สบส.เตรียมเอาผิด โรงพยาบาลเอกชนออกตรวจโควิดในที่สาธารณะ หวั่นเป็นจุดแพร่เชื้อ

guest profile image guest

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 สบส.ได้ออกประกาศ เรื่องแนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 นอกสถานพยาบาล กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถออกให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 นอกสถานพยาบาล เพื่อป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

ซึ่งได้มีการแบ่งแนวทางการดำเนินการเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1.กรณีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญาหรือดำเนินการร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ ให้สามารถดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

2.กรณีสถานพยาบาลเอกชนดำเนินการด้วยตนเอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ โดยให้ดำเนินการได้ ณ ที่พำนักของผู้ป่วย หรือสถานที่กักกันเป็นการชั่วคราวไม่ได้กระทำเป็นปกติธุระ เนื่องจากไม่สามารถออกมาภายนอกได้ ซึ่งที่ผ่านมาสถานพยาบาลเอกชนต่างก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี

โดยก่อนหน้านี้ สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข โดยไปจัดตั้งจุดบริการตรวจโรคโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณะอย่างหน้าห้างสรรพสินค้า หรือปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งมีประชาชนสัญจรอย่างพลุกพล่าน ทำให้เกิดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค หากผู้ป่วยโรคโควิด-19 เดินทางออกมารับบริการก็อาจจะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเดินทางได้ ส่งผลให้หน่วยบริการตรวจคัดกรองฯ ที่ควรเป็นด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกลับกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ อีกทั้งอาจจะส่งผลให้การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

ซึ่ง สบส. ย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง หากจะออกให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 จะต้องดำเนินการ ณ ที่พัก หรือสถานที่กักกันเท่านั้น ห้ามตั้งจุดในพื้นที่สาธารณะ หรือแหล่งชุมชนที่มีการสัญจรพลุกพล่านโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทันที

โดยผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากตรวจพบว่าผู้ให้บริการมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://www.newreport.net/2020/04/blog-post_663.html
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา