รอยต่อที่ไม่ยอมติด

wach10 profile image wach10

เรื่องสั้นที่เคยลงพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย..มีเยอะมาก

เลือกอ่านได้ตามสบาย นะจ๊ะ


http://www.sakulthai.com/ruengson/ruengsonold.htm


รอยต่อที่ไม่ยอมติด ฉบับ 2609



พี่วัช...จ้า
ความคิดเห็น
wach10 profile wach10

เรื่องสั้น ฉ. ๒๖๐๙

"รอยต่อที่ไม่ยอมติด"

โดย สุมาลี โฆษิตนิธิกุล

           

            “ยุคปฏิรูปการศึกษา คุณภาพการเรียนของเด็กนักเรียนทุกคน ต้องได้มาตรฐานในระดับโลก ต้องมียุทธศาสตร์ในการทำงาน ตอนนี้เป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง ครูต้องปรับเปลี่ยน...” เสียงก้องกังวานของผู้บริหารวัย ๔๐ ปีเศษ ที่นั่งเป็นสง่าน่าเกรงขามอยู่บนหัวโต๊ะของที่ประชุม โดยมีครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชาจดหัวข้อประชุมอย่างตั้งอกตั้งใจ ผู้บริหารพูดถึงความคาดหวังที่จะให้ครูทุกคนได้มีบทบาทร่วมในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำพาโรงเรียนเข้าสู่มาตรฐานระดับประเทศและระดับโลก...จนกระทั่งมีการสรุปตอนท้ายว่า “เรามีครูทั้งหมด ๑๖ คน จบปริญญาตรี ๑๕ คน ยกเว้น...ครูบุญมี” สายตาทุกคู่จ้องมาที่ครูบุญมี ซึ่งอาวุโสสูงสุด ผมสีขาวดอกเลาตัดกับใบหน้าที่มีผิวสีดำคล้ำ ยิ่งเน้นให้เห็นความชราเพิ่มมากขึ้น

            “ปีนี้อายุเท่าไรแล้ว...พี่บุญมี” อาจารย์ใหญ่เอ่ยถามขึ้น

            “๕๖ ปี ครับผม” เสียงตอบที่แสดงความนอบน้อมต่อผู้บริหาร

            “วุฒิพี่ก็แค่ครู พ.ม.เท่านั้น ไม่มีปริญญาตรีก็จะอยู่ลำบาก พี่ต้องไปเรียนเพิ่มวุฒินะพี่” ครูทุกคนหันมามองหน้าครูบุญมี บ้างก็ส่ายหัว บ้างก็นั่งอมยิ้มหรือสบตากันเหมือนจะรู้คำตอบที่ตรงกัน

            หลังจากการประชุมเลิกแล้ว ครูบุญมีก็ปั่นจักรยานคู่ชีพคันเก่าไปตามถนนลูกรัง เสียงยางที่บดผ่านดินและหินที่เป็นก้อนเล็กๆ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ส่งผลถึงน๊อตเก่าที่ยึดบังโคลนของล้อจักรยานบางตัวหล่นหาย หรือที่มีอยู่ก็เก่าจนหลวม ทำให้บังโคลนเหล็กเกิดการเสียดสีกันดังโครมครามเป็นจังหวะไปตลอดทาง ฟังดูเหมือนคนเคาะกะละมัง ชาวบ้านละแวกนั้นไม่ต้องหันมามองก็รู้ว่าครูบุญมีมาแล้ว

            “ครูบุญมี ทำไมกลับเย็นจังวันนี้” เสียงชาวบ้านร้องถามกันตลอดเส้นทาง

            “ประชุมใหญ่ ปวดหัวมาก เรื่องใหญ่จริงๆ” ชาวบ้านได้รับคำตอบที่เหมือนๆกันทุกคน ต่างก็สงสัยว่าวันนี้ครูบุญมีพูดจาพิลึก เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเรื่องใหญ่ของครูบุญมีนั้นมันคืออะไร

            บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่สร้างโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา คือบ้านที่เป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคน จนกระทั่งถึงรุ่นของครูบุญมีที่ได้ครอบครองสมบัติที่เป็นผืนนาร่วม ๑๕ ไร่ ครูบุญมีเติบโตมาท่ามกลางกลิ่นโคลนสาบควาย แต่โชคดีที่เป็นลูกชายโทน พ่อแม่จึงส่งเสียให้เรียนครูในระดับ ปกศ.ภาคค่ำ เมื่อจบออกมาก็ด้บรรจุที่โรงเรียนในหมู่บ้าน และใช้ความรู้ความสามารถสอบเลื่อนวิชาชีพครูได้วุฒิ พ.ม. ซึ่งในสมัยนั้นก็นับว่าโก้ไม่เบา มีสาวๆแวะเวียนเข้ามาให้เลือก แต่พ่อกับแม่เกิดชอบสาวน้อยชื่อบุญมาลูกผู้ใหญ่บ้าน แม่บอกว่า “จะมีเมียทั้งที ต้องให้มันขยันทำไร่ทำนา ผู้ใหญ่ก็มีที่นาติดกับเราเกือบ ๑๐ ไร่ แม่บุญมาก็เป็นลูกสาวเดียว ที่นาจะไปไหนเสีย รวมกับของแกแล้วก็ปาเข้าไปตั้งหลายไร่”

            จากเหตุผลของแม่ ครูบุญมีจึงได้ผู้หญิงที่ชื่อบุญมามาเป็นครู่ชีวิต ทั้งคู่ไม่มีทายาทสืบสกุล แม้จะบนบานศาลกล่าวเทพยาฟ้าดินแห่งหนใด ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนทั้งคู่เริ่มปลงตก และยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ครูบุญมีใช้เวลาที่มีอยู่ทั้งหมดทุ่มเทกับการสอนลูกศิษย์ลูกหาหลายรุ่น และมีหลายคนที่ได้เป็นใหญ่เป็นโตในอำเภอและจังหวัด ครูบุญมีเป็นครูคนเดียวในโรงเรียนที่ไม่เคยย้ายไปสอนที่ใดเลย ครูทุกคนจึงรักใคร่และนับถือครูบุญมีมาก ต้องเรียกว่ามีบารมีมากกว่าผู้บริหารทุกคน จนบางครั้งผู้บริหารบางคนก็เกิดการเขม่นหรืออิจฉา ครูบุญมีอยากจะบอกผู้บริหารว่าการที่เข้ามาเป็นครูนั้นไม่ใช่มีหน้าที่สอนอย่างเดียว โรงเรียนคือสมอง แต่ชุมชนคือแขนและขา การพัฒนาต้องทำทั้งในโรงเรียนและชุมชนให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน ครูบุญมีเสียสละและช่วยเหลือชุมชนทุกอย่าง ต้องเรียกว่ามีทานบารมี มีธรรมบารมี ที่สั่งสมมานาน เมื่อชุมชนรักและศรัทธาแล้วอำนาจบารมีจะได้มาโดยที่ครูบุญมีไม่เคยเรียกร้องเลย

            หลังจากพานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ไปยกร่องดินที่ด้านหลังโรงเรียน เพื่อแบ่งกลุ่มให้นักเรียนปลูกผักตามใจชอบแล้ว ครูบุญมีให้นักเรียนล้างหน้า ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะเข้าเรียนวิชาอื่น

            “พี่บุญมี วิชาอะไร เด็กเสียงดังเหลือเกิน” อาจารย์ใหญ่โผล่งหน้าต่างออกมาดู และตั้งคำถาม นักเรียนทุกคนหยุดพูดกันทันที

            “วิชา ก.พ.อ.ครับ ยกร่องดินเพื่อปลูกผัก ผมกำลังให้เด็กล้างหน้า ล้างมือ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนวิชาอื่นครับ”

            “ผมกำลังประชุมกับผู้ช่วยฯ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาอยู่ ปวดหัวจะแย่อยู่แล้ว เด็กยังส่งเสียงดังอีก..” เสียงผู้บริหารแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้ครูบุญมีและนักเรียนต่างแยกย้ายกันไปทันที

            “น่าสงสารครบุญมีจังเลย โดนดุเพราะพวกเราแท้ๆ”

            “ครูแกสอนพวกเราสนุกมาก ไม่มีการบังคับเลย ว่าแต่แกจะปลูกผักอะไร”

            “ปลูกผักชี ไอ้จ่อยปลูกผักคะน้า”

            “ของข้าจะปลูกผักกาด อย่ามาซ้ำกับข้านะ” เสียงเด็กนักเรียนกระซิบกันเบาๆเพื่อวางแผนในการปลูกผักที่ครูบุญมีปล่อยให้เด็กได้เลือกทำอย่างเสรีและมีความสุข

            “ผมเอาใบสมัครเรียนปริญญาตรีในวันเสาร์และอาทิตย์มาให้พี่ ลองไปศึกษารายละเอียดดูว่าพี่จะเรียนวิชาเอกอะไร” ผู้บริหารยื่นใบสมัครให้ครูบุญมี

            “พี่ไม่เรียนต่อไม่ได้นะ การสอนของครูต่อไปนี้ต้องมีแนวคิดทฤษฎีรองรับ ต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เด็กจะต้องเรียนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุข พี่จะต้องเรียนเพื่อนำแนวคิดใหม่ๆมาสอน ดูพวกครูเด็กๆหนุ่มสาวที่เขาจบปริญญาตรี พวกเขากำลังจะไปสอบเรียนต่อระดับปริญญาโทกันทั้งนั้น รวมทั้งผมด้วยนะ...”

            “เออ...พี่บุญมี อาทิตย์นี้ครูเราไปอบรมเกือบ ๖ คน พี่ช่วยรวมห้องเรียนและหางานให้เด็กทำด้วย ผมก็จะต้องเข้ากระทรวงฯ เพื่อติดตามงบประมาณที่จะสร้างตึกเรียนหลังใหม่ ผมฝากพี่ด้วยนะ เพราะเป็นผู้อาวุโสที่สุด”

            เป็นปกติวิสัยที่ครูบุญมีต้องรับภาระนักเรียนในหลายระดับชั้น เพราะตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น ครูแทบทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสัมมนาจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ตลอดเวลา ผู้บริหารไม่เคยคิดถึงครูบุญมีเลยแม้แต่สักนิดเดียว คำพูดสุดท้ายที่ฝากให้สอนเด็กๆก็จะวนเวียนอยู่ในประโยคที่ว่า... “ผมเชื่อว่าพี่สามารถสอนเด็กเยอะๆได้ และเมื่อชุมชนมีปัญหา พี่ก็สามารถแก้ไขได้” คงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ที่ครูบุญมีไม่ต้องไปอบรมบ่มเพาะความรู้ใหม่ที่ไหนเลย

            สัปดาห์แห่งการอบรมนั้น ครูบุญมีเหนื่อยแทบขาดใจ เมื่อนำเด็ก ๔ ชั้นเรียนมาเรียนรวมกันทั้งหมด ซึ่งนับจำนวนแล้วก็ประมาณ ๑๕๐ คน ครูบุญมีต้องนำเด็กลงมาเรียนที่อาคารฝึกงานที่เป็นอาคารโล่ง ที่มีพื้นลาดด้วยซีเมนต์ เมื่อช่วยกันทำความสะอาดแล้วก็สามารถนั่งเรียนได้

            วันนี้เรามาช่วยกันคิดซิว่า ปัญหาสังคมที่พวกเราได้ดูทางโทรทัศน์และอ่านหนังสือพิมพ์นั้นมีปัญหาอะไรบ้าง” ครูบุญมีตั้งหัวข้อสนทนา นักเรียนทุกคนเริ่มหันหน้าคุยกันในกลุ่ม

            “ยาเสพติด”

            “ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์”

            “ข่มขืน...” เสียงที่แสดงความคิดเห็นเริ่มดังลั่นไปทั้งอาคาร

            บุญบุญมีใช้ปากกาเขียนหัวข้อปัญหาลงบนกระดาษ แล้วนำไปติดตามมุมต่างๆ “ใครสนใจปัญหาอะไร ให้เข้ากลุ่มตามหัวข้อที่ครูติดเอาไว้” เหมือนผึ้งแตกรังเมื่อได้ฟังคำสั่งจากครู ต่างก็วิ่งเข้าไปนั่งตามหัวข้อที่เขียนไว้บนกระดาษ

            “ใครที่สนใจด้านยาเสพติดมาทางนี้” การแบ่งกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นตามความสนใจของผู้เรียน ครูบุญมีให้นักเรียนเลือกประธานกลุ่ม เลขากลุ่ม และเขียนลงในสมุด จากนั้นครูบุญมีนำภาพจากหนังสือพิมพ์แจกตามกลุ่มต่างๆ ให้นักเรียนช่วยกันหาสาเหตุ ซึ่งนักเรียนทุกคนต่างก็แสดงความคิดเห็นกันและหาข้อสรุปจดลงในสมุดเป็นข้อๆเพื่อนำออกมารายงาน

            “ใครรายงานได้ดี ครูมีมะม่วงสุกที่เก็บจากไร่ของครูมอบให้ ๑ ถุง” เสียงเฮดังลั่น อาคาร ทุกกลุ่มก็ต่างก้มหน้าก้มตาระดมสมองกันเต็มที่ ครูบุญมีรีบหลบไปหลังอาคารคว้าขวดน้ำเทลงคอจนหมดขวด ควักผ้าเช็ดหน้าผืนเก่าเช็ดเหงื่อที่ใบหน้า พลางครุ่นคิดว่า

            “การเรียนการสอนแบบนี้ มันจะตรงกับแนวคิดทฤษฎีไหนนะ ในยุคปฏิรูปการศึกษา”

            หลังจากพวกครูที่ไปอบรมกลับมาแล้ว ผู้บริหารได้เรียกครูทุกคนเข้าประชุมชี้แจง โดยให้ครูแต่ละคนออกมาถ่ายทอดความรู้ ครูบุญมีรู้สึกตื่นเต้นกว่าทุกคน เตรียมสมุดจดถึง ๕-๖ เล่ม โดยแยกหัวข้อที่จะประชุมคือ การยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การวิจัยในชั้นเรียน การเขียนแผนการสอน การประกันคุณภาพ การประชุมเริ่มตั้งแต่ตอนบ่าย ครูที่ไปอบรมมาผลัดกันพูดถึงหลักการแนวคิดทฤษฎีต่างๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ ครูบุญมีตั้งหน้าตั้งตาฟังแล้วก็จด...จดทุกคำพูด

            “ครูต้องเขียนแผนการสอน เป็นหน่วยการเรียนต่างๆ มีจุดประสงค์ กิจกรรม และแบบประเมินผล ในแต่ละหน่วยการเรียน สำหรับเกณฑ์ในการประเมินผลต้องใช้แบบ RUBRIC...”

            “ครูต้องสอนแบบ Child Center ให้เด็กมีการสืบค้น มีการวิเคราะห์ รูปแบบการจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูจะต้องนำรูปแบบ CIPPA Model เข้ามาช่วย...”

            ครูบุญมีจดไปมากเท่าไร ความสับสนก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อยากเอ่ยปากถามว่า องค์ความรู้ Child Center และ CIPPA มันคืออะไร ก็ไม่กล้าถาม กลัวจะถูกหัวเราะเยาะจากเด็กรุ่นลูก จึงได้แต่เก็บความสงสัยและความสับสนกลับบ้าน แต่ถึงอย่างไรครูบุญมีก็มุมานะนั่งเขียนแผนการสอนตามความเข้าใจของตนเอง อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนนั่งเขียนอยู่เกือบเดือนจึงเสร็จ แอบภูมิใจในผลงานที่เขียนเกือบ ๖๐ หน้ากระดาษ

            “พี่บุญมี...มารู้จักอาจารย์เรณู  เป็นอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ แถมจบปริญญาโทเชียวนะ พึ่งย้ายตามสามีที่เป็นปลัดอำเภอมาสอนที่นี่ นับเป็นบุญของโรงเรียนเรา...”

            อาจารย์เรณูอยู่ในวัย ๓๙ ปี เป็นคนที่ผู้บริหารชื่นชมมาก ความสวยบวกกับความเก่งและเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อาศัยเวลาไม่นานนักก็สามารถครอบงำผู้บริหารได้ ชนิดที่ชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนกได้ มีครูบางคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า...

            “อาจารย์ใหญ่จะให้อาจารย์เรณูทำวิจัยให้ เพื่อเสนอขอให้เป็นผู้อำนวยการระดับ ๘”

            “มิน่าล่ะ ไม่เห็นสองเด็กเลย ทิ้งเด็กให้วิ่งเล่นกันเสียงดังลั่น เพราะเอาเวลามาทำงานส่วนตัวให้ผู้บริหาร”

            “เห็นบอกว่าจะให้ได้ ซี ๘ ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จะได้ไปอยู่แท่งเงินเดือนใหม่ เป็นครูผู้เชี่ยวชาญ”

            เช้า้วันรุ่งขึ้นครูบุญมีทำแผนการสอนที่บรรจงเย็บเล่มอย่างดีไปส่งผู้บริหาร

            “ต้องให้อาจารย์เรณูเป็นผู้ตรวจ เพราะท่านเชี่ยวชาญมาก” อาจารย์เรณูหยิบแนกการสอนขึ้นมาดูด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เปิดผ่านไปทีละแผ่นๆ ทำให้ครูบุญมีใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มองหน้าอาจารย์เรณูที่ทำปากเบ้ไปมา บางครั้งก็หัวเราะอย่างขบขันในแผนการสอนที่ครูบุญมีตั้งใจทำเป็นเวลาแรมเดือน        

            “ครูบุญมี จุดประสงค์ กิจกรรมและการประเมินผล เขียนไปคนละทิศละทางกัน แล้วแบบประเมินไม่มีทฤษฎีรองรับเลยเหรอ เป็นแผนการสอนที่ใช้ไม่ได้เลย”

            “ใช่...ใช่...พี่บุญมีต้องไปทำมาใหม่ ต้องทำเหมือนอาจารย์เรณูแนะนำนะพี่ อาจารย์เขาเก่ง เป็นซี ๘ และจบปริญญาโทด้วย...” ผู้บริหารพูดเสริมขึ้นทันที

            เสียงตะโกนถามจากชาวบ้านเมื่อเห็นครูบุญมีปั่นจักรยานกลับบ้าน “ครูกลับแล้วเหรอ” เงียบ! ปราศจากเสียงตอบรับใดๆจากครูบุญมี นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เกิดความท้อแท้ถามโถมเข้ามาในจิตใจ ปั่นจักรยานไปใจก็ครุ่นคิดถึงปัญหาของการปฏิรูปการศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมาครูบุญมีมิได้สนใจกับสิทธิพิเศษต่างๆที่ทางราชการมอบให้เพื่อจูงใจข้าราชการเข้าร่วมโครงการออกก่อนเกษียณอายุ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนในวงการราชการขณะนั้นเลย ครูบุญมีมีความตั้งใจสูง พยายามที่จะปฏิรูปตัวเอง ใฝ่ฝันอยากได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพครู อยากศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี อยากเกษียณอายุราชการพร้อมเกียรติยศที่เป็นครูรุ่นใหม่ เป็นครูมืออาชีพ..แต่ทำไมความฝันมันช่างไกลเกินที่จะไขว่คว้าเสียเหลือเกิน

            “โครม...โครม...” เสียงจักรยานชนเสารั้วหน้าบ้าน บุญมาภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากวิ่งหน้าตาตื่นออกมาดู รีบเข้าไปประคองสามีที่นอนเหยียดยาวคู่กับจักรยานคู่ชีพ

            “เจ็บไหม...เบรกไม่อยู่ใช่ไหม บอกให้ซื้อคันใหม่ไม่ยอมเชื่อฉัน...เจ็บตัวจนได้”

            ครูบุญมีมองดูจักรยานคู่ชีพที่เก่าจนชิ้นส่วนบางแห่งผุพัง เพราะโดนสนิมกินเกือบหมดทั้งคัน เมื่อขี่ขนเสาหน้าบ้าน ชิ้นส่วนต่างๆก็หลุดออกจากกันกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทางจนหมดสภาพที่จะซ่อมได้ ครูบุญมีก้มมองดูแขนขาตัวเองอย่างพิจารณา เนื้อหนังเหี่ยวย่นมองดูเหมือนหนังคางคกเข้าไปทุกที มองชิ้นส่วนของจักรยานทีมองดูเนื้อหนังของตัวเองที สลับกันไปมา คำถามผุดขึ้นในสมองครูบุญมีทันที

            “...หรือว่าตัวเราหมดสมรรถภาพเหมือนจักรยานคันนี้...”

            สองสามวันต่อมา นักเรียนคนหนึ่งตะโกนออกมาว่า

            “...พวกเรามาดู ครูบุญมีขี่จักรยานคันใหม่แล้ว สีสวยด้วย...” นักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนมองดูครูบุญมีกับจักรยานคันใหม่สีน้ำเงิน ด้วยความชื่นชม คำทักทายของคนในหมู่บ้านเหมือนครูและนักเรียน ล้วนแต่ตื่นเต้นกับจักรยานคันใหม่กันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ครูบุญมีและแม่บุญมา ที่คอยบรรจงเช็ดถูทั้งเช้าและเย็น

            “พี่บุญมีผมฝากเด็ก ป.๕ และ ป.๖ ด้วย ผมจะไปห้องสมุดที่จังหวัดเพื่อค้นหาหนังสือมาทำรายงานส่งอาจารย์...เครียดจริงๆที่เรียนปริญญาโท...”

            “ลุงบุญมี หนูจะไปอบรมเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ ฝากเด็ก ป.๑ และ ป.๒ ด้วยนะ หนูจะไปทั้งอาทิตย์...”

            ภาพของครูบุญมีที่รายล้อมด้วยเด็กไม่ต่ำว่า ๘๐ คน ที่อาคารฝึกงาน ที่แปลงยกร่องปลูกผัก หรือเล่นกีฬาที่กลางสนาม มันเป็นภาพที่ซ้ำซากและจำเจ สำหรับทุกคน แต่นักเรียนทั้งโรงเรียนกับชอบการสอนของครูบุญมีมากที่สุด

            “ครูบุญมีใจดีมาก เราอยากเรียนอะไรครูก็ตามใจ พวกเราได้แสดงออกเต็มที่ บ่ายนี้ก็จะพาไปฟังเทศน์ที่วัดด้วย...”

            เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ที่ครูบุญมีว่างเว้นจากการได้รับการพิจารณาความดีความชอบให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ คงเป็นเพราะความเป็นคนสมถะ เรียบง่าย ไม่มีปากมีเสียงกับใคร ผู้บริหารจึงมองผ่านเลยไป ปีแล้วปีเล่า จนครูทุกคนเกิดความสงสารและต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า

            “ปีนี้พวกเราจะไม่ขอความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดทางให้กับลุง โรงเรียนเราจะได้ปีละ ๒ คน เท่านั้น  ไม่มีใครแย่งลุงหรอก จะเลี้ยงไว้ก่อนก็ย่อมได้นะลุง” คำพูดของครูรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้ครูบุญมีค่อยมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ๒ ขั้น แต่หน้าที่ครูก็ต้องสอนนักเรียนด้วยความตั้งใจอยู่แล้ว แต่ถ้าจะได้เลื่อนเงินเดือนพิเศษมันก็เป็นน้ำทิพย์ที่แสนวิเศษที่เป็นพลังและอำนาจลึกลับ ที่คอยกระตุ้นและขับเคลื่อนอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจครูบุญมี อย่างน้อยเมื่อเกษียณอายุราชการจะส่งผลถึงการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญที่จะได้รับ ครูในโรงเรียนทุกคนต่างคาดหมายว่าครูบุญมีจะต้องได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ๒ ขั้นแน่ ทุกคนจึงมีแต่ธุระไม่เว้นแต่ละวัน บางคนก็ไปค้นหนังสือทำรายงาน บ้างก็ทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งผู้บริหารที่ก่ำลังเรียนต่อระดับปริญญาโท และทำผลงานเพื่อเป็นผู้อำนวยการซี ๘ อาจารย์เรณูก็ไม่มีเวลาสอนเด็ก เพราะมัวแต่นั่งเขียนผลงานให้ผู้บริหารเพื่อให้ทันส่งในปี ๒๕๔๖ ภาระการเรียนการสอนจึงตกหนักที่ครูบุญมี

            แม่บุญมาเป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่คอยปลอบโยนเมื่อยามที่ครูบุญมีเกิดความท้อแท้ อายุยิ่งใกล้เกษียณก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่งเข้าไปทุกที ยิ่งมารับผิดชอบเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ กลับมาบ้านแทบจะไม่มีเวลาคุยกับแม่บุญมา ภาพที่ครูบุญมีนอนกรนพ่นน้ำลายเหมือนปลาโลมาเข้าไปทุกที มันทำให้เมียคู่ทุกข์คู่ยากเริ่มปลงในสังขารของมนุษย์

            “ทางจังหวัดจะมาประเมินการสอนของครูในวันพรุ่งนี้ ครูบุญมีเอาแผนการสอนมาวางไว้ที่โต๊ะด้วยนะ” เสียงอาจารย์เรณูออกคำสั่งแทนผู้บริหาร ครูบุญมีแสนจะเป็นทุกข์ เพราะแผนการสอนที่ทำก็ถูกตีกลับมาว่าใช้ไม่ได้ เคยคิดที่จะแก้ไข แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปขอคำแนะนำจากใคร ยิ่งคิดยิ่งทำให้ปวดหัว ความคิดมันมืดแปดด้าน พอดีเสียงผู้บริหารเรียกเข้าพบในห้อง ครูบุญมีจึงสลัดความวิตกกังวลต่างๆออกไป

            “พี่บุญมี...ปีนี้ผมต้องขอพี่นะ คือพูดตรงๆ ผมจำเป็นต้องเอา ๒ ขั้น เพื่อให้เงินเดือนถึงเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ เพราะผมจะส่งผลงานเพื่อปรับเป็น ผอ. ซี ๘ ในปีนี้ เพื่อให้ทันแท่งเงินเดือนใหม่”

            “ก็คงไม่เป็นไร เพราะโรงเรียนเราก็ได้ ๒ คนอยู่แล้ว เสนอพี่และ ผอ.ก็ลงตัวพอดี” ครูบุญมีพูดพร้อมด้วยรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ใจ

            “พี่...ผมสัญญากับอาจารย์เรณูไว้แล้ว เขาทำงานวิจัยให้ผม เขาจะต้องได้ ๒ ขั้นในปีนี้...” ครูบุญเดินออกจากห้องผู้บริหารโดยไม่รู้สึกตัว แววตาแห้งผากปราศจากความรู้สึกใดๆ เสียงอาจารย์เรณูร้องตะโกนตามหลังจังในความว่า “อย่าลืมแผนการสอนที่ให้ไปแก้ไข แล้วต้องเอามาส่งฉันนะ...ครูบุญมี...ครูบุญมี” ครูบุญมีลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่รถจักรยานคู่ชีพคันใหม่ เดินออกสู่ถนนใหญ่เพื่อขึ้นรถประจำทางเข้าสู่ตัวจังหวัดทันที...

            ครูบุญมีสูดลมหายใจเข้าปอดเต็มแรง ก้มมองดูชุดสีกากีที่ประด้วยขีดสีเหลืองเก่าๆบนบ่า แล้วถอนหายใจครั้งแล้วครั้งเล่าก่อนตัดสินใจเข้าพบเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน เสียงพูดของครูบุญมีดังลั่นและชัดเจนว่า

            “ขอใบสมัครเข้าโครงการออกก่อนเกษียณอายุ หรือที่เขาเรียกว่า เออลี่ รีไทร์ ครับผม”

 

guest profile guest
ขอบคุณจ้ะพี่วัช
wach10 profile wach10

ลองวิจารณ์ตัวละคร 3 คน ตามหลักวิชาที่เรียนมา

1. ผู้บริหาร

2. ครูเรณู

3. ครูบุญมี

เฮ้อ......ครูยุคปฏิรูป..... วิจารณ์เล่นๆๆ...อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้นะ

ด้วยรัก

พี่วัช นะคะ


wach10 profile wach10

เรื่องสั้น ฉ. ๒๕๖๘

"คืนก่อนวันสอบ"

โดย ชาติณรงค์ วิสุตกุล

           

            เสียงโทรศัพท์ทำให้เขาสะดุ้ง ขณะกำลังจัดเตรียมเอกสารและอุปกรณ์ ในใจคิดจะจ่อถึงการสอบในวันพรุ่งนี้ ชายหนุ่มตื่นจากภวังค์และเหลือบมองนาฬิกา อีกสิบนาทีห้าทุ่ม ใครโทร.มาดึกดื่นป่านนี้ไม่อยากจะรับสาย กำลังจะเข้านอน พรุ่งนี้เป็นวันสำคัญ วันสอบวิทยานิพนธ์

            โทรศัพท์ดังขึ้นอีกหลายครั้ง ชายหนุ่มเดินมายกหูโทรศัพท์ รับสาย

            “สวัสดีครับ จะพูดกับใครครับ” เขาเงียบและตั้งใจฟังมากขึ้นเมื่อรู้ว่าผู้ที่โทร.มาเป็นอาจารย์ทีปรึกษาของเขาเอง

            ชายหนุ่มนิ่งฟังอยู่สักพัก สีหน้าเริ่มเปลี่ยน คิ้วขมวดเข้าหากัน เขาพูดเรียบๆ

            “ครับ...เออ...อาจารย์ครับ...ผมก็แก้ไขตามที่อาจารย์แนะนำไปแล้ว แล้วทำไม...”

            เขานิ่งฟังต่อ ในใจเริ่มปั่นป่วน

            “แล้วจะให้ผมทำอย่างไรครับ” เขาเงียบและพูดต่อ คราวนี้เสียงดังขึ้น “แต่...ถ้าแบบนี้ผมก็...”  ปลายสายทางโน้นวางหูไปแล้ว ชายหนุ่มยกหูโทรศัพท์ค้างอยู่ ทั้งงุนงง ทั้งหงุดหงิดและไม่เข้าใจในเวลาเดียวกัน

            นี่มันเกิดอะไรขึ้น อาจารย์โทร.มาบอกไม่ให้เขาไปสอบ เพราะงานของเขาไม่พร้อมและถึงสอบไปก็ไม่ผ่าน

            ชายหนุ่มนั่งลงที่เก้าอี้โต๊ะทำงานมองเอกสารและอุปกรณ์ที่วางอยู่บนโต๊ะ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับโปรแกรมเพาเวอร์พ็อยที่เพิ่งไปเรียนรู้จากเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งกเรียนจบไปก่อนแล้ว และได้ฝึกซ้อมวิธีการนำเสนอรอบสุดท้ายไปแล้วเมื่อสักครู่ แผ่นใสและปากกาในกรณีที่ต้องเขียนอธิบายสดๆหรือใช้คอมพิวเตอรืส่วนบุคคลติดขัดก็กลับมาใช้ชีวิตดั่งเดิม ทุกอย่างจัดเตรียมไว้เรียบร้อย

            เขาหนุหันลุกขึ้น โทรศัพท์กลับไปหาอาจารย์ไม่...ไปหาที่บ้านเลยดีกว่า ใช่...เขารู้จักบ้านอาจารย์ เขาเพิ่งนำวิทยานิพนธ์ฉบับแก้ไขล่าสุดไปส่งที่บ้านอาจารย์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ตอนนั้นอาจารย์เดินทางไปต่างประเทศ เขาแก้ไขไม่ทันส่งก่อนที่อาจารย์จะขึ้นเครื่อง จึงนำไปฝากไว้ที่บ้านและอาจารย์ก็เพิ่งกลับจากต่างประเทศเมื่อวันหรือสองวันนี้เอง คงจะอ่านจบและโทร.กลับมาหาเขา แต่ทำไมถึงห้ามไม่ให้เขาเข้าสอบ งานของเขาผิดพลาดมากนักหรือ ถึงมีข้อผิดอย่างไรก็น่าจะให้สอบและแก้ไขหลังสอบ จากนั้นนำส่งอาจารย์ตรวจทานอีกครั้งก่อนส่งบัณฑิตวิทยาลัย ขั้นตอนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้

            หรือว่า...งานของเขา...มันจะมีอะไรมากไปกว่านั้น

            อาจารย์ไม่รู้หรือหลงลืมไปแล้วว่า ถ้าไม่ได้สอบคราวนี้ชายหนุ่มจะไม่ได้สอบอีก เพราะนี้เป็นเทอมสุดท้าย อาจารย์จะฆ่าเขาได้ลงคอเชียวหรือ เขาไม่เข้าใจ...

            ชายหนุ่มหยิบกุญแจรถยนต์และกำลังจะเดินไปเปิดประตูในใจร้อนรุ่ม ไม่สบาย มีคำถามมากเกินขึ้น ประตูบ้านเปิดออก ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีดวงดาวส่องแสงระยิบระยับ มีเพียงแสงไฟจากเสาไฟฟ้าหน้าบ้านที่ยังทำงานตามปกติ ทุกคนในบ้านหลับกันหมดแล้ว แม่บอกว่าพรุ่งนี้รีบตื่นมาทำอาหารเข้าให้ทานจะได้ท้องอิ่มเวลาสอบ เขาไขกุญแจรถแต่นึกขึ้นได้ว่าลืมหยิบวิทยานิพนธ์ติดมาด้วย กำลังจะเดินกลับขึ้นไปคิดขึ้นได้อีกว่าที่อาจารย์ก็มีอยู่อีกฉบับหนึ่ง

            เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังงุ่นง่าน ทำอะไรไม่ถูก ยืนหันรีหันขวางอยู่หน้าบ้าน ลังเล  สุดท้ายชายหนุ่มเดินไปปิดประตูและกลับขึ้นห้องเป็นเรื่องไม่เหมาะถ้าจะไปพบอาจารย์ในเวลาดึกดื่นอย่างนี้ และเขาคิดว่าถึงไปพูดในเวลานี้น่าจะเสียเรื่องเปล่าๆ เพราะอาจารย์เพิ่งจะโทร.มา ไปเปลี่ยนแปลงความคิดความตั้งใจในตอนนี้คงลำบาก แล้วเขาจะทำอย่างไรดี  ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่อนุญาตให้สอบ เขาก็ไม่มีสิทธิ์สอบ ไม่มีโอกาสจบการศึกษา

            “งานของคุณผิดหลายจุดทั้งๆที่ผมแนะนำไปแล้วก็ไม่แก้ไขตามที่ผมบอก คุณไม่พร้อมพรุ่งนี้ไม่ต้องมา ผมจะบอกกับประธานและกรรมการสอบเอง” ชายหนุ่มคิดถึงคำพูดของอาจารย์เมื่อครู่ ประธานและกรรมการสอบได้รับวิทยานิพนธ์ฉบับแก้ไขล่าสุดของเขาไปแล้วคนละชุด อาจารย์ทั้งสองท่านน่าจะได้อ่านก่อนลงมือสอบ ไม่รู้ว่าประธานและกรรมการจะคิดเห็นอย่างไร เขารู้ว่างานของเขาคงมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างก็เหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆ แต่ไม่น่าจะรุนแรงขนาดนี้

            ชายหนุ่มนิ่งงัน ดวงตาเหม่อมองเอกสารและอุปกรณ์ที่วางค้างอยู่บนโต๊ะทำงาน มองเลยออกไปนอกหน้าต่าง ฟ้ามืด พระจันทร์ไม่เต็มดวง แสงไฟจากไฟฟ้าไม่ช่วยให้มองเห็นอะไรมากนัก

            ในที่สุดเขาก็คิดได้ พรุ่งนี้เช้าเขาต้องไปหาอาจารย์ ขอพบและพูดคุยให้เข้าใจ เขาอาจจะได้สอบหรือไม่ได้สอบในวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ แต่ถ้าไม่ได้สอบ เขาจะขอนัดวันสอบใหม่ คราวนี้เขาจะลางานเพื่อแก้ไขวิทยานิพนธ์ให้เรียบร้อยก่อนสอบ  อาจารย์จะให้แก้อย่างไรก็ว่าตามนั้น ไม่ดื้อดึง โต้เถียงเด็ดขาด เพราะในเวลาอย่างนี้ แย้งไปก็ไม่มีทางชนะ ถ้าเขาทำการบ้านมาไม่ดีพอ ความเห็นของนักศึกษายากที่จะทำให้อาจารย์เห็นตามด้วยได้

            ชายหนุ่มปิดไฟและล้มตัวนอน แต่ทำอย่างไรเขาก็นอนไม่หลับ ตาค้าง นึกถึงคำพูดและน้ำเสียงของอาจารย์แล้วยังกังวล พรุ่งนี้ผลจะเป็นอย่างไร เขานอนถอนหายใจหลายครั้ง ในที่สุดเขาลุกจากที่นอน นั่งลงที่เก้าอี้โต๊ะทำงานทั้งๆที่ไม่ได้เปิดไฟ

            สี่ปีในสถาบันการศึกษาที่ทุกคนยอมรับและใฝ่ฝันอยากที่จะเข้ามาศึกษาเล่นเรียน สี่ปีเต็มสำหรับชีวิตนักศึกษาปริญญาโท หนึ่งปีครึ่งเรียนวิชาความรู้ สองปีครึ่งทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาบางคนสามารถเรียนและทำวิทยานิพนธ์ไปพร้อมๆกัน บางคนเรียนจบภาคในสองปี บางคนสองปีครึ่ง สามปี สามปีครึ่งและสี่ปี ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้าย

            สำหรับตัวเขาเองเป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวที่สามารถสอบเข้ามาเรียนในสถาบันแห่งนี้ เขาเรียนจบปริญญาตรีจากสถาบันเอกชนด้วยผลการเรียนที่ดีพอใช้ทำงานในสายงานที่เรียนจบมาได้ประมาณสองปีจึงเริ่มสอบเรียนต่อ เขาคิดว่าวิชาความรู้ที่เพิ่งจบมาและประสบการณ์ในการทำงานจะสามารถช่วยให้เขาสอบได้ แต่ผลสอบครั้งแรกไม่ติดข้อเขียนปีต่อมาเขาไปสมัครเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษในวันเสาร์อาทิตย์ตลอดปี เพราะเขารู้จุดอ่อนของตัวเองดีและในที่สุดเขาสอบได้ ผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์

            ชีวิตนักศึกษาที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เวลาทุกนาทีเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องงานที่ทำงาน เรื่องเรียนและเรื่องอื่นๆ ปนเปปะเดปะดังกันเข้ามา ญาติพี่น้องบางคนเคยคุยทับว่าไปเรียนเมืองนอกดีกว่า ได้ทั้งวุฒิ ได้ทั้งภาษา แถมความโก้เก๋พ่วงมาด้วย สมัครงานที่ไหนๆเขาก็อ้าแขนรับ บางครั้งไม่ดูด้วยว่าได้คะแนนเฉลี่ยเท่าไร จบจากสถาบันอะไร แต่ชุบตัวมาจากเมืองนอกแล้วเป็นใช้ได้ ยังไงๆก็ดีกว่าเรียนเมืองไทย กว่าจะสอบเข้าไปกว่าจะเรียนจนจบ ยากแสนยาก สุดท้ายสู่ไปเรียนเมืองนอกไม่ได้

            ชายหนุ่มไม่อยากเถียงเรื่องค่านิยมที่ฝังรากลึกมานานในสังคม เขามุ่งมั่นในการเรียน เขาเชื่อว่าไม่ว่าจะเรียนในสถาบันใด ถ้าคนๆนั้นใฝ่หาความรู้ เขาจะได้ความรู้ การไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ทุนสูง นอกจากสอบชิงทุนไปเรียนเองแล้วคงไม่มีหนทางอื่น ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้น

            สำหรับการเรียนในประเทศใช่ว่าไม่มีค่าใช้จ่าย พ่อกับแม่เป็นผู้ออกเงินค่าหน่วยกิตให้เขาเทอมละเกือบสี่หมื่นบาท ปีหนึ่งแบ่งเป็นสองเทอมต้องจ่ายสองครั้ง เขาเรียนมาสี่ปีเต็ม พ่อกับแม่หมดเงินไปนามแสนกว่าบาทแล้ว ส่วนตัวเขาเองต้องรับผิดชอบค่าหนังสือ ค่าทำรายงาย ค่าทำวิทยานิพนธ์ ตำราบางเล่มเป็นตำราต่างประเทศ อาจารย์ในบ้านเรายังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือจึงมีราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องเรียนและทำงานไปพร้อมๆกัน จะลาออกจากงานเพื่อทุ่มเวลาให้กับการศึกษาเล่าเรียนอย่างเดียวไม่ได้

            แต่ถึงจะเหนื่อยยากอย่างไรชายหนุ่มสามารถสอบผ่านทุกวิชา และได้คะแนนเฉลี่ยในระดับที่น่าพอใจ จนกระทั่งเริ่มทำวิทยานิพนธ์ในช่วงเทอมที่สองของการเรียนปีที่สอง การทำวิทยานิพนธ์แตกต่างจากการทำข้อสอบลิบลับ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า อ่านตำราหลายเล่ม สืบค้นข้อมูลที่ถูกต้อง และรู้จักประสานงานด้วยความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องเป็นนักวิชาการ นักบริหารและนักมนุษย์สัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป อุปสรรคสิ่งกีดขวางมากมายจะรุมเร้าเข้ามา ถ้าผ่านพ้นไปได้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิต แต่ถ้าไม่ผ่านสิ่งที่ทุ่มเทลงทุนมาทั้งหมดเป็นอันจบกัน วิชาที่ร่ำเรียนมา สอบผ่านได้คะแนนเฉลี่ยดีแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ผ่านวิทยานิพนธ์ เพราะถือว่าเรียนไม่จบ

            “จะยากอะไรเล่า เราดูเรื่องที่รุ่นพี่ทำไว้แล้วดัดแปลงเสียใหม่ เปลี่ยนเงื่อนไขหรือกลุ่มเป้าหมาย หรือดูงานวิจัยต่างประเทศแล้วลองมาศึกษากับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทย คนไทยลูกผสมหรือคนไทยในภูมิภาค เท่านี้ก็เป็นงานวิจัยชิ้นใหม่แล้ว” เป็นคำพูดของเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งกำลังปรึกษากันถึงหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ทุกคนต้องทำ หัวข้อวิทยานิพนธ์ต้องเป็นงานวิจัยชิ้นใหม่ ไม่ซ้ำกับงานวิจัยที่เคยศึกษามาก่อน

            ชายหนุ่มส่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ช้ากว่าเพื่อน หลังจากที่เขาค้นคว้าและตรวจกสอบข้อมูลจนแน่ใจแล้วว่างานวิจัยของเขาเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยศึกษา แต่เมื่อนำหัวข้อไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาเขาพบว่า “งานของคุณเป็นเรื่องใหม่ก็จริง แต่ดูแล้วเป็นงานวิจัยตลาดมากกว่า คุณสามารถทำได้แต่ต้องเพิ่มสมมุติฐานที่เป็ยประโยชน์ทางวิชาการเข้าไป” อาจารย์สรุป

            เขากลับไปค้นคว้าใหม่ ปรับชื่อเรื่อง เพิ่มสมมุติฐานที่ประโยชน์ในทางวิชาการ ในที่สุดหัวข้องานวิจัยของเขาผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา เขาเริ่มลงมือค้นคว้า รวบรวม และเขียนบทที่หนึ่งถึงบทที่สามว่าด้วยเรื่องความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา แนวคิด ทฤษฎีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และระเบียบวิธีวิจัย เขาใช้เวลาสองเทอมในการทำสามบทแรก และเสียเวลาอีกเป็นเดือนในการแก้ไขบทที่สอง ประธานและกรรมการสอบบอกว่าแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เขาหามายังน้อยไป ตอบคำถามจากสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นมาไม่หมด และเรียบเรียงภาษาถ้อยคำไม่ถูกต้อง ต้องปรับใหม่

            “นายเล่นทำเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ ต้องแปลทฤษฎี งานวิจัยใหม่ แล้วภาษาอังกฤษเก่งขนาดไหน ถ้าเอาเรื่องเก่าๆมาดัดแปลงทฤษฎีมันคล้ายๆกัน ป่านนี้ก็สบายแล้ว” เพื่อนพูดด้วยน้ำเสียงปนหมั่นไส้ เมื่อรู้ว่าวิทยานิพนธ์ของเขาถูกนำกลับมาแก้ไขใหม่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ และงานของเขากำลังล้าหลังเพื่อนที่สุด ชายหนุ่มเงียบ ไม่โต้เถียง เขารู้ว่าลึกๆแล้วเพื่อนหวังดี อยากให้ทุกคนในรุ่นเรียนจบพร้อมๆกัน หรืออย่างน้อยช้าเร็วกว่ากันสักเทอมสองเทอม

            แม้ว่าเพื่อนๆจะห่วงใยและพยายามช่วยเหลือกันอย่างไร แต่การทำวิทยานิพนธ์เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว อาจจะให้ความช่วยเหลือกันได้ในเรื่องปรึกษาหารือ แนะนำ ช่วยแจกแบบสอบถาม รวบรวมข้อมูลสถิติ แต่โดยภาพรวมแล้วเจ้าของเรื่องต้องคิด ค้นคว้า วิจัยและสรุปด้วยตัวเอง

            ชายหนุ่มพบปัญหาใหญ่อีกครั้งเมื่อวิทยานิพนธ์ถึงบทที่สี่เรื่องผลการวิจัย เขาต้องนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแบบสอบถามมาประมวลด้วยวิธีทางสถิติ เพื่อนำตัวเลขที่ได้ออกมาวัดผลและตอบปัญหาสมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้ พื้นฐานของเขามาจากสายสังคมศาสตร์ วิชาระเบียบวิธิวิจัยที่สอนเรื่องการประมวลผลทางสถิติ เขาไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ วิชานี้เขาต้องอาศัยเพื่อนช่วยสอนให้จึงจะสอบผ่าน แต่ใช้ว่าจะมีแต่เขาคนเดียวที่ไม่เข้าใจ เด็กที่เรียนมาทางสายสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่จะไม่ถนัดทางคำนวณหรือเลขที่ใช้วิธีคิดซับซ้อน

            “นายไปจ้างเขาประมวลผลให้ดีกว่า ที่เขาทำไม่ได้ก็จ้างกันทั้งนั้น ถ้านายมัวมางุ่นง่านทำเองอยู่อย่างนี้ เมื่อไรจะเสร็จ” เพื่อนแนะนำ เมื่อพบว่าบทที่สี่ของเขายังไปไม่ถึงไหน

            “เราไม่อยากทำ จ้างเขาก็เสียเงินตั้งห้าหรือหกพันบาท และวิทยานิพนธ์เป็นของเรา เราควรทำด้วยตัวเอง” ชายหนุ่มว่าเรียบๆ ทั้งๆที่ในเวลานั้นกำลังอยู่ในภาวะมืดมทนกับการทำความเข้าใจในเรื่องวิธีประมวลผล

            “นายอย่าคิดมากสิ นักบริหารนะ เขาไม่ได้ทำทุกอย่าง ทุกเรื่องนะโว้ย อะไรที่ทำไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นช่วยทำ แล้วค่อยทำความเข้าใจและตรวจสอบเอาทีหลัง ขืนมัวแต่ทำเองตลอด กว่าจะเข้าใจ นายอาจต้องเสียเวลาไปอีกหนึ่งเทอม”

            เขาเงียบ ไม่ตอบเพื่อน สิ่งที่เพื่อนพูดนั้นไม่ผิด เขาเสียเวลาช้าไปอีกหนึ่งเทอมจริงๆกว่าจะทำความเข้าใจเขียนบทที่สี่และบทที่ห้าเสร็จ และนี่เป็นเทอมสุดท้ายในชีวิตนักศึกษาปริญญาโทเป็นโอกาสสุดท้าย แต่เขาเองกลับรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็นความภูมิใจลึกๆที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ ชายหนุ่มนำต้นฉลบับวิทยานิพนธ์มาส่งอาจารย์ที่ปรึกษาเพือ่ตรวจทานก่อนสอบ

            “การประมวลผลของคุณไม่ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนวิธี คุณเก็บข้อมูลแบบนี้จะประมวลผลด้วยวิธีนี้ไม่ได้ จะทำให้ได้คำตอบที่ไม่ครบถ้วน และบทสรุปก็เหมือนกัน หาอะไรใหม่ๆมาเขียน ไม่ใช่สรุปแบบนี้ ไม่มีอะไรใหม่ในทางวิชาการ ไปแก้ไขตามที่ผมแนะนำ” อาจารย์ที่ปรึกษาพูดทิ้งท้ายก่อนส่งบทที่สี่และบทที่ห้าให้นำกลับไปแก้ใหม่

            เกือบสามสัปดาห์ที่ชายหนุ่มใช้แก้ไขวิทยานิพนธ์ตามคำแนะนำของอาจารย์ เป็นช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดในชีวิต กลางวันทำงาน กลางคืนทำวิทยานิพนธ์ บางวันต้องขอเลิกงานเร็วขึ้นเพื่อไปค้นคว้าที่ห้องสมุด เขานอนวันละไม่ถึงสามชั่วโมง ร่างกายอิดโรย ใบหน้าซีดเซียวแต่มีพุงหลามขึ้น เพราะเขาต้องกินวันละสี่ถึงห้ามื้อเพื่อทดแทนที่ไม่ได้หลับนอน ในที่สุดอาจารย์โทร.มาส่งให้ส่งต้นฉบับก่อนที่อาจารย์จะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อจะได้นำไปอ่านโดยละเอียดและกลับมาสอบเขาเป็นคนสุดท้ายในเทอมนี้ แต่ชายหนุ่มก็แก้ไขไม่ทันส่ง

            เขาได้พยายามเต็มที่แล้ว..

            เสียงเคาะประตูดังขึ้นสองสามครั้ง ได้ยินเสียงแม่ตะโกนปลุก ชายหนุ่มลืมตา รู้สึกปวดที่ต้นคอ เขานั่งหลับคาเก้าอี้โต๊ะทำงานตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ เหลือบมองดูนาฬิกาบอกเวลาแปดโมงสิบห้านาที เขาตกใจ รีบลุกขึ้น อีกสิบห้านาทีจะได้เวลาสอบ แล้วจะเดินทางไปทันสอบได้อย่างไร...แต่ในที่สุดเขาจำได้แล้วว่า อาจารย์โทร.มาบอกไม่อนุญาตให้เขาสอบ เขาลุกจากเก้าอี้ด้วยอาการเชื่องช้า

            หลังจากอ้อยอิ่งอาบน้ำ และทานอาหารเช้าก่อนเดินทางไปหาอาจารย์ที่คณะอย่างที่ตั้งใจไว้ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นเขาเดินไปรับสาย

            “ทำไมคุณยังไม่มาสอบอีก นี่เลยเวลามาเกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว” เสียงอาจารย์ที่ปรึกษาขึ้น ชายหนุ่มงุนงงกับคำถามของอาจารย์ก่อนตอบออกไป

            “เออ...ก็อาจารย์ไม่อนุญาตให้ผมสอบแล้วนี่ครับ”

            อาจารย์ที่ปรึกษาเงียบ ก่อนพูดขึ้นเรียบๆ

            “ผมคุยกับประธานและกรรมการสอบแล้วละ เอาเป็นว่า เราให้โอกาสคุณ ให้รีบมาสอบเดี๋ยวนี้” ชายหนุ่มตาเบิกโพลง รู้สึกถึงโอกาสและความหวังริบหรี่เริ่มเฉิบฉาย

            “ครับ...ครับ ผมจะรีบไป”

            “แต่...ผมยังยืนยันคำเดิมนำ งานของคุณผิดพลาดมาก ถ้าประธานและกรรมการซักคุณมากๆ ผมคงช่วยอะไรไม่ได้ ความจริงคุณยังไม่พร้อม” พูดจบอาจารย์วางสายทันที

            ชายหนุ่มอึ้ง ความหวังริบหรี่เมื่อสักครู่จางหาย ความมั่นใจที่เริ่มกลับมาสูญสลาย เวลานี้เขารู้สึกเหมือนกำลังถูกผลักไสไปสู่แดนประหาร ด้วยมือครูของเขาเอง

 

 

guest profile guest

ครูนะครู อาจารย์นะอาจารย์.................จะเป็นอย่างไรไม่อยากคิด................... Whatever will be will be ??????????????

guest profile guest
 ไม่ได้พูดเล่น นะคะพี่วัช แต่อ่านทั้งสองเรื่องแล้ว มันอึ้ง
นึกถึงตัวเองและใครอีกหลายคน ทั้งในเรื่อง มันคือชีวิตจริงที่แนรันทด มิใช่หรือ
หากคิดมากไม่แน่อาจจะบ้าได้ เก๊าะเลยหยุดไงแล้ว ปลงว่า Whatever will be will be.  จริงป๊ะ
wach10 profile wach10

อ่านไว้เป็นแนวฝึกทำข้อสอบ ..นะจ๊ะ....น้องเล็ก

วันนี้..พี่ไม่ทำอะไร.....

นั่งฟังเพลง ค้างคาวกินกล้วย..ดีกว่า

เพราะทำ..ก็คิด...ไม่ออก.......

ค้างคาวกินกล้วย.....

ฟังแล้วคึกคักดี...

อยากลุกขึ้นมาเต้น...

แต่ต้องเจียมตัว...55555...ขาเดี้ยง


                                    


wach10 profile wach10


ค้างคาวกินกล้วย...ห้องสมุด มช..แจ๋วจริง





ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

wach10 Icon ไดฟูกุซาญ่าจอดรถไร้มารยาท อ่าน 682 10 ปีที่ผ่านมา
10 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้ อ่าน 1,542 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ขอความอนุเคราะห์อีกครั้ง อ่าน 1,154 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon ข้อสอบชุดวิจัย 3 อ่าน 2,027 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon My World 5 M.5 Unit One อ่าน 1,633 11 ปีที่ผ่านมา
11 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon แจ้งสถานที่สอบประมวลฯ อ่าน 728 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon หลักฐานที่ใช้ในการสอบประมวลฯ 2 อ่าน 1,283 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon ทบทวน..ข้อสอบประมวล.. 1 อ่าน 1,401 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
guest Icon เพื่อนร่วมสาขา 1 อ่าน 903 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
wach10 Icon ข้อสอบประมวลฯ 4 อ่าน 2,366 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา