วันมาฆบูชา

kroowut profile image kroowut

     วันมาฆบูชา     

ไม่ทำชั่ว  ทำแต่ความดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส

        วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน    ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ

        ประการแรก  เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย

        ประการที่สอง  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

        ประการที่สาม  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา

        ประการที่สี่   วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์

        ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต

        โอวาทปาฏิโมกข์  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ

 
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

 
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

 
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี 

ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย 

 
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต  

ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย 

 
สพฺพปาปสฺส  อกรณํ

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

 
กุสลสฺสุปสมฺปทา

การทำความดีให้ถึงพร้อม 

 
สจิตฺต ปริโยทปนํ 

การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ 

 
เอตํ พุทฺธานสาสนํ 

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา 

 
อนูปวาโท อนูปฆาโต 

การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย 

 
ปาติโมกฺเข จ สํวโร 

การสำรวมในปาติโมกข์ 

 
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ 

ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค 

 
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ 

การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด 

 
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค

ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง 

 
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ 

นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง

(ขอขอบคุณข้อมูลข้างต้นจาก http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/theme_1.html)

สรุปหลักใหญ่ใจความที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า

ไม่ทำชั่ว  ทำแต่ความดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส

 

 

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

kroowut Icon เรียนพระพุทธศาสนาออนไลน์ อ่าน 1,703 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันธรรมสวนะ อ่าน 1,855 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันออกพรรษา อ่าน 1,972 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันเข้าพรรษา อ่าน 1,000 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon อาสาฬหบูชา อ่าน 862 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันวิสาขบูชา อ่าน 924 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon วันมาฆบูชา อ่าน 934 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
kroowut Icon มงคลชีวิต ๓๘ ประการ อ่าน 1,138 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา