กระเจี๊ยบแดง

guest profile image guest

กระเจี๊ยบแดง

รายงานวิจัยล่าสุดจากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3  ของ สํานักงานการสํารวจสภาวะสุขภาพอนามัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น  ถ้าย้อนไปปี พ.ศ.๒๕๓๒ การสำรวจประชากรไทยทั้งหมดพบว่า คนไทยไม่ค่อยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเท่าไรนัก นับได้แค่ ๕ % เท่านั้น แต่มาปี พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๗ คนไทยเป็นโรคความดันสูงถึง ๒๒.๑% หมายถึงคนไทย ๑๐๐ คนมีผู้ที่ความดันโลหิตสูง ๒๒ คน

ลองสำรวจด้วยตัวคุณเองก็ได้ว่าผลสำรวจนี้จริงหรือเท็จ แค่หันไปถามคนรอบข้าง ถามญาติพี่น้องเพื่อนร่วมงานจะพบว่า ปัจจุบันมีคนใกล้ตัวกำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น ที่น่าตกใจคือ แต่ก่อนเป็นกันในวัยใกล้ๆ เกษียณและหลังเกษียณ ถัดมาเริ่มพบในวัยเลขห้าต้นๆ แต่เวลานี้มีกลุ่มสามสิบปลายๆ สี่สิบต้นๆ เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันแล้ว เพราะพฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป
           
เริ่มตั้งแต่รักสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ค่อยได้ใช้แรงและออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นติดอันดับโลก กินอาหารรสเค็มเพิ่มขึ้น และความเครียดในจิตใจที่ไม่รู้จักปล่อยวาง ดังนั้นวิธีรับมือกับความดันโลหิตสูงที่ดีที่สุดคือ  ปรับ ปรุงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดเลิกให้ได้ และจัดสรรเวลาอันยุ่งเหยิงหันมาออกกำลังกายครั้งละ ๒๐ – ๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง
           
การออกกำลังกายสยบความดันโลหิตไม่ได้พูดลอยๆ มีการศึกษาวิจัยกันชัดเจนมากมาย เช่น การศึกษาชิ้นหนึ่งนำชายวัยทำงานที่นั่งติดแหมะกับโต๊ะ ๖๒ คน อายุเฉลี่ย ๖๐ ปี และแน่นอนคนเหล่านี้มีความดันโลหิตสูง พอจับให้ออกกำลังกาย ๔ วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา ๑๒ สัปดาห์ และวัดความดันทุกๆ ๒ สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตของอาสาสมัครเหล่านี้ลดลง และประสบการณ์ตรงจากประธานมูลนิธิสุขภาพไทยซึ่งเป็นนายแพทย์แผนปัจจุบัน ยังออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อแก้ปัญหาความดันโลหิตสูงของตนเองอย่างได้ผล
           
มาถึงสมุนไพรช่วยเสริมพลังในการลดความดันโลหิตสูง มีการศึกษาวิจัยอยู่ ๒ เรื่องที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องแรกฝรั่งเขาจัดให้เป็นกลุ่มของอาหารที่มีเส้นใยสูง(High fiber food) เช่น ข้าวโอ๊ต ผลไม้ และผักต่างๆ พอฝรั่งเข้าทำการวิจัยเพื่อดูว่าเส้นใยอาหารจะช่วยลดความดันโลหิตได้จริง หรือไม่ ฝรั่งผมทองก็เลือก(ลูก)ฝรั่ง (guava) เป็นอาหารให้อาสาสมัครรับประทาน ลูกฝรั่งที่คนฝรั่งกินนั่นก็คือฝรั่งที่อีสานบ้านเราเรียกบักสีดาคือกันนั่นเอง
           
การศึกษาแยกผู้เป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกกินฝรั่งก่อนมื้ออาหารเป็นเวลานาน ๑๒ สัปดาห์ พบความแตกต่างกับอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน นอกจากความดันโลหิตลดลงแล้ว ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดยังลดลงอีกด้วย การ ศึกษาครั้งนี้ไม่ได้เน้นสรรพคุณทางยาสมุนไพรของฝรั่ง แต่ใช้ประโยชน์จากใยอาหารที่มีอยู่มากในผลฝรั่ง ท่านใดที่ไม่ชอบกินฝรั่ง แต่ขอให้เข้าใจหลักการกินใยอาหารให้มากๆ เข้าไว้ แล้วเลือกกินผักผลไม้ชนิดอื่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ ก็จะช่วยลดระดับความดันโลหิตของท่านได้
           
สำหรับการศึกษาเรื่องที่ ๒ เกี่ยวข้องกับสมุนไพรกับการลดความดันโลหิตสูง ปัจจุบันมีการศึกษากันมากขึ้น และทางมูลนิธิสุขภาพไทยเคยนำเสนอสมุนไพรไปหลายตำรับแล้ว ในครั้งนี้ต้องการเสนอสมุนไพรพื้นบ้าน หาง่ายเข้าถึงคนทุกระดับและมีการวิจัยรองรับอย่างน่าสนใจ  คือต้นกระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa L. ฝรั่งเรียกง่ายๆ ว่า Roselle หรือ Jamica Sorrel คนไทยเรียกกระเจี๊ยบเฉยๆ บางครั้งเรียกกระเจี๊ยบเปรี้ยว
           
การทดลองกระเจี๊ยบแดงนั้น ศึกษาตั้งแต่ในหนูทดลอง เช่น มีการเหนี่ยวนำหรือทำให้หนูขาวมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน ๖ สัปดาห์ แล้วแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกพอขึ้นสัปดาห์ที่ ๖ – ๑๔ ให้สารสกัดน้ำกระเจี๊ยบแดง ขนาด ๒๕๐ มก./ กก./ วัน วัดความดันโลหิตทุกวัน พบว่าความดันโลหิตของหนูทุกตัวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง
           
 เมื่อทดลองในสัตว์ได้ผลดี ก็มาทางทดลองในมนุษย์ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้น ขอยกมาเพียงรายงานหนึ่งที่นำผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจำนวน ๓๑ คน ซึ่งมีค่าความดันที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าค่าบนสูง ๑๖๐ – ๑๘๐ มม.ปรอท และมีค่าความดันค่าล่างสูงระหว่าง ๑๐๐ – ๑๑๔ มม.ปรอท แล้วแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกกินชาชงกระเจี๊ยบแดง ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ ๑ แก้ว (๒๕๐ ซีซี) ผ่านการต้มนาน ๒๐-๓๐ นาที อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งกินแต่น้ำธรรมดา แล้ววัดความดันในวันที่ ๔, ๘, ๑๒, ๑๕ ของการทดลอง ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ดื่มชาชงกระเจี๊ยบแดง มีระดับความดันโลหิตลดลง ดังนี้ ค่าตัวบนลงลด ๑๑.๒% ค่าตัวล่างลดลง ๑๐.๗% ในวันที่ ๑๒ ของการกินชาชงกระเจี๊ยบ
           
กระเจี๊ยบแดงที่หาได้ง่ายๆ ในท้องตลาดนี้ จึงเป็นทางเลือกหรือกำลังเสริมให้กับผู้ที่กำลังประสบปัญหาความดันโลหิตสูง ได้เป็นอย่างดี เครื่องดื่มกระเจี๊ยบที่มีสรรพคุณทางยาแบบนี้ต่างจากร้านขายน้ำหวานทั่วไป หากต้องการปรุงเป็นยาควรจะใช้กระเจี๊ยบแห้งบดผงชงน้ำร้อนๆ ดื่ม ไม่ควรแต่งด้วยน้ำตาล หากยังไม่ถูกปากจริงๆ ขอให้แต่งรสหวานเพียงเล็กน้อย แล้วดื่มกินชาชงกระเจี๊ยบเป็นประจำจึงจะเกิดผลดี

อ้างอิงจากเว็บ http://learning.eduzones.com/sippa/489
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

guest Icon มะดัน อ่าน 1,690 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ตะลิงปลิง อ่าน 1,633 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon กระเจี๊ยบแดง อ่าน 1,906 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon มังคุด อ่าน 1,483 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon กล้วยหอม อ่าน 769 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
manman Icon กระท้อน อ่าน 1,986 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
manman Icon สรรพคุณผลไม้และสมุนไพร อ่าน 3,104 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา