เอง เมื่อเหตุผลมีอยู่อย่างนี้ก็กล่าวได้ว่า พระอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเบื้องปลายแห่งการปฏิบัติที่มีการปฏิบัติก่อนหน้านั้นคือ การเจริญวิปัสสนาเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ผู้หวังความพ้นทุกข์โดยการเจริญ หรือทำพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องเจริญวิปัสสนาก่อน

     ถาม เจริญอย่างไร

     ตอบ เจริญก่อนอื่น เมื่อวิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญาที่เห็นสังขารทั้งหลายตามความเป็นจริงว่ามีอันเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านจึงเรียกควบกันไปว่า วิปัสสนาปัญญาดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ขั้นแรก บุคคลต้องกระทำสังขารให้เป็นอารมณ์คือ กำหนดพิจารณาใส่ใจอยู่ที่สังขารก่อน โอกาสที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นความจริงในสังขารทั้งหลายจึงจะมีได้เหมือนอย่างว่า ผู้รู้เหรียญกษาปณ์ต้องการจะรู้ว่าเหรียญกษาปณ์นั้นๆ เป็นเหรียญแท้หรือปลอมเป็นต้นประการใดนั้น เขาก็ต้องกำหนดเพ่งพิจารณาใส่ใจอยู่ที่เหรียญนั้นๆเท่านั้น จึงจะสามารถรู้เรื่องที่ที่ประสงค์ได้ฉันใด ผู้เจริญวิปัสสนาประสงค์จะเห็นสังขารทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็ต้องกำหนดเพ่งพิจารณาใส่ใจสังขารนั้นๆเท่านั้น จึงจะมีโอกาสรู้ความจริงนั้นๆได้ฉันนั้น หากไปกำหนดเพ่งพิจารณาอยู่ที่อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่สังขารทั้งหลาย เป็นเพียงสมมติบัญญัติ เช่น เพ่งอยู่ที่พระพุทธรูป หรือใส่ใจอยู่ที่คำว่า พุทโธ เป็นต้น ก็จะไม่มีโอกาสเกิดวิปัสสนาปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงในสังขารทั้งหลายได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเพ่งพิจารณาผิดที่ผิดฐาน ก็สังขารเหล่านี้แหละที่ทรงแจกแสดงเป็นขันธ์ ๕ บ้าง อายตนะ ๑๒ บ้าง ธาตุ ๑๘ บ้าง เพื่อความเหมาะสมพิจารณาได้โดยสะดวกแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัย กิเลส จริต ปัญญาแตกต่างกันซึ่งขันธ์ ๕ เป็นต้นที่ทรงแจกแสดงไว้นี้ท่านเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งการงานคือ การเจริญวิปัสสนาปัญญานั่นเอง

     ก็แต่ว่า การกำหนดพิจารณาสังขารทั้งหลายดังกล่าวนี้ สำเร็จได้ด้วยอาศัยสติเป็นสำคัญ กล่าวคือต้องมีสติคอยระลึก ได้แก่ เข้าไปตั้งไว้ที่สังขารอันต่างด้วยขันธ์ ๕ เป็นต้นเหล่านั้นก่อนทีเดียว หากไม่มีสติเข้าไปตั้งไว้ก็หาชื่อว่า มีการกำหนดพิจารณาธรรมะอะไรๆไม่ เพราะไม่ได้สัมผัสสภาวะความจริงของสังขาร การปฏิบัติติดอยู่เพียงนึกคิดเอาลอยๆตามที่เรียนมาฟังมาเท่านั้น มิได้ตั้งอยู่ที่ตัววัตถุที่จะพิสูจน์หาความจริง สติเป็นผู้ทำให้สัมผัสสภาวะตัวจริงของสังขาร หรือวัตถุที่จะพิสูจน์ความจริงนั้น สติอย่างนี้ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน เพราะเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์มีกายเป็นต้น จำแนกเป็น ๔ อย่างคือ กาย เวทนา จิต และธรรม เพราะเป็นไปเพื่อกำจัดวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อนจากความจริง ๔ ประการคือ สุภวิปลาสความเห็นคลาดเคลื่อนว่างาม  ๑ สุขวิปลาสความเห็นคลาดเคลื่อนว่าสุข ๑ นิจจวิปลาสความเห็นคลาดเคลื่อนว่าเที่ยง ๑ จิตตวิปลาสความเห็นคลาดเคลื่อนว่าเป็นอัตตาตัวตน ๑ ในธรรมะ ๔ อย่างเหล่านี้นั่นแหละ  เพราะเหตุนี้นั่นเองจึงเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ อธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งไว้ที่กายคือ รูปกาย เป็นไปกับการพิจารณากายชื่อว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติที่เข้าไปตั้งไว้ที่เวทนาเป็นต้น เป็นไปกับการพิจารณาเวทนาเป็นต้นชื่อว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานตามลำดับ เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว วิปลาสทั้งหลายก็เข้าไปอาศัยธรรม ๔ อย่างมีกายเป็นต้นเกิดขึ้นมิได้ เมื่อวิปลาสเกิดขึ้นไม่ได้ ก็ชื่อว่าป้องกันตัณหาไว้ได้ เพราะตัณหาจะมีอันไหลเอิบอาบไปได้ก็เฉพาะในธรรมทั้งหลายที่บุคคลยังสำคัญด้วยวิปลาสว่า เป็นของงามบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นของเที่ยงบ้าง เป็นอัตตาตัวตนบ้างเท่านั้น เมื่อป้องกันตัณหาไว้ได้ ธรรมะเหล่านั้น หรือสังขารเหล่านั้นก็ย่อมเป็นของบริสุทธิ์คือ บริสุทธิ์จากตัณหานั่นแหละ เมื่อธรรมะะเหล่านี้บริสุทธิ์จากตัณหาแล้ว ก็เป็นโอกาสที่วิปัสสนาปัญญาจะเกิดขึ้นได้โดยสะดวก วิปัสสนาที่เกิดขึ้นย่อมละตัณหาได้ แต่ยังไม่เป็นการละได้อย่างเด็ดขาด เป็นเพียงการละได้เป็นครั้งคราวที่ท่านเรียกว่า ตทังคปหานเท่านั้น ถ้าหากสามารถทำวิปัสสนาปัญญานี้ให้เจริญก้าวหน้าไปตามลำดับได้จนถึงบรรลุพระอริยมรรค พระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นก็ย่อมละตัณหาได้อย่างเด็ดขาดที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน ก็ภารกิจที่เกี่ยวกับการปฏิบัติชื่อว่าเป็นอันเสร็จสิ้น ก็ในวาระที่พระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เกิดขึ้นนั้นเอง ซึ่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ บุคคลต้องทำให้เกิดขึ้น ๔ ครั้ง จึงจะละตัณหาได้โดยไม่มีเหลือ เมื่อตัณหาหมดไปโดยไม่มีเหลือแล้ว เหตุแห่งทุกข์ก็ไม่มี เมื่อเหตุไม่มี ก็ไม่มีทุกข์ กล่าวคือไม่มีอุปาทานขันธ์เกิดขึ้นในอนาคตอีก นั่นก็คือ ไม่มีชาติ เมื่อไม่มีชาติ ก็ไม่มีชราและมรณะเป็นต้นสืบต่อไปอีก ก็เป็นอันว่าดับทุกข์ทั้งปวงได้ การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ทั้งปวงมีลำดับความเป็นไปโดยสังเขปดังนี้

     รวมความว่า บุคคลผู้จะดับทุกข์ทั้งปวง ขั้นแรกจะต้องเจริญสติปัฏฐานให้เกิดขึ้น เพื่อยับยั้งวิปลาส เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันตัณหาก่อน เขาจึงจะทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อละตัณหาได้เป็นตทังคปหาน และทำพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้นละเป็นสมุจเฉทปหาน โดยความเป็นปัจจัยสืบต่อกันไปตามประการดังที่ได้กล่าวมานี้  เมื่อ เป็นเช่นนี้ ก็กล่าวได้ว่า การปฏิบัตินี้มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นเบื้องต้น มีวิปัสสนาปัญญาเป็นท่ามกลาง มีพระอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นที่สุด พูดง่ายๆก็ว่า การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ทั้งปวงนี้ ที่จะเว้นไปจากการเจริญสติปัฏฐานนี้หามีไม่ เพราะฉะนั้น ย่อมกล่าวได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นอุบายดับทุกข์ทั้งปวง ข้อนี้ก็สมจริงตามที่ตรัสสรรเสริญอานิสงส์ของสติปัฏฐานไว้ในสติปัฏฐานสูตร ว่า

เอกายโน  อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค     

ภิกษุทั้งหลาย ทางสายนี้เป็นทางสายเอก

สตฺตานํ  วิสุทธิยา            

เพื่อความหมดจดโดยวิเศษแห่งสัตว์ทั้งหลาย

โสกปริเทวานํ  สมติกฺกมาย        

เพื่อความก้าวล่วงไปแห่งโศกะและปริเทวะ

ทุกฺขโทมนสฺสานํ  อฏฺฐงฺคมาย

เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส

ญายสฺส  อธิคมาย            

เพื่อบรรลุถึงพระอริยมรรค

นิพฺพานสฺส  สจฺฉิกิริยาย      

เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง

ยทิทํ  จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา       

นี่คือสติปัฏฐาน ๔

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon เกร็ดธรรมน่าสนใจ 1 2 อ่าน 924 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ความแตกต่างระหว่างทานกับจาคะ อ่าน 1,908 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ทานกับจาคะ อ่าน 833 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon การบรรลุธรรมดุจแม่ไก่กกไข่ อ่าน 872 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
burana Icon อุตุกับเตโช อ่าน 824 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
burana Icon ลำดับองค์มรรค8 1 อ่าน 964 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon เชิญสาธุชนมาฟังธรรม อ่าน 827 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา