ประวัติอำเภอสะเมิง

teawsamoeng profile image teawsamoeng

อำเภอ สะเมิง


 เมื่อประมาณ 200 ปี ที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2250 – 2350 ดินแดนแห่งนี้เป็นป่าใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยจตุบาทนานาชนิด และมวลหมู่แมกไม้นานาพันธุ์ซึ่งกาลครั้งนั้นอาณาจักรล้านนาแทบจะลุกเป็นไฟ ด้วยภัยสงคราม เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างแว่นแคว้นต่าง ๆ 

        ในราชอาณาจักร การขยายอำนาจของพม่าเป็นการศึกที่สู้รบกันอย่างรุนแรงและยาวนาน ทั้งยังเกิดการจราจลในเมืองเชียงใหม่ สถานการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านเดือดร้อน    จึงต่างอพยพหลบหนีภัยสงคราม บ้างหนีเข้าป่าไปตายเอาดาบหน้าชาวไทยลื้อและกะเหรี่ยงได้อพยพหลบหนีภัย สงครามเข้าป่าขึ้นเขามายังดินแดนแห่งนี้ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน ดงช้างแก้วพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศาลา และพวกที่สามตั้งถิ่นฐานอยู่ที่     บ้านแม่สาบ (จากคำบอกเล่าของอาจารย์ไกรศรี  นิมมานเหมินทร์ นักโบราณคดีเมืองเหนือ) และไทยลื้อบ้านแม่สาบ อพยพเข้ามาอยู่สะเมิงประมาณ พ.ศ. 2324

         คำว่า “สะเมิง” ได้กำเนิดขึ้นจากคำว่า “สามเมิง” ตามสำเนียงภาษาไทยลื้อ     ที่เรียก “เมือง”  ว่า “เมิง” ดังนั้น คำว่า “สามเมิง” ตามความหมายก็คือ คำที่มาจากการตั้งถิ่นฐานทั้งสามบ้าน สามเมือง นั่นเอง บางท่านสันนิษฐานว่ามาจากภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีความหมายว่า “แสงสว่าง”

        อำเภอสะเมิง ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2445 ขึ้นตรงต่อจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภออยู่ได้ 35 ปี ทางราชการเห็นว่าอำเภอสะเมิงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร     ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวกและการควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง จึงยุบฐานะเป็น “กิ่งอำเภอสะเมิง” เมื่อ พ.ศ. 2480 และต่อมาได้ยกฐานะเป็น “อำเภอสะเมิง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2501 จนถึงปัจจุบัน

         อำเภอสะเมิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนสาย 1096      ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 51 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 801 กิโลเมตร บริเวณละติจูด 18 ถึงละติจูด 19 องศาเหนือ และลองติจูด 98 ถึงตองติจูด 98 องศา 36 ลิปดาตะวันออก พิกัด M.A. 721 838 (ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ)  มีเนื้อที่ประมาณ 1,002 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 626,250 ไร่  พื้นที่      ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ประมาณ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด  มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำขาน และแม่น้ำสะเมิง

 ลักษณะภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส และต่ำสุด            8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 22 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 114 มม./ปี โดยวัดปริมาณน้ำฝน    สูงสุด 166 มม./ปี ต่ำสุดระหว่างเดือน กรกฎาคม – ตุลาคม

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ                ติดต่อกับอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทิศ ใต้                    ติดต่อกับอำเภอแม่วาง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก         ติดต่อกับอำเภอแม่ริม อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก           ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แหล่งน้ำธรรมชาติ :  ลำน้ำแม่สาบ, ลำน้ำแม่ขาน, ลำน้ำแม่สะเมิง
อุทยานแห่งชาติ/วนอุทยาน/ป่า :  อุทยานแห่งชาติขุนขาน
อื่น ๆ :  ถ้ำหลวงแม่สาบ ตั้งอยู่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลสะเมิงใต้, ถ้ำหลวงขุนสาบ    ตั้งอยู่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลแม่สาบ, ถ้ำหนองหล่ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลสะเมิงใต้, ถ้ำป้อดกบ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลสะเมิงใต้, ถ้ำปากหงาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลสะเมิงใต้, น้ำพุร้อนโป่งกวาว  ตั้งอยู่   หมู่ที่ 3 ตำบลสะเมิงเหนือ, น้ำพุร้อน ริมน้ำแม่โต๋ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อแก้ว, น้ำตกนาเปอะ   ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สาบ, น้ำตกนางคอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลสะเมิงใต้, น้ำตกบ่อแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อแก้ว,  น้ำตกแม่ขะปู ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อแก้ว , น้ำตกห้วยตาด หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สาบ, น้ำตกตาดครก ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลแม่สาบ, น้ำตกจุมใจ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลยั้งเมิน

เว็ปไซตอำเภอสะเมิง www.amphoesamoeng.com


ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

teawsamoeng Icon ประวัติอำเภอสะเมิง อ่าน 4,189 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา