สอนเพศศึกษาเหมาะสมศธ.ป้องกัน-ก่อนอุ้มท้องเรียน

kroowut profile image kroowut
สอนเพศศึกษาเหมาะสมศธ.ป้องกัน-ก่อนอุ้มท้องเรียน
วันที่ : 13 ส.ค. 2553

Share| แบ่งปันเรื่องนี้ให้เพื่อนที่

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองวัยเจริญพันธุ์ มีอยู่ 3 มาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เป็นประเด็นร้อนสุด คือ มาตรา 12 ที่กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องอนุญาตให้เด็กที่ตั้งครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตรแล้ว

ตรงจุดนี้ คนภายนอกมองว่า มาตราดังกล่าวในร่างกฎหมายที่ยกร่างโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เหมือนเป็นการตบหน้า เพราะศธ.ไม่เคยออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของเด็กในวัยเรียนที่ตั้งครรภ์ กลับต้องรอให้กระทรวงอื่นมาเขียนกฎหมายให้ใช้แทน 

“หลายฝ่ายมองว่า มาตรา 12 เป็นการตบหน้ากระทรวงศึกษาธิการ แสดงเหมือนว่าศธ.ไม่ดูแลเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่จริงๆ แล้ว เราดูแล ช่วยให้เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนให้ได้เรียนต่อมาตลอด“ ธนิมา เจริญสุข นักวิชาการศึกษา ชำนาญการพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าว 

ธนิมา อธิบายว่า เหตุผลที่ สพฐ.ไม่เคยออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกาศให้สถานศึกษาอนุญาตให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์มาเรียนได้ เพราะการกระทำเช่นนี้มีผลสองแง่สองง่าม ที่ผ่านมา ศธ.เป็นจำเลยของสังคมมาตลอดทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะทำผิดหรือถูก เพราะฉะนั้น หากออกคำสั่งดังกล่าวจริง ศธ.ก็จะถูกกล่าวหาว่า ส่งเสริมเด็กในทางที่ผิด แค่ยุคแรกที่ ศธ.ส่งเสริมให้มีการสอนเพศศึกษาแก่เด็กก็ยังถูกโจมตี ถูกสังคมมองในแง่ลบตลอด 

อย่างไรก็ตาม สพฐ.ใช้วิธีการสั่งการด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจ มอบเป็นนโยบายให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาดูแลเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน และถ้ามีเรื่องร้องเรียนมาถึง สพฐ. เราก็จะลงไปดูแลแก้ปัญหาให้เด็กที่ตั้งครรภ์ทุกรายได้เรียนต่อ โดยใช้พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบรรทัดฐานบังคับให้ทุกสถานศึกษาต้องปฏิบัติตาม 

“ใน พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 กำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา 9 ปี ซึ่งครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม ทั้งเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ เด็กด้อยโอกาส ฯลฯ เราใช้ข้อความตรงนี้สื่อสารเป็นนัยไปถึงสถานศึกษาว่า เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนก็ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับครบ 9 ปีด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์นั้น จะมีความรู้สึกอายเพื่อน ไม่กล้าอุ้มท้องมาเรียนตามปกติ ก็ต้องปรับให้เด็กเรียนอยู่ที่บ้านแทน หรืออาจให้เด็กไปเรียน กศน. พอคลอดแล้วค่อยกลับมาเรียนตามปกติ“ ธนิมา กล่าว 

ธนิมา ยอมรับว่า ไม่แน่ใจว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองวัยเจริญพันธุ์จะมีผลด้านลบตามมาหรือไม่ หรือจะนำมาปฏิบัติจริงได้แค่ไหน เพราะจริงๆ แล้ว เด็กที่ตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่จะอายและไม่อยากมาโรงเรียน 

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ขององค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กยืนยันว่า แม้จะมีไม่มากแต่ก็มีเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ถูกปฏิเสธจากสถานศึกษา นั่นทำให้เขาเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองวัยเจริญพันธุ์ 

อุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้างานรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ (PATH) กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการทำงานร่วมกับสถานศึกษานั้นพบว่า ยังมีผู้บริหารบางโรงเรียนที่ปฏิเสธจะดูแลนักเรียนที่ตั้งครรภ์ บางแห่งให้เด็กออกจากโรงเรียน แล้วติดต่อให้ไปเรียนโรงเรียนอื่นที่อยู่ไกลบ้านกว่า 70 กิโลเมตรแทน แต่โชคดีที่ผู้บริหารอีกโรงเรียนเห็นใจขอรับไปดูแลแทน ตรงนี้สะท้อนว่า แม้แต่ในหน่วยงานเดียวกัน ยังมีความคิดทัศนคติที่แตกต่าง นำมาสู่การปฏิบัติต่อเด็กที่แตกต่างด้วย 

หรืออย่างอีกกรณี เด็กที่ตั้งครรภ์ได้รับอนุญาตจากผู้บริหารโรงเรียนให้เรียนต่อไป โดยไม่ถูกให้ออก อย่างไรทั้งคู่ตกลงจะแต่งงานโดยที่ผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมกัน แล้วก็มีการแจกการ์ดงานแต่งเชิญแขกมางาน ก็เลยกลายเป็นเรื่อง ผู้บริหารโรงเรียนจะให้เด็กทั้ง 2 คนออกจากโรงเรียน เพราะรู้สึกว่า ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง เขาไม่ต้องการให้เรื่องนี้เปิดเผย ซึ่งโรงเรียนสามารถให้เด็กที่เกินมัธยมศึกษาตอนต้นออกจากการเรียนได้ โดยอาศัยช่องว่างจาก พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับได้ ที่ครอบคลุม 9 ปี ถึงแค่ ม.3 เท่านั้น แต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.เจริญพันธุ์ก็จะช่วยอุดช่องว่าง คุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้เด็กทุกคนได้ 

“จริงๆ แล้ว สื่อและสังคมสนใจแต่มาตรา 12 อย่างเดียว ทั้งๆ ที่ในร่าง พ.ร.บ.มีอีกหลายเรื่องที่สำคัญที่กำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เช่น การให้สถานศึกษาสอนเพศศึกษา มาตราเหล่านั้นล้วนเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา เช่น มาตรา 7 ที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม มีแต่มาตรา 12 เท่านั้นที่เป็นมาตรการใช้ยามเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว แต่เรากลับไปสนใจเรื่องปลายทางกัน" 

อุษาสินี กล่าวต่อว่า เรื่องที่ควรให้ความสนใจที่สุดคือการสอนเพศศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม จากการทำงาน 7 ปี ร่วมกับสถานศึกษา 2,000 แห่ง ทั้งโรงเรียนมัธยม วิทยาลัยอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อส่งเสริมการสอนเพศศึกษาว่า มีแค่ 1 ใน 3 หรือประมาณ 600 โรง ที่มีการสอนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีเวลาเรียน 6-8 คาบต่อภาคเรียนหรือ 14-16 คาบ ต่อปีการศึกษา ที่เหลือมีเวลาเรียนเพศศึกษาไม่เกิน 4 คาบต่อภาคเรียน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่กำหนดให้เรียนรู้เรื่องเอดส์และเพศศึกษา 30 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ อุษาสินี บอกว่า ไม่ไช่เพราะครูทำหลักสูตร หรือจัดการเรียนการสอนไม่ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การให้ความสำคัญ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถานศึกษาจะให้เวลาเรียนกับเพศศึกษาเท่าใด แต่มีแนวโน้มว่าโรงเรียนในเมืองและกทม. ให้ความสำคัญน้อย เพราะต้องการใช้เวลาเรียนไปสอนวิชาการ เตรียมพร้อมเด็กเข้าสู่การแข่งขันสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จนไม่มีเวลาเหลือให้การสอน การทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้เด็ก 

นคร สันธิโยธิน อาจารย์หญิงสอนวิชาสุขศึกษา ประจำห้องกุหลาบขาว ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้บุกเบิกสอนเพศศึกษาแนวใหม่มากว่า 10 ปี บอกว่า มาตรา 12 นั้นเป็นการรักษาสิทธิ์ไม่ใช่บังคับให้เด็กที่ตั้งครรภ์ต้องไปนั่งเรียนในห้อง แต่ถ้าเด็กสมัครใจ พร้อมจะเรียนต่อ ต้องได้เรียน เป็นการปกป้องเด็กไม่ให้ต้องมาเสียอนาคตจากความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ซึ่งเจ้าตัวอาจทำไปโดยไม่ทันยั้งคิด 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นคร บอกว่า การสอนเพศศึกษาควรมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ทันสถานการณ์ เพื่อให้เด็กสนใจ และต้องสื่อ หรือให้ความคิดที่ถูกต้องแก่เด็กได้จริงๆ ไม่ใช่มานั่งเรียนตามตำราซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร ครูต้องเปิดใจกว้าง กล้าหยิบยกเหตุการณ์ต่างๆ มาพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เด็ก นั่นจึงจะช่วยยุติปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้อย่างแท้จริง 

ที่มา คมชัดลึก 13 สิงหาคม 2553

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

kroowut Icon ปี 2555 พูดภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์ อ่าน 1,748 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
KROOWUT Icon 10ธ.ค.'2จันทรุปราคา อ่าน 1,084 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
KROOWUT Icon เปิดร่างหลักเกณฑ์..ครูคืนถิ่น อ่าน 1,209 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
KROOWUT Icon สพฐ.ลุ้นจัดซื้อแท็บเล็ตเพิ่ม อ่าน 1,132 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
KROOWUT Icon ข่าวครูคืนถิ่น อ่าน 1,343 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
KROOWUT Icon โครงการครูคืนถิ่น อ่าน 1,416 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon ข่าวเงินกู้ 3 ล้าน ชพค 7 อ่าน 5,921 12 ปีที่ผ่านมา
12 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon ครม.อนุมัติเพิ่มเงินเดือนครู8% อ่าน 3,085 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา