ไทยค้นพบครั้งสำคัญ งูเกอะลออมก๋อย งูพิษชนิดใหม่ของโลกบนดอยอมก๋อย จ.เชียงใหม่

guest profile image guest

 

บนเพจเฟซบุ๊ก งูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters คุณมนตรี สุมณฑา ดร.วรวิทู มีสุข และ สพญ.ดร.ลาวัณย์ จันทร์โฮม ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับงูพิษชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบบนดอยอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นงูพิษที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน

ทางเพจเล่าในบางตอนว่า จากภาพงูปริศนาตัวหนึ่ง สีน้ำตาลลายจุดๆ ตัวยาวๆ ซึ่งมีรายละเอียดไม่ชัดเจนนัก โดนตีตายหลังจากกัดครูบนดอยสูง ถูกส่งมาถามว่าคืองูอะไรหลังจากผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ที่อยู่ตีนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งโลกวิชาการให้รู้จักกับงูที่หลบซ่อนอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลคนที่ราบ มีเพียงชนเผ่าบนดอยสูงบางแห่งเท่านั้นที่รู้จักมาก่อน และมีชื่อเรียกกล่าวขานว่า “เกอะลอโม่ฮือ” แปลว่า “ไฟ/สายฟ้า+แม่ฟัก” หรือ “งูที่ฉกกัดแล้วเกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ซึ่งมีพฤติกรรมกกไข่จนกว่าลูกงูฟักออกมา” ได้ ซึ่งต่อมาได้ให้โลกรู้จักในนาม “Protobothrops kelomohy Sumontha et. al., 2020” (ออกเสียงประมาณว่า โพร-โต-โบ-ธร่อบ(ส) เกอะ-ลอ-โม่-ฮือ) และมีชื่อไทยเพื่อให้เกียรติแก่ภาษาพื้นเมืองชนเผ่ากะเหรี่ยงและพื้นที่ที่เราได้รู้จักกับงูชนิดนี้ ณ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “งูเกอะลออมก๋อย”

งูเกอะลออมก๋อย เป็น “งูพิษ กลุ่มใกล้เคียงกับงูเขียวหางไหม้” ที่มีผลต่อ “ระบบเลือด” ที่มีความรุนแรงมากชนิดหนึ่ง จากการสอบถามคนในพื้นที่ยังไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่สร้างความปวดร้าวทรมานระดับหนึ่ง และมักทิ้งร่องรอยประสบการณ์หลังจากถูกกัดเต็มที่

 

งูเกอะลออมก๋อย มีการกระจายพันธุ์ตามพื้นที่สูงทางภาคเหนือในป่าที่มีความชื้นสูง ปัจจุบันพบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และคาดว่าจะพบในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นงูที่มีนิสัยขี้ระแวง สามารถฉกกัดได้ไกลและรวดเร็วมาก

ทั้งนี้เรื่องราวของงูเกอะลออมก๋อย ได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Tropical NaturelHistory (TNH) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา เรื่องค้นพบงูชนิดใหม่ที่ได้รับการรายงานอย่างเป็นทางการของประเทศไทย และของโลก

ขอบคุณ งูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://www.xn--42c2dgos8bxc2dtcg.com/208798
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

3 ปีที่ผ่านมา
3 ปีที่ผ่านมา