ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย

tank16 profile image tank16

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย

 

ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย

โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในส่วนที่หนึ่งของบทความชุดนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ.-

๑)  ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
๒)  รัฐประชาชาติคืออะไร?
๓)  ใครคือคนมลายูมุสลิม
๔)  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่
๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน

๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์: จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"

๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย

๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์

๙)  ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู

๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑

๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗

๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม, ๒๔๘๘-๒๔๙๐

๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม

๑๔) บทสรุป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๑) ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

ความเชื่อทางการเมืองที่มีมานานอันหนึ่ง ซึ่งสรุปว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นตัวอย่างหนึ่งของ "ข้อเท็จจริง" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นและได้รับการตอกย้ำจากทรรศนะทางการตลอดมาจนกลายเป็น "ความเป็นจริง" ไปในความรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไปจนถึงชาวบ้านทั่วประเทศ

ในความเชื่อและข้อเท็จจริงนี้ กล่าวคือ คนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนที่ไม่อาจไว้วางใจได้ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่มักเป็นกบฏหรือไม่ก็ต่อต้านการปกครองของทางการสยามหรือไทยมาโดยตลอด อย่างน้อยก็นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ๆ ในไม่กี่ทศวรรษมานี้ คนไทยภาคอื่นๆ ยิ่งเห็นความพยายามของพวกเขาในการ "แบ่งแยก" ออกจากอาณาจักรไทยหรือประเทศไทย ด้วยการใช้กำลังอาวุธที่จะแยกสามจังหวัดภาคใต้สุดคือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ออกไปจากรัฐไทย ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนไทยภาคอื่น ๆ ที่ตั้งคำถามว่า ความรับรู้ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความจริงที่ถูกต้องหรือเปล่า ทำไมคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงต้องการจะแยกตัวเองออกจากการปกครองของรัฐไทย ที่เป็นเช่นนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือเพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยบอกเรามาอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งเป็นวาทกรรมประวัติศาสตร์หลักที่ครอบงำประเทศนี้ มานับแต่การก่อรูปของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (สมัยรัชกาลที่ ๕ มา) ยืนยันตลอดมาว่าอาณาจักรไทยเป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของเหนือรัฐมลายูในภาคใต้ อันได้แก่เมืองปัตตานีเดิม ซึ่งรวมยะลาและนราธิวาสด้วย เมืองไทรบุรี (รัฐเคดาห์) ซึ่งรวมสะตูล เมืองกลันตัน ตรังกานู และปะลิส ทว่าการรุกเข้ามาอย่างหนักของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในช่วงเวลานั้น บีบบังคับให้สยามจำต้องยอมสูญเสียอำนาจ(อันรวมผลประโยชน์)และเมืองประเทศราชเหล่านั้นบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชของสยามประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ในสมัยนั้น เมื่อพูดถึงเป้าหมายของการศึกษา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอว่าหนึ่งคือ "ความรักอิสรภาพแห่งชาติภูมิ..."พระราชนิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่าน จึงตั้งอยู่บนสมมติฐานของการก่อสร้างสยามให้เป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ ที่มีอาณาเขตอันแน่นอน และมีประชากรที่เป็นคนพวกเดียวกันคือไทยเหมือนกัน แม้จะต่างชั้นวรรณะและภาษากันก็ตาม ด้วยเหตุของการเผชิญอันตรายจากลัทธิอาณานิคมตะวันตกดังกล่าวนี้ การสร้างและเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยนับแต่เริ่มต้น จึงผูกพันอยู่กับจุดหมายของความเป็นเอกราชของชาติ

ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงถูกจดจำและตีความต่อมา บนโครงเรื่องหลักๆสองเรื่องคือการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ ๕ และของการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยเดียวกัน นั่นคือกรณีวิกฤตปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ สยามยอมเสียดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ในทำนองเดียวกัน ภายใต้สนธิสัญญาอังกฤษและสยามในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สยามก็ต้องเสียดินแดนอีก ๑๕,๐๐๐ ไมล์ในบริเวณ ๔ รัฐมลายูให้แก่จักรวรรดินิยมอังกฤษไปอีก

ธงชัย วินิจจะกูล   ได้วิพากษ์วิธีการและความคิดในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญได้รื้อโครงกรอบของประวัติศาสตร์ชาติออก ทำให้เห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์ คือการปฏิรูปประเทศและการเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นสองด้านของเรื่องเดียวกัน คือกระบวนการที่รัฐและระบบการเมืองแบบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบปกครองแบบโบราณ ซึ่งแสดงออกในภูมิศาสตร์แบบใหม่ที่มีแผนที่เป็นอาวุธ ด้านหนึ่งสยามแพ้ฝรั่งเศสและอังกฤษ อ้างอำนาจเก่าไม่ได้ จึงเรียกว่า "การเสียดินแดน" อีกด้านหนึ่งสยามชนะ (บรรดาหัวเมืองและประเทศราช) ผนวกดินแดนที่เคยคลุมเครือให้กลายเป็นของสยามแต่ผู้เดียว ก็เรียกว่า "การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองของสยาม" ไม่เคยเรียกว่าการได้ดินแดน กระบวนการทั้งหมดนั้นทำให้บรรดาหัวเมืองและเมืองประเทศราชของสยาม แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนถูกมองว่าเคยเป็นดินแดนภายใต้รัฐสยามใหม่อย่างสมบูรณ์

การเกิดขึ้นของข้อกล่าวหาเรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" ในทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงกล่าวได้ว่าเป็นความต่อเนื่องเชิงตรรกทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" อันเป็นทฤษฎีที่เสนอ โดย ธงชัย วินิจจะกูล จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นกระจ่างชัดว่า มโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจากความเชื่ออันไม่สงสัยเลยว่า ดินแดนที่เคยเป็นอิสระในบริเวณชายเขตแดนสยามมาก่อนนั้น ก็ไม่เคยเป็นอิสระมาก่อน หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของอาณาจักรที่มีกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลาง ที่มีสถาบันและวัฒนธรรมไทยเป็นหลักมาโดยตลอด คงไม่ต้องกล่าวให้มากกว่านี้ ว่าสมมติฐานที่ว่านี้เป็นมโนทัศน์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยใหม่ไม่เกินสองร้อยปี และก็ห่างไกลจากความเป็นจริงของการดำรงอยู่ของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ทั้งหลายรวมทั้งไทยด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากความเป็นจริงของรัฐประชาชาตินั้น ต่างก่อรูปขึ้นมาจากชุมชนที่มีหลายเชื้อชาติและภาษา มีการปฏิบัติวัฒนธรรมที่หลากหลายต่างๆ กันไป


๒) รัฐประชาชาติคืออะไร?

การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มักเข้าใจและตีความว่า เป็นการสร้างรัฐชาติไทยที่เป็นรัฐประชาชาติหรือ nation-state ขึ้นมาตามแบบอย่างของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา คุณลักษณะใหญ่ ๆ ของความเป็นรัฐชาติ ได้แก่การมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ประชาชนและพลเมืองแห่งรัฐนั้น ๆ การมีอาณาเขตของรัฐที่แน่นอนดังปรากฏในแผนที่สมัยใหม่ กับการที่ประชากรในรัฐนั้น ๆ ซึ่งแม้มีหลากหลายเชื้อชาติและภาษาวัฒนธรรม ก็จะถูกทำให้กลายมาเป็นพลเมืองพวกเดียวกัน โดยมีอุดมการณ์ใหม่ เช่น สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในรัฐนั้น ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แทนการขึ้นต่อเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์แบบเดิม แต่ที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือการที่รัฐ(สมัยใหม่) ก้าวขึ้นมาเป็นพลังขับดันการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่สังคมหรือภาคประชาชนและชุมชน จินตนาการของชาตินั้นมีพลังและดูเหมือนว่าเป็นความจริงที่มีชีวิตก็เพราะมันรองรับด้วยรัฐและอำนาจรัฐสมัยใหม่นั่นเอง

รูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่ดังกล่าว เกิดมาจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิของประชาชนและชุมชนการเมืองใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น จุดหมายใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงออกในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ซึ่งหากจะระบุให้ชัดเจนลงไปก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี หรือการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน อันเป็นผลมาจากพัฒนาการภายในรัฐนั้นๆ เป็นหลัก พลังการเมืองใหม่มาจากชนชั้นกระฎุมพีและนายทุนต่างๆ ทำลายพันธนาการของระบบฟิวดัลและระบบปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงไป เช่นการปฏิวัติของอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) และการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ก็ได้แก่ กรณีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้น

ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในข้อแรกนี้ แสดงออกโดยการให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่รัฐ การสร้างรัฐและประชาชาติสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐเก่าที่เป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้นหรือกึ่งศักดินา ในสมัยนั้น ปัจเจกชนและชุมชนย่อย ๆ เล็ก ๆ ยังไม่ใช่และไม่อาจเป็นจุดหมายของการปฏิวัติเหล่านี้ได้

อีกกระบวนหนึ่งมาจากการต่อสู้เพื่อปลดแอกลัทธิอาณานิคมตะวันตก กล่าวอีกอย่างก็คือได้แก่ กระบวนการและการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ของประชาชนและกลุ่มคนต่าง ๆ การเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้เกิดในระยะแรกของการปฏิวัติทางการเมืองประชาธิปไตย แต่ประชาชนหรือกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยอมขึ้นต่อขบวนการส่วนกลาง ด้วยมีความเชื่อมั่นว่า หากสร้างรัฐใหม่ได้สำเร็จ พวกตนก็จะได้อิสระและความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยโดยอัตโนมัติ เช่น อาเจะห์ ในสมัยที่อินโดนีเซียทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากดัตช์ ก็ยินดีร่วมกับขบวนการส่วนกลางทุกอย่าง แต่ปัจจุบันก็กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิปกครองตนเองจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ อย่างพอเพียงและเหมาะสม

การปฏิรูปของสยามภายใต้การนำของรัชกาลที่ 5 หากมองในบริบทของประวัติศาสตร์โลกสมัยดังกล่าว ก็ต้องพูดว่าเป็นลูกผสม(ลูกครึ่ง)อยู่ในระหว่างสองรูปแบบของสองกระบวนข้างบนนี้ คือมีทั้งกำเนิดมาจากปัจจัยและพลังการเมืองของชนชั้นใหม่ในประเทศ ซึ่งในที่สุดถูกกลืนจากชนชั้นนำตามประเพณีและขบวนการชาตินิยมแบบทางการ อีกด้านก็มีปัจจัยอิทธิพลที่มาจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมภายนอกบีบบังคับ และทำให้ต้องปรับเอาแนวทางบางอย่างที่ทันสมัยเข้ามาใช้โดยมีจุดหมายที่จำกัด ผลก็คือรัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม กลับสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข็มแข็งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน พลังการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีได้รับการกระตุ้นและก่อตัวขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยกระดับพัฒนาให้เป็นพลังการเมืองที่อิสระมีอุดมการณ์และการปฏิบัติของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะทหารขึ้นมาเป็นพลังต่อรองทางการเมืองระยะผ่านที่จะผ่านอย่างยาวนาน

เป้าหมายทางการเมืองโดยทั่วไป แม้จะอยู่ที่ความเป็นเอกราช แต่ก็เป็นเอกราชของชนชั้นนำมากกว่าที่จะเป็นของราษฎร เพราะรัฐและจินตนาการเรื่องรัฐยังเป็นของชนชั้นนำอยู่ หาได้เป็นของหรือมาจากราษฎรไม่ เนื้อหาของประชาธิปไตยแม้จะพูดกันมาก แต่ก็ถูกหดลงและค่อยหายไปในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการนำระหว่างชนชั้นนำเก่ากับใหม่ ระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือน และในที่สุดระหว่างท้องถิ่นกับศูนย์กลาง

หากจับเอาสองข้อใหญ่คือการมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน และการที่พลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐนั้นๆ โดยไม่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นใดแล้ว ก็ต้องกล่าวลงไปว่า การปฏิรูปการปกครองและแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมา ก็ยังไม่ได้สร้างรัฐประชาชาติไทยที่สมบูรณ์ตามนิยามข้างต้นขึ้นมาเป็นผลสำเร็จไม่ ตรงกันข้ามรัฐไทยในระยะดังกล่าว กลับสร้าง "ชนส่วนน้อย" ขึ้นมาตามชายแดนและในบริเวณที่รัฐบาลกลางไม่อาจบังคับ และทำให้คนส่วนนั้นยอมรับแนวคิดและการปฏิบัติของการเป็นไทย ตามภาพลักษณ์ที่รัฐบาลกลางเชื่อและต้องการเห็นได้

ข้อคิดสำคัญอันหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ รัฐประชาชาติสมัยใหม่ ก่อตั้งขึ้นบนหลักการความเชื่อของความเป็นเอกภาพในวัฒนธรรมและชนชาติ กล่าวคือในสมัยนั้นมีความคิดและเชื่อกันว่า รัฐชาตินั้นสามารถสร้างชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จักกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อมต่อผูกพันซึ่งกันและกัน โดยผ่านประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่มีร่วมกัน เช่นการอ่านหนังสือพิมพ์ยี่ห้อเดียวกันทั้งประเทศ ฟังเพลงและละครวิทยุเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกันทั้งประเทศ หลงใหลนางเอกและพระเอกคนเดียวกันทั้งประเทศเป็นต้น

นี่คือสิ่งที่เบน แอนเดอร์สันเรียกว่า "กาลอันว่างเปล่าที่เป็นหนึ่งเดียวกัน" (homogeneous empty time) ซึ่งช่วยทำให้จินตนาการของความเป็นชาติเดียวกันในหมู่คนที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติศาสนาภาษาเดียวกันสามารถเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ จินตนาการเช่นนี้ทำให้เกิดมีแนวคิดเรื่องเวลาที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเชื่อมเอาอดีต ปัจจุบันและอนาคตไว้ อันช่วยทำให้จินตนาการทางประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ ความเป็นชาติ ความก้าวหน้าและอื่นๆ เป็นจริงขึ้นมาได้

ในทางปฏิบัติ ความคิดเรื่องรัฐประชาชาติสมัยใหม่ดังกล่าวนี้ นำไปสู่ปฏิบัติการทางการเมือง ที่พลเมืองของรัฐมีหน้าที่ในการ "พัฒนาอัตลักษณ์ของพวกเขาตามการปฏิบัติทางการเมืองในรัฐร่วมกัน ไม่ใช่พัฒนาผ่านภูมิหลังทางเชื้อชาติของแต่ละกลุ่ม" เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐชาติจึงสร้างพลเมือง ข้าราชการ กรรมกร และ ครูอาจารย์ที่เป็นสากลหรือทั่วไป

อีกด้านเหนึ่ง เทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก็ช่วยทำให้พลเมืองแต่ละคน สามารถจินตนาการว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใหญ่กว่าตาเห็นได้ ทำให้พวกเขาสามารถกระทำการอะไรในนามของกลุ่มนิรนามนั้นได้ จินตนาการทางการเมืองเหล่านี้ทำให้พวกเขาก้าวพ้นข้อจำกัดของความคิด และการปฏิบัติตามประเพณีเดิมๆ ลงไปได้

อย่างไรก็ตามมโนทัศน์และความคิดเรื่องรัฐชาติดังกล่าวแล้วนั้น มาบัดนี้ถูกวิพากษ์และวิจารณ์จากการเปลี่ยนแปลงในบรรดารัฐและประเทศทั่วโลก ว่าความเชื่อเรื่องเอกลักษณ์และเอกภาพของเชื้อชาติในรัฐชาตินั้นไม่เป็นความจริง และไม่เป็นผลดีต่อความเป็นชาติของพลเมืองทั้งหลาย การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชนชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น นำไปสู่การเกิดของรัฐที่เป็นพหุลักษณ์และหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น อันจะเป็นทิศทางใหม่ของประสบการณ์การสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อไป

ข้อพึงสังวรคือ ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการสร้างรัฐชาติที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องมีสองส่วนอยู่เสมอ คือ

- ส่วนที่เป็นการปฏิบัติใช้กลไกรัฐของรัฐบาล และ

- ส่วนที่เป็นการเข้าร่วมและตอบสนองของประชาชนทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงการประท้วงไม่ว่าในรูปแบบอะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรง ก็ต้องถือว่าเป็นการเข้าร่วมสร้างรัฐชาติประชาธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่มองแต่เพียงว่าเป็นการทำลายรัฐชาติที่เป็นเอกภาพของผู้นำเท่านั้น

 

๓) ใครคือคนมลายูมุสลิม

คนไทยเชื้อสายต่าง ๆ อาจไม่มีความยากลำบากในการเป็นไทยตามนิยามและการปฏิบัติของรัฐไทย แต่สำหรับชาวมุสลิมในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ส่วนสตูลนั้นอยู่แยกจากสามจังหวัด มีสงขลาคั่นกลางและเอียงไปฝั่งทางตะวันตก แต่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมักถูกเหมาให้เป็นปัญหาชายแดน 4 จังหวัด) การเป็นไทย ไม่ใช่แค่การมีสัญชาติในทางกฎหมายเท่านั้น หากที่เป็นปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐไทย อยู่ที่การเป็นไทยในทางวัฒนธรรม หรือให้เจาะจงก็คือ การเป็นไทยในทางความคิด ในทางความเชื่อและในทางวิถีชีวิต ซึ่งหมายถึงความเชื่อและการปฏิบัติในทางศาสนาและประเพณีของประชาชนและชุมชนนั้น ๆ ด้วย

ทว่าลำพังการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนเสมอไป หรือแม้ระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็ตาม ปัญหาทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกันจะปรากฏและรุนแรงขึ้น ก็ต่อเมื่อมีพลังการเมืองที่นำไปสู่การบีบบังคับเพื่อให้ไปบรรลุเป้าหมายร่วมกันของรัฐ การบังคับดังกล่าวและจุดหมายของมัน จึงก่อและนำไปสู่ปฏิกิริยาจากผู้ถูกบีบและบังคับ ในรูปแบบตามบริบทและคุณค่าความเชื่อทั้งในและนอกประเทศ

ชาวมุสลิมในประเทศไทยก่อนอื่นไม่ใช่กลุ่มคน "กลุ่มน้อย" ในทางชาติพันธ์ (ethnic minority group) หากแต่เป็นคนไทยที่อยู่ทั่วไปในประเทศ(national group) แม้ว่าพื้นที่บริเวณที่มีคนมุสลิมอยู่มากที่สุดและเป็นกลุ่มก้อนแน่นหนามากสุด อยู่ในบริเวณสี่จังหวัดภาคใต้สุด(ประมาณว่ามีราวร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งประเทศ) แต่เมื่อนับจำนวนประชากรมุสลิมแล้ว ก็เป็นเพียงประชากรราวครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมทั้งประเทศ อีกราวครึ่งหนึ่งนั้นกระจายกันอยู่ไปทั่วประเทศ โดยมีภาคกลางที่มีประชากรมุสลิมรวมกันมากรองจากภาคใต้สุด

หากนับจากชาติพันธ์แล้ว คนมุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนมลายู ร้อยละ 80 อยู่ในจังหวัดภาคใต้สุด ส่วนมุสลิมที่ไม่ใช่มลายูมีเพียงร้อยละ 20 และอาศัยอยู่ในภาคอื่นๆ มุสลิมที่ไม่ใช่มลายูประกอบไปด้วยคนเชื้อชาติไทย อินเดีย ปากีสถาน จีน อาหรับ ชวา จามและอื่นๆ

ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมภาคกลางกับรัฐไทย ก็แตกต่างไปจากของชาวมุสลิมภาคใต้สุด แม้คนมุสลิมภาคกลางมีความเห็นอกเห็นใจในปัญหาและความเดือดร้อนของมุสลิมภาคใต้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่มีจินตนาการในเรื่องความเป็นชาติ และเป็นพลเมืองไทยเหมือนกับคนไทยทั่วไปมากกว่า เว้นแต่ในเรื่องทางศาสนาและการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งของชาวมุสลิม จึงมีทั้งลักษณะของปัญหาที่เป็นเฉพาะและปัญหาที่เป็นเรื่องทั่วไป แม้ความเป็นมุสลิมที่ประทับอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว หากแต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา มีพลวัตและพลังในตัวเอง ที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทยดำเนินไปในทิศทางและความหมายที่ร่วมกันหรือขัดกันได้ เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มและชาติพันธ์อื่นๆ ทั้งหลายในประเทศไทย

น่าสังเกตว่าคนมุสลิมก็มีคำเรียกที่ทำให้แตกต่างไปจากคนเชื้อชาติไทย เช่นเดียวกับคนเชื้อชาติจีน ลาวและอื่นๆ คำที่คนไทยทั่วไปใช้ระบุถึงความเป็นชาวมุสลิมที่แพร่หลายมานานพอสมควรคือคำว่า "แขก" ส่วนคนที่มีการศึกษาและภาครัฐราชการนิยมใช้คำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" การสร้างคำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" กำเนิดมาในสมัยรัฐบาล จอมพล      ป.พิบูลสงคราม ในนโยบายการสร้างชาติไทยหรือที่รู้จักกันดีว่าสมัย "รัฐนิยม"  คำว่า "แขก" หมายถึงคนแปลกหน้า คนต่างถิ่นหรือผู้มาเยือนก็ได้ ในสมัยแรกที่มีการใช้คำนี้ อาจไม่ได้เจาะจงแต่คนมุสลิม หากใช้เรียกเครื่องแต่งกาย ภาษาและขนบธรรมเนียมที่ไม่ใช่แบบคนไทย เพราะโลกของคนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนเชื้อชาติและชาติพันธ์ต่างๆ มากมายที่เข้ามาตั้งรกรากหรือทำงานและราชการต่างๆ ทำให้เกิดมีคำนามที่ใช้ในการระบุและเรียกกลุ่มคนหลากหลายเหล่านั้นขึ้นมา กระทั่งในที่สุดคำว่า "แขก" ค่อย ๆ สร้างความหมายใหม่ของมันที่ระบุเฉพาะคนนับถือศาสนาอิสลามและคนอาหรับและอินเดียไป

กษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แน่ ๆ คือ  สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมลายูมุสลิม เช่นในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรื่องพระราชกรัณยานุสรในปีพ.ศ. 2420 ว่าด้วยเรื่องการถือน้ำพระพัฒสัตยา บรรดาขุนนางหัวเมืองที่ลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม "ที่เป็นแขกประเทศราช ถือน้ำที่ท่าศาลาลูกขุน สาบาลอย่างแขก พวกเขมรแลญวณเข้ารีด มีบาดหลวงมากำกับด้วย"

ในช่วงยุคสมัยดังกล่าว คำว่า "แขก" ยังไม่มีนัยของการดูถูกและเหยียดหยามทางเชื้อชาติ (racism) คือยังไม่เป็นศัพท์การเมืองที่มีนัยของการแบ่งแยกและดูถูกระหว่างเชื้อชาติกันขึ้น แต่ก็มีนัยของความไม่เข้าใจและของความเหนือกว่าทางอำนาจที่เป็นทางการ ของความเป็นผู้ใหญ่ที่มีสิทธิในการเรียกและพูดถึงคนที่อยู่ใต้อำนาจ และฐานะได้ตามความถนัดของตนเอง ดังเห็นได้จากทรรศนะของเจ้าพระยายมราช เมื่อไปตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2466 พบว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อราษฎรมุสลิม จึงทำหนังสือสมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้น

ในคำปรารภเจ้าพระยายมราชกล่าวถึงนโยบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่มิได้รังเกียจในศาสนาที่ต่างกัน "เพราะฉะนั้นเจ้าน่าที่ผู้ปกครองราษฎร ซี่งมีคตินิยมต่างจากคนไทยแลต่างศาสนาดังเช่นมณพลปัตตานีเปนต้น ควรต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์ และรัฐประศาสน์ของรัฐบาลไว้เป็นอารมย์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจน…การปกครองของราษฎรที่ถืออิสลาม(มหหมัด) จะเข้าใจเอาอย่างที่เราเข้าใจกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ว่าแขกเกลียดหมูและไม่กินหมูเท่านั้นหามิได้ ยังมีบางสิ่งบางอย่าง แขกถือเปนของสำคัญยิ่งกว่าหมูก็มี"

เห็นได้ว่าเจ้าพระยายมราชและคนไทยทั่วไป กล่าวถึงคนมุสลิมโดยใช้คำว่า "แขก" อย่างไม่ถือสาและไม่คิดว่าเป็นการกระทบกระเทือน เพราะอาจคิดว่าเป็นการพูดกันภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ข้าราชการไทยกันเอง ในคำนำหัวข้อของสมุดคู่มือฯดังกล่าว อำมาตย์โท พระรังสรรค์ สารกิจ (เทียม กาญจนประกร) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาอิสลามเป็นผู้เขียนในหัวข้อสำคัญอันเกี่ยวกับชาวอิสลามและการปฏิบัติ ก็ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมุสลิมในทุกหัวข้อ เช่น "คัมภีร์โกราน เป็นคัมภีร์การสั่งสอนที่พวกแขกถือว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้า และมีบัญญัติว่าถ้าไม่เรียนรู้เป็นบาป", "ประเพณีแขก", "หนังสือแขก" เป็นต้น

สังเกตว่าเมื่อถึงเนื้อหารายละเอียดของแต่ละเรื่อง เช่นพระคัมภีร์โกราน ประเพณี การถือบวช การทำละหมาด การไหว้พระและฟังเทศน์วันศุกร์ เรื่องใส่รองเท้าเข้าในสะเหร่ามัสยิด และอื่นๆนั้น ผู้เขียนจะใช้คำว่า "ชาวอิสลาม" หรือ "ชายหญิงอิสลาม" ในทุกหัวเรื่อง ไม่มีการใช้คำว่า "แขก" อีกเลยแม้แต่คำเดียว แสดงว่าเมื่อเป็นการเขียนที่เป็นทางการและเป็นสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยยังต้องละเว้นไม่กล่าวคำอันเป็นศัพท์ชาวบ้าน แต่มีนัยของการสร้างค่านิยมที่ไม่เท่ากัน จนนำไปสู่การสร้างอคติระหว่างกันขึ้น และทำให้เกิดระยะห่างทางสังคมของกลุ่มคน นอกเหนือจากความแตกต่างทางชนชั้นขึ้นมาได้

เมื่อได้มีการพูดถึง "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" นี้มามากแล้ว ขอเพิ่มรายละเอียดที่สำคัญและช่วยทำให้ประเด็นที่กำลังอภิปรายอยู่นี้กระจ่างแจ้งขึ้นด้วย ในการพิมพ์ใหม่ (เข้าใจว่าคงเป็นครั้งที่ 2) นี้ ผู้เขียนคือนายประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ได้ขอให้อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา แผนกอิสลามศึกษา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ทำเชิงอรรถอธิบายและแก้ความเข้าใจผิดพลาดในความหมายของศาสนาอิสลามตามที่ อำมาตย์โท พระรังสรรค์สารกิจ (เทียม กาญจนประกร)ได้เขียนขึ้นมา

ยกตัวอย่างที่สำคัญเช่น "ศาสนาอิสลาม (มหหมัด) เป็นชื่อศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในโลก ซึ่งพระเจ้า(อัลลอฮ์)ได้ทรงคัดเลือกศาสดา ซึ่งมีจำนวนมาก ให้ทำการเผยแพร่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ศาสดาท่านแรกคือนบีอาดัม และท่านสุดท้ายคือนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ(ขอความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ศาสนาอิสลามมิใช่ศาสนาที่มุหัมมัดเป็นผู้ก่อตั้ง ท่านเป็นผู้ประกาศตามคำสั่งของอัลลอฮ์ จึงไม่ควรที่จะเขียนในวงเล็บว่า มหหมัด เพราะจะทำให้ว่า เป็นศาสนามหหมัดตามความเข้าใจของชาวตะวันตก"(เชิงอรรถที่ 4 หน้า 290) "แขก ที่ถูกต้องคือมุสลิม มิใช่แขก, มุสลิมหมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางราชการให้เรียกชาวไทยมุสลิมว่า "คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม" และ "โกราน ที่ถูกต้องเรียกว่าอัล-กุรอานหรือกุรุอาน (Qur'an) ไม่ใช่โกรานหรือโก้หร่าน…" "หนังสือแขกควรใช้คำว่าภาษายาวี" "พระมหหมัด ที่ถูกต้องคือ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลอัลลอฮ์อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งมักย่อเป็น มุหัมมัด ศ็อลฯ"

 

๔) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่

สมเด็จฯกรมพระยาดำรง ทรงอธิบายแก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ในเรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ว่า "เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เมืองตรังกานูพึ่งตั้งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และมายอมเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนเมืองกลันตันนั้นเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองปัตตานี..."

การเป็นเมืองขึ้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองในสมัยโบราณหรือสมัยจารีต ที่เรียกว่าระบบบรรณาการ ในยุคนั้นก็คล้ายกับสังคมจารีต ที่รัฐและคนสัมพันธ์กันโดยดูที่อำนาจว่าของใครใหญ่กว่ากัน เมื่อตกลงรับรู้กันได้แล้ว ทั้งรัฐใหญ่และเล็กก็สามารถดำเนินการปกครอง การผลิต การค้าแลกเปลี่ยนของตนเองไปได้อย่างสงบเรียบร้อย จนกว่าจะมีปัจจัยเงื่อนไขใหม่เข้ามากระทบ อันทำให้ความสัมพันธ์เดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็จะนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเข้าบีบบังคับ ซึ่งในที่สุดก็จะดำเนินไปตามกรอบใหญ่คือรัฐใหญ่ก็จะเป็น "เจ้าพ่อ" เหนือรัฐเล็กๆอีกต่อไป

เมืองขึ้นในรัฐจารีตไม่ใช่เมืองขึ้นแบบเจ้าอาณานิคมฝรั่งสมัยใหม่ หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องภายในดินแดนของรัฐเล็กๆ นั้นเลย ดังนั้นเมืองปัตตานีสมัยโน้นจึงปกครองตนเองมาตลอด กระทั่งมาถึงสมัยแห่งการปฏิรูปของสยาม ที่อำนาจมีนัยถึงการเป็นเจ้าของดินแดนนั้นๆ ด้วยปัญหาอีกข้อคือความเชื่อว่า รัฐปัตตานีในอดีตมักก่อกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์บ่อยๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างรัฐสุลต่านปัตตานี กับรัฐอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์. รัฐปัตตานีกำเนิดมาจากเมืองท่าที่ทำการค้ากับภายนอก เป็นชุมชนปากแม่น้ำในบริเวณคาบสมุทรมลายูที่เล็กกว่าชุมชนเกษตรกรรมในภาคพื้นทวีป ชุมชนปากแม่น้ำเกิดง่ายและสลายตัวง่าย มีความเป็นอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเดียวกัน สัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนหลายระลอก. ในทางการเมืองหมายความว่าอำนาจและผู้นำของรัฐมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงบ่อย ในกรณีของรัฐปตานีมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชสำนักกับกลุ่มโอรังกายาหรือพวกชนชั้นนำ ซึ่งทำให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์กับรัฐเจ้าพ่อใหญ่กว่าบ่อยด้วยเหมือนกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงในความสำคัญของการค้าก็มีผลต่อฐานะของรัฐปตานีด้วย. ในสมัยจารีต สยามมีความสัมพันธ์กับปตานีบนผลประโยชน์ของการค้าร่วมกัน "มีความยืดหยุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่มาก ไม่มีความตึงเครียดที่ถาวร จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างที่จะหลวม ซึ่งลักษณะตรงนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อระบบรัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้น" การเปลี่ยนไปของเศรษฐกิจในอุษาคเนย์ในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการเข้ามาตั้งสถานีการค้าของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู ที่สำคัญปตานีลดความสำคัญของเมืองท่าการค้าไปสู่การเป็นแหล่งผลิตพริกไทย ดีบุกกับยางพาราให้แก่ตลาดโลก จากจุดนี้เองที่ทำให้สยามเริ่มทำการควบคุมปตานีอย่างแข็งแรงขึ้น มีการจัดการกับดินแดนและผลประโยชน์จากดินแดนเหล่านั้นมากขึ้น แน่นอนการเปลี่ยนจุดหนักในความสัมพันธ์ของสยามย่อมนำไปสู่ปฏิกิริยาจากรัฐปตานีเองด้วย

นับจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ของสยาม เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดหมายทางการเมืองการปกครองมาตลอด จากอาณาจักรกษัตริย์แบบอยุธยาเก่า ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเองและอัตลักษณ์ของสยาม มีผลต่อการปฏิบัตินโยบายต่อเมืองประเทศราชและรัฐประเทศราชอีกอย่างต่างจากสมัยก่อนด้วย ในระยะยาวจุดหมายและความต้องการทางการเมืองของรัฐไทย มีน้ำหนักเหนือความเข้าใจและเหนือนโยบายขันติธรรมทางศาสนา เพราะความรู้และความเข้าใจในศาสนาอิสลาม และความเป็นคนมลายูของผู้นำรัฐไทยในระยะปฏิรูปประเทศเป็นต้นมา เป็นความรับรู้ที่ไทยรับมาจากองค์ความรู้ของตะวันตกที่มีต่ออิสลามเป็นหลัก เห็นได้จากการที่รัฐไทยสมัยรัชกาลที่ 5 มาเรียกศาสนาอิสลามว่า "ศาสนามะหะหมัด" หรือมหหมัด และมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความรุนแรงทางการเมืองและรังเกียจคนต่างศาสนา ดังคำอธิบายใน สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองมุสลิมปักษ์ใต้กับกรุงเทพฯ นับแต่แรกจึงแสดงออกถึงแรงต้านจากรายา(ราชา)ปัตตานีมากกว่าด้านอื่น นำไปสู่การต่อสู้ขัดขืนการที่สยามเข้ามาครอบงำเหนือท้องถิ่นและสะท้อนความต้องการอิสระของตนเองถึง 6 ครั้ง คือกรณีตนกู ลัมมิเด็น (พ.ศ.2329), ระตูปะกาลัน(พ.ศ.2349), นายเซะและเจะบุ (พ.ศ.2364 และ พ.ศ.2369), เจ้าเมืองหนองจิก(พ.ศ.2370), เจ้าเมืองปัตตานี(ตนกูสุหลง พ.ศ.2374) และตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) พ.ศ.2445 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการมีรายาปัตตานี

หลังจากนั้นสยามไม่แต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะอีก 4 ปีต่อมา รัฐบาลสยามก็แก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมืองคือ ปัตตานี, ยะลา, สายบุรี, และระแงะ แล้วตามมาด้วยการทำสัญญากับจักรภพอังกฤษใน "สัญญากรุงเทพฯ"(พ.ศ.2452) เป็นการตกลงกันของมหาอำนาจในการแบ่งดินแดนและเขตอิทธิพลกันในแบบฉบับของจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่ใช้กันทั่วในดินแดนที่เป็นอาณานิคมทั่วโลกสมัยนั้น

ตามสัญญากรุงเทพฯ  สยามยกเลิกสิทธิการปกครอง และอำนาจควบคุมเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ในทางกลับกันสยามได้รับสิทธิอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและคนในรัฐไทยทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญรวมทั้งอธิปไตยของสยามเหนือรัฐปตานี ซึ่งเปลี่ยนจากเมืองประเทศราชมาเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามไป

อีกด้านอธิปไตยของสยามที่อังกฤษคืนให้คือ การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลของอังกฤษในสยาม นักประวัติศาสตร์ไทยตีความสนธิสัญญานี้เป็นผลดีแก่ไทย ในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง "เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่(ถึงอย่างไร) ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ ๆ "

หากเราให้ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายพูดบ้าง ก็จะได้อีกภาพหนึ่ง กล่าวคือสุลต่านที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมาก จนปรารภกับนายอาเธอร์ แอดัมส์ ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้"

แท้ที่จริงแล้วในทางประวัติศาสตร์ รัฐชาติสยามก็ไม่ได้ "สูญเสีย" ดินแดนของตนแต่ดั้งเดิมไป หากแต่ "จะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก" แต่ที่สำคัญในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ต่อการเสียดินแดนดังกล่าวก็คือ "การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้" และนี่คือความยอกย้อนผันผวนของประวัติศาสตร์ชาติสยามสมัยใหม่ ที่พัวพันกับชะตากรรมและอนาคตของคนมลายูมุสลิมภาคใต้อย่างลึกซึ้ง

 

๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน

ที่ผ่านมาการศึกษาในเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่าง คนมลายูมุสลิม กับ อำนาจรัฐไทย มักมองข้ามกำเนิดและความเป็นมาของมโนทัศน์แบ่งแยกดินแดน และข้ามไปรวมศูนย์การศึกษาที่พัฒนาการช่วงหลังๆ ของความขัดแย้ง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและมีการประโคมข่าวกันมาก แต่ราคาที่เราต้องจ่ายไปให้กับความโง่เขลา และการหลงลืมทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกำเนิดของความขัดแย้งการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ก็คือ การทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็เท่ากับให้การยอมรับการศึกษาที่เป็นอัตวิสัยและที่กระทำอย่างหยาบๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย

กลับมาที่การศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ อาจแบ่งงานเขียนหลักๆ ในปัญหานี้ออกเป็นสองกลุ่มที่ตรงข้ามกัน

กลุ่มแรก ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ชาวต่างชาติ(ตะวันตก) แห่งยุคทศวรรษ ๑๙๔๐ ซึ่งมีท่าทีค่อนข้างวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลและวิธีการจัดการกับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ กลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนสิทธิอัตวินิจฉัยของชนชาติต่างๆ เช่นมลายูมุสลิมที่จะเป็นอิสระในการดำเนินและปฏิบัติวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา

กลุ่มที่สอง เป็นนักเขียนและนักวิชาการส่วนใหญ่มาจากวงการวิชาการไทยและข้าราชการ กลุ่มหลังนี้ทรรศนะและท่าทีของพวกเขาถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของความภักดีต่อรัฐไทย และสำนึกของชาตินิยมไทย ผู้สังเกตการณ์ต่างชาตินับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมาจนถึงปีทศวรรษ ๑๙๖๐ มีความเห็นอกเห็นใจในสิทธิของชนชาติส่วนน้อยทั้งหลายในการตัดสินใจเพื่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง คนเหล่านี้จึงมักกล่าวหารัฐไทยว่ามีอคติต่อคนมลายูมุสลิม ด้วยการจัดกลุ่มให้พวกเขาว่าเป็นพวก "แขก" ซึ่งนัยก็คือพวกเขาเป็น "คนนอก" หรือเป็น "คนกลุ่มน้อย" และในที่สุดก็ให้ป้ายยี่ห้อล่าสุดว่าเป็น "โจรแบ่งแยกดินแดน" ความรู้สึกที่รังเกียจรัฐบาลไทยของชาวบ้านขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  (๑) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาอาเซียบูรพา และต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (๒) ซึ่งอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐ ครั้งหลังนี้จอมพล ป. ก้าวสู่อำนาจด้วยการเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งนำไปสู่การล้มและกวาดล้างรัฐบาลเสรีนิยมภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ โดยทั่วไปคนเข้าใจและเชื่อกันว่า คนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกกระทำทารุณกรรมทางการเมืองอย่างมากก็ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนี้เอง เช่นกรณีการจับกุมฮัจญีสุหลง และ "กบฏดุซงญอ" เป็นต้น ในความเป็นจริง เมื่อศึกษาจากข้อมูลสมัยนั้นอย่างละเอียด ปรากฏว่าการปะทะและใช้ความรุนแรงต่อคนมลายูมุสลิมภาคใต้นั้น เริ่มขึ้นแล้วก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ เมื่อคิดถึงความซับซ้อนและความอ่อนไหวในประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาดังกล่าว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมการศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงทำอย่างภววิสัยได้ยาก ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นการศึกษาอย่างถูกต้องตามหลักฐานภายนอก ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบอัตวิสัยที่เอาความเชื่อของผู้ศึกษาเป็นที่ตั้ง บทความวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวพันกันของเหตุการณ์หลายๆ เรื่องในช่วงเวลาของทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ อันนำไปสู่การปะทะและปราบปรามบรรดาผู้นำมุสลิมด้วยความรุนแรงเป็นครั้งแรก โดยฝีมือของรัฐบาลไทยที่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น "ประชาธิปไตย"แล้ว การศึกษาครั้งนี้วางจุดหนักไว้ที่การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ (อันรวมวิสัยทัศน์)ทั้งของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ และของรัฐไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พร้อมกับนำรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยเข้ามาแทน มีการใช้นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจรัฐบาล และการควบคุมบริเวณที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและมีสำนึกในวัฒนธรรมของตนเองสูงมาก นั่นคือภูมิภาคในอีสานและภาคใต้ กล่าวในทางการเมือง การกระทำของรัฐไทยในระยะนั้น เท่ากับเป็นการผนึกและรวมศูนย์รัฐประชาชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้จินตนาการของไทยภาคกลางเป็นแกนนำ บทความนี้จึงแย้งว่าจริงๆ แล้ว ข้อกล่าวหาว่าด้วยการกระทำ "แบ่งแยกดินแดน" นั้น เป็นการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาของอำนาจรัฐไทย และบังคับใช้ให้เป็นจริง เพื่อที่จะปราบปรามและข่มขู่ดินแดนในบริเวณเหล่านั้นจากการอ้างสิทธิทางการเมืองในอัตลักษณ์ และความใฝ่ฝันของพวกเขา กล่าวอย่างกว้างๆ การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในทางการเมืองนั้น ถือว่าเป็นแบบเฉพาะอย่างหนึ่งของการกบฏต่อรัฐ โดยกลุ่มคนที่สมาชิกของรัฐหรือคนที่อาจจะเป็นสมาชิกของรัฐที่ไม่พอใจในรัฐบาลที่ปกครองพวกเขาอยู่

(1) ขบวนการดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ก่อรูปขึ้นบนอัตลักษณ์ของพวกเขาที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งถูกทำให้เป็นคนกลุ่มน้อยในรัฐไป

ภายหลังการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการเคลื่อนไหวที่สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้แก่ "ขบวนการโมโร"ในฟิลิปปินส์, "ขบวนการมลายูปัตตานี"ในภาคใต้ของไทย, "ขบวนการไทยใหญ่และกะเหรี่ยงและโรฮิงยา"ในพม่า, และสุดท้ายคือ "ขบวนการอะเจะห์"ในอินโดนีเซีย Clive J. Christie ในงานศึกษาเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอุษาคเนย์ อธิบายอย่างกะทัดรัดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และการเมือง ในการเกิดขึ้นและคลี่คลายขยายไปของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์สำคัญที่จุดประกายให้และในระดับหนึ่งก็ช่วยสร้างรูปแบบและเนื้อหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้กับขบวนการแต่ละขบวนการในภูมิภาคนี้ก็คือ กระบวนการของการล้มล้างระบบอาณานิคม ซึ่งเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประสบการณ์ร่วมกันที่เป็นปัจจัยผลักดันของบรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้คือ การเกิดขบวนการชาตินิยม ที่ต่อต้านอำนาจลัทธิอาณานิคม การค้นหาอัตลักษณ์ที่เป็นของประชาชาติต่าง ๆ การพังทลายของการบุกและยึดครองของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ และท้ายที่สุดคือ การประกาศเอกราชของประเทศเหล่านี้

(2) มีงานศึกษาที่พยายามจะอธิบายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในเชิงโครงสร้าง ได้แก่งานของเดวิด บราวน์ เรื่อง "From Peripheral Communities to Ethnic Nations: Separatism in Southeast Asia" (1988)

(3) บราวน์เถียงว่ากรณีของการแบ่งแยกดินแดนของชาติพันธุ์นั้น จะเข้าใจได้ดีกว่าหากศึกษาผ่านคุณลักษณะและผลสะเทือนของรัฐ(the state) ซึ่งเป็นกุญแจสำหรับการอธิบายกำเนิดของขบวนการแบ่งแยกต่างๆ เหล่านี้ เขาระบุไว้ในข้อโต้แย้งของเขาว่ามี ๓ ขั้นตอนในปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนที่อยู่รอบนอกๆ

ขั้นที่หนึ่ง การเกิดขึ้นของลักษณะรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดียว (mono-ethnic state) แน่นอนว่าย่อมทำให้การแทรกแซงเข้าไปในชุมชน ย่อมนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของอำนาจอันยอมรับนับถือทั้งหลาย (communal authority structures) ของชนกลุ่มน้อยลงไป การทำลายนี้เกิดขึ้นในสองระดับ

-  ในระดับมวลชน(หรือรากหญ้า) เกิดวิกฤตในอัตลักษณ์และความไม่มั่นคงของชุมชน

- ในขณะที่ในระดับผู้นำ เกิดวิกฤตของความชอบธรรม (crisis of legitimacy)

ขั้นที่สอง บรรดากลุ่มผู้นำทั้งหลายในชุมชนรอบนอกเหล่านี้ พยายามหาทางแก้ไขวิกฤตเหล่านั้นด้วยการสรรค์สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ขึ้นมา และดำเนินการปลุกระดมให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐขึ้น การกระทำดังกล่าวสร้างพื้นฐานอันใหม่สำหรับการมีเอกภาพและอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา และก็สร้างพื้นฐานใหม่ให้กับความชอบธรรมแก่บรรดาผู้นำเหล่านั้นอีกด้วย

ขั้นที่สาม ในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์นั้น มักมีจุดอ่อนแฝงอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มผู้นำต่างๆ มีความต้องการและความใฝ่ฝันที่แข่งขันกัน เช่นผู้นำตามประเพณีกับผู้นำรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสมัยใหม่ แต่ละกลุ่มก็แสวงหาความชอบธรรมในฐานะแห่งการเป็นผู้นำของพวกตนภายในชุมชนเหล่านั้น ผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งของการแข่งขันกันก็คือ นำไปสู่ความไม่สามัคคีของกลุ่มและพวก และจุดอ่อนในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ที่ก่อรูปขึ้นมา

จุดสำคัญในทฤษฎีนี้ก็คือการสร้างมโนทัศน์ว่าด้วยรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดี่ยว แม้สังคมเหล่านี้ล้วนเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์มาแต่ในประวัติศาสตร์แล้ว แต่ในแต่ละกรณีสภาพแวดล้อมที่รัฐสมัยใหม่ก่อกำเนิดขึ้นมา กลับนำไปสู่การส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐกับชุมชนเชื้อชาติใหญ่แต่กลุ่มเดียว, ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกกีดกันออกไปจากการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของรัฐ จากการเข้าไปมีตำแหน่งที่มีอิทธิพลในรัฐบาล และจากการมีส่วนร่วมในลักษณะทางอุดมการณ์ของรัฐด้วย อัตลักษณ์แห่งชาติจึงกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับภาษา วัฒนธรรมและคุณค่าของชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เท่านั้น ปัญหาจุดอ่อนของทฤษฎีนี้อยู่ที่แนวคิดว่าด้วยรัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศที่ศึกษาและทั้งหลายทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย ตามทางที่บราวน์ศึกษาและเสนอนั้น การผสมกันระหว่าง รัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" และสังคมพหุชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งนับรวมประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น พม่า เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่นำไปสู่การเร่งความขัดแย้งทางการเมืองหรือความรุนแรงทางการเมือง ตราบเท่าที่รัฐบาลกลางขาดเจตจำนงและความต้องการในการเข้าไปแทรกแซงชุมชนชาติพันธุ์รอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่ว่านั้นเกิดได้เมื่อความต้องการทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ผลักดันให้รัฐบาลทำการขยายบทบาทออกไปนอกเหนือเขตใจกลางเข้าไปสู่ชุมชนส่วนน้อย บริเวณที่โครงสร้างและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ถูกกระทบอย่างแรงจนทำให้เกิดการเผชิญหน้าของชาตินิยมชาติพันธุ์ขึ้นมา ความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงระหว่างชุมชนส่วนน้อยกับรัฐที่ดำเนินต่อมา จึงเป็นผลมาจากลักษณะและการปฏิบัตินโยบายผสมกลมกลืนและการรวมศูนย์ของรัฐ ด้วยการแทรกแซงชุมชนส่วนน้อยทั้งหลายนั้นเอง ความพยายามของรัฐแสดงออกในรูปแบบของการพยายามนำเสนอคุณค่า และสถาบันของกลุ่มชนส่วนข้างมากเข้าไปในชุมชนรอบนอกทั้งหลาย อันนี้มีนัยว่าคุณค่าของชุมชนรอบนอกนั้นด้อยกว่าของศูนย์กลาง และมีแต่ต้องรับเอาวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่าของคนส่วนข้างมากเท่านั้น ชุมชนรอบนอกเหล่านั้นจึงจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของชาติได้  การศึกษาแทบทั้งหมดที่ทำในกรณีภาคใต้ของไทย ก็ใช้สมมติฐานทำนองนี้เหมือนกันทั้งนั้น นั่นคือรัฐไทยที่เป็น "เชื้อชาติเดียว" ดำเนินนโยบายที่นำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางมาโดยตลอดในหลายยุคหลายสมัย ในแต่ละยุคสมัยของการปกครองแบบรวมศูนย์นั้น และเป็นเวลาที่ผู้นำดั้งเดิมของปัตตานี ได้ถูกถอดจากตำแหน่งและอำนาจแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการประท้วงและการกบฏ เพราะ "สมาชิกของผู้นำประเพณีที่ถูกโค่นอำนาจหาทางที่จะกลับมามีอำนาจอีกในบริเวณนั้น"

(4) การก่อความไม่สงบเล็กๆ และไม่เป็นเอกภาพในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เปลี่ยนมาเป็นการประท้วงต่อต้านที่ยาวและมีการจัดตั้งมากขึ้น เมื่อผู้นำท้องถิ่นถูกแทนที่มากขึ้นโดยข้าราชการไทย โดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งมีการปรับรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่อีกครั้ง ระบบปกครองนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่มากขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่หนึ่ง

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งนี้ ได้แก่ การกบฏของมลายูมุสลิมใน พ.ศ. ๒๔๙๑ หลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ กบฏครั้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลไทยปฏิเสธคำเรียกร้องที่นำโดย ฮัจญีสุหลง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคนมลายูมุสลิมเป็นผู้นำสูงสุดในสี่จังหวัดภาคใต้ และให้เป็นข้าราชการได้ถึงร้อยละ ๘๐ ในบริเวณนั้น และให้มีคณะกรรมการอิสลามดำเนินการดูแลกิจการของคนมุสลิมเป็นต้น การจับกุมฮัจญีสุหลงกระตุ้นให้เกิดการก่อความไม่สงบอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งหลังจากการหายสาปสูญไปของฮัจญีสุหลง และคาดว่าคงถูกฆาตกรรมแล้วโดยตำรวจไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ความไม่สงบก็ปะทุขึ้นอีก  ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการ "กบฏ" โดยคนมลายูมุสลิมในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คำเรียกร้อง ๗ ข้อก็ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการจับกุมและการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลง ตามที่นักวิชาการและสาธารณชนเข้าใจกันต่อๆมา อย่างไรก็ตาม ได้มีสิ่งที่เรียกว่า "ความไม่สงบ" และ "การประท้วง" โดยคนมุสลิมในบริเวณ "สามจังหวัดภาคใต้สุด" (ไม่ใช่ "สี่จังหวัด" ตามที่เรียกกันทั้งหน่วยงานรัฐและสื่อมวลชน) ในช่วงก่อนที่จะมีการจับกุมฮัจญีสุหลงเสียอีก และความรุนแรงก็ยิ่งทวีมากขึ้นภายหลังที่เขาถูกจับกุมไปแล้ว การลุกฮือที่ลุกลามใหญ่และรุนแรงที่สุดสมัยนั้นคือ เหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ ๒๖-๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ จากการปะทะกันในหมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส การปะทะกันครั้งนั้นภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีใน "กบฏดุซงญอ" และคนทั่วไปเข้าใจว่า เหตุการณ์นั้นเกิดมาจากการที่ฮัจญีสุหลงถูกจับ หลังจากนั้น "กบฏดุซงญอ" ก็ถูกทำให้เลือนและอยู่ภายใต้โครงเรื่องของ "กบฏหะยีสุหลง" ในที่สุดกงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาบรรจบอีกครั้ง เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหัวรุนแรงมลายูมุสลิม กับกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดภาคใต้อีก ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เหตุการณ์ล่าสุดนำไปสู่การรื้อฟื้นและทบทวนความทรงจำที่ลบเลือนไปเมื่อ ๕๖ ปีก่อนโน้น นำมาสู่การเล่าเรื่องและทวนความจำใหม่ ว่า "กบฏดุซงญอ" ในปี ๒๔๙๑ นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร

 

๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์: จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"

การอุบัติขึ้นของคลื่นความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้สุดครั้งล่าสุด มาจากการบุกเข้าปล้นปืนในค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มคนที่ไม่อาจระบุได้ ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กรณี "ปล้นปืน ๔ มกราคม" เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางการเมืองชาติพันธุ์ที่มีมายาวนานในพื้นที่นั้น

จากรายงานของทางการบอกว่า มีกลุ่มคนประมาณ ๖๐ คนบุกเช้าไปในค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ยิงทหารตายไป ๔ นาย ก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับปืนไรเฟิล ๔๐๐ กระบอก, ปืนพก ๒๐ กระบอก, และปืนกลอีก ๒ กระบอก. การบุกครั้งนี้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเรียกว่า "เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนอย่างดี" นั้น เริ่มด้วยการวางเพลิงโรงเรียน ๒๐ แห่งใน ๑๐ อำเภอในนราธิวาสในเวลา ตี ๑ ครึ่ง โรงเรียน ๕ หลังถูกเผาราบไปกับพื้นดิน ผู้ก่อการยังได้วางเพลิงป้อมยามตำรวจที่ไม่มีคนอยู่ด้วยอีก ๒ แห่ง ในจังหวัดยะลา กลุ่มคนดังกล่าวได้เผายางรถยนต์บนถนนหลายสาย และมีการพบระเบิดปลอมถูกวางอยู่ในที่ต่างๆ ถึง ๗ จุดในจังหวัด ตำรวจสันนิษฐานว่าทั้งหมดนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่จากการบุกปล้นค่ายทหารในนราธิวาส ไม่ต้องสงสัยว่า การจู่โจม "๔ มกรา" นี้ทำให้รัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก และทำให้นายกฯทักษิณ ชินวัตรหัวเสียอย่างหนักด้วย เขากล่าวตำหนิทหารที่ขาดความระมัดระวัง และถึงกับอารมณ์เสียด้วยการหลุดคำพูดออกมาว่า ทหารที่ถูกฆ่านั้นสมควรตายแล้ว "ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย"

(5) ภายหลังการบุกปล้นปืน รัฐบาลได้เร่งการควบคุมสถานการณ์เพื่อจะยุติความปั่นป่วน และการโจมตีอย่างลี้ลับของคนเหล่านั้น ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัด และส่งกองกำลังลงไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น นอกจากนั้นฝ่ายตำรวจก็เพิ่มมาตรการแน่นหนาขึ้นในการจัดการกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนมลายูมุสลิม ด้วยการใช้กลยุทธที่หนักข้อขึ้นกับคนเหล่านั้น  วิธีการหนึ่งก็คือการอุ้มผู้ต้องสงสัยและทำให้พวกนั้นหายไป ตำรวจจะมายังบ้านและบอกผู้ต้องสงสัยให้ตามไปที่สถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมักมาเรียกตัวชาวบ้านไปโดยไม่มีหมายจับ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางขัดขืนตำรวจได้ หลายวันผ่านไปก่อนที่ลูกเมียของผู้ต้องสงสัยเริ่มสงสัยว่า มีอะไรไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า "ถ้าผู้ต้องสงสัยถูกอุ้มไปโดยทหาร โอกาสรอดกลับมาบ้านยังมี แต่ถ้าหากเขาถูกตำรวจอุ้มไป โอกาสรอดกลับมาไม่มี"

(6) ในช่วงหลายเดือนก่อนถึงเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ มีรายงานจำนวนมาก ทั้งจากคนในพื้นที่และในหนังสือพิมพ์ ว่าชาวบ้านมลายูมุสลิมในบริเวณนั้นอาจถึง ๒๐๐ คน ถูกอุ้มหายไปโดยตำรวจท้องถิ่นและทหาร แต่ข่าวการถูกอุ้มของชาวบ้านในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มันจมอยู่ในรายงานข่าวความไม่สงบที่นับวันเพิ่มมากขึ้น ที่เรียกว่า "ฆ่ารายวัน" จนไม่มีความหมายอะไร รัฐบาลเชื่อว่าการฆ่ารายวันเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

หลังกรณี "๔ มกรา" การฆ่ารายวันและความรุนแรงที่ตอบโต้โดยกำลังของรัฐในภาคใต้สุด ได้ขยายเป้าหมายคลุมไปถึงชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ด้วย นอกเหนือไปจากกำลังฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ทางการ เหตุการณ์ที่ประชาชนสะเทือนใจและน่าตระหนกมากที่สุดได้แก่ การฆ่าพระและการมุ่งโจมตีทำลายวัด

ต่อมาในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กลุ่มมุสลิมกล้าตายกว่าร้อยคนบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐและป้อมยาม ๑๒ จุด ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี, ยะลา, และสงขลา (น่าสังเกตว่าไม่มีปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาสในเช้าวันนั้น ทั้งๆ ในอดีตนราธิวาสเป็นจุดของการปะทะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมากสุด) กลุ่มผู้ก่อการมีอาวุธเช่นมีดขวานและปืนนิดหน่อย กระทั่งนำไปสู่การยึดมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ก่อนถูกกองกำลังทหาร และตำรวจ และอื่น ๆ ที่ลงมาประจำเตรียมรับมือความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นตอบโต้ และปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างเต็มที่. ฝ่ายกลุ่มมุสลิมเสียชีวิตไป ๑๐๗ คน         โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะตายไป ๓๒ คน อายุเฉลี่ย ๓๐ ปี ในบรรดาผู้เสียชีวิตในจุดอื่นมีกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นนักเรียนระดับมัธยมในอำเภอสะบ้าย้อยถึง ๑๐ กว่าคน. ที่มัสยิดกรือเซะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บสาหัส ๘ นาย ฝ่ายผู้ก่อการไม่มีผู้บาดเจ็บเลย

แม้คำชี้แจงของทางรัฐบาลกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่าการโจมตีเหล่านั้นเป็นฝีมือของพวกติดยาเสพย์ติด แต่ความหมายของกรณี ๒๘ เมษา ไม่ได้เงียบหายไป. ทันทีภายหลังการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาอธิบายและย้ำถึงความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ "การกบฏวันที่ ๒๘ เมษายน" ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งชาวบ้านมลายูมุสลิมเรียกว่า Perang หรือ Kebangkitan Dusun Nyior หรือสงครามหรือการลุกขึ้นสู้ของดุซงญอ ในขณะที่ทางการไทยและวาทกรรมไทยเรียกเหตุการณ์นั้นว่า "กบฏดุซงญอ" (7)

 

๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆ กันทำนองนี้ วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และ เป็น "ผู้ร้าย"ในประวัติศาสตร์ไทยไป

กล่าวได้ว่านับจากปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา เหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ตกอยู่ในสภาพ และฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่   ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูกเปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม ที่ผ่านมาการบรรยายและอธิบายเหตุการณ์ที่ทางการเรียกว่า "กบฏดุซงยอ" ดำเนินไปบนกรอบโครงหรือพล๊อตเรื่องของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกจัดวางไว้ต่อจากการจับกุม   ฮัจญีสุหลง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ดังตัวอย่างงานเขียนนี้จากหนังสือเรื่อง ไทยมุสลิม โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (แพร่พิทยา, ๒๕๑๙) ซึ่งเล่าว่า "นับแต่ได้มีการจับกุมนายหะยีสุหรง      กับพรรคพวก เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๐(ที่ถูกคือ ๒๔๙๑-ผู้เขียน) ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะจับกลุ่มมั่วสุมกัน ส่อไปในทางก่อการร้ายขึ้น ทางการได้พยายามติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวตลอดมา บรรดาผู้ที่หวาดระแวงซึ่งเกรงว่าจะถูกจับกุมก็หลบหนีออกนอกประเทศไป คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีก็ได้ยุบเลิกไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของมลายูบางพรรค ตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวยุยงปลุกปั่นสนับสนุนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปรวมกับมลายูให้ได้

ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีเดียวกันนั้นเอง คือเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายหะยี ติงงาแม หรือมะติงงา ตั้งตนเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวก เข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ. การปะทะได้ดำเนินไปเป็นเวลานานถึง ๓๖ ชั่วโมง เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นได้ทำการจับกุมนายหะมะ กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอ      ระแงะ และนายมุสตาฟา ในข้อหากบฎ ส่วนนายมะติงงาหลบหนีไปได้ ต่อมาประมาณปี ๒๔๙๗ จึงทำการจับกุมตัวได้ และถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษ ก็หลบหนีจาก     ที่คุมขังไปร่วมกับโจรจีนคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน"(หน้า ๒๖๓-๒๖๔) น่าเสียใจที่เชิงอรรถของหลักฐานข้อมูลและการตีความ"กบฎดุซงยอ" นี้ ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ไม่ทราบที่เกิดความผิดพลาด ไม่ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของเชิงอรรถ มีแต่เลขเชิงอรรถที่ ๑๗ แต่ไม่มีชื่อเอกสารหนังสือหรือที่มาของข้อมูลดังกล่าว หลังจากจบย่อหน้าสุดท้ายของคำบรรยาย หากจะคาดคะเนโดยดูจากเอกสารและหนังสือที่ผู้เขียนนำมาใช้อ้างอิง ในการเขียนบทว่าด้วย "การวางแผนแบ่งแยกดินแดนในสมัยเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒" จากหน้า ๒๕๘-๒๖๖ ก็มีมาจากหนังสือจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เอกสารชั้นต้นเลยสักชิ้นเดียว ดังต่อไปนี้

พ.ต.ท. ลิมพิช สัจจพันธ์, ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้, (เอกสารโรเนียว)

พ.ต.อ. วิชัย วิชัยธนพัฒน์, ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา, กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนเขต ๙, ๒๕๑๖)

พ.ต.อ. กัมปนาท จินตวิโรจน์, ขบวนการโจรแยกดินแดนภาคใต้, (กรุงเทพฯ, โพธิ์สามต้นการพิมพ์, ๒๕๑๗)

พรรณนาความของเหตุการณ์ "กบฎดุซงยอ" จึงเป็นความจริงตามทรรศนะและความเชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาศัยเอกสารรายงานและคำสอบสวนผู้ต้องหาโดยวิธีการและสมมติฐานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเกณฑ์ ดังนั้นวิธีการเขียนและผูกเรื่องจึงเหมือนวิธีการของพงศาวดารอย่างหนึ่ง คือผลของเรื่องเป็นตรรกและแนวในการสร้างเรื่อง ในกรณีนี้คือชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งจะต้องสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในภาคใต้สุด นั่นคือ "สถานการณ์…ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ" เมื่อมีน้ำหนักของเหตุที่จะเกิดความไม่สงบแล้ว ก็ทำให้ "ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส"  ที่น่าสงสัยคือ ทำไมทางการจึงส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มเติมเฉพาะที่นราธิวาสแห่งเดียวเท่านั้น ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นราธิวาส ทั้งๆ ที่ฮัจญีสุหลงถูกจับที่ปัตตานี และกลุ่มผู้นำมุสลิมที่นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อยู่ที่ปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางการกลับส่งกำลังตำรวจเพิ่มไปที่นราธิวาสตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งก็ไล่ๆ กับเวลาที่ทางการจับกุมฮัจญีสุหลง น้ำหนักของการวางความไม่น่าไว้วางใจที่นราธิวาสแต่เนิ่นๆ นั้น ทำให้ข้อสรุปของทางการว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนนั้นดำเนินไปในหลายจังหวัด และโดยหลายกลุ่มมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากอ่านและตีความตามคำบรรยายข้างต้นนี้ แสดงว่ากบฏดุซงยอไม่ได้เกิดเพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมฮัจญีสุหลง หากจริงๆ แล้วเป็นการก่อกบฏโดยความตั้งใจมาก่อนแล้วของคนมุสลิม ทำให้การโยนความผิดหรือความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการจับกุมฮัจญีสุหลงว่า นำไปสู่ความวุ่นวายและการตอบโต้ของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ลดน้ำหนักและไม่เป็นจริงไป

ต่อจากนั้นคือ การทำให้กบฏเป็นเรื่องจริงที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ การพรรณนาของทางการก็อาศัยประวัติศาสตร์นิพนธ์กบฏชาวนาและกบฏผีบุญในอดีตมาใช้ นั่นคือ ทันใดนั้นใน "วันที่ 27 เมษายน ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ…โดยมีนายหะยี ติงงาแมหรือมะติงงา ตั้งตน    เป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ" การเกิดเหตุการณ์ในวันอันแน่นอน แสดงว่าฝ่ายกบฏได้วางแผนมาก่อนแล้วอย่างแน่ชัด จึงสามารถ "นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะ" ยิงฝ่ายตำรวจก่อน ไม่มีความบังเอิญหรือความประจวบกันข้าวของปัจจัยต่าง ๆ หากเป็นการกบฏ เรื่องทั้งหมดต้องแน่นอน ชัดเจน นั่นคือ การมีหัวหน้ากบฏ และมีวันเวลาของการลงมือ เรื่องทั้งหมดจึงไม่มีเนื้อที่ให้กับคำถามและความสงสัยอันใดสำหรับผู้อ่าน กลายเป็น "ความจริง" อีกอันหนึ่งไปในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในบทความ "มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา"(๒๕๔๗) นิธิ เอียวศรีวงศ์  วิเคราะห์ว่า "กรณีดุซงญอนั้นเป็น "กบฏชาวนา" ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, ๕ พ.ค. ๒๕๔๗ ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่ (8) ในขณะที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองกลับไปยังกบฏดุซงญอว่า "…ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้วแต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ ๔๐๐ คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔๐ คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้ (9) "กบฏดุซงญอ" เป็นตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historian" ซึ่งเฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิดของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์  ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างดีมากที่สุดด้วยท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นอยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานี,นราธิวาส, ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี), และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิม ในปัญหาการเมืองการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก, ผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก, กรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง, กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ เนื้อหาสำคัญของเรื่องราวในตอนนั้น ไม่ยุ่งยากและลำบากต่อการเข้าใจมากนัก หากไม่เอาอคติและอัตวิสัยไปจับเสียก่อน ที่สำคัญคือความรู้สึกและความเชื่อในลัทธิชาตินิยมไทย ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในช่วงเวลาที่กำลังก่อรูป และสร้างฐานรากในสังคมและความคิดของสังคมไทยอยู่ ยังไม่ได้เป็นวิธีคิดและรับรู้ที่คนไทยทั่วไปรับมาเหมือนกันหมดดังเช่นปัจจุบัน หากพิจารณาจากพล๊อตเรื่องหลักแล้ว กรณีกบฏดุซงญอจะเป็นพล๊อตเรื่องรอง ในเรื่องหลักนั้นจะได้แก่เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏหะยีสุหลง"

 

๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์

ความเกี่ยวพันและโยงใยกันอย่างแนบแน่นระหว่างประวัติศาสตร์ของ "กบฏหะยีสุหลง" กับ "กบฏดุซงญอ" มีส่วนอย่างมากต่อความรับรู้และเข้าใจของเราต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิม จุดสำคัญที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ตระหนักคือ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อนแม้ในระหว่างชุมชนและขบวนการมุสลิมกันเอง สำหรับคนนอกโดยเฉพาะรัฐและหน่วยงานราชการทั้งหลาย บรรดาชุมชนมุสลิมในประเทศไทยถูกมองว่าเหมือนกันหมดและหยุดอยู่กับที่ ทรรศนะและการมองแบบด้านเดียวที่ผิดพลาดนี้ได้รับการตอกย้ำและทำให้ชัดเจนขึ้นโดยประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ประวัติศาสตร์ที่อาศัยหลักฐานที่มีอยู่ และความสามารถและความเที่ยงธรรมของนักประวัติศาสตร์ในการบอกผู้อ่านในที่สุดว่าเรื่องราวที่เต็มนั้นคืออะไร ในกรณีของสองประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ปัจจัยทางการเมืองระดับชาติที่มีผลต่อการรับรู้ความจริงของประวัติศาสตร์นั้น ได้แก่การเข้ามาพบกันของเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ในปี ๒๔๙๑ ซึ่งมีผลกระทบต่อทิศทางของการเมืองและรัฐบาลไทยและรวมไปถึงมลายาที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษขณะนั้นด้วย ในประเทศไทย เหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงนั้นที่มีผลต่อการเมืองระดับชาติคือ การสิ้นพระชนม์อย่างลี้ลับของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ตามมาด้วยการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ส่วนในมลายาซึ่งเพิ่งก่อตั้งสหพันธรัฐมลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษ คือการประกาศภาวะฉุกเฉินในปี ๒๔๙๑ โดยอ้างว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายากำลังจะก่อการลุกฮือ

ในทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ กล่าวได้ว่า ฮัจญีสุหลงคือผู้นำประชาชนมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่คนมุสลิมภาคใต้เคารพนับถือมากในสมัยนั้น เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานี ทั้งยังเป็นผู้นำมุสลิมรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูงสำเร็จจากเมืองมักกะฮ์ จากนั้นกลับมาฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม โดยเฉพาะการนำการต่อสู้ประท้วงนโยบายเชื้อชาตินิยมของรัฐไทย และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ราชการ จนกระทั่งเขาถูกจับกุมในปี ๒๔๙๑ ถูกพิพากษาลงโทษ จนได้รับการปลดปล่อยกลับมาในปี ๒๔๙๗ ก่อนที่จะถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับในที่สุด. ในประวัติศาสตร์การเมืองฉบับทางการ การเล่าเรื่องเหตุการณ์ในช่วงนั้น ระบุว่าฮัจญีสุหลงคือหัวหน้าของการกบฏทั้งหลายในภาคใต้รวมทั้ง การลุกฮือที่ดุซงญอด้วย

ในทศวรรษปี ๒๕๑๐ ความรับรู้เรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ได้เลือนไปจนกระทั่งหาสาเหตุและรูปร่างของความขัดแย้งเหล่านั้นไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการเริ่มการเจรจาระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทยสมัยนั้น ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับสร้างเนื้อเรื่องที่วางอยู่บนการลุกฮือก่อกบฏ และในที่สุดนำไปสู่การเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นในบริเวณดังกล่าว ทั้งหมดเป็นความผิดของฝ่ายมลายูมุสลิมเองที่ลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านกระทำการรุนแรงต่อรัฐไทยเอง ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลไทยจึงต้องทำการควบคุมความสงบด้วยการใช้กำลังปราบปราม การใช้กำลังของรัฐจึงเป็นความชอบธรรมมาแต่ต้น 

การปราบการกบฏเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลจะได้ทำการปกครองดินแดนดังกล่าวได้อีกต่อไป วาทกรรมประวัติการเมืองดังกล่าว จึงอธิบายปัญหาและเรื่องราวความไม่สงบในขณะนั้นได้อย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล เพื่อบรรลุเป้าหมายของวาทกรรมนี้, ฮัจญีสุหลงจึงต้องถูกทำให้เป็นหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และกิจกรรมที่ร้ายแรงที่สุดคือ การทำการแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นออกจากรัฐไทย ในขณะที่ "กบฏดุซงญอ" ก็กลายเป็นพล๊อตเรื่องรองของ "กบฏหะยีสุหลง" ไป ด้วยวาทกรรมและการปฏิบัติทางการเมืองบนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง ที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้กลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่3)

ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่3)

โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๙)  ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู

ฮัจญีสุหลงเกิดในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในหมู่บ้านกำปงอาเนาะรู มณฑลปัตตานี บิดาชื่อฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หลานปู่ของฮัจญีไซนับ อาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อว่า "กัชฟ์ อัล-ลีซาม" และ "อากีดัต อัลนายีน" อันเป็นตำราศาสนามีชื่อเสียง (1) เขาเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ อายุได้ ๑๒ ปี บิดาส่งไปเรียนวิชาการศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้เข้าศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามในนครมักกะห์ หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง ได้รับการขอให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์จนมีชื่อเสียง มีศิษย์เป็นจำนวนมากจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก เหตุที่ทำให้ฮัจญีสุหลงตัดสินใจเดินทางกลับ ปัตตานีเพราะความตายของบุตรชายคนแรก เมื่ออายุได้   ปีเศษ ๆ การเดินทางกลับครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของฮัจญีสุหลงอย่างที่เขาเอง ก็คงคาดไม่ถึงปัตตานีและสังคมมุสลิมภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในสายตาใหม่ของฮัจญีสุหลง ยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับ ในยุคที่ศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ คือเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อในไสยศาสตร์ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมาก สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ ฮัจญีสุหลงตัดสินใจปักหลักที่นี่ แทนที่จะเดินทางกลับไปมักกะห์ตามความตั้งใจเดิม ได้ทิ้งบ้านช่อง ทรัพย์สินและตำราศาสนามากมายไว้ที่นั้น "ด้วยความสำนึกในหน้าที่ของมุสลิมที่ดี ที่จะต้องเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามโองการของอัลเลาะฮ์"   ฮัจญีสุหลงเริ่มการเป็นโต๊ะครู  โดยเปิดปอเนาะที่ปัตตานี เพื่อสอนหลักศาสนาแบบใหม่ ลบล้างความเชื่อผิด ๆ โรงเรียนของเขามีชื่อว่า มัดราซะห์ อัล-มาอารีฟ อัล-วาตานียะห์ เป็นโรงเรียนศาสนาที่มีรูปแบบใหม่ มีการวัดความรู้และใช้ระบบมีชั้นเรียน มีการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนทุกเช้า จุดหมายของโรงเรียนแบบใหม่จึงมีมากกว่าการสอนศาสนา หากแต่น่าจะมีวิสัยทัศน์สมัยใหม่ด้วย นั่นคือการมองถึงสังคมและกว้างกว่านั้นถึงประเทศชาติ ดังที่โรงเรียนมีคำว่า "อัล-วาตานียะห์" ซึ่งมีความหมายว่า "แห่งชาติ" ที่ป้ายชื่อโรงเรียนด้วย เขาเดินทางเทศนาไปยังที่ต่าง ๆ ในมณฑลปัตตานี การเผยแพร่ความคิดใหม่    ของเขา ลบล้างความเชื่อเดิมที่ผิด ๆ และที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม การกระทำดังกล่าวถูก    ตอบโต้ จากโต๊ะครูหัวเก่าตามปอเนาะต่าง ๆ จนมีผู้รายงานการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงต่อข้าหลวงมณฑลว่า เขาจะเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบและจะทำให้ราษฎรก่อตัวเป็นภัยต่อแผ่นดิน" เขาถูกเรียกตัวไปสอบสวนแต่ปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐาน

การเผยแพร่ศาสนาอิสลามของฮัจญีสุหลงประสพความสำเร็จอย่างมาก ชาวบ้าน สนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการสอนในปอเนาะที่ทำกันอยู่ โรงเรียนสร้างด้วยเงินบริจาคและร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการสร้าง แต่ความไม่วางใจและหวาดระแวงของกลุ่มปกครองต่อพฤติกรรมและบุคลิกผู้นำของ ฮัจญีสุหลง ทำให้เกิดข้อพิพาทขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น คือพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง และพระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีบุตรชาย ในเรื่องการสร้างโรงเรียน ข้อพิพาทนี้ทำให้ฮัจญีสุหลง เกิดกินแหนงแคลงใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตนาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) เพราะไม่เป็นกลาง ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี เป็นผู้ว่าฯคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์. เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติสยาม ได้ปลดพระยารัตนภักดีออก เนื่องจากเป็นฝ่ายคณะเจ้า คนนี้มีความสำคัญเพราะจะกลับมามีบทบาทอันมีผลด้านลบอย่างแรงต่อการจับกุมฮัจญีสุหลงในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์  โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ฮัจญีสุหลงดำเนินการก่อสร้างกับราษฎรมาเสร็จสมบูรณ์ และ เปิดใช้อย่างเป็นทางการก็ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เรียบร้อยแล้ว โดยที่พระยาพหลฯ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้บริจาคเงินช่วยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ทั้งยังเดินทางไปร่วมในวันทำพิธีเปิดโรงเรียนอีกด้วย

โรงเรียนที่ฮัจญีสุหลงสร้างขึ้น กลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของคนมุสลิม ทำหน้าที่เหมือนมัสยิดแห่งหนึ่งไปด้วย จะมีคนมาทำละหมาด(นมาซ) ประจำวัน คนที่จำได้เล่าว่า "ทุกตอนเย็นจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่เดินผ่านหน้าบ้านผมทุกวัน เสียงเกี๊ยะที่เดินผ่านหน้าบ้าน ผมดังกริ๊กๆๆ ลั่นไปหมด พวกนั้นเขาเดินไปทำละหมาดกันที่โรงเรียนของฮัจญีสุหลง….."  ภาพประทับใจและจินตนาการอันเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมของฮัจญีสุหลงในสายตา และความรับรู้ของรัฐไทย น่าจะไม่ตรงกับความคิดและความตั้งใจของคนมุสลิมในท้องถิ่นเหล่านั้นเท่าไรนัก นอกจากไม่เข้าใจในความหมายทางศาสนาอิสลามและการปฏิบัติของคนมุสลิมเองแล้ว ปัจจัยที่ยิ่งไปเพิ่มช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชนของมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทย ได้แก่การก่อตัวและพัฒนาไปจนถึงจุดสุดยอดของความคิดว่าด้วยรัฐไทย ที่กำลังจะเดินไปบนหนทางของมหาอำนาจ ลัทธิชาตินิยมไทยภายใต้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งจะเป็นกงจักรปีศาจที่ร่อนไปตัดคอผู้ที่ขวางหน้าอย่างไม่ปราณี

ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่ การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม ในแง่นี้มองได้ว่า การเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะ เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม (print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้ (imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights) อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง  ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ(space) อันใหม่ที่เอื้อต่อ การเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป

ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วยว่า เราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในนท้องถิ่นต่าง ๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วยว่า ในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่น ๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัฒน์มากขึ้น ๆ

 

๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑

น่าสังเกตว่าในช่วงเวลา ๑๕ ปีจากปี พ.ศ. ๒๔๖๖ -๒๔๘๑ อันเป็นช่วงของสายัณห์สมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการก่อรูปขึ้นระบอบทหารภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองใหม่นั้น นโยบายและการปฏิบัติที่ปราบปรามและกดขี่กระทบกระทั่งคนมลายูมุสลิมในทางวัฒนธรรมและการเมือง แทบไม่มีหรือมีก็น้อยมาก  การปะทะลุกฮืออย่างรุนแรงครั้งสุดท้ายระหว่างคนมลายูมุสลิมในอาณาจักรปตานีกับกองกำลังรัฐสยามเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๖๕ การกบฏปะทุขึ้นในหมู่บ้านน้ำทราย ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อชาวบ้านปฏิเสธที่จะเสียภาษีและค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ มูลเหตุของความไม่สงบนี้มาจากการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติการศึกษาภาคประถมบังคับในปี ๒๔๖๔ ตามกฎหมายนี้เด็กมลายูมุสลิมทุกคนที่ถึงเกณฑ์ต้องเข้าโรงเรียนประถมซึ่งก็คือโรงเรียนไทยนั่นเอง

ผลจากการ "กบฏ" ครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ ๖ (ครองราชย์ ๒๔๕๓-๖๘) จำต้องแก้ไขนโยบายเรื่องการศึกษา และการเก็บภาษีของคนมุสลิมในภาคใต้เสียใหม่ อันเป็นที่มาของการปรับนโยบายและท่าทีต่อมลายูมุสลิมในบริเวณภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรก นักวิชาการมุสลิมกล่าวว่า "แสดงว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ คงได้ตระหนักและรู้สึกถึงถึงการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมมลายู ในหมู่คนมลายูในรัฐตอนเหนือของมลายา และรวมถึงความตั้งใจของพวกเขาในการยื่นมือข้ามพรมแดนเข้าช่วยญาติพี่น้องของเขา"  การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อภาพลักษณ์และอุดมการณ์ของชาติไทยใหม่ กล่าวได้ว่าเริ่มก่อรูปขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่า มาสู่รัฐชาติใหม่ที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ลงตัวดีนัก กลุ่มผู้นำการเมืองใหม่มาจากคณะราษฎร ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่(ไม่มีสตรีเลย) คนเหล่านั้นส่วนมากมาจากครอบครัวคนชั้นกลางในภาคกลาง และเข้าเรียนต่อในกรุงเทพฯ ในบรรดาสมาชิกคณะราษฎรรุ่นแรกนั้นมีสมาชิกเป็นมุสลิมด้วย ๔ คนที่มาจากแถวกรุงเทพฯ ภารกิจหลักของคณะราษฎรและรัฐบาลคือการสร้างระเบียบและความมั่นคงให้แก่ประเทศ และนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตามนโยบายหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรในการยึดอำนาจการปกครอง

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ความหวังในการเลือกตั้งของคนมลายูมุสลิมจางหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสี่จังหวัดภาคใต้ ยกเว้นสตูล ล้วนตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธหมด การเลือกตั้งในครั้งต่อไปในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นความสำเร็จครั้งเดียวของผู้สมัครมุสลิมในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในขณะที่ผู้สมัครมุสลิมในสตูลและเป็นอดีต สส.กลับแพ้การเลือกตั้ง แต่การสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวสั้น ๆ เท่านั้นสำหรับคนมลายูมุสลิม หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นสู่อำนาจในปี ๒๔๘๑ รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายชาตินิยม อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการการสร้างชาติของเขา การเลือกตั้งนับจากนั้นมาจากปี ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ชัยชนะตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสตูลที่ยังสามารถรักษาเก้าอี้ของผู้แทนที่เป็นมุสลิมไว้ได้ตลอดสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบอบปกครองรัฐธรรมนูญก็ได้สร้างความหวังในระดับหนึ่งมาสู่คนมลายูมุสลิมภาคใต้ เป็นครั้งแรกที่เกิดมี "ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชาติในหมู่คนมลายูมุสลิม" นอกจากนี้ ตนกูมะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของรายาปตานีเก่า ก็เดินทางกลับจากกลันตันมาพำนักในเมืองไทย แม้การเลือกตั้งไม่อาจให้ความพอใจอย่างเต็มที่แก่คนมลายูมุสลิมก็ตาม ทว่าอย่างน้อยก็ให้พื้นที่สาธารณะแก่พวกเขาในการพูดและแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกได้ ในทางกลับกันก็เกิดการต่อต้านแบบใช้กำลังจากคนมลายูมุสลิมน้อยลง

ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือได้ว่า เป็นช่วงเดียวที่บริเวณมุสลิมภาคใต้มีสันติสุขและความเป็นระเบียบค่อนข้างมาก แม้ว่าการปฏิบัติและกระทำอย่างไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจในแถบนั้นยังคงมีอยู่บ้างก็ตาม รัฐบาลสามารถพึ่งพาการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชการในท้องถิ่นได้มากขึ้น ในการนำนโยบายและการบริหารไปยังชุมชนและท้องถิ่นเหล่านั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถลดความไม่พอใจและปัญหาของชาวบ้านลงได้ ด้วยการนำเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ไปเสนอให้กับรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทันที อย่างไรก็ตาม อำนาจในการแก้ไขและขจัดปัดเป่าปัญหาความทุกข์เหล่านั้นก็ยังอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงและในจังหวัด

จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว เมื่อภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนและความปลอดภัยในชีวิตของราษฎรไม่ค่อยมี ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นที่ความไม่พอใจและการร้องเรียนถึงการกระทำอันไม่เป็นธรรม การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ นำไปสู่การขาดความมั่นใจและไว้ใจในรัฐบาลจากคนมลายูมุสลิม ตอนนั้นคนเหล่านั้นเชื่อว่า แม้ ส.ส.ผู้แทนของพวกเขา ก็ไม่อาจทำงานในฐานะของตัวแทนพวกเขาได้จริงๆ แล้ว  พัฒนาการที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นภายหลังการมีระบอบรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดมีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลมากขึ้น บรรดาเสียงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านการพูดในที่ชุมชนและผ่านการพิมพ์ แต่ที่มีผลกระทบต่อรัฐมากได้แก่ การพูดในที่สาธารณะที่ใครก็ได้สามารถออกมาพูดได้ในที่ต่างๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และไม่เป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่รัฐบาล หลายคนเป็นข้าราชการเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ถูกโค่นล้มไป โดยเฉพาะบรรดาผู้พิพากษา

สำหรับชาวมุสลิมการพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติของการชุมนุมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่นเดียวกับการเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ไม่เป็นที่สงสัยว่าความสามารถในการพูดเยี่ยงนักปาฐกถาของฮัจญีสุหลง ซึ่งเริ่มสร้างความวิตกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

ในช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีรายงานและข่าวลือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของฮัจญีสุหลง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปกครองต่างๆ ไม่แน่ใจในสถานะและบทบาทของฮัจญีสุหลงว่าทำอะไร และไม่แน่ใจด้วยว่า นัยทางการเมืองของบรรดาสานุศิษย์ของเขานั้นคืออะไร. มาตรการเพื่อความมั่นคงอันหนึ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรใช้ในการสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาล และระงับยับยั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม (หรือฝ่ายค้านซึ่งสมัยนั้นไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการให้มีได้) จึงได้แก่การใช้บรรดาตำรวจลับและสายสืบ สายลับต่างๆ คอยติดตามนักการเมืองบางคน เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในสายตาของรัฐจะได้ยุติการกระทำที่ไม่เป็นผลดีแก่รัฐเสีย ในกรณีของฮัจญีสุหลง มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำการติดตามรายงานลับๆ ในกิจกรรมและขบวนการต่างๆ ของเขา

ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้นว่าการแข่งขันและความขัดแย้งกันเอง ระหว่างคนมุสลิมด้วยกัน ก็มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำมุสลิมหัวเก่ากับหัวใหม่ คู่ขัดแย้งแรก ๆ ของฮัจญีสุหลงคนหนึ่ง คือตระกูลอับดุลลาบุตร ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. พระพิพิธภักดี (ตนกูมุดกา อับดุลลาบุตร)   ผู้เป็นนายอำเภอมาก่อน ได้รับการแต่งตั้งในระบอบปกครองใหม่ให้เป็นข้าหลวงของจังหวัดสตูล เมื่อเขาเข้าสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๔๘๐ ในปัตตานี ฮัจญีสุหลงสนับสนุนผู้สมัครอีกคน คือ ขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นไทยพุทธและมีทรรศนะทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่า นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายเจริญ สืบแสงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตลอดมาจากปี พ.ศ.๒๔๘๑ ถึง พ.ศ.๒๔๙๑

อีกปัญหาหนึ่งของฮัจญีสุหลงที่ทำให้ทางการไทยไม่ไว้ใจเขา คือการที่เขามีการติดต่อกับตนกูมะไฮยิดดิน ผู้ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้สุดของไทย ภายใต้บรรยากาศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนักสู้เพื่อชาตินิยมลายูก็เคลื่อนไหวหนักในบรรดารัฐทางเหนือของมลายา จึงเป็นธรรมดาที่การเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ของฮัจญีสุหลง มีการครอบคลุมสองฝั่งชายแดนไทยและมลายาด้วย 

หากได้อ่านรายงานลับของสายสืบไทยก็จะได้เรื่องตลก ๆ สนุก ๆ  มากมาย เพราะข้อมูลของพวกเขามาจากบรรดาสายที่เป็นคนมลายู เนื่องจากคำว่า "มลายู" ใช้ระบุถึงคนมลายูที่อยู่ในมลายาและในสี่จังหวัดภาคใต้ เมื่อได้ยินคนตระโกนด้วยภาษามลายูว่า "เมอเดกา" (เสรีภาพ) ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ซึ่งรับฟังข่าวก็เกิดความตระหนก ดังนั้นในรายงานของเจ้าหน้าที่ราชการที่มีไปถึงกรุงเทพฯ จึงสรุปสถานการณ์ขณะนั้นว่า มีความรู้สึกของการ "แบ่งแยกดินแดน" เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนมลายูมุสลิมและอาจนำไปสู่การคิดกบฏได้ หากดูจากน้ำเสียงของรายงานลับที่มีไปถึงกรุงเทพฯ สมัยนั้น เห็นได้ชัดว่า ทรรศนะของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีต่อฮัจญีสุหลงและคนมุสลิมทั่วไป ถูกปกคลุมด้วยอคติที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม หรือไม่ก็มาจากความเขลาต่อพัฒนาการทางการเมืองในมลายาขณะนั้น

การสืบความลับในการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมภาคใต้โดยทางการไทย เป็นรายงานจากข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ถึงข้าหลวงประจำจังหวัดชายแดนเช่นสตูล ยะลา เพื่อให้ระมัดระวังความเคลื่อนไหวแยกดินแดนของชาวมลายูมุสลิมจังหวัดสตูลและยะลา รายงานนี้ระบุว่า หัวหน้าใหญ่ชาวมลายูมุสลิมในการนี้คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มีการปลุกระดมชาวมุสลิมสองฝั่งไทยและมลายา ซึ่งขณะนั้นมุ่งไปที่การจัดตั้งสหพันธรัฐมลายา สายลับไทยที่นายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งให้ไปสอดแนมฟังคำปราศรัยและติดตามท่าทีของชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทย รายงายว่า ในงานที่มีคนมาฟังนับหมื่นคนในรัฐไทรบุรี มีการปลุกใจชาวมลายูในไทรบุรี ด้วยข้อความพาดพิงโจมตีรัฐบาลไทยด้วยว่า  "...ชาติมลายูแต่เดิมเป็นชาติที่ขาดการศึกษาและผู้อุปการะช่วยเหลือ จึงถูกรัฐบาลไทยยึดเอาเมืองมะลายู เช่น จังหวัดสตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานีไปจากประเทศสยามเสีย การกระทำของประเทศสยามที่ยึดสี่จังหวัดไปนี้ กระทำไปโดยไร้ศีลธรรม โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยใช้วิธีล่อลวงพวกพระยาเมืองต่าง ๆ ไปหลอกฆ่าให้ตาย ประชาชนที่ไม่พอใจจึงอพยพไปอยู่กลันตัน … เวลานี้เราควรจะระลึกว่าชาติของเราจะสูญสิ้นไปในปี 1950 (พ.ศ. 2493) ตามคำสั่งของพระอาหล่าเจ้า เพราะเวลานี้ชาวมะลายูเปลี่ยนแปลงไปเป็นชาติต่างศาสนาเสียแล้ว บัดนี้เราควรจะคิดกู้ชาติของเรา รวมเป็นชาติมะลายูขึ้น แล้วทำการต่อสู้ในทางศาสนาต่อไป เช่นครั้งโบราณพวกอิสลามได้ทำการต่อสู้กับพวกถือพุทธศาสนา ระยะนี้เราจำเป็นจะต้องทำการต่อสู้ให้จนตัวตายไปเช่นเดียวกับพระมะหะหมัด …

เนื่องจากการประชุมนี้อยู่นอกแดนไทย จึงมีชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทยไปร่วมเพียง 12 คนรวมทั้งคนที่เป็นสายลับ (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครแต่เดาว่าต้องเป็นคนมุสลิมด้วย) พอถึงการประชุมลับ สายลับไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมได้ นอกจากบรรดาหะยีทั้งหลาย จึงไม่อาจรายงานได้ว่าพูดเรื่องอะไรกันบ้าง แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้ฟังโอวาทมีจิตใจเบิกบานฮึกเหิมทั่วหน้ากัน" และทุกครั้งที่หัวหน้าการประชุมคือดะโต๊ะออน บิน จาฟฟา จบคำปราศรัยผู้ร่วมประชุมจะตะโกนคำขวัญว่า "มะลายูเป็นมะลายู" สามจบ

ผมคัดลอกรายงานของสายลับไทยมาให้ดูละเอียดเพราะต้องการให้เห็นว่า ที่มาของทรรศนะรัฐและข้าราชการไทยนั้น วางอยู่บนวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ในอดีตปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้กับรัฐไทย ถูกกระพือให้ลุกโชนยิ่งขึ้นด้วยอคติและความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจในวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอิสลาม อีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานของทางตำรวจไทยต่อรัฐบาล หลังจากที่เริ่มมีสำนึกของชาตินิยมมลายูเกิดขึ้น กล่าวคือ "...คนมะลายูที่ได้รับการศึกษาและเป็นเทือกเถาพระยาเมืองมาแต่ก่อน อันมีจำนวนไม่กี่คน หลังจากเสร็จสงครามคราวนี้ การพินอบพิเทาต่อคนไทย…ออกจะชาเย็นไปพร้อมกับมีท่าทีค่อนข้างมีหัวสูงขึ้น แต่พลเมืองนอก ๆ อันไร้ศึกษานั้น ก็ดูไม่ผิดไปจากนัยตา...ที่ร้ายกว่านี้คือ จำพวกหะยี ผู้สอนศาสนา พยายามที่ชักจูงใจไปในทางศาสนาซึ่งเป็นหนทางแยกพวก เข้ากับคนไทยไม่ได้ ศาสนานี้แหละเป็นการเมืองขั้นแรกของคนมะลายู…"

รายงานชิ้นหนึ่งสมัยนั้น (๒๔๘๘- ๙๐) พยายามสร้างภาพประทับให้กับการมีคนนับถือฮัจญีสุหลงอย่างมากในหมู่คนมุสลิมปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงที่มีต่อฮัจญีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ด้วยการรายงานอย่างมีสีสันดังนี้  "ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้กับหะยีสุหลง ก่อนที่จะเข้าไปในสุเหร่าหรือมัสยิดต่าง "
ๆ และมีสานุศิษย์คอยเดินกางกลดกันแดดให้ในขณะที่เดินทางไปชุมชนชาวมลายูในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา" รายงานดังกล่าวสร้างความรู้สึกแก่คนภาคกลางว่า ฮัจญีสุหลงกำลังทำตนประหนึ่งราชา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักราชาชาตินิยมไทยไม่อาจรับได้ ในระยะยาวการวาดภาพด้านลบแบบนั้น กลับเป็นสิ่งดีแก่รัฐไทย เมื่อรัฐต้องการเสนอภาพของฮัจญีสุหลง ที่เป็นศัตรูของรัฐและสถาบันทั้งหลาย

 

๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗

ยิ่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ชะตากรรมของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็แน่ชัดมากขึ้นว่า จะต้องผูกพันเข้ากับความเป็นไปของรัฐบาลไทยมากเท่านั้น เป้าหมายของการสร้างรัฐประชาชาติที่เป็นเอกภาพใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด ก็ในเวลาที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พร้อมทั้งการคุมกองทัพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภายหลังการจับกุมกลุ่มนายทหารอันมี พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้าในคดี "กบฏ ๒๔๘๒"

ในช่วงนั้นกล่าวได้ว่า สำนึกทางการเมืองของคนในภาคต่าง ๆ จากเหนือ อีสาน ถึงใต้ มีมากขึ้น. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่คนในประเทศ มองเห็นผู้นำการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในจังหวัดของตนเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ดังเห็นได้จากบทบาทและการควบคุมรัฐบาลของบรรดา ส.ส.จากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน การก่อตัวขึ้นของลัทธิทหารในญี่ปุ่นและภยันตรายของสงครามยุโรป ทำให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้น ในความคิดของหลวงพิบูลสงครามและที่ปรึกษาของท่าน ประเทศไทยสามารถจะเป็นประเทศเข้มแข็งและทันสมัย ซึ่งก็คือศรีวิไลซ์ ได้ด้วยการเดินตามรอยของญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็น "แสงสว่างของเอเชีย"

หลังจากกำหนดจุดหมายของนโยบายในการสร้างชาติไว้แน่นอนแล้ว รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ก็เริ่มการรณรงค์ประชาชนภายใต้คำขวัญของลัทธิชาตินิยมไทย นั่นคือที่มาของนโยบายการผสมกลมกลืนแบบบังคับ ซึ่งไม่มีหรือมีก็น้อยมาก ในการอดทน และยอมรับวัฒนธรรม          ที่แตกต่างอันเป็นเฉพาะของชนชาติกลุ่มน้อยและชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อีกต่อไป. นโยบายการสร้างชาติของหลวงพิบูลสงครามพุ่งเป้าไปยังการปฏิรูปและสร้างสรรค์มิติทางวัฒนธรรมและสังคมด้านต่างๆ ของคนในประเทศเสียใหม่ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นลงไปก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพยายามทำการเปลี่ยนแปลง และแทนที่ความคิดการปฏิบัติเก่า ๆ แบบศักดินาในหมู่ประชากรอย่างจริงจังมากที่สุด ด้วยการประกาศให้ประชาชนปฏิบัติและทำตนใหม่แบบสมัยนิยมและที่เป็นอารยะ ในคำปราศรัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลาย พลตรีหลวงพิบูลสงครามกล่าวว่า "ในความพยายามที่จะสร้างชาติให้มีพื้นฐานอันมั่นคงและคงทนนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องทำการปฏิรูปและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกถึงความเจริญเติบโตและความงดงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจริยธรรมของชาติ"

การเน้นถึงความสำคัญและการปรับปรุงทางวัฒนธรรมให้เข้มแข็งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการส่วนตัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามเอง อีกส่วนหนึ่งน่ามาจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและความสำเร็จของประเทศนั้น ในการเปลี่ยนตนเองให้เป็นมหาอำนาจหนึ่งของเอเชียได้ คนที่เชื่อในการอาศัยวัฒนธรรมและมิติด้านจิตใจเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ และในการต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายก็คือหลวงวิจิตรวาทการ (16) ผู้เป็นมันสมองคนสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาโดยตลอด

การรณรงค์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้กับรัฐบาลสามารถนำสังคมไทยให้หลุดออกมาจากเครื่องรัดรึงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้บ้าง เมื่อภยันตรายจากสงครามโลกระหว่างมหาอำนาจเป็นจริงมากขึ้น ผู้นำรัฐบาลไทยถูกบังคับให้จำต้องเลือกข้าง ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายอารยะและมีกำลังเข้มแข็งหรือตกเป็นทาสและอ่อนแอ เพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งและเป็นอารยะประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศอารยะด้วยกันจะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลจึงหาทางที่จะกำจัดบรรดา "ผู้คนที่ยังขัดสนในทางวัฒนธรรมและแสดงออกถึงความโง่เขลาในเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ การแต่งกาย และการคิดอย่างมีเหตุผล"   ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในจุดหมายและสถานภาพของประเทศดังกล่าวนี้ รัฐบาลพิบูลสงครามจึงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย วัฒนธรรมแห่งชาติ. มาตรการที่อ่อนไหวและมีผลกระเทือนต่อผู้คนกว้างไกลกว่าที่คิดไว้(หากได้คิดก่อน) ก็คือบรรดากฎหมายประกาศที่รู้จักกันดีในนามของพระราชบัญญัติ "รัฐนิยม" ทั้งหมดมี ๑๒ ประกาศ ให้ใช้ทั่วประเทศตั้งแต่มิถุนายน ๒๔๘๒-มกราคม ๒๔๘๕ รวม๑๒ ฉบับ ตั้งแต่การเรียกชื่อประเทศอันแรกว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นไทย สัญชาติ การเคารพธงชาติ เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไปถึงภาษา การแต่งกาย ไปถึงการทำกิจประจำวันเป็นต้น ภายใต้นโยบายเหล่านี้ที่ความคิดว่าด้วยความเป็นไทยและลัทธิชาตินิยมบนเชื้อชาติไทยเป็นหลัก ได้ขยายออกมาเป็นนโยบายทางการที่เด่นชัดและเร้าใจอย่างยิ่ง  ความจริงทรรศนะในการมองว่า ชาติไทยที่เป็นรัฐชาติที่ปลอดจากพฤติกรรมล้าหลังแบบศักดินานิยมนั้น เป็นทรรศนะที่เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง คนเชื้อชาติและภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ไทยทั้งหลายต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐนิยมด้วยกันทั้งนั้น แต่คนมลายูมุสลิมในทางใต้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด คำที่เคยเรียกเช่น "คนใต้" หรือ "คนอิสลามที่เป็นไทย" ไม่อาจแสดงถึงความเป็นไทยได้เต็มที่อีกต่อไป รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์เริ่มการรณรงค์สร้างความเป็นไทยของทุกๆ ภาค โดยให้เน้นที่ความเป็นไทยเหนือกว่าลักษณะเฉพาะของภูมิภาค เช่นการเรียกคนภาคเหนือว่า "ถิ่นไทยงาม", คนอีสานว่า "ถิ่นไทยดี", น่าสังเกตว่าไม่มีวลีที่ใช้แทนคนและภาคใต้ในสมัยนั้นได้

ในกรณีของคนมุสลิมภาคใต้ คำที่มาแทนที่คือ "ไทยอิสลาม" ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นไทยของคนมลายูมุสลิม นัยของการเรียกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าทางการยอมรับความแตกต่างในศาสนา แต่ไม่เห็นด้วยว่าควรจะมีการให้ความสำคัญและลักษณะเด่นของความแตกต่างเหล่านั้นในหมู่พลเมืองที่เป็นคนไทยของประเทศไทย  ผลก็คือการที่รัฐต้องเข้ามาบังคับและควบคุมการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของพลเมืองตามวิสัยทัศน์ของรัฐ เช่นเดียวกับนโยบายชาตินิยมที่อื่น ๆ รัฐมักขุดและรื้อฟื้นความเก่าแก่ยิ่งใหญ่ของอดีตแต่กำเนิดของตนเอง (ซึ่งมักเป็นนิทานที่ไม่มีความเป็นจริงมากนัก) เพื่อเอามากล่อมเกลาและปลุกระดมคนในชาติให้เชื่อและตายในอุดมการณ์ใหญ่เดียวกัน. ในกรณีนโยบายรัฐนิยม, รัฐบาลพิบูลได้สร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ(เชื้อ) ชาตินิยมไทย แล้วบังคับให้ทุกคนในเมืองไทยปฏิบัติและแสดงออกให้พร้อมเพรียงกัน จะได้เป็น "วีรธรรม" ของชาติ ภายใต้ประกาศกฎหมายวัฒนธรรมเหล่านี้ มีการลงโทษและมีการเรียกร้องให้ประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่อย่างเคร่งครัด ในเรื่องการแต่งกาย มารยาท และความประพฤติอันเหมาะสมในวาระและสถานที่ต่างๆ เป็นต้น เช่น การเรียกร้องให้ผู้หญิงสวมหมวกและนุ่งกระโปรงแบบตะวันตก ห้ามกินหมากและพลู ให้รู้จักใช้ช้อนและส้อมในฐานะที่เป็นเครื่องมือการกินของชาติอย่างถูกต้อง  ในขณะนั้น กล่าวได้ว่าด้านหลักของปัญหาความขัดแย้งนี้ ได้แก่นโยบายและการปฏิบัติด้านลบของรัฐไทยที่ได้กระทำต่อชุมชนและคนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเองในทางการปกครองด้วย. สมัยนั้นศัพท์การเมืองว่า "แบ่งแยกดินแดน" ยังไม่เกิด ในช่วงปี ๒๔๘๒-๒๔๙๐ ความไม่พอใจของชาวมุสลิมมาจากนโยบายสร้างชาติภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามมีอยู่อย่างมาก หัวใจของปัญหาอยู่ที่ลัทธิชาตินิยมไทย ที่รัฐบาลปลุกระดมให้คนทั้งชาติต้องทำตัวให้เป็นไทย จึงจะถือว่ารักชาติ ภาพที่ปรากฏออกมาก็คือคนมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมหมวกแบบอิสลาม ส่วนผู้หญิงก็ไม่ให้ใช้ผ้าคลุมหัว อันเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิม ภาษามลายูก็ห้ามใช้ โสร่งก็ห้ามนุ่งสำหรับผู้ชาย แต่ให้นุ่งกางเกง สวมเสื้อเชิ้ร์ต ที่ตลกคือเครื่องแต่งกายที่เป็นไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นชุดฝรั่งในทศวรรษ ๑๙๔๐-๕๐ ทั้งสิ้น. จากการแต่งกายก็มาถึงการให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่เป็นไทยเสีย ที่เป็นผลทางลบต่อรัฐบาลอย่างมากคือ มีการจับและปรับลงโทษผู้ฝ่าฝืนรัฐนิยม จึงมีการวิ่งไล่จับชาวบ้าน ทำร้ายทุบตีดึงตัวมาโรงพัก ผู้หญิงมลายูก็ถูกดึงกระชากผ้าคลุมหัวทิ้ง กระทั่ง "ผู้กลับมาจากเมกกะใหม่ๆ ใช้ผ้าสารบันไม่ได้ (คือผ้าพันศีรษะ พันไว้นอกหมวกกูเปี๊ยะห์ แสดงให้ทราบว่าเป็นฮัจญี) ที่นราธิวาส ตำรวจถอดออกจากหัวทำเป็นลูกตะกร้อเตะเสียเลย" แม่ค้าที่ขายของในตลาดก็โดนตำรวจตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายาและมีผ้าคลุมศีรษะ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อคนมลายูมุสลิมอย่างมากได้แก่ การประกาศยกเลิกในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ไม่ให้มีกฎหมายและศาลอิสลาม เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ๖ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก แทนที่การใช้กฎหมายอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้มาก่อน ต่อมายังยกเลิกตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม ที่ตัดสินคดีมรดกและครอบครัวของคนมุสลิมไปด้วย นัยของการบังคับดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจว่า ศาสนาก็ต้องเป็นศาสนาพุทธอย่างเดียวเท่านั้น ทางการห้ามชาวมลายูเรียนคัมภีร์อัล-กุรอาน ภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งการห้ามดังกล่าวขัดต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาของชาวบ้าน ความไม่พอใจและความตึงเครียดเพิ่มทวีคูณขึ้น 

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ โดยให้เหตุผลว่า "โดยที่เห็นเป็นการสมควรขยายการใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ทั่วถึง เพื่อความมั่นคงและวัฒนธรรมแห่งชาติ" (19) ที่สำคัญคือในมาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๗๗ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ในมาตรา ๔ ระบุว่าให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐ ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว" (20) นั่นคือการยอมรับประเพณีปกครองบริเวณ ๔ จังหวัดมุสลิมภาคใต้ซึ่งมีลักษณะพิเศษของตนเองมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนถึงอุดมการณ์ของรัฐไทยที่เปลี่ยนไปด้วยอย่างน่าสนใจยิ่ง การประกาศบทบัญญัติใหม่นี้มีผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาอิสลาม ที่เรียกว่า "ดะโต๊ะยุติธรรม" ซึ่งทำหน้าที่ในการพิพากษาคดีครอบครัวและมรดกของคนมุสลิม ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังทำให้รู้สึกว่า ไม่ต้องการประกาศใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยการแต่งงานและทรัพย์สินมรดก ที่ได้มีการแก้ไข และจัดทำขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลามและฝ่ายกฎหมายไทย โครงการจัดทำกฎหมายอิสลามนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อทำให้กฎหมายอิสลามและกฎหมายไทยมีความเป็นเอกภาพและเข้าใจอันดีต่อกัน แต่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายอิสลามดังกล่าวนั้นมีความยากลำบากพอสมควร และไม่ค่อยคืบหน้าไปเท่าที่ควร ยิ่งมาประสบภาวการณ์ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศใช้กฎหมายแพ่งฯ ฝ่ายไทยให้ครอบคลุมไปหมดทุกคนทุกภาค จึงยิ่งทำให้ความพยายามดั้งเดิมในการสร้างกฎหมายที่ร่วมกันได้ทั้งสองศาสนา ห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น  น่าสนใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการยุติศาลศาสนาในปัญหาครอบครัวและทรัพย์สินมรดกนั้น ได้ผลักดันให้ชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดไม่มีทางออก นอกจากออกไปหาความยุติธรรมในอีกฝั่งของพรมแดนไทย นั่นคือพวกเขาไปให้ศาลศาสนาในรัฐไทรบุรี ปะลิศ กลันตัน และตรังกานู ช่วยตัดสินปัญหาพิพาทในเรื่องดังกล่าวแทน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๐ ไม่ปรากฏว่ามีสำนวนคดีศาสนาในศาลสี่จังหวัดภาคใต้เลย คิดในมุมกลับเมื่อมองย้อนกลับไป นั่นคือการผลักดันให้เกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้นโดยรัฐไทยเอง  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกข้อที่มีนัยอันสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของปัตตานี คือการนำไปสู่การเลือกตั้ง "กอฏี" หรือผู้พิพากษาคดีครอบครัวและมรดกโดยอิหม่าม หรือผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมในเขตจังหวัดปัตตานี เนื่องจากปัตตานีไม่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐมุสลิมในมลายา การเดินทางไปมากับรัฐมุสลิมในมลายูจึงไม่อาจทำได้เหมือนคนในจังหวัดมุสลิมอื่น ๆ คนที่ได้รับเลือกให้เป็น "กอฏี" อย่างเป็นเอกฉันท์คือ ฮัจญีสุหลง เนื่องจากเป็นที่ยกย่องและนับถือมาอย่างล้นหลาม และปัญหาการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมก็จะเป็นปมเงื่อนใหญ่อันหนึ่ง ที่ทำให้ฮัจญีสุหลงกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไป เขานำการต่อสู้เพื่อรักษาความเป็นอิสระของกฎหมายอิสลามในจังหวัดมุสลิมภาคใต้ ฮัจญีสุหลงได้รับการเลือกตั้งในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ภายใต้ประกาศและบรรยากาศรัฐนิยม คนมลายูมุสลิมถูกห้ามไม่ให้หยุดการทำงานและการเรียนในวันศุกร์ดังแต่ก่อนอีกต่อไป แต่ที่กระเทือนในด้านลึกคือ มีความพยายามของคนไทยพุทธที่จะทำการชักจูงให้คนมุสลิมเปลี่ยนศาสนาด้วย (21) นัยของปฏิกิริยาและการตอบโต้ของผู้คนในบริเวณดังกล่าวแปลได้หลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ได้ประท้วงบอยคอตปฏิเสธอำนาจศาลไทยอย่างเรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง โดยไม่ต้องเดินขบวนเรียกร้อง ร้องเรียนไปยังอำนาจรัฐไทยที่ไหนเลย นัยอีกข้อก็คือแสดงว่าอำนาจศาลไทยไม่อาจบังคับจิตใจของคนมุสลิมได้ ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเมื่อพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความคิดจิตใจที่มีสำนึกของพลเมืองของตนด้วย ไม่เช่นนั้นอำนาจอธิปไตยก็ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ไปได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นนั้นการกล่าวโทษว่าประชาชนไม่เคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่4)

ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่4)

โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม, ๒๔๘๘-๒๔๙๐

ในช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๘) ขบวนการมุสลิมในภาคใต้ก็ทวีความรุนแรงในเนื้อหาความคิดที่แจ่มชัดขึ้น ในขณะที่ฝ่ายทางการก็ไม่เบามือในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้หน่อเชื้อและเมล็ดของการต่อต้านและการต้องการความเป็นอิสระของพวกเขากันเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามมหาอาเซียบูรพา และได้ประกาศทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีสหรัฐฯและอังกฤษเป็นผู้นำ ในระยะต้นญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการเรียกร้องเอาดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจสยามกลับคืนมา อันได้แก่ กลันตัน, ตรังกานู, เคดะห์และปะลิส ซึ่งยกให้อังกฤษไปในสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากอังกฤษ การเรียกร้องสี่รัฐคืนมาอยู่กับไทยอีก นอกจากเป็นประโยชน์ต่อรัฐไทยแล้ว อีกด้านยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานีอีกด้วย บัดนี้คนปัตตานีสามารถรื้อฟื้นสัมพันธภาพและแลกเปลี่ยนปัญหาร่วมกันกับพี่น้องมุสลิมในฝั่งมลายาได้มากขึ้น  ตนกูมะมุด มะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของอดีตรายาแห่งปัตตานี ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในรัฐไทยสมัยนั้น ก็เดินทางไปพำนักอยู่ในกลันตัน และในระหว่างการยึดครองมลายาโดยญี่ปุ่น เขาร่วมในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ตนกูอับดุลยาลาลบิน ตนกูอัลดุลมุตตาลิบ บุตรชายของอดีตรายาแห่งเมืองสายบุรี ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประท้วงการปฏิบัติอันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสร้างปัญหาและความลำบากทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจทางศาสนาแก่คนท้องถิ่น

หลังจากมีการพิจารณาปัญหาคำร้องเรียนหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลให้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องในการใช้นโยบายการผสมกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังคำตอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า "การปฏิบัติงานของข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้นเป็นการสมควร และไม่ได้กระทำการอันที่จะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่" จากนั้นเขาตัดสินใจออกจากไทยไปพำนักในกลันตันและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับตนกูมะไฮยิดดิน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของคนมลายูมุสลิมต่อไป

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากพลังการเมืองฝ่ายเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป การเมืองระยะก่อนยุติสงครามมหาอาเซียและหลังจากนั้นสะท้อนความขัดแย้งและช่วงชิงการนำระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยที่ฝ่ายหลังสามารถก้าวขึ้นมานำได้ในระยะนี้ ฐานะอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของนายปรีดีคือตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ในช่วงนี้เองที่นโยบายฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์อันดีเสียใหม่กับคนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกประกาศออกมา แทนที่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สำคัญคือการประกาศพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พร้อมกับการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกวาระหนึ่ง หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมาหลายปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายแช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่คนแรก เขาเป็นข้าราชการสังกัดกรมโฆษณาการ(ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์) และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อการของคณะราษฎรด้วย

หลังจากนโยบายรัฐบาลปรับระดับของลัทธิชาตินิยมไทยลงไป และหันมาส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายศาสนาอิสลามดังแต่ก่อน มีการยอมให้คนมุสลิมหยุดวันศุกร์ดังเดิม ตลอดไปถึงการปฏิบัติทางศาสนาและภาษา ใน พรก.ศาสนูปถัมภ์อิสลามนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย บรรดากลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะสี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ฮัจญีสุหลงและผู้นำมุสลิมได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นในปัตตานี หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศนโยบายรัฐนิยม องค์กรที่ว่านี้คือองค์กรดำเนินการกฎหมายชารีอะห์ หรือ อัล ฮัยอะห์ อัล-ตันฟีซียะห์ ลี อัล-อะห์กาม อัล-ชาร์อียะห์ โดยมีจุดหมาย "เพื่อรวมพลังบรรดาผู้นำศาสนาที่ปัตตานี ในการพยายามสกัดกั้นการคุกคามของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคนมลายูให้เป็นคนสยาม พร้อมพิทักษ์ปกป้องความบริสุทธิ์ของศาสนาจากการแทรกแซงโดยความฝันไทยนิยม" องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๘๒   พรก.ศาสนูปถัมภ์  ฝ่ายอิสลามที่ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (มาตรา ๓) ระบุให้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง              ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" ทั้งยังให้กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" "เพื่ออิสลามศาสนิกจะได้ศึกษาและรับการอบรมในทางศาสนา ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้ มีสิทธิเข้ารับเลือกเพื่อรับพระราชทานเงินทุนส่ง ไปเข้าศาสนจารีต ณ นครเมกกะ  ตามจำนวนที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  กำหนดขึ้นเป็นคราว ๆ " (มาตรา ๔) หลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ข้อสำคัญคือการยกเลิกความในมาตรา ๓ และให้เปลี่ยนเป็นดังนี้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนในฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" หมายความว่าจุฬาราชมนตรีขึ้นกับกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนพระองค์อีกต่อไป

อีกปัญหาที่รัฐบาลควง อภัยวงศ์ แก้ให้กลับคืนสู่ภาวะสมานฉันท์ในสี่จังหวัดภาคใต้คือเรื่องดะโต๊ะยุติธรรม ด้วยการประกาศให้มีดะโต๊ะยุติธรรมดังเดิม แต่คราวนี้ให้อยู่ภายในโครงสร้างของกระทรวงยุติธรรมและศาลไทย. ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล เป็นผลให้กลับไปใช้กฎหมายอิสลามแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕-๖ ในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในบริเวณจังหวัดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมที่ถูกเลิกไปก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาใหม่ตามเดิม และประจำอยู่ที่ศาลในเขต ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่เพิ่มมาด้วยและสร้างปัญหาแก่ผู้นำมุสลิมต่อมาคือ ข้อกำหนดที่ให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นข้าราชการตุลาการด้วย แม้บรรดาอิหม่ามและผู้รู้ศาสนาอิสลามเป็นผู้คัดเลือกเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็นดะโต๊ะยุติธรรม แต่การตัดสินสุดท้ายอยู่ที่รัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้วย อีกข้อคือต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมพิเศษ คือต้องรู้ภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ด้วย ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม นำไปสู่การคัดค้านโดยผู้นำมุสลิมภาคใต้ ฮัจญีสุหลงไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า ข้าราชการไทยในนามของรัฐบาลไม่มีความถูกต้องในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมได้ เพราะถือว่าเป็นคนไม่ได้เชื่อในศาสนาอิสลามหรือ กาเฟร การกระทำดังกล่าวจะเป็นการละเมิดศรัทธาและการปฏิบัติศาสนาของชนอิสลาม            คำวิจารณ์อื่น ๆ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมพอที่จะทำหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาอิสลาม และศาลศาสนาควรจะดำเนินการโดยแยกออกจากศาลแพ่งไทยดังเช่นที่เคยทำมาในอดีต ต่อคำวิจารณ์และความเห็นเหล่านี้ รัฐบาลตอบว่าการแยกศาลนั้นทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากไป ในเมื่อคดีเกี่ยวเนื่องในศาสนาอิสลามนั้นมีไม่มากนักในแต่ละปี ประเด็นขัดแย้งในเรื่องดะโต๊ะยุติธรรมและศาลศาสนา เป็นความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทย และก็สร้างความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้นำมุสลิมในภาคใต้ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของฮัจญี สุหลงกลายเป็นผู้นำมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลมากเป็นพิเศษ ปัจจัยอีกอันที่มีส่วนในการผลักดันการเมืองของมุสลิมภาคใต้ระยะนี้คือ บทบาทของอังกฤษในสงครามมหาอาเซียบูรพาในมลายาและสี่จังหวัดภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทยเชื่อว่า  อังกฤษหนุนหลังผู้นำเก่าของปัตตานี คือ                 ตนกูมะไฮยิดดิน ให้ได้เป็นผู้นำปัตตานีเดิม (คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ถึงกับสัญญาจะให้    เอกราช เพราะไม่พอใจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับตะวันตก. ต่อมาก็มีผู้นำจากปัตตานีมาเพิ่มอีก คือนายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตนกูอับดุลยะลานาแซร์) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสกับพี่ชาย และท้ายสุดได้ฮัจญีสุหลงมาร่วมขบวนการด้วย

ในประวัติศาสตร์ปัตตานี อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียนถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของตนกูมะไฮยิดดิน มากกว่าที่อื่น ๆ โดยเริ่มราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นใน มลายา เขาเข้าร่วมในกองทัพอังกฤษที่มีฐานปฏิบัติการในอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมมือกับขบวนการใต้ดินชาตินิยมมลายู "ด้วยความหวังว่าเมื่อสงครามสงบลง อังกฤษจะช่วยเขาในการได้ปัตตานีกลับคืนมา" กล่าวกันว่าขณะนั้นเขาได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำจากประชาชนมลายูปัตตานี เขาได้ติดต่อกับบรรดาผู้นำมลายูในภาคใต้ของไทย เพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านญี่ปุ่น และพร้อมกันนั้นก็ต่อต้านสยามไปในตัว (อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการ "เสรีมลายู" คู่กับขบวนการ "เสรีไทย" ในภาคกลาง)  แผนการของมะไฮยิดดิน คือ เมื่อสัมพันธมิตรโจมตีญี่ปุ่นในมลายาและภาคใต้ไทย หน่วยเสรีมลายูด้วยการหนุนช่วยจาก Force 136 (หน่วยใต้ดินของสัมพันธมิตรในอุษาคเนย์) ก็จะนำไปสู่การต่อสู้ต่อต้านสยามด้วย เมื่อปัตตานีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสัมพันธมิตร ขั้นตอนต่อไปคือการปลดปล่อยปัตตานีจากสยามโดยผ่านองค์การสันนิบาตชาติ แต่แผนการทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏเป็นจริง กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างกะทันหัน ทำให้ขบวนการใต้ดินและกำลังสัมพันธมิตรไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำการต่อสู้อย่างมากมาย แต่เหนืออื่นใดคือเมื่อสงครามโลกยุติ อังกฤษไม่สนับสนุนความฝันตามแผนของมะไฮยิดดินเลยแม้แต่นิดเดียว การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยหลังสงครามเป็นผลประโยชน์ต่อโลกตะวันตกและภูมิภาคนี้โดยรวม มากกว่าการสนับสนุนให้เกิดการแตกแยกและบั่นทอนอำนาจนำของอังกฤษในบริเวณดังกล่าวลงไป

นอกจากบทบาทของอังกฤษในฐานะของปัจจัยภายนอกที่สำคัญแล้ว ท่าทีและการปฏิบัติของทางการไทยเองก็เป็นตัวเร่งที่สำคัญไม่น้อยด้วยเหมือนกัน นั่นคือการทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมุสลิมมุ่งไปสู่หนทางและทิศทางอะไร ความไม่ไว้ใจและสงสัยในทรรศนะทางการเมืองแบบมุสลิมทำให้รัฐไทย ต้องใช้วิธีการสอดส่องและสายลับเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวการเมืองใหม่ดังกล่าว การเคลื่อนไหวของอังกฤษกับตนกูมะไฮยิดดิน และตนกูยะลานาแซร์ มาถึงฮัจญี สุหลง ถูกรายงานให้รัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ ทราบ "แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดการอะไร นอกจากสั่งการให้จังหวัดต่างๆในสี่จังหวัดภาคใต้จัดสายลับติดตามพฤติการณ์ของผู้นำศาสนา อิสลามต่อไป" การรับรู้อีกฝ่ายจาก "สายลับ" ในที่สุดแล้วคือการไม่ได้รู้อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว นอกจาก อะไรที่ฝ่ายไทยคิดและเชื่อก่อนแล้ว ก็คือมีแต่รายงานที่ตอกย้ำและเพิ่มอคติของรัฐไทยต่อสำนึก การเมืองของคนมุสลิมเท่านั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอันก็คือ บรรดาสายสืบทั้งลับและสว่างให้แก่รัฐบาลไทย น่าสนใจมากว่ามาจากคนมุสลิมภาคใต้เองด้วย และเป็นระดับใหญ่ ๆ พอกัน เช่น ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด บ้างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจว่านักการเมืองมุสลิมเหล่านั้น ก็อาจคิดและเชื่อเหมือนกับรัฐไทยก็ได้ ดังนั้นปัญหาเชื้อชาติศาสนา ก็ยังมีลักษณะของปัญหาชนชั้นและอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับอยู่ด้วย

ประเด็นใหญ่ของปัญหาสำหรับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้คือ เรื่องความถูกต้องเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ และเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ชุมชนมุสลิมทุกแห่งในโลกใช้กฎหมายอิสลามในการปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปของรัฐและรัฐบาลนั้นๆ แล้ว นโยบายการให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกนั้น เมื่อสยามทำการปฏิรูปการปกครองและรวมศูนย์ทั้งประเทศ ก็อนุโลมให้หัวเมืองภาคใต้ที่เป็นมุสลิมใช้กฎหมายอิสลามดังกล่าวมา จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อเขียนกฎหมายอิสลามให้เป็นบรรทัดฐาน แต่กินเวลานานมากและไม่เสร็จสมบูรณ์ได้ง่ายๆ จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และ ๖ ที่สมบูรณ์ทั้งประเทศ อันมีผลทำให้ไปยกเลิกกฎหมายอิสลามในพื้นที่ ๔ จังหวัดภาคใต้ไป

ในที่นี้ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อต้องการชี้ให้เห็นปมเงื่อนปัญหาและความขัดแย้งขณะนั้นว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากที่หนักหน่วงและมีผลกระทบด้านลบอย่างมากและยาวไกลด้วย คือปัญหาการใช้และสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรมต่อประชาชนชาวมุสลิมเหล่านั้นมากกว่า นั่นคือปัญหาทางการเมืองและการปกครองจากรัฐไทย ที่สร้างอัตลักษณ์และความเชื่อชุดหนึ่งของตนเอง ที่ถือเอาเชื้อชาติเดียวเป็นหลักยึด โดยไม่ยอมเข้าใจและยอมรับนับถือในสิทธิแห่งอัตลักษณ์ของคนเชื้อชาติและศาสนาอื่นที่แตกต่างออกไปด้วย ดังนั้นความขัดแย้งโดยเนื้อแท้จึงไม่ใช่ปัญหาศาสนาและโรงเรียน ตลอดรวมถึงปอเนาะอะไรแต่อย่างใด ข้อสังเกตนี้คิดว่าปัจจุบันก็ยังใช้ได้อยู่ 

อย่างไรก็ตามในระยะเวลาอันสั้น ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ นโยบายว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามของพลังการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีจุดหมายในการปฏิรูปและสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนมลายูมุสลิมกับรัฐไทย ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถจัดตั้งสถาบันอิสลามระดับชาติลงไปถึงท้องถิ่น และเป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายประชาชนมุสลิมและรัฐบาล ประเพณีและการปฏิบัติตามศาสนาแต่ก่อนนี้ก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับคืนมาหมดสิ้น ที่ต้องถือว่าเป็นการพัฒนาด้านบวกอย่างมากคือ การเปิดให้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำมลายูมุสลิมกับรัฐบาลอย่างเสรีและเปิดเผย ทว่าสภาพการณ์ด้านเศรษฐกิจหลังสงคราม ที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการขาดแคลนข้าวในภาคใต้ มีการลักลอบค้าข้าวข้ามพรมแดน ความลำบากทางเศรษฐกิจเหล่านี้ นโยบายศาสนูปถัมภ์อย่างเดียวไม่อาจแก้ไขและช่วยได้มากนัก ดังนั้นความไม่พอใจของประชาชนต่อการจัดการปัญหาและความยากลำบากจึงยังไม่หมดหายไป ยิ่งหากมีการถูกรังแกหรือ ปฏิบัติอย่างมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ประชาชนก็พร้อมจะทำการร้องเรียนและประท้วงให้รัฐบาลส่วนกลางได้รับรู้  ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวในที่สุดนำไปสู่การพบปะเจรจากับรัฐบาลอย่างจริงจัง ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อพล๊อตเรื่องใหญ่ เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง "ปตานี รัฐมลายูนอกมลายา"
นอกเหนือจากความขัดแย้งธรรมดาในเรื่องชีวิตและเศรษฐกิจของคนมุสลิมในภาคใต้แล้ว ที่หนักหน่วงกว่านั้นคือ คำร้องเรียนและร้องทุกข์ในเรื่องความทารุณโหดร้ายและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ไทยโดยเฉพาะตำรวจ หากต้องการสัมผัสความรู้สึกของคนมุสลิมปัตตานีสมัยนั้นต่อปัญหาดังกล่าว ก็จะอ่านได้จากข้อเขียนของอิบราฮิม ชุกรี หนังสือเรื่อง Sejarah Kerajaan Kelayu Patani (ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปตานี) ตีพิมพ์ในกลันตัน คาดว่าในปลายทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เขากล่าวถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่า ดังนี้

ในเวลานั้น (พ.ศ. ๒๔๘๘-๘๙) มีอะไรบางอย่างคล้ายกับโรคติดต่อในหมู่เจ้าหน้าที่สยาม ซึ่งนำไปสู่การละเว้นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และรับแต่สินบน เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงลงมาถึงระดับล่างสุด เรื่องราวที่สำคัญยิ่งไม่อาจสามารถทำให้เสร็จได้หากไม่มีการเตรียมให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่. สำหรับตำรวจ อาชญากรที่ถูกจับก็สามารถจะมีความปลอดภัยและเป็นอิสระได้ หากเขาให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้น เรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกกับคนมลายูก็คือ หากเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับคนที่ไม่ดี เขาจะถูกจับกุมไปทันทีโดยตำรวจสยาม จากนั้นนำตัวไปยังสถานที่เปลี่ยว และทุบตีก่อนที่จะนำตัวไปยังสถานที่คุมขังหรือกักกัน การปฏิบัติทำนองนี้เกิดขึ้นกับคนมลายูที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในขบวนการการเมืองที่วิพากษ์รัฐบาลด้วยเหมือนกัน คนมลายูเหล่านั้นมักถูกข่มขู่และหาเรื่องในหนทางต่างๆ โดยตำรวจสยาม ไม่ก็จับกุม หรืออย่างง่ายๆ ก็ทุบตีโดยไม่นำพาต่อการนำเรื่องของเขาขึ้นสู่ศาล

สภาพของการไร้กฎหมายและขื่อแปบ้านเมืองหลังสงครามโลกและการคอรัปชั่นระบาด และมีมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่หนักหน่วงกว่าเพื่อนได้แก่บริเวณสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการลักลอบและสินค้าเถื่อนโดยเฉพาะข้าวที่นำเข้าไปในมลายา รัฐบาลภายใต้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มการเจรจาและนำผู้นำการเมืองมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของนโยบายสมานฉันท์ทางศาสนา และหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การร่วมมือกันในปัญหาการเมือง

ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงฯได้ตั้ง "กรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน ๔ จังหวัดภาคใต้" เป็นชุดแรกที่ลงไปรับฟังคำร้องเรียนและปัญหาของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อบรรดาผู้นำมุสลิมทราบข่าวจึงได้มีการประชุมปรึกษากันอย่างเร่งด่วน ในวันที่ ๑ เมษายน ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่างข้อเสนอในปัญหาต่างๆ อันรวมถึงการปกครองทางการเมือง สิทธิและศาสนกิจของชาวมุสลิมแก่ผู้แทนรัฐบาลต่อไป

ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ในการประชุมเจรจากันระหว่างคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯกับผู้นำอิสลาม นำไปสู่การเกิดสิ่งที่รู้จักกันต่อมาว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" ดังต่อไปนี้

๑) ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัด และได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง

๒) ให้ร้อยละ ๘๐ ของข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นผู้นับถือศาสนามุสลิม

๓) ให้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

๔) ให้ภาษามลายูเป็นภาษาสำหรับใช้ในการเรียนและสอนในโรงเรียนประถม ๓ โรง(หรือสามระดับ?)

๕) ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลมุสลิมที่แยกต่างหากจากศาลแพ่ง ซึ่งกอฎีนั่งร่วมในฐานะผู้ประเมินด้วย

๖) รายได้และภาษีทั้งหมดที่ได้จากสี่จังหวัดให้นำไปใช้ในสี่จังหวัดทั้งหมด

๗) ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสลามที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดกิจการมุสลิมทั้งปวง ภายใต้อำนาจสูงสุดของผู้ปกครองรัฐตามระบุในข้อ ๑

แม้ข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่ได้บ่งชัดเจนว่าต้องการเรียกร้องการแยกดินแดนออกจาก        รัฐไทย แต่สาระสำคัญในข้อที่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด และถูกนำมาใช้ในการโจมตีและสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ต่อมาอีกยาวนาน คือความต้องการที่จะให้มีการปกครองที่เป็นอิสระโดยคนท้องถิ่นในสี่จังหวัดเอง น่าเสียดายว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่เคยมีการถกเถียงในรายละเอียดและในความเป็นไปได้หรือไม่ได้เพราะอะไรอย่างไร ตรงกันข้ามผู้นำและนักการเมืองฝ่ายไทยพากันคิดไปในทางเดียวว่า นั่นคือสัญญาณของการคิดแยกดินแดนหรือการคิดกบฏต่ออำนาจรัฐส่วนกลางนั่นเอง แทนที่จะมองว่านั่นอาจเป็นหนทางหนึ่งของการปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจในการบริหารประเทศจากรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ได้

แน่นอนว่าแนวความคิดดังกล่าวมาก่อนกาลอันสมควร รัฐไทยที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่งจะได้ลิ้มชิมรสของการสร้างรัฐในจินตนาการของผู้นำ ที่ไม่ใช่ชนชั้นศักดินาอย่างแท้จริงก็ในช่วงดังกล่าวไม่นาน การจะปล่อยให้อำนาจรัฐและการควบคุมหลุดไปยังผู้นำท้องถิ่นและภูมิภาค เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน

ในการประชุม คณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯ ได้มีการปรึกษากับฮัจญีสุหลงในข้อเรียกร้องดังกล่าว ว่าข้อไหนจะรับได้และข้อไหนคงรับไม่ได้ ข้อที่ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าคงให้ได้มากที่สุดคือ ว่าด้วยเสรีภาพในทางศาสนา และยอมรับว่าชาวมุสลิมในประเทศไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาติไทยได้ในฐานะที่เป็น "ไทยมุสลิม" แต่รัฐบาลไม่อาจรับข้อเรียกร้องในการที่ชนชาติหนึ่งชาติใด สามารถจะเรียกร้องให้มีการปกครองที่เป็นสิทธิอิสระหรือเป็นการปกครองของตนเอง บนพื้นฐานของการมีอัตลักษณ์อันเป็นเฉพาะของตนเองได้ การยอมรับหลักการดังกล่าวจะนำไปสู่การบ่อนทำลายความเชื่ออันเป็นหัวใจว่าชาติไทยไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยวางอยู่บนหลักของชาติ ศาสนา(พุทธ) และพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ นำเรื่องข้อเสนอ ๗ ประการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า กล่าวโดยรวมแล้วข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากว่า "รูปการปกครองเวลานี้ดีแล้ว ถ้าจะจัดเป็นรูปมณฑลไม่สมควรเพราะจะเป็นการแบ่งแยก..." อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหาทางออกให้แก่ปัญหาของมุสลิมภาคใต้ เช่น

- การปกครองให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณารูปแบบนโยบายการปกครองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

- ให้สิทธิแก่นักเรียนมลายูมุสลิมเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในเหล่าทหารและตำรวจได้ โดยให้อยู่ในการพิจารณาของรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย

- การปิดสถานที่ราชการในวันศุกร์นั้นไม่ขัดข้อง

- ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังขาดเงินในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนหนทาง

- ส่วนด้านศาสนาและวัฒนธรรม ยินดีให้ตามประเพณีมุสลิม แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งมีโครงการจะสร้าง "สุเหร่าหลวง" ประจำจังหวัดๆ ละ ๑ แห่ง ซึ่งจะต้องรอมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๔๙๑

- ด้านการศาลกำลังแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมจังหวัดละ ๒ คน แต่ไม่มีความเห็นให้แยกศาลศาสนาตามที่ผู้นำอิสลามในสี่จังหวัดได้ร้องขอ

- ด้านการศึกษาจะให้มีการสอนภาษามลายูตามที่ผู้นำมุสลิมร้องขอ

- ส่วนข้อที่ขอให้มีข้าราชการมุสลิมถึงร้อยละ ๘๐ นั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันเร่งด่วน เพราะชาวมลายูมุสลิมส่วนมากขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จะหาทางเพิ่มทางอื่นต่อไป

- สุดท้ายด้านการสื่อสารมวลชนรัฐบาลมอบหมายให้กรมโฆษณาการรับไปพิจารณาจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายู เพื่อแถลงข่าวการเมืองที่ควรรู้ตลอดจนรายการดนตรี นอกจากนั้นจะจัดพิมพ์หนังสือภาษามลายูส่งไปเผยแพร่เป็นครั้งคราว

นโยบายและข้อเสนอแนะมากมายของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ข้างต้นนั้น มีการนำไปปฏิบัติในขณะนั้นน้อยมาก ด้วยสาเหตุและเงื่อนไขหลายประการที่ทำไม่ได้หรือได้ค่อนข้างช้าและยากมาก แต่ทั้งหมดนั้นจะเลือนหายไปเกือบหมดภายหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และกระทั่งเมื่อนำมาพิจารณาใหม่ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๔๘) หลายเรื่องก็เพิ่งมีการนำมาปัดฝุ่นและจะนำไปปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป แม้จะมีการเจรจาและพบปะกันระหว่างกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯของรัฐบาล และผู้นำมลายูมุสลิมแล้วก็ตาม แต่ปัญหาทั้งระยะสั้นและยาวก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายไปเท่าที่ควร พัฒนาการที่ก่อรูปขึ้นกลับเป็นไปในทางที่มีความไม่ไว้วางใจในพฤติการณ์ของผู้นำมุสลิมบางคน โดยเฉพาะฮัจญีสุหลง ในเวลาเดียวกันเหตุการณ์ไม่สงบเช่นการปล้นก็ทวีมากขึ้น  ในปลายปี ๒๔๙๐ ภายในจังหวัดปัตตานีแห่งเดียวมีการปล้นเกิดขึ้นราว ๒๐๐ คดี  "บางรายถูกปล้นและเผาบ้านด้วย โดยเฉพาะคนไทยพุทธถูกปล้นมากที่สุด ผู้ถูกปล้นให้การกับตำรวจว่า     เมื่อผู้ร้ายลงจากบ้านเรือนไปแล้วก็จะร้องตะโกนว่า "อิโดะมลายู" (มลายูจงตื่นเถิด) นอกจากนั้น    มีการเผาโรงเรียนของรัฐบาลในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ๑ แห่ง" มีการแจกใบปลิวเรียกร้องชาตินิยมมลายูด้วย

เนื่องจากมีเรื่องร้องทุกข์มาก รัฐบาลจึงตั้งกรรมการอีกชุดเรียกว่า "กรรมการสืบสวนคำร้องทุกข์ของชาวไทยอิสลาม" ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ เพื่อลงไปสืบสวนคำร้องทุกข์อีกวาระหนึ่ง ในระหว่างการสอบสวนครั้งแรกนั้น ซึ่งกินเวลาพอสมควร หลายคนได้ถอนตัวออกจากการร้องเรียน เพราะถูกข่มขู่ บัดนี้เรื่องร้องเรียนเหล่านั้นก็ถูกนำกลับมาอีกครั้ง ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการอะไรที่รัฐบาลลงมือกระทำหลังจากการสอบสวนทั้งหลายแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัตตานีคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตอบโต้ต่อผู้ที่ให้ปากคำแก่คณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด ด้วยการเริ่มการปราบใหม่ที่มีทั้งการยิงและการขู่กรรโชกชาวบ้าน บรรยากาศโดยรวม บรรดาผู้นำมุสลิมไม่ค่อยมีความหวังต่อรัฐบาลในการรับข้อเสนอ ๗ ประการ ฮัจญีสุหลงก็นำการประท้วงไม่เห็นด้วยในการที่รัฐบาลแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม. ข้อมูลของทางการเริ่มรวมศูนย์ไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแบกดินแดนโดยผู้นำมุสลิม คนที่อยู่ในเป้าสายตาคือฮัจญีสุหลง ปมเงื่อนสุดท้ายคือโยงใยของเขากับบุคคลนอกประเทศ ในระยะนั้นมีคนสองคนที่เข้ามาพัวพันกับความคิดและการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลง ซึ่งจะมีผลต่อชะตากรรมและชีวิตของเขาอย่างคิดไม่ถึง คนแรก คือ    ตนกูมะไฮยิดดิน ขณะนั้นพำนักอยู่ในกลันตัน และนางสาวบาร์บารา วิททิงนั่ม โจนส์ นักข่าว     ชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาดูสถานการณ์ในปัตตานี บางแหล่งข่าวบอกว่าตามคำเชิญของ           ตนกูมะไฮยิดดิน บาร์บารา วิททิงนั่ม-โจนส์เดินทางมาถึงปัตตานีในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงมารอรับที่สถานีโคกโพธิ์ และให้เธอพักที่บ้านของเขา จากนั้นได้นำเธอเพื่อไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แต่ท่านผู้ว่าฯไม่อยู่จึงไม่ได้พบกัน. วิททิงนั่ม-โจนส์ ใช้เวลา        ๓ วันในการเดินทางทั่วปัตตานีก่อนจะกลับไปเขียนบทรายงานลงหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ บทความนี้ตีพิมพ์ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ ผลก็คือปัญหาของมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศไป รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงมีปฏิกิริยาไม่พอใจต่อบทความโดยเฉพาะการวิพากษ์ วิจารณ์ด้านลบอย่างมาก บทความชิ้นนี้จะกลายมาเป็นหลักฐานหนึ่งในการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลงข้อหา "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก"  ว่าไปแล้วภาพของปัตตานีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ ดูน่าตระหนกสำหรับคนภายนอกพอสมควร เธอเขียนว่า "อาณาจักรปตานีเก่าซึ่งกลายเป็นซากปรักหักพัง ก่อนนี้เคยรุ่งโรจน์และมั่งคั่งเพราะเป็นเมืองท่าระหว่างมะละกากับญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ ปตานีอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายน้อยนิดของข้าหลวง ตำรวจและข้าราชการอื่น ๆ ของสยาม ...ทุกหนทุกแห่งที่ข้าพเจ้าไปถึง มีแต่เรื่องราวอันเดียวกันของการกดขี่อย่างเป็นระบบ และการรณรงค์โดยจงใจที่จะลดความเป็นชาติของประชากรเหล่านั้นเสีย ความไม่พอใจลึก ๆ เกิดขึ้นจากการห้ามไม่ให้ศึกษาภาษามลายู การห้ามไม่ให้มีโรงเรียนมลายู ได้รับการผ่อนปรนในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ ๆ ในขณะที่สถานะของสยามยังเป็นประเทศศัตรูอยู่ ขณะนี้ถูกนำมาใช้อีกแล้ว"

ในทรรศนะของเธอ สยามกำลังทำตัวเป็นเสมือน "เจ้าอาณานิคม" และ "ผู้ครอบครอง" นั่นเองเป็นเหตุให้ "ไม่น่าแปลกใจเลยที่บางคนของกลุ่มที่เป็นหัวกบฎและถูกมองว่าเป็นพวกนอกสังคม จะกลายเป็นศัตรูของสังคมไปด้วย โดยการเข้าร่วมการลักลอบขนของเถื่อน โจรสลัดและการปล้นทรัพย์" บาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ไม่มีความเมตตาต่อเจ้าหน้าที่ไทยเลยเมื่อมาถึงปัญหาการคอรัปชั่น การแบล๊กเมล์และการลงโทษเหยื่อชาวมลายูมุสลิม เธอเขียนว่า "ด้วยข้อหาเพียงว่าให้ที่หลบซ่อนแก่แก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งทางการชอบมากกว่าการจับกุมตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจสยามก็ทำการเผาหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ทำการขู่กรรโชกเจ้าของร้านค้าที่ร่ำรวยหน่อย ให้ต้องจ่ายเงินนับพันบาทสำหรับเป็น "ค่าคุ้มกัน" ทำการใช้กำลังบุกเข้าไปในบ้านคนมลายู ทุบตีผู้หญิงและฉกฉวยเอาสิ่งของเล็ก ๆ ที่หยิบติดมือได้ไปด้วยตามความพอใจ คนจำนวนหนึ่งถูกยิงอย่างหน้าตาเฉยบ่อย ๆ หรือไม่ก็หายไป และไม่ได้ยินข่าวของพวกเขาอีกเลย" เธอสรุปว่า "เนื่องจากอยู่ห่างไกลและตัดขาดจากโลกภายนอก ปะตานีไม่อาจช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากอำนาจก่อความหวาดกลัวนี้ (this reign of terror) ได้เลย การพูดวิจารณ์รัฐบาลอย่างกลางๆก็ถูกตราว่าเป็น "การพูดที่อันตราย" และถูกปิดกั้นด้วยความตายหรือการแบล๊กเมล์ (ขู่กรรโชก) ชาวมลายูปตานีไม่มีเสรีภาพในการพูด ไม่มีหนังสือพิมพ์ มีวิทยุไม่กี่เครื่อง และไม่มีกลไกทางการเมืองอะไร"

ถ้าหากจะถือเอาบทความของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์เป็นปรอทวัดอุณหภูมิของสถานการณ์ในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ขณะนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่ามีแนวคิดอยู่สามทางในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา

- หนึ่งคือการก่อตั้งรัฐมลายูที่เป็นอิสระปกครองตนเองโดยมีมะไฮยิดดินเป็นหัวหน้า

- สองคือการรวมเข้ากับสหพันธรัฐมลายา และ

- สามซึ่งไม่ใคร่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากนัก แต่มีคนคิดกันก็คือการรวมกันเข้าเป็นรัฐเอกราชแห่งอินโดนีเซีย อันนี้ขึ้นอยู่กับหนทางและผลของการปฏิวัติเอกราชอินโดนีเซียขณะนั้นด้วย

ไม่นานนักหนทางที่สองและสามก็จางหายไป เพราะปัจจัยและมูลเหตุภายนอกเหล่านั้น ไม่อำนวยให้เป็นไปได้ ที่สำคัญสำหรับไทยคือบทบาทของอังกฤษและการสนับสนุนของสหรัฐฯ               ที่ให้ต่อรัฐบาลไทยหลังสงครามโลกอย่างแข็งขัน รวมทั้งการพยายามกลับเข้ามามีอำนาจเหนืออาณานิคมเก่าของดัตช์และอังกฤษ ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ตระหนักดีว่า การรวมกับมลายาไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นหนทางที่เหลือคือการต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองที่เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้หนทางแรกนี้ก็มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ระหว่างฝ่ายนำที่แยกกันตามภูมิสังคม คือ ฝ่ายผู้นำในปัตตานีที่มีฮัจญีสุหลงเป็นแกนสำคัญ กับมะไฮยิดดินที่อยู่ในกลันตันและมีความหวังที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นเจ้าเก่าของอาณาจักรปัตตานี แต่สำหรับรัฐไทยทั้งสองแกนนำล้วนเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลเหมือนๆ กัน

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมภาคใต้ภายใต้การนำของฮัจญีสุหลงมีการติดต่อและการเจรจา(dialogue) กับรัฐไทยและรัฐบาลไม่น้อย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมนั้น มีทิศทางสองอันในการจัดการปัญหาอนาคตการเมืองของมุสลิมภาคใต้

-          ทางหนึ่งคือการมองลงทางใต้ คือการต่อสู้แนวทางของตนกูมะไฮยิดดิน

-          อีกทางคือการมองขึ้นทางเหนือ คือการต่อสู้ของฮัจญีสุหลงที่มองไปยังกรุงเทพฯ

 

๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม

เหตุการณ์ที่พลิกผันและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยอย่างหน้ามือเป็นหลังมือคือการรัฐประหารโดยคณะทหารในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อมองย้อนกลับไป รัฐประหารครั้งนี้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางของการเมืองไทยต่อมา สองปัจจัยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายหลังรัฐประหารครั้งนั้น

- อันแรก คือปัจจัยภายนอกที่มาจากภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนฝืดเคืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมและเอกราชทั่วไปในภูมิภาคนี้

- อันที่สอง คือปัจจัยมูลเหตุภายใน ได้แก่การสวรรคตอย่างกะทันหันและมืดมนของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ กรณีนี้นำไปสู่การลาออกของรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นเงื่อนไขให้กับการกลับมาหรือรื้อสร้างพลัง "เจ้านิยม"(royalists) กับ "อนุรักษ์นิยม" ขึ้นมาในการเมืองไทย

คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะทหาร" ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทหารบก ที่น่าสังเกตคือบรรดานายทหารผู้ใหญ่นั้นเป็นนายทหารนอกประจำการ เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัน และพันเอกกาจ กาจสงคราม เป็นต้น. นายทหารในประจำการคือกลุ่มนายทหารหนุ่มฝ่ายคุมกำลังจำนวนมากเช่นพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลจากหลวงธำรงฯและฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นพลังการเมืองหลักนับแต่หลังสงครามโลกยุติลง

การเกิดรัฐประหารเป็นเรื่องไม่คาดคิดว่าจะเป็นจริงได้ในขณะนั้น เพราะฝ่ายทหารหมดอำนาจจากรัฐบาลและถูกลดบทบาทการเมืองไปมาก จากการที่จอมพล ป. พิบูลสงครามตกเป็นฝ่ายปราชัยและเป็นจำเลยอาชญากรสงคราม จำต้องล้างมือจากวงการการเมืองไป ทำให้ฝ่ายทหารขาดบุคคลผู้ที่สามารถนำการยึดอำนาจรัฐบาลได้ ในวาระสุดท้ายคณะปฏิวัติถึงกับใช้วิธีแบล๊กเมล์ให้จอมพล ป.พิบูลสงครามรับตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ อย่างไรก็ตามภายหลังการยึดอำนาจสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไม่อาจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีชนักติดหลังกรณีประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรและเป็นมิตรกับญี่ปุ่น แน่นอนว่าอังกฤษและสหรัฐฯต้องไม่รับรองรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นนายควง อภัยวงศ์จึงได้รับการเสนอชื่อให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป ต่างคิดตรงกันว่านี่คือรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จุดนี้ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ การพลิกผันของเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองมุสลิมภาคใต้ต้องพลิกตามไปด้วย

หลังจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาปกครอง (2) ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ดำเนินการเรียกร้อง ๗ ประการต่อไป คราวนี้คำตอบที่ได้จากรัฐบาลควงยิ่งแย่กว่าสมัยรัฐบาลหลวงธำรงฯเสียอีก นายควงบอกว่าตนมีธุระยุ่งหลายเรื่อง นอกจากนั้นปัญหาของมลายูมุสลิมนั้นก็มีมานานแล้ว ถ้าจะรอไปอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เป็นไปได้ว่าในระยะปลายปี ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงและคณะคงรู้แล้วว่า ความหวังในการเจรจากับรัฐบาลควงไม่มีอีกต่อไปแล้ว อาวุธสุดท้ายที่มีอยู่คือการรณรงค์ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป การบอยคอตรัฐบาลกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายมุสลิมไปโดยมีน้ำหนักทางศาสนาอยู่ด้วย (3) แต่แผนการบอยคอตที่จะมีผลกระเทือนทางการเมืองสูงมากคือ การบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ มีเหตุการณ์ที่เพิ่มแรงกดดันให้แก่นโยบายเหยี่ยวของรัฐบาลควง(๓) คือในเดือนธันวาคม ๒๔๙๐ เกิดกรณีสังหารตำรวจที่หมู่บ้านบาลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มโจร เมื่อตำรวจทราบได้ส่งกำลังไปยังหมู่บ้าน จับชาวบ้านไปทรมานสอบสวนหาฆาตกร จากนั้นเผาหมู่บ้านเป็นเถ้าถ่านเพราะความแค้น เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ๒๙ ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย

การเริ่มต้นของจุดจบนี่เองทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลควง(๓) คือ พลโท ชิด        มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ซึ่งถือปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องรีบด่วนสองเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด (เรื่องหนึ่งคือปัญหาคอร์รัปชั่น) เพราะ "ได้ระแคะระคายว่า ชาวพื้นเมืองมีความไม่พอใจในการปกครองของรัฐบาลทวีขึ้น ประจวบกับเหตุที่มลายูได้รับเอกราช จึงบังเกิดความตื่นตาตื่นใจตามไปด้วยเป็นธรรมดา และเป็นช่องทางให้ผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ฉวยโอกาสหาทางถีบตัวขึ้นเป็นใหญ่ หาสมัครพรรคพวก ก่อหวอดเพื่อจะแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยไปรวมกับรัฐมาเลเซีย หรือไม่ก็จัดเป็นกลุ่ม แยกตัวออกไปเป็นอิสระโดยเอกเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่จะรีรออยู่ไม่ได้ จะต้องขจัดปัดเป่าให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อนที่จะทรุดหนักจนเหลือแก้" (4) ปมเงื่อนสำคัญในการไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่การหาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่"มั่นคงจงรักภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์….ต้องกล้าหาญ เอาการเอางานเพื่อเสี่ยงภัยต่อการใช้พระเดช….ต้องรู้ภาษามลายูดีทั้งเป็นที่เชื่อถือของคนพื้นเมือง" หน้าที่เร่งด่วนของผู้ว่าฯคนใหม่นี้       คือ "สืบหาตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน ค้นหาเหตุที่ราษฎรเดือดร้อน…" ในที่สุดก็ได้ตัวพระยา   รัตนภักดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) อดีตผู้ว่าราชการปัตตานี จากปี พ.ศ.๒๔๗๒- ๗๖ โดยถูกออกจากราชการ เหตุเพราะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในเวลาเดือนเดียว พระยารัตนภักดีก็รายงานไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ว่าสืบได้ตัวหัวหน้าผู้คิดก่อการแยกดินแดนแล้ว นั่นคือการจับกุมฮัจญีสุหลงในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (5) ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจากชาวมุสลิมภาคใต้มากมาย จนต้องย้ายการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เพระทางการกลัวว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นหากพิจารณาคดีที่ปัตตานี กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ในขณะนั้น กำลังคุกรุ่นและร้อนแรงขึ้นทุกวัน สภาพทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังอยู่ในสภาพหลังสงครามโลก ที่ขาดแคลนและมีตลาดมืด ทำให้สินค้าราคาแพงและหายาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม รวมถึงโจรที่มาจากฝั่งมลายาด้วย ซึ่งชาวบ้านและทางการเรียกรวมๆว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์" (6)

ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประท้วงก่อความไม่สงบกระจายไปทั่วในหลายอำเภอของจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างชาวบ้านกับตำรวจและกำลังในจังหวัดชายแดน ในระหว่างนั้นเองที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งแทนนายควง อภัยวงศ์ ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๑ เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า "การจี้นายควง" ให้ออกจากรัฐบาลโดยคณะทหาร

ในที่สุดก็มาถึงวันที่เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ดังรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรขณะนั้นดังต่อไปนี้

"วิทยุกระจายเสียงรอบเช้าวานนี้ประกาศข่าวรวบรวมหลายกระแสว่า ได้เกิดปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรครั้งใหญ่ ในจังหวัดนราธิวาส ข่าวนั้นได้ยังความตื่นเต้นกันทั่วไป จากข่าววิทยุนั้นแสดงให้เห็นว่า ความยุ่งยากในบริเวณ ๔ จังหวัดภาคใต้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ราษฎรกลุ่มหนึ่งในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ ๑ พันคน ได้ก่อการจลาจลต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในโทรเลขซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย ใช้คำว่า "ก่อการขบถ" แต่รัฐมนตรีนายหนึ่งแถลงแก่คนข่าวของเราว่า "บุคคลเหล่านั้นมักใหญ่ใฝ่สูงก่อการจลาจล"

การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎร ๑ พันคนนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทานกำลังไม่ไหว เนื่องจากมีอาวุธต่อสู้ทันสมัย เช่น เสตน คาร์ไบน์ ลูกระเบิด แม้แต่กระทั่งปืนต่อสู้รถถังก็ยังมีเช่นเดียวกัน โทรเลขฉบับแรกซึ่งส่งเข้ามายังมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เพื่อขอให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือโดยด่วนนั้น ทราบว่าอธิบดีตำรวจได้เรียกประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่โดยฉับพลัน เพื่อจัดส่งกำลังไปช่วยเหลือตามที่โทรเลขแจ้งมา"

การปะทะกับกำลังตำรวจดำเนินไปสองวันมีคนเข้าร่วมถึงพันคน จำนวนตัวเลขผู้ตายและบาดเจ็บซึ่งยังไม่ตรงกันรายงานว่า ชาวบ้านมุสลิมตายไปถึง ๔๐๐ คน ส่วนตำรวจตายไป ๓๐ คน. ชาวบ้านเล่าว่าตำรวจเป็นฝ่ายเปิดฉากการยิงเข้าใส่ก่อน ขณะที่กำลังทำพิธีต้มอาบน้ำมัน เหตุที่ชาวบ้านมีการเตรียมอาวุธเพราะต้องการเอาไว้ต่อสู้กับการปล้นของโจรจีนคอมมิวนิสต์ ฝ่ายตำรวจก็สงสัยในพฤติการณ์ของชาวบ้านจึงต้องการมาสอบสวนและเกิดปะทะกันขึ้น

จากคำอธิบายหลายๆ ฝ่าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า กรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นคือการที่ความขัดแย้งและความไม่เข้าใจไม่ไว้วางใจของทางการกับชาวบ้านได้เร่งขึ้นถึงจุดเดือด และระเบิดออกมาเมื่อมีชนวนเพียงนิดเดียว อคติและการไม่ไว้ใจชาวบ้านมุสลิมเห็นได้จากรายงาน           ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีไปถึงรัฐบาลกรุงเทพฯ เช่นบอกว่าชาวบ้านมีปืนสเต็น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ระเบิดเป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ต่อมาหนังสือพิมพ์รายงานว่า ชาวบ้านมีแค่อาวุธชาวบ้านธรรมดาคือมีด ไม้ และหอก ก้อนหินอะไรที่พอหาได้ในหมู่บ้าน ยิ่งกว่านั้นการลุกฮือของชาวบ้านที่ดุซงญอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏหะยีสุหลงแต่ประการใดด้วย ดังที่รายงานและวาทกรรมของทางการต่อปัญหามุสลิมภาคใต้จะบรรยายกันต่อๆ มาเป็นวรรคเป็นเวร ผลจากการลุกฮือปะทะกันใหญที่ดุซงญอมีผลทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามมีคำสั่งให้ยอมประกันตัวฮัจญีสุหลงได้

หลังจากการปะทะที่ดุซงญอผ่านพ้นไป ความรุนแรงและผลสะเทือนของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมลายูประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๖,๐๐๐ คนหลบหนีออกจากฝั่งไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในฝั่งมลายา ต่อจากนั้นมีชาวมุสลิมปัตตานีถึง ๒๕๐,๐๐๐ คนทำหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ และไปรวมกับสหพันธรัฐ  มลายาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณสี่จังหวัด และส่งกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ ๓ กองลงไปยังนราธิวาส แต่ประกาศว่าภารกิจของหน่วยพิเศษนี้คือการต่อสู้กับ "พวกคอมมิวนิสต์" (7) รายงานข่าวการ "ก่อการขบถ" ของชาวบ้านนับพันคน     ดังที่เจ้าหน้าที่มหาดไทยท้องถิ่นรายงานเข้ากระทรวงฯนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นการข่าวที่คลาดเคลื่อน จะเรียกว่า "บิดเบือน" ก็อาจหนักไป เพราะหากเกิดการปะทะกันขึ้น กำลังเป็นสิบหรือหลายสิบ     ก็น่ากลัวพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรีบประเมินความหนักหน่วงน่ากลัวของสถานการณ์ให้เบื้องบนทราบ  ต่อเนื่องจากการให้ตัวเลข ขนาด จำนวน ประเภท ของอาวุธที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งล้วนเป็นอาวุธหนักและใช้ในการสงคราม เช่น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ปลยบ.๖๖ ระเบิดมือ สเตน เป็นต้น แสดงว่าทางการได้มีสมมติฐานอยู่ในใจก่อนแล้ว ว่าชาวบ้านมุสลิมภาคใต้กำลังคิดกระทำอะไรอยู่ หากไปอ่านความในใจของรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้น เช่นพลโท ชิด มั่นศิล สินาดโยธารักษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพระยารัตนภักดี ก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม ทางการถึงประเมินและเชื่อว่าชาวบ้านมีอาวุธหนักขนาดทำสงครามไว้ในครอบครอง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีข่าวกรองอยู่ก่อนแล้ว ประกอบเข้ากับอคติและความไม่ชอบในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าด้วย ทำให้หนทางและวิธีการในการคลี่คลายปัญหาและความตึงเครียดขณะนั้นโดยสันติวิธี และ"ละมุนละม่อม"ตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งตามไปในวันหลัง ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ

จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็คือ การใช้ความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นผลโดยตรงจากการมีทัศนคติ อคติ ความเชื่อในอุดมการณ์การเมืองของชาติที่ไม่สอดคล้องกระทั่งขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคมมุสลิมภาคใต้ ทั้งหมดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ (ทั้งในโครงสร้างและนอกเหนือกฎหมายหลากหลายสารพัด) ไม่ต้องสงสัยว่าประเด็นปัญหาปัตตานีดังกล่าวเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรความสัมพันธ์แห่งเอเชีย, สันนิบาตอาหรับ, และองค์การสหประชาชาติ การร้องทุกข์ของคนมลายูมุสลิมมีไปถึงบรรดาประเทศมุสลิมด้วย เช่นสันนิบาตแห่งรัฐอาหรับ อินโดนีเซียและปากีสถาน มีการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มมุสลิมภายในประเทศไทยเองด้วย และจากพรรคชาตินิยมมาเลย์ในมลายา สถานการณ์ขณะนั้นเครียด มีกองกำลังจรยุทธเคลื่อนไหวไปมาตามชายแดนจากมลายาเข้ามายังภาคใต้ไทย ผู้นำศาสนาทั้งสองฟากของพรมแดนเรียกร้องให้ทำญีฮาดตอบโต้อำนาจรัฐไทย (8)

น่าสังเกตว่าเมื่ออัยการโจทย์นำคดีฟ้องร้องฮัจญีสุหลงยื่นต่อศาลนั้น ในคำฟ้องระบุอย่างชัดเจนว่า ฮัจญีสุหลงและสานุศิษย์ของเขาที่ถูกฟ้องนั้นล้วนมีเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย ข้อหาที่ฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกคือ "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" (9) ในคำฟ้องของโจทย์นั้นกล่าวหาจำเลยและพวกว่าคบคิดกันทำการกบฏในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ โดยจัดการประชุมที่สุเหร่าปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ฮัจญีสุหลงพูดปลุกปั่นราษฎรว่า "รัฐบาลไทยได้ปกครองสี่จังหวัดภาคใต้มาถึง ๔๐ ปีแล้ว ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองดีขึ้น และกล่าวชักชวนให้ราษฎรไปออกเสียงร้องเรียนที่ตัวจังหวัดเพื่อขอปกครองตนเอง ถ้ารัฐบาลยินยอมก็จะได้เชิญตนกูมะไฮยิดดินมาปกครองแล้ว จะได้ใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ความชั่วหมดไปและทำให้บ้านเมืองเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตามคำขอปกครองตนเอง ก็จะได้ให้ราษฎรพากันไปออกเสียงร้องเรียนให้สำเร็จจนได้" (10)

อีกประเด็นที่โจทก์ฟ้องคือฮัจญีสุหลงทำหนังสือฉันทานุมัติแจกให้ราษฎรลงชื่อ หนังสือนี้ถูกกล่าวหาว่าต้องการเชิญตนกูมะไฮยิดดินมาเป็นหัวหน้าปกครองสี่จังหวัด ในขณะเดียวกันเอกสารนี้ยังมีข้อความ "ที่จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดิน และจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน" ในการนี้ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ข้อความวิจารณ์และติเตียนการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย ตลอดจนถึงราชการแผ่นดิน ซึ่งผิดวิสัยที่รัฐบาลจะกระทำต่อพลเมือง น่าสังเกตว่าทรรศนะของศาลเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำของรัฐบาล ซึ่งตามหลักการปกครองย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ทำนองเดียวกับการที่ลูกจะฟ้องร้องพ่อแม่ว่าทำทารุณกรรมลูกๆ ไม่ได้ เพราะผิดวิสัยของพ่อแม่ในทางหลักการ แม้ในความเป็นจริงอาจเกิดตรงข้ามกับหลักการก็ได้ 

ในที่สุดศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า ฮัจญีสุหลงจำเลยมีความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ให้จำคุกกับพวกอีก ๓ คนคนละ ๓ ปี อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลังจากศาลตัดสินลงโทษจำเลยอย่างไม่หนักเท่าที่โจทก์ได้คาดหวังไว้ ก็อุทธรณ์ไปถึงศาลชั้นบน คราวนี้ผลออกมาว่า ฮัจญีสุหลงกระทำการละเมิดกฎหมาย ในการเชื้อเชิญให้มะไฮยิดดินมาเป็นผู้นำตามข้อเรียกร้องข้อที่ ๑ "เป็นลักษณะของการสืบทอดเจตนารมณ์ของการกบฏ" การเรียกร้องให้แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด "เป็นการกระทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ทั้งในทางการบริหารและการศาล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองของ ๔ จังหวัด เพื่อให้ผิดแผกไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างมากมาย....การคิดการเช่นนี้ย่อมเป็นผิดฐานกบฏ"  การที่ศาลอุทธรณ์สามารถหาความผิดให้แก่คำเรียกร้อง ๗ ข้อได้นั้น ก็ด้วยการนำเอาข้อเขียนของมิสวิททิ่งนั่ม-โจนส์ ที่กล่าวถึงความทารุณต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการเมืองอันมีการกระทำมุ่งหวังจะให้คนคล้อยเชื่อตามนั้น จนอาจจะต้องใช้การต่อสู้ของประชาชนก็ตาม มาเป็นพยานหลักฐานหนึ่งในการลงโทษ ตรรกของศาลไทยสมัยนั้น คือ การหาว่าฮัจญีสุหลงและพวกกระทำการ "นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย" อย่างไรบ้าง กิจกรรมทั้งหลายของจำเลยจึงถูกนำมาทำให้เป็น "การเมือง" ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่ประหลาดก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ก็เป็นการกระทำที่ "นอกเหนือรัฐธรรมนูญ" สมัยดังกล่าวไปด้วย รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาด้วยเช่นกัน ประเด็นหลังนี้ยิ่งหนักขึ้น เพราะพยานโจทก์นายหนึ่งคือนายอุดม บุณยประกอบ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค ๕ ให้การว่า "ทางภาคใต้ ๔ จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก" ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า "ขณะใดที่มีการกล่าวถึงศาสนานั้น ก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย" เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น "การเมือง" ไปสิ้น รวมถึงใบปลิว จดหมาย และข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของรัฐไทย  ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญี    สุหลงให้จำคุกมีกำหนด ๗ ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ ๑ ใน ๒ เหลือจำคุกมีกำหนด ๔ ปี ๘ เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  ฮัจญีสุหลงถูกจำคุกเป็นเวลา ๔ ปีกับ ๖ เดือนก่อนที่จะถูกปล่อยในปี ๒๔๙๕ เขาเดินทางกลับปัตตานีและทำงานอาชีพเก่าต่ออีก นั่นคือการสอนหนังสือ "การสอนของเขามีคนมาฟังเป็นจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่า มีที่มาไกลถึงยะหริ่ง และปาลัส(อยู่ทางทิศตะวันตก)และบ่อทอง หนองจิก(อยู่ทางทิศเหนือ)" (11)

ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้ฮัจญีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทั้งหมดนั้นได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับมายังปัตตานีอีกเลย การสูญหายของฮัจญี    สุหลงและพวกไม่เคยสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพยาน ไม่มีการให้ความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจ      มีแต่ความรู้สึกกลัวที่หลอกหลอนสังคมปัตตานีเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของฮัจญีสุหลงและเพื่อน ๆ (12)

 

๑๔) บทสรุป

บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ"ด้วย ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยามที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน

บทความนี้มุ่งสร้างความ กระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐแต่ฝ่ายเดียว จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฎ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

จากการศึกษาในบทความนี้ เห็นได้ว่าผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย ต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี ๒๔๘๐ เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ(จะด้วยเหตุใดก็ตาม) และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง

ข้อแรกคือ การที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาดระแวง และกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครองของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มากนัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด

ข้อสองคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ทรรศนะเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นได้จาก ความเห็นของศาลเมื่อตัดสินว่าพฤติการณ์ของฮัจญีสุหลงในทางศาสนาและอื่น ๆ ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการไทยมองว่า การปฏิบัติหรืออ้างถึงศาสนาในฝ่ายมุสลิมนั้น แท้จริงแล้วคือมีจุดหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ

นักวิชาการอธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐว่ามาจากการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกัน ในทางเป็นจริงนั้น ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้น ขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่า เป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป

จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ(ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลาง เป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด

 

ภาคผนวก :-

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของปตานีและสยาม จากยุคโบราณถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
รวบรวมจาก อิมรอน มะลูลีม วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพ, สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, ๒๕๓๘) และ รัตติยา สาและ, การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (กรุงเทพ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔)

รัฐปตานี

- ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ศตวรรษที่ ๖) เมืองปตานีเริ่มส่งทูตและการค้าติดต่อกับอาณาจักรจีน

-  พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๗ นครรัฐปตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือแคว้นลังกาสุกะที่เป็นฮินดู-ชวาและพุทธมหายาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มเมืองศรีวิชัย

- พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ (ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) อาณาจักรปตานีนับถืออิสลาม ปฏิสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยที่เพิ่งก่อตั้ง ต่อมา เมืองมลายูปักษ์ใต้ถูกกำกับโดยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

- พ.ศ. ๒๐๔๓ - ๒๓๕๑ (ค.ศ.๑๕๐๐ - ๑๘๐๘) ราชอาณาจักรมลายู-อิสลาม ปตานี

- พ.ศ. ๒๓๓๒ - ๒๔๕๑ (ค.ศ.๑๗๘๙ - ๑๘๐๘) กบฏตนกูละมิดดิน รายาปตานี

- พ.ศ.๒๓๗๔ (ค.ศ.๑๘๓๑) ไทรบุรีก่อกบฏ ขยายไปทั่วเมืองมลายู

- พ.ศ. ๒๓๕๑ (ค.ศ ๑๘๐๘) กบฏดะโต๊ะปักลัน

- พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ.๑๘๓๒) ถูกปราบ สยามแบ่งแยกเป็นเจ็ดหัวเมือง

- พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๔๔๕ (ค.ศ.๑๘๐๘ - ๑๙๐๒) นครรัฐปตานีถูกแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง (ปตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา สายบุรี รามัน ระแงะ)

- พ.ศ. ๒๓๘๒ (ค.ศ. ๑๘๓๙) เมืองไทรบุรี เมืองกะบังปาสุ เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล

- พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ.๑๘๕๙) เมืองไทรบุรี เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล

- พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) มณฑลไทรบุรี

- พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๕ "กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง"

- พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๒ - ๑๙๐๖) ตั้ง "บริเวณ ๗ หัวเมือง"

- พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๗๖ (ค.ศ.๑๙๐๙ - ๑๙๓๓) จากสัญญาอังกฤษ มณฑลไทรบุรีประกอบไปด้วย รัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิสของสหพันธรัฐมาเลเซีย และเมืองสตูล (รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต)

- พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๐๖ - ๑๙๓๒) มณฑลปัตตานี (ปตานี ยะลา สายบุรี บางนรา)

- พ.ศ. ๒๔๗๕ - ปัจจุบัน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา รวมเป็นห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

- พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึงปัจจุบัน จังหวัดสตูล สยามประเทศไทย

- พ.ศ. ๑๖๙๖ (ค.ศ.๑๒๕๓) กองทัพมงโกลบุกถึงยูนนาน กำเนิดรัฐไททั้งหลาย

- พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ.๑๓๕๐) กำเนิดอยุธยา

- พ.ศ. ๒๐๐๓ (ค.ศ.๑๔๖๐) อยุธยามีอำนาจเหนือทวาย

- พ.ศ. ๒๑๐๖ (ค.ศ.๑๕๖๓) กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ

- พ.ศ. ๒๑๓๒-๗๖ กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าปราสาททอง

- พ.ศ. ๒๓๒๘ รัชกาลที่ ๑ โจมตีปัตตานี

- พ.ศ. ๒๓๗๔ กบฏไทรบุรี

- พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ.๑๘๙๙) รัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครองสยาม

- พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ.๑๙๐๑) ออกกฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ระบบเทศาภิบาล

- พ.ศ. ๒๔๕๐-๑ (ค.ศ. ๑๙๑๐)กบฏชาวบ้านปัตตานีสมัยรัชกาลที่ ๖

- พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สนธิสัญญาอังกฤษ

- พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ.๑๙๒๓) กระทรวงมหาดไทยออกสมุดคู่มือสำหรับปกครองในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลามขึ้น

- พ.ศ. ๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

- พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๑ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

- พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐" ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว ให้ใช้กฎหมายอิสลาม

- พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งแรก

- พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ยกเลิกข้อยกเว้นแต่เดิมสำหรับคนมลายูมุสลิม

- สิงหาคม ๒๔๘๗ - สิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ (๑)

- พ.ศ. ๒๔๘๘ พระราช กฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘

- กันยายน ๒๔๘๘ - มกราคม ๒๔๘๙ รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

- มกราคม ๒๔๘๙ - มีนาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลควงฯ (๒)

- มีนาคม ๒๔๘๙ - สิงหาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์

- สิงหาคม ๒๔๘๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

- ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐประหารโดยคณะทหารบก

- พฤศจิกายน ๒๔๙๐ - กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ตั้งรัฐบาลควงฯ (๓)

- ๑๖ มกราคม ๒๔๙๑ จับกุมฮัจญีสุหลง มลายูมุสลิมวางแผนบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไป

- กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ - เมษายน ๒๔๙๑ รัฐบาลควงฯ (๔)

- เมษายน ๒๔๙๑ - กันยายน ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยุค ๒)

- ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๔๙๑ เกิดจลาจลที่หมู่บ้านดุซงญอ นราธิวาส

- พ.ศ. ๒๔๙๕ ปล่อยตัวฮัจญีสุหลงหลังจากถูกพิพากษาจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน

- ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๗ ฮัจญีสุหลงหายสาบสูญไป หลังจากตำรวจสันติบาลเรียกไปพบที่สงขลา พร้อมกับลูกชายคนโต

 

 

 

 

 

ข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้

ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

REALPOLITIK BEFORE MINIMAL JUSTICE ความอิหลักอิเหลื่อของทางราชการและรัฐบาลเรื่องรับผิดชอบต่อกรณีผู้ชุมนุม ๘๕ คนเสียชีวิตที่ตากใบเป็นประเด็น REALPOLITIK หรือนัยหนึ่ง "การเมืองบนพื้นฐานความจริงหรือความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติของอำนาจ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือพวกพ้องแล้วแต่กรณี" มากกว่าจะเป็นประเด็นหลักการทางนิติธรรม ยุติธรรม หรือศีลธรรมเชิงอุดมคติใด ๆ

ในแง่หนึ่ง ท่ามกลางภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่ชายแดนภาคใต้ กองทัพอยู่แถวหน้าในการรับมือการก่อการร้าย ฉะนั้นจึงต้องพยายามตีวงจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบไว้ ไม่ให้กำลังพลเสียขวัญกำลังใจ

อีกแง่หนึ่ง ฝ่ายนำทางการเมืองผู้เป็นเจ้าของนโยบายส่งทหารเพิ่มกำลังจากต่างถิ่นลงไปประชิดกับมวลชนต่างชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ เพื่อแปรชายแดนภาคใต้ให้เป็นแบบทหารหรือแบบอิรัก (MILITARIZATION หรือ IRAQIZATION) จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมขึ้นนั้น ย่อมสามารถอาศัยเสียงข้างมากในประเทศเป็นเกราะกำบังตัวเองจากความรับผิดชอบเชิงนโยบาย ขณะเดียวกันก็แบ่งรับแบ่งสู้แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนในพื้นที่และประชาคมระหว่างประเทศ (ได้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซียในอาเซียน, กลุ่มประเทศอิสลาม, องค์กรและประเทศมหาอำนาจในระบอบพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสากล) เท่าที่พอจะหาผู้ถูกกะเกณฑ์ให้เสียสละมารับผิดได้  น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบที่ทางราชการและรัฐบาลแสดงออกต่อ        พลเมืองไทย ๘๕ ชีวิตที่สูญเสียไปจึงตกห่างจากความคาดหมายของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ และเครือข่ายมุสลิมในประเทศจนยากจะรับได้ ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองภายใต้อำนาจเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดยังคงดำรงอยู่ต่อ ซึ่งจะยิ่งเป็นเชื้อไฟให้มวลชนญาติมิตรของผู้เสียชีวิตอุกอั่งคับแค้น ไม่เห็นหนทางอื่นในการทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ เท่ากับไปสร้างขยายแนวร่วมทางอ้อมและทางตรงให้ผู้ก่อการร้ายอีก

ความยุติธรรมขั้นต่ำสุด (MINIMAL JUSTICE) ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและยอมอยู่ด้วยอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังไม่บังเกิด การก่อการร้ายต่อต้านรัฐยังคงจะถูกถือเป็นทางเลือก ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มอีก

THE SUCCESS & FAILURE OF PEACE BOMBS ปฏิบัติการนกกระดาษที่สถานีวิทยุ   บีบีซีเรียกว่า "PEACE BOMBS" ช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในระดับควบคุมได้ขึ้นมาในขอบเขตทั่วประเทศ และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ไว้จากความรู้สึกและรับรู้ของคนนอกพื้นที่, แต่มันย่อมไม่อาจบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เองลงไป, ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นซึ่งกลับตาลปัตรกันระหว่างระดับประเทศ (รัฐบาลได้ ส.ส. ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) กับระดับพื้นที่ (รัฐบาลได้ ส.ส. เพียง ๑ จาก ๕๔ ที่นั่งในภาคใต้) มีส่วนสะท้อนความจริงข้อนี้

RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER
เบื้องแรกสุด รัฐและสังคมไทยควรต้องคิดให้ชัดและแยกให้ออกว่าศัตรูคือ [ผู้ใช้วิธีก่อการร้าย ฆ่าฟันเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป้าหมายแยกดินแดน], ไม่ใช่ [ประชาชนมลายูมุสลิมที่ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติ เพื่ออำนาจปกครองตนเองในท้องถิ่น], ฝ่ายหลังเป็นมิตรและจะเป็นฐานพลังการรุกทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมืองภาคใต้ไปสู่สันติสุข

น่าเสียดายที่รัฐบาลยังจำแนกมิตร/ศัตรูไม่เป็น, คละเคล้าสับสนปนเป [ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล] เข้ากับ [ผู้เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้ายแยกดินแดน], ขับไสมิตร เพิ่มศัตรู, ไม่ว่าจะเป็นกรณีนกกระดาษที่นายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล (ชุดก่อน) ใช้การเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากการรณรงค์นี้มาขีดเส้นแบ่งจำแนกมิตร/ศัตรู, กรณีหน่วยงานข่าวกรองราชการบางหน่วยโยงนักวิชาการที่วิพากษ์ วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลและเรียกร้องวิถีมุสลิม-ปกครองตนเองว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้าย, กรณีนายกฯมีดำริจะใช้มาตรการแบ่งโซนพื้นที่มาเลือกปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนบ่งส่อกลุ่มอาการอำนาจนิยมเอียงขวาไร้เดียงสา (RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER) ตามอารมณ์ชั่วแล่นที่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อผู้ก่อการร้าย ความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิม สังคมไทยยังมองปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้และคนในพื้นที่แบบแยกส่วน โดยเห็นและเน้นแต่มิติทางศาสนาเรื่อง [ความเป็นมุสลิม], ไม่ค่อยเห็นและละเลยมิติทางชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์เรื่อง [ความเป็นมลายู] ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองส่วนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวแยกไม่ออกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทำให้ชุมชนมลายูมุสลิมมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากมุสลิมภาคอื่น การเลือกเข้าใจแบบไม่ครบถ้วนนี้สะท้อนออกในคำเรียกหาพี่น้องมลายูมุสลิมว่า "ชาวไทยมุสลิม" ตลอดเวลา, เรียกขานภาษา (language) ที่พวกเขาพูดว่า "ภาษายาวี" ทั้งที่เอาเข้าจริงเป็น "ภาษามลายู" ขณะที่ "ยาวี" เป็นชื่อเรียกอักขระหรือตัวอักษร (script หรือ alphabet) อาหรับที่พวกเขาใช้มาขีดเขียนภาษามลายูนั้น (เทียบกับมาเลเซียที่เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษามลายูแทน หรือเวียดนามที่เลิกใช้อักษรจีน เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษาเวียดนาม) เป็นต้น

การมองปัญหาที่เห็นแต่มิติศาสนา ละเลยมิติชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ ทำให้คับแคบ เห็นเฉพาะส่วน ประเมินต่ำ ผิดพลาด เบี่ยงเบน และอาจแก้ไม่ถูกจุดหรือไม่ครอบคลุมเพียงพอ

TRIPLE MINORITIES  ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชนส่วนน้อยมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธเท่านั้น เพราะถ้ามองอย่างลึกซึ้งกว้างไกลแล้ว มันเป็นสถานการณ์ TRIPLE MINORITIES หรือ ชนส่วนน้อยซ้อนกันสามชั้น ต่างหาก กล่าวคือ

ชั้นแรก) ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้

ชั้นสอง) ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ชั้นสาม) ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของฟิลิปปินส์
ความสลับซับซ้อนหลายชั้นดังกล่าวทำให้ต้องคำนึงถึง [สิทธิของคนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตย] ให้มากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายจำต้องคิดเผื่อคนอื่นในเรื่องนี้ เพราะหากฝ่ายอื่นได้ ฝ่ายเราก็จะได้ด้วย เนื่องจากทั้งเราและเขา, ทั้งมลายูมุสลิมและไทยพุทธ ก็เป็นชนส่วนน้อยเหมือนกัน มีฐานะและประสบปัญหาชะตากรรมละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่อยู่ในระดับต่าง ๆ กัน

เราควรยกระดับและเจาะลึกการคิดเรื่องสิทธิชนส่วนน้อยให้ลงไปในระดับชุมชนว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยภายในชุมชนพื้นที่ของเราอย่างไร? และขี้นไปในระดับภูมิภาคว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยในภูมิภาคอย่างไร? ได้เวลาที่ ASEAN จะต้องคิดเรื่องกฎบัตรสิทธิทางวัฒนธรรม (Charter of Cultural Rights) ในระดับภูมิภาคแล้ว ประชาธิปไตยกับการก่อการร้าย, ความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน ระบอบประชาธิปไตยควรจะรับมือการก่อการร้ายอย่างไร? เหมือนกันหรือไม่กับวิธีรับมือการก่อการร้ายของระบอบเผด็จการ?

คำถามนี้สำคัญเพราะประสบการณ์ในประเทศและสากลสองสามปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้าย โดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย นี่นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม เพราะมันเท่ากับว่าในกระบวนการปกป้องประชาธิปไตยไว้จากการก่อการร้าย เรากลับกำลังทำลายสิ่งที่น่าหวงแหนที่สุด ทรงคุณค่าคู่ควรแก่การปกป้องที่สุดในระบอบประชาธิปไตยลงไปกับมือของเราเอง ทว่าหากปราศจากเนื้อหาที่เป็นแก่นสารของประชาธิไตยเหล่านี้เสียแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงเรากำลังปกป้องอะไร? ปกป้องไว้จากใคร? เพื่อสิ่งใด?

ฉะนั้น เราจำต้องช่วยกันคิดค้นหาลู่ทางรับมือการก่อการร้าย ที่เชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับการธำรงรักษาและส่งเสริมประชาธิปไตย, ออกแบบวิธีเฉพาะตัวของประชาธิปไตยในการสู้ภัยก่อการร้าย, ผสมผสาน

๑) มาตรการทางการเมือง

๒) มาตรการความมั่นคง (ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการด้านการทหารและกฎหมาย) และ

๓) มาตรการทางการพัฒนา เข้าด้วยกัน ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่เหมาะสม ยืดหยุ่นพลิกแพลงตามภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เปลี่ยน แปลงไป, เพื่อนำระเบียบวาระต่อต้านการก่อการร้าย กับระเบียบวาระสิทธิมนุษยชนมาอยู่ร่วมในกรอบโครงเดียวกันให้     จงได้

แน่นอนว่าลำพังประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถกวาดล้างการก่อการร้ายให้หมดไป แต่มันก็สร้างบริบทเงื่อนไขที่ช่วยเหนี่ยวรั้งยับยั้งการก่อการร้ายไว้ ไม่ให้แผ่ขยายลุกลามและอาจนำไปสู่การเจรจาหาทางออกอย่างสันติได้ ในที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องผ่านช่วงการทดสอบฝ่าฟันอันเจ็บปวดยาวนานก็ตาม ดังประสบการณ์การยุติสงครามประชาชนระหว่าง รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสันติในอดีตเป็นตัวอย่าง ปมเงื่อนคงอยู่ตรงจะจัดวางบทบาทของกองกำลังทหาร-ตำรวจ กับหน่วยงานข่าวกรองของรัฐให้เหมาะสมไม่มากไม่เกินอย่างไร เพื่อสามารถทั้งรับมือการก่อการร้ายและเสริมสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมกัน?

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการก่อการร้าย หากยึดสภาพความจริงทางการทหารเป็นที่ตั้ง อาจวิเคราะห์ได้ว่ายุทธศาสตร์การก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นสงครามพร่ากำลังหรือ WAR OF ATTRITION กล่าวคือ ก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อย ๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อย ๆ, ถามว่าการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารในชายแดนภาคใต้หรือไม่? เมื่อไหร่? อย่างไร? คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการทหารที่สุดคือไม่และเป็นไปไม่ได้ ลำพังสงครามพร่ากำลังด้วยการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธี โดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่การรุกทางยุทธศาสตร์การทหารจนถึงขั้นยึดเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอก เพราะข้อจำกัดทางอาวุธยุทโธปกรณ์, ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารนั้น ต้องอาศัยอาวุธหนักประเภทรถถัง ปืนใหญ่ จรวดหรือปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งผลิตเองในป่าเขาหรือหมู่บ้านไม่ได้, อาวุธหนักขนาดนั้นผู้ก่อการร้ายไม่มี ต้องสั่งซื้อจากมหาอำนาจทางทหารภายนอกและลักลอบขนเข้ามา

ฉะนั้น ตราบใดที่ชายแดนภาคใต้ยังปิดต่อการขนส่งลำเลียงอาวุธหนัก รัฐบาลมาเลเซีย ไม่เปิดพรมแดนอำนวยความสะดวกเป็นทางผ่านให้ และกองทัพไทยยังสามารถผูกขาดอาวุธหนัก   ในมือ, ตราบนั้นชัยชนะทางการทหารของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนจะคาดหวัง และรอคอยมากกว่าชัยชนะทางการทหารคือชัยชนะทางการเมืองเมื่อรัฐบาลหลงกลพลาดพลั้ง

หากมองแง่นี้ การก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีแบบสงครามพร่ากำลังก็น่าจะทำขึ้นเพื่อยั่วยุให้รัฐบาล over-react หรือใช้กำลังตอบโต้เกินกว่าเหตุ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ส่งทหารลงไปเต็มพื้นที่ militarization ชายแดนภาคใต้ กระทั่งฝ่ายรัฐเลือดเข้าตาสติแตก ลงมือก่อการร้ายโดยรัฐเอง (state terrorism) เพื่อตอบโต้โดยไม่จำแนกผู้ก่อการร้ายกับประชาชนชาวมลายูมุสลิม ถึงจุดนั้นสถานการณ์ก็อาจพลิกผัน กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเชื้อชาติ-ศาสนา (racial or religious discrimination) เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แพร่ขยายลุกลามในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง (ethnic conflict) จนรัฐล้มเหลวในการธำรงรักษาหลักนิติธรรมและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง (failed state) แบบที่เคยเกิดขึ้นในบอสเนีย และโคโซโวในอดีตยูโกสลาเวีย, หรือดาร์ฟูในซูดานปัจจุบัน นี่ย่อมเปิดช่องให้มีการอ้างได้ว่าเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ขึ้น เพื่อที่มหาอำนาจของโลก, องค์การระหว่างประเทศและแนวร่วมกลุ่มประเทศอิสลามในภูมิภาคและสากล จะจัดส่งกองกำลังนานาชาติเข้ามาแทรกแซงรักษาความสงบ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน

ถ้าข้อวิเคราะห์ข้างต้นฟังขึ้น ก็จะพบว่าที่ผ่านมารัฐบาลและตำรวจ-ทหารสายเหยี่ยวหลงกลเดินตามยุทธวิธีของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนเกือบตลอด จนพลาดพลั้งทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า มาถึงจุดที่ประเทศอิสลามใน ASEAN เองคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย, องค์การการประชุมโลกอิสลาม (OIC - Organization of Islamic Conference) และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ-อเมริกา เริ่มลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลไทยในชายแดนภาคใต้ และยกประเด็นปัญหานี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

ในทางกลับกัน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยจะเป็นเดิมพันอันมีน้ำหนักคุณค่าสำคัญพอบนโต๊ะเจรจาแบ่งปันทรัพยากร และเขตอิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกที่จะให้พวกเขาเสี่ยงทุ่มต้นทุนอาวุธและชีวิตผู้คนเข้ามาเกี่ยวพันด้วย (หากเทียบกับจุดยุทธศาสตร์คับขันของโลกอย่างคาบสมุทรเกาหลี, ไต้หวัน, อ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง เป็นต้น)

ในกรณีที่ชายแดนภาคใต้ไม่สำคัญพอที่มหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซง, การก่อการร้ายพร่ากำลังเพื่อยั่วยุ VS การก่อการร้ายโดยรัฐเพื่อตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ้ามาก็บ้าไป ก็จะแข่งกันไต่บันไดขีดขั้นความรุนแรงขึ้นไปเป็นเกลียวอุบาทว์แบบมืดบอดไม่เห็นที่สิ้นสุด และชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็อาจจะล้มตายเปล่าเปลืองมากมาย

การแยกดินแดนกับการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป้าหมายและข้อเรียกร้อง "แยกดินแดน" (SECESSION) เป็นเสมือนประตูปิดตายที่ไม่เปิดช่องทางหรือพื้นที่ให้แก่การเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมปรองดองใด ๆ ระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่า "ดินแดน" (TERRITORY) ย่อมมีอยู่ผืนเดียว ถ้าไม่ติดเป็นปลายด้ามของขวานประเทศไทย ก็มีแต่แยกหลุดออกไปเป็นของคนอื่น, เมื่อเดิมพันถูกผูกติดกับอุปลักษณ์ (METAPHOR) เรื่อง "ดินแดน" และจินตนากรรมผ่านแผนที่ (A COMMUNITY OF PLACE THAT IS IMAGINED THROUGH MAPPING) ความขัดแย้งย่อมกลายเป็นเกมแพ้/ชนะเด็ดขาด ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ "ดินแดน" มา อีกฝ่ายก็ต้องเสีย "ดินแดน" ไป (ZERO-SUM GAME) เพราะผลประโยชน์ของสองฝ่ายที่ต่างก็อยากได้ "ดินแดน" นั้นมันขัดแย้งกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ มีแต่ต้องสู้กันแตกหักไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น แต่เอาเข้าจริง "แยกดินแดน" แปลว่าอะไร? สมมุติว่าเกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "ดินแดน" ผืนที่เป็นปลายด้ามขวานจะถูกบิแบะแยกออกแล้วยกย้ายไปตั้งไว้ต่างหากที่อื่นตรงไหน มันก็ยังจะติดตั้งอยู่ที่เก่านั่นแหละ เพียงแต่ตกอยู่ใต้สังกัดและการปกครองของอำนาจรัฐใหม่ ซึ่งมิใช่อำนาจรัฐไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่ผู้ก่อการคิดจะเปลี่ยนและแยกมิใช่ "ดินแดน" เท่ากับ "อำนาจรัฐ" (STATE POWER) พวกเขาต้องการรัฐที่จะพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา (A PROTECTIVE STATE), เป็นตัวแทนของพวกเขา, เป็นรัฐแห่งชาติปัตตานี-มลายู-มุสลิมของเขาเอง (THEIR OWN NATIONAL STATE)  ข้อเรียกร้องและเป้าหมาย "แยกดินแดน" จึงสะท้อนสิ่งที่ไม่มีหรือพวกผู้ก่อการรู้สึกว่าตัวหาไม่พบใน [รัฐไทย - ชาติไทย - และเศรษฐกิจทุนนิยมไทย] ปัจจุบัน กล่าวคือ: - พวกเขาเรียกร้องรัฐใหม่ของตัวเองก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนไม่ได้รับการพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ด้วยความเสมอภาคและยุติธรรมจากรัฐไทย ตำรวจไทย ทหารไทย เจ้าหน้าที่ราชการไทย และรัฐบาลไทย พวกเขาคิดฝันถึงชุมชนแห่งชาติของตัวเองบนผืนแผ่นดินของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ชาติไทยและความเป็นไทยของทางราชการ ไม่ได้ถูกจินตนากรรมมาให้เปิดกว้างและเป็นกลางทางภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์และศาสนา มากพอที่จะต้อนรับนับรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของคนอย่างเขา ให้เข้ามาร่วมรวมเป็นหนึ่งอย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลายของชุมชนชาติไทยอย่างแท้จริง พวกเขาพากันข้ามพรมแดนไปทำงานในมาเลเซียเป็นหมื่น ๆ ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมฟากไทยได้รุกล้ำฉวยใช้ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนท้องถิ่นของเขา บีบคั้นกดดันให้พวกเขาจำต้องเปลี่ยนหนทางทำมาหากิน และวิถีชีวิตอย่างเสียเปรียบและจนตรอก กระทั่งพวกเขาไม่สามารถดำรงชีวิตเศรษฐกิจที่มั่นคง พอเพียง ยั่งยืนและรักษาวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีทางเลือกได้

ฉะนั้น ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปรัฐไทย - ปฏิรูปชาติไทย - และปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมไทยทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะในชายแดนภาคใต้ให้บำบัดบรรเทาความเดือดร้อน และตอบสนองข้อเรียกร้องที่ถูกต้องชอบธรรมดังกล่าวข้างต้นของพวกเขา ในฐานะเพื่อนพี่น้องพลเมืองร่วมประเทศที่ไม่เหมือนกัน แต่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ใครจะต้อง "แยกดินแดน" และก่อการร้ายฆ่าฟันกันเพื่อสิ่งนั้นอีก พูดให้ถึงที่สุด ปัญหาก่อการร้าย "แยกดินแดน" ชายแดนภาคใต้จึงเกิดจากจุดอ่อน ข้อบกพร่องและความไม่เป็นธรรมของรัฐไทย, ชาติไทยและเศรษฐกิจทุนนิยมไทยดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ ฉะนั้นมันจะแก้ไขได้ก็แต่โดยการปฏิรูปรัฐไทย - ชาติไทย – เศรษฐกิจทุนนิยมไทยครั้งใหญ่เท่านั้น  ที่น่าคิดยิ่งคือ ข้อเรียกร้องปฏิรูปเหล่านี้ก็สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยทั่วไปของประชาชนไทยทุกเชื้อชาติศาสนา และเป็นความต้องการขององค์กรชาวบ้านหลายกลุ่มหลายฝ่าย ในขบวนการเมืองภาคประชาชนทั่วประเทศด้วย, การผลักดันเปลี่ยนแปลงแนวทาง "แยกดินแดน" ให้กลายเป็นแนวทาง "ปฏิรูปรัฐไทย-ชาติไทย-ทุนนิยมไทยครั้งใหญ่" จะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายให้กลายเป็น การต่อสู้ผลักดันทางการเมืองอย่างสันติวิธี, เปลี่ยนขบวนการทำลายคนอื่นและทำลายตัวเองของชนกลุ่มน้อยให้กลายเป็น ขบวนการสมานฉันท์สร้างสรรค์ร่วมกันของผู้คนส่วนใหญ่     ทั่วประเทศ, และเปลี่ยนสภาวะจุดอับ ZERO-SUM GAME ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายต้องเสีย        ให้กลายเป็น WIN-WIN SITUATION สำหรับทุกฝ่ายเอาชนะการก่อการร้ายด้วยการรุกทางการเมือง การรุกทางการเมืองด้วยการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจและปกป้องคุ้มครองสิทธิระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนมากกับชนส่วนน้อยด้วยกันเอง จึงเป็นกุญแจหัวใจที่จะเอาชนะการก่อการร้ายแยกดินแดนภาคใต้ด้วยการเมือง เพราะไม่มีการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธของมวลชนแห่งใดในโลกที่ถูกพิชิตได้ด้วยการทหารล้วน ๆ มีแต่ต้องเอาชนะกันด้วยการเมืองทั้งนั้น

นอกจากนั้น การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองท้องถิ่นของชายแดนภาคใต้ ยังเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันของชุมชนทุกชาติพันธุ์ ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศด้วย เพราะรัฐที่นิยมอำนาจรวมศูนย์แบบ CEO เป็นปัญหาของคนไทยทุกพื้นที่ในการพัฒนา ด้วยการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรและรวบอำนาจตัดสินใจของคนในพื้นที่, ในกรณีชายแดนภาคใต้ ลักษณะเฉพาะและสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นมิติที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งควรคำนึงแบบครอบคลุมทั้งคนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ และชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธในพื้นที่ด้วย

วิพากษ์ขบวนการก่อการร้ายและคำถามเรื่องอำนาจปกครองตนเองท้องถิ่น
กระบวนการเสวนาสาธารณะในสังคมการเมืองไทย เพื่อการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ควรต้องทำควบคู่กันไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการก่อการร้าย พูดอย่างตรงไปตรงมา ขบวนการก่อการร้ายเป็นองค์การกึ่งรัฐ (QUASI STATE) ที่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารและข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่าง, คนที่ถูกถือเป็นพวกอื่นและผู้บริสุทธิ์เยี่ยงศาลเตี้ย เลือกปฏิบัติและเลือกฆ่าคนบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์ อันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผลกระทบรุนแรงร้ายกาจของมันในสายตาและความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อและญาติมิตร ย่อมไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะประสบกับการก่อการร้ายโดยขบวนการในนาม "เพื่อการปลดปล่อย" และ "ญิฮาด", หรือประสบกับการก่อการร้ายโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง "เพื่อปราบโจร" แล้วอำนาจรัฐประเภทใดเล่าที่ขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนในนามศาสนามุ่งจะสถาปนาขึ้นมา? มันจะเป็นรัฐเทวาธิปไตย (THEOCRATIC STATE) ที่ยึดศรัทธาศาสนาหนึ่งเป็นที่ตั้ง หรือรัฐโลกวิสัย (SECULAR STATE) ที่ถือหลักเป็นกลางและเปิดกว้างทางศาสนา? เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนาจะมีหรือไม่? และอยู่ตรงไหน? ในเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ขึ้นชื่อว่ารัฐแล้วย่อมเป็นเรื่องของการบังคับขับไส (COERCION) ในขณะที่กิจทางศาสนาโดยแก่นแท้แล้วเป็นเรื่องของใจสมัคร (VOLITION)

ในอีกแง่หนึ่ง การปฏิรูปการเมืองชายแดนภาคใต้เพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีหลักประกันว่าอำนาจปกครองเสียงข้างมากของชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นที่จะสร้างขึ้น (MAJORITY RULE) จะเคารพสิทธิของชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธ (MINORITY RIGHTS), อำนาจนั้นจะไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม ไม่ทำซ้ำความผิดพลาดที่รัฐชาตินิยมคับแคบของไทยเคยทำต่อคนมลายูมุสลิม และชนเชื้อชาติศาสนาส่วนน้อยอื่น ๆ, เป็นองค์กรปกครองโลกวิสัยที่จะไม่ยัดเยียดข้อปฏิบัติพิเศษเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งต่อประชากรนานาศาสนิกทั้งหมด


ทฤษฎี

ความคิดเห็น
guest profile guest
อ่านแล้วบางส่วนถูกบิดเบือนความจริง??????


ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

rtarta044357123 Icon เทิดพระเกียรติ 2 อ่าน 208 4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
thawanrat21636 Icon ถวายพระพรพระราชินี อ่าน 1,092 10 ปีที่ผ่านมา
10 ปีที่ผ่านมา
tank16 Icon เรารักพระเจ้าอยู่หัว 7 อ่าน 1,740 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
tank16 Icon ในหลวงของเรา 4 อ่าน 14,876 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
tank16 Icon โครงการ คนไทยไม่ทิ้งกัน 2 อ่าน 1,227 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
tank16 Icon ช่วยเหลือภัยแล้ง อ่าน 806 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon โพสต์ข้อความเฉลิมพระเกียรติฯ 7 อ่าน 1,287 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon โพสต์ข้อความเฉลิมพระเกียรติฯ 2 อ่าน 815 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ทำเนียบผู้บังคับบัญชา อ่าน 995 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon โพสต์ข้อความเฉลิมพระเกียรติฯ 2 อ่าน 977 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา