เศรษฐกิจพอเพียงนำสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

biotechnology  profile image biotechnology

เศรษฐกิจพอเพียงนำสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

หลักเศรษฐกิจพอเพียงนำประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
(เดลินิวส์ออนไลน์ 29 พ.ย.52)

en260.jpg

 


กระแสตื่นตัวในภาวะโลกร้อนกำลังเข้มข้นขึ้น แม้กระทั่งสหรัฐที่มีท่าทีแข็งกร้าวมาตลอดยังยืนยันว่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 14 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า
   
ล่าสุดมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์  ร่วมด้วยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริติชเคานซิล ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
   
ตลอดเวลา 30 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตบนทางสายกลางแก่พสกนิกรชาวไทย โดยยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันควรได้รับการส่งเสริมควบคู่กัน เพื่อเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
   
มร.ควินทัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า อีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า ปัญหาโลกร้อนจะเป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศ จากการศึกษาล่าสุด ในเรื่อง ภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิจ    ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย หรือเอดีบี พบว่าประเทศไทยและประเทศอื่น ๆได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ คาดการณ์ว่า พ.ศ. 2643 อุณหภูมิของโลกอาจปรับตัวสูงขึ้น 4.8 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2533 ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 70 เซนติเมตร อากาศจะมีความแห้งแล้งสูง  ส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวในภูมิภาคลดลงถึงร้อยละ 50 ผลกระทบในเชิงลบเหล่านี้อาจเทียบเท่ากับ การสูญเสียรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ในปี พ.ศ. 2643 ถึงร้อยละ 6.7 นอกจากนั้นการศึกษายังพบว่าปัญหาโลกร้อนยังส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น
   
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนทั้งหมดเกิดจากคน ที่มีความโลภ ส่งผลให้คนที่อยู่แต่ละซีกโลกได้รับผลกระทบเท่า เทียมกัน ในอนาคตผลกระทบทางทรัพยากรที่จะตามมามี 3 ภาคได้แก่ ป่าไม้ เกษตรกรรม ประมง ซึ่งเป็นแหล่ง อาหารทั้งสิ้น คาดการณ์กันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีประชากรขาดอาหาร 1-2 พันล้านคน ขณะที่ภายในอีก 20 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านคน ดังนั้นกลไกที่จะเริ่มแก้ปัญหาโลกร้อน ต้องทำให้คนพ้นจากความหิวโหย ซึ่งขณะนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ องค์กรใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากมติครม.มาเมื่อไม่นานนี้ โดยมีเป้า หมายนำโครงการพระราชดำริมาแก้ปัญหาในทุก ๆ ด้าน  ดังตัวอย่างที่เริ่มทำในตอนนี้ กำลังเริ่มต้นใน 3 อำเภอ ใน จ.น่าน ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ท่าวังผา และ อ.สองแคว เนื่องจากทั้ง 3 อำเภอชาวบ้านรุกพื้นที่ป่า 200,000 ไร่ เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่มูลนิธิเข้าไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน นำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาทำนาขั้นบันได โดยนำโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทำนาขั้นบันไดสำเร็จมาผสมผสานกับแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทำนาสำเร็จใน เชียงใหม่ บนพื้นที่บนดอยสูง ซึ่งเคยเกิดปัญหาคล้ายกัน ชาวเขาปลูกฝิ่นเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวกิน ขณะที่เก็บฝิ่นไว้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อนำมาทำยารักษาโรค เพราะพื้นที่ทุรกันดารไม่มีหมอ แต่ในหลวงมีแนวพระราชดำริให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวแทนปลูกฝิ่น เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านที่ จ.น่านต้องรุกป่าเพื่อความอยู่รอดในการใช้ชีวิต ซึ่งเราทำงานตามแนวพระราชดำริที่ต้องการให้คนมีอาหารก่อน ปลูกข้าวโพดกินไม่ได้ แถมยังถูกกำหนดราคาโดยคนกลาง แต่ปลูกข้าวสามารถเพิ่มผลผลิตได้ จากเดิมชาวบ้านทำนาปีเดียวได้ข้าว 17 ถังต่อไร่เพราะไม่มีน้ำ แต่มูลนิธินำปราชญ์ชาวบ้าน แต่ละพื้นที่มาร่วมพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านใน จ.น่าน ได้แนวทางว่าจะต่อน้ำขึ้นไปเพื่อทำนาขั้นบันได คำนวณว่าจะผลิตข้าวได้ 50 ถังต่อไร่ ในปี 1 ปีทำนาได้ 2 ครั้ง เท่ากับ 100 ถังต่อไร่ ในขณะที่วันนี้ ข้าวราคาดีวันดีคืน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่ชาวบ้านต้องรุกป่า นี่คือการทำงานรักษาป่า เหมือนที่สมเด็จย่าทำไว้ที่ดอยตุง และเป็นโครงการพระราชดำริที่ในหลวงทำมาแล้ว 40 ปี นำป่ากลับคืนมาได้ แต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้
   
“ในปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาไม่ส่งออกข้าวโพด เพื่อเก็บไว้ทำแก๊สโซฮอล์ ปรากฏว่าชาวบ้านถางป่าเพิ่มขึ้นเพื่อปลูกข้าวโพดไม่เฉพาะประเทศไทยแต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจอปัญหาเดียวกัน”
   
โครงการนาขั้นบันไดใน จ.น่านกำลังเริ่มต้นด้วยการปรับพื้นที่  ซึ่งขณะนี้มีคนที่สนใจเข้าไปดูงานจำนวนมาก  และงานครั้งต่อไปของมูลนิธิคือการนำโครงการแก้มลิงมาจัดการปัญหาเรื่องน้ำในแต่ละภูมิภาคโดยใช้ การผสมผสาน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น เหมือนกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานที่จะทรงพกแผนที่ไปทุกหนทุกแห่ง พระองค์ทรงรู้เส้นทางของน้ำในพื้นที่นั้น ๆ เป็นอย่างดี  
   
เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บอกอีกว่า ส่วนหนึ่งน้ำท่วมภาคกลางมาจากน้ำเหนือ จากแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน 45 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมาจาก แม่น้ำน่าน ถ้าไม่ทำที่น่านจะไปทำที่ไหน
   
ด้าน  ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร นักวิชาการจากบัณทิตวิทยาลัยร่วมด้านสิ่งแวดล้อมม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้วนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ว่า ตัวอย่างของชุมชนบ้านเปร็ดใน จ.ตราด มีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นลดโลกร้อน โดยนำกิ่งไม้ในสวนผลไม้ที่ตัดสางทิ้งแล้วทุกปีมาเผาถ่านโดยทำเตาเผา 12 เตา สามารถ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ที่ 39 ล้านตัน ที่ไม่ต้องใช้แก๊สมาใช้ประกอบอาหาร นอกจากนี้ตัวอย่าง ของชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท ใน จ.ชุมพรเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำธุรกิจลดภาวะโลกร้อน
   
เห็นภาพชัดเจนว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงนำพาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ เท่ากับคนไทยเริ่มแล้วเป็นอีกประเด็นที่ควรนำเสนอในที่ประชุมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะเริ่มต้นในระยะอันใกล้นี้
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
biotechnology  Icon การจัดตั้งธนาคารขยะ อ่าน 583 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา