เตือนแล้วไม่มีใครฟัง จนถูกโควิด-19 เล่นงานแทบจะเป็นอัมพาตไปทั่วโลก

guest profile image guest

แม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะพยายามเตือนหลายครั้งว่าโรคระบาดใหม่ๆ จะเกิดขึ้น แต่เรากลับละเลยจนถูกโควิด-19 เล่นงานแทบจะเป็นอัมพาตไปทั่วโลก

งานวิจัยเกี่ยวกับโรคซาร์สเมื่อปี 2007 โดย วินเซนต์ เฉิง, ซูซานนา หลิว, แพทริก หู และ เหยียนกั๋วหย่ง จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (NCBI) ของสหรัฐ เตือนเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์สจะเป็นต้นเหตุของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ก่อนที่โรคซาร์สจะระบาดเมื่อปี 2003 มีเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดอื่นทั้งในมนุษย์และสัตว์เพียง 12 ชนิดเท่านั้น แต่หลังจากซาร์สระบาดก็มีการค้นพบเชื้อโคโรนาไวรัสในค้างคาวและอีเห็น รวมทั้งเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ NL63 และ HKU1 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในมนุษย์

โดยรวมแล้วการติดตามตรวจสอบหาเชื้อโคโรนาไวรัสในสัตว์หลายชนิดทำให้พบเชื้อโคโรนาไวรัสแล้วอย่างน้อย 36 สายพันธุ์

นอกจากนี้ การค้นพบว่าค้างคาวมงกุฎเป็นแหล่งรังโรค (reservoir) หรือตัวกักเก็บโรคของเชื้อโคโรนาไวรัสที่คล้ายกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส และตัวอีเห็นคือแหล่งขยายและแพร่พันธุ์ (amplification host) ของเชื้อไวรัสยิ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของสัตว์ป่าและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มและตลาดสด ซึ่งเป็นได้ทั้งต้นตอของเชื้อและแหล่งแพร่เชื้อโรคอุบัติใหม่

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์นำมาสู่การแพร่ระบาด

งานวิจัยยังบอกต่อไปอีกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแถบภาคใต้ของจีนส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งสัตว์ป่าแปลกๆ อาทิ อีเห็น เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อสัตว์ป่าหลายชนิดมารวมกันอยู่ในกรงขังที่แออัดและขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในตลาดสด ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ จากสัตว์จะติดสู่คน

เมื่อบวกกับความสามารถในการแพร่จากคนสู่คน การขาดความตระหนักในการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล และการเดินทางไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้เชื้อไวรัสเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วโลกได้เร็วขึ้น

นักวิจัยระบุว่า ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศที่โรคซาร์สระบาดในช่วงต้นปี 2003 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 8,422 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% นั้น ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดรุนแรงครั้งล่าสุด

การกลับมาระบาดของซาร์สอีกครั้งในช่วงปลายปี 2003 หลังจากชาวจีนทางตอนใต้กลับมาบริโภคสัตว์ป่า และการค้นพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์คล้ายกับสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์สในค้างคาวมงกุฎ (bat SARS-CoV) ในภายหลัง ชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สสามารถกลับมาระบาดใหม่ได้หากสภาพแวดล้อมเหมาะกับการกลายพันธุ์ การขยายตัว และการแพร่กระจาย

เราควรเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาของโรคซาร์สหรือไม่

นักวิจัยระบุว่า ยีนของเชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นชื่อเรื่องการไปรวมกลุ่มกันใหม่ (genetic recombination) ซึ่งอาจนำมาสู่พันธุกรรมรูปแบบใหม่และโรคระบาดใหม่ๆ

และยังบอกอีกว่า การปรากฏตัวของเชื้อไวรัสที่คล้ายกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สในค้างคาวมงกุฎ บวกกับวัฒนธรรมการกินสัตว์แปลกๆ ทางภาคใต้ของจีน คือระเบิดเวลาของการแพร่ระบาด

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่โรคซาร์สจะกลับมาใหม่ หรือโรคใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากสัตว์หรือห้องทดลอง และการเตรียมความพร้อม เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

หรือสรุปสั้นๆ ก็คือ เราควรเตรียมพร้อมไว้เสมอ

แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะพยายามเตือนหลายครั้งว่าโรคระบาดใหม่ๆ จะเกิดขึ้น แต่เรากลับละเลยจนการ์ดตก ปล่อยให้เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 เล่นงานจนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปทั่วโลก

โพสท์โดย: Bus Poltawat
อ้างอิงจาก: มหาวิทยาลัยฮ่องกง
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

3 ปีที่ผ่านมา
3 ปีที่ผ่านมา