เศรษฐศาสตร์อิสลาม

guest profile image guest
ท่าน ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับระบบการเงินการธนาคารอิสลาม (Islamic Finance) Islamic Finance นั้นยังถือว่าใหม่อยู่สำหรับโลกของเรา ระบบนี้ได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง แต่ถือได้ว่าอัตราการเติบโตของ Islamic Finance นั้นสูงมาก ประเทศไทยของเราเองก็มี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนกำลังเฝ้าดูอยู่คือ Islamic Finance นั้นจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้หรือไม่ การที่เราจะตอบคำถามนี้ได้ส่วนหนึ่งเราคงจะต้องเข้าใจ ระบบ Islamic Finance เสียก่อน และการเริ่มต้นนั้นก็คงต้องศึกษาไปที่วิชาเศรษฐศาสตร์ ระบบ Islamic Financeและเศรษฐศาสตร์อิสลาม (Islamic Economics) มีทั้งข้อเหมือนและต่างจากระบบของตะวันตก (Conventional System) หรือระบบทุนนิยม (Capitalism) ผู้เขียนเองและคนในแวดวง Islamic Finance จำนวนไม่น้อยต่างมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าโลกของเราได้นำหลักการของอิสลามนี้ไปใช้อย่างเคร่งครัด ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินจำนวนมากในทุกวันนี้คงจะไม่เกิดขึ้นหรือถ้าเกิด ผลกระทบก็น่าจะน้อยกว่าที่เป็นอยู่
 
หนึ่งในรูปแบบของระบบทุนนิยมที่แพร่หลายทั่วโลกทุกวันนี้ก็คือดอกเบี้ยในระบบ เศรษฐกิจและการเงินการธนาคาร การทำงานของดอกเบี้ยนั้น อธิบายด้วยตัวอย่างง่ายๆ คือว่ามีนักลงทุนมาขอกู้เงินจากธนาคารไปลงทุน ไม่ว่าผลของการลงทุนนั้นจะไปได้ด้วยดีมีกำไร หรือล้มเหลวขาดทุน นักลงทุนยังคงจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยคืนแก่ธนาคารธนาคารเองจะไม่รับรู้ผลของ กำไรหรือร่วมแบกรับการขาดทุนนั้น หลักการอิสลามของเราได้ห้ามการทำการค้าการลงทุนในรูปแบบนี้ เราส่งเสริมให้มีการร่วมแบ่งกำไรและรับผิดชอบการขาดทุนระหว่างเจ้าของเงิน ทุน(ในที่นี้ธนาคาร) และนักลงทุน (Profit and Loss Sharing) หรือที่ฝรั่งเขาพูดกันว่า “no risk, no return” (อาหรับเรียกว่า al ghorm bil ghonm)

อิสลามได้กล่าวถึงผลเสียของระบบดอกเบี้ยว่าก่อให้เกิดการกระจุกตัวของเงินอยู่ ในมือของคนส่วนน้อยก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม และเป็นการสร้างชนอีกชั้นหนึ่งที่ร่ำรวยมหาศาลหรือที่เรียกว่า พวกนายทุน ระบบดอกเบี้ยนั้นยังก่อให้เกิดผลเสียทางอ้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคดโกงการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินนั้นโดยไม่คำนึงถึง ผู้อื่นและสังคมโดยรอบข้าง ตัวอย่างที่สำคัญคงจะดูได้จากคดีสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา Enron และ Worldcom ที่มีการตกแต่งทางบัญชี หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้าน IT ของอินเดีย Satyam เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ระบบทุนนิยมนั้นสามารถกล่าวได้อีกอย่างว่าใช้หลัก “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ในทางกลับกัน ระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามถึงแม้ทุกคนจะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม เศรษฐศาสตร์อิสลามยึดหลักความเป็นพี่น้องของมุสลิมทั่วโลก เราส่งเสริมในเรื่องของสวัสดิการที่ทุกคนในสังคมควรจะได้รับเพื่อความเติบโต ก้าวหน้าของสังคมประเทศชาติอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม เพราะฉะนั้น อิสลามจึงห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะให้มีการใช้รูปแบบของดอกเบี้ยในการทำการค้า การลงทุน

ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมหรือปัญหาการกระจายรายได้ถูกมองว่าเป็นผลเสียที่ ชัดเจนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะสายการพัฒนา (Development Economics) ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้และถือได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของงานวิจัย จำนวนมากที่ต้องการหาวิธีการแก้ไขและทางออก

อิสลามคัดค้านการผูกขาดทางเศรษฐกิจ แต่สนับสนุนความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สำหรับทุกภาคส่วนของสังคม อิสลามส่งเสริมให้ทุกคนขยันทำงาน หาความรู้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของตนเองและครอบครัว หากว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายอย่างเดียวสำหรับชีวิตนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากต่างใช้ GDP per Capita หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว เพื่อบ่งบอกว่าประเทศพัฒนามากน้อยเพียงใดผู้เขียนมีความเห็นว่า GDP per Capita นั้นไม่เพียงพอที่จะบ่งบอกระดับของการพัฒนาเพราะเป็นการมองเพียงด้านวัตถุ ประชาชนของประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วจำนวนมาก ซึ่งมีรายได้สูงแต่ทำไมไม่มีความสุข มีปัญหาการหย่าร้าง ฆ่าตัวตาย และปัญหาทางสังคมจำนวนมาก ในทางกลับกัน ได้มีการสำรวจวิจัยมาแล้วว่าประเทศเล็กๆ อย่าง ภูฏาน หรือ ประเทศที่ได้ชื่อว่ารายได้น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างบังคลาเทศ กลับมีระดับความสุขมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเราคงจะต้องถามตัวเองแล้วว่า เป้าหมายในชีวิตนี้คืออะไรกันแน่ เราจะอยู่กันเพียงเพื่อโลกนี้หรือเพื่อโลกหน้า

ในมุมของอิสลามแล้ว สินทรัพย์ของทุกคนนั้นถือว่าเป็นของพระเจ้า มนุษย์มีหน้าที่เพียงดูแลสินทรัพย์เหล่านั้นและใช้ไปในหนทางของพระเจ้าเพื่อ ประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสินทรัพย์มากกว่าหรือพูดง่ายๆ ว่าร่ำรวย ก็จะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย อิสลามยังให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นด้วยว่าถูกต้องตาม หลักการของอิสลามหรือไม่ไปโกงมาหรือเบียดเบียนใครมาหรือเปล่า

ในระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม สินทรัพย์และเงินทองคงจะไม่อยู่นิ่งในกระเป๋าของใครเป็นแน่ เพราะอิสลามได้ใช้ระบบซะกาตเข้ามาช่วยให้สินทรัพย์เหล่านั้นหมุนเวียนไปใน ทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนยากคนจน คนที่ได้รับความเดือดร้อน ซะกาตและระบบการค้าการลงทุนแบบ Profit and Loss Sharing นี่เองที่จะช่วยให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้บรรเทาลงสังคม มีความรักความปรองดองเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ผู้เขียนเองก็มีความเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นรูปแบบการจัดการซะกาตในระดับชาติ สำหรับประเทศไทยในเร็วๆ นี้

นี่เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างนี่เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างระบบ เศรษฐกิจแบบอิสลาม แบบทุนนิยมและแบบสังคมนิยม (Socialism) ระบบทุนนิยมนั้นสินทรัพย์เป็นของผู้ที่หามาได้ จะหามาอย่างไร จะใช้สำหรับอะไร ทุนนิยมนั้น ไม่ใส่ใจ คนรวยก็รวยไป คนจนก็ช่างมันสำหรับระบบสังคมนิยม (ก่อนสงครามเย็นจะพบได้ในสหภาพโซเวียตและประเทศบริวาร จีน, เกาหลีเหนือ, เวียดนามเหนือ,ลาว ฯลฯ) ไม่มีใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือธุรกิจต่างๆ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จะจัดการแบ่งสินทรัพย์เหล่านั้นแก่ทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกันเอง ฟังดูผิวเผินเหมือนจะดี ลองนึกดูสิว่าหากคุณทำงานหนักด้วยความพากเพียร แต่ทุกสิ่งที่คุณหามาได้ต้องตกเป็นของรัฐ คุณจะมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเอง ทำงานหนักอีกต่อไปหรือไม่

โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม ในมุมมองของผู้เขียน ถึงแม้จะไม่หวือหวา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงลิ่ว แต่ระบบเศรษฐกิจจะมั่นคง แม้ทุกคนจะได้รับสิ่งต่างๆ ตามที่ตนหามาได้ สังคมจะมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง ผู้คนจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น โลกโดยรวมจะมีความสุขมากขึ้นเพราะปัญหาต่างๆ ทางสังคมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้จะน้อยลง ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าในระบบเศรษฐกิจนั้นไม่มีดอกเบี้ย แต่ใช้ Profit and Loss Sharing แทนมีการนำหลักการของซะกาตมาบังคับใช้ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือทุกคนต่างทำทุกอย่างโดยระลึกถึงพระเจ้าและ ผู้คนรอบข้างในสังคมที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยกว่าตนเอง

ที่มา:วารสารสุขสาระ
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

PariSaha Icon เขียน resume แบบไหนแล้วไปไม่รอด อ่าน 481 6 ปีที่ผ่านมา
6 ปีที่ผ่านมา
6 ปีที่ผ่านมา
6 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
7 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา