คุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

uttaradit profile image uttaradit
 

คุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557

 

 

                   คุณธรรม จริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พึงควรจะมีและใส่ไว้ในใจ สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ควรมีหลักธรรม 4 หลักธรรม ดังนี้

1. หลักฆราวาสธรรม 4

                   หลักฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมเกี่ยวกับทางด้านการบริหาร มี 4 ข้อ ดังนี้

                   1.1 สัจจะ  หมายถึง  ความซื่อสัตย์ต่อกัน หรือความตั้งใจจริงต่อกัน อันความซื่อสัตย์นี้มิใช่แต่เฉพาะซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นที่มีความเกี่ยวข้องด้วย แต่ยังต้องมีสัจจะหรือมีความซื่อสัตย์ต่อความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วย

                   1.2 ทมะ หมายถึง การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง การข่มจิตใจตัวเองนี้ เป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งหรือคนที่มีอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย เช่น การเคยชินกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อเกิดความรู้สึกอยากได้อยากมี ควรรีบข่มจิตข่มใจ ถอนตัวออกจากอกุศลจิตหรือจิตอันเป็นฝ่ายไม่ดีนั้น หากไม่สามารถข่มใจให้ชนะกระแสของกิเลสตัณหาอุปาทานแล้ว  อาจจะทำอะไรไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ก็ได้ ดังนั้นคนดีจึงต้องมีทมะหรือการข่มใจให้อยู่ในฝ่ายธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศลอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

                   1.3 ขันติ  หมายถึง ความอดทน คนที่รู้จักความอดทนอดกลั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเป็นผู้ชนะ ย่อมเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในที่สุด  คนที่มีขันตินั้น จะเป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่งในการทำงาน จะทำงานโดยอดทนต่อการพูดส่อเสียดเยาะเย้ยถากถางจากผู้ประสงค์ร้าย จะอดทนต่อความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยกายและใจ จะอดทนและคอยเก็บเล็กผสมน้อย ต่อไปมันก็พอกพูนเพิ่มใหญ่ไปเอง ความอดทนที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ ความอดทนต่อการยั่วยวนของกิเลสตัณหาอุปาทานที่มากระทบจิตในทุกรูปแบบ จิตใจจะต้องไม่หวั่นไหวหลงใหลไปกับความทะยานอยาก  โดยเฉพาะที่มาในทางทุจริตและทางกามคุณอันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลายทั้งปวง

                   1.4 จาคะ หมายถึง การสละให้ปันสิ่งของอันเป็นของๆ ตนแก่บุคคลที่ควรให้ปัน  เกิดเป็นคนจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่ามิใช่ว่าวันหนึ่งๆ ก็คอยแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ เกียรติ ลาภยศ สรรเสริญ โดยมิได้จัดการทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ บ้าง เกิดเป็นคนควรรู้จักจาคะหรือการแบ่งปันบ้าง ควรรู้จักสละให้ปันสิ่งของที่ตนมีเพื่อประโยชน์ของคนอื่น เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมตามกำลังที่มีอยู่ และขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเองจนเกินไป จะเสียสละอะไรไปก็ให้พอเหมาะพอควรตามรายได้ หรือตามฐานานุรูปของตัวเอง เมื่อใดที่ให้จาคะไปอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จะรู้สึกปิติสุข สบายใจและได้บุญมาก

2. หลักพรมวิหาร 4

                   หลักพรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจในการบริหารชีวิตที่ถูกต้องดีงาม เพื่อให้ชีวิตที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขในสังคมมนุษย์ มี 4 ข้อ ดังนี้

                   2.1 เมตตา  ความมีไมตรี ความเป็นมิตร ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้ผู้อื่นมีความสุข

                   2.2 กรุณา ความสงสาร ความมีใจพลอยหวั่นไหว เมื่อผู้อื่นประสบความทุกข์ก็อยากช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์

                   2.3 มุทิตา  ความพลอยยินดีด้วย  เอาใจสนับสนุน ส่งเสริมเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จได้ดีมีสุขก็อยากให้ได้ดีมีสุขยิ่งๆขึ้นไป

 

 

                   2.4 อุเบกขา การวางเฉยเป็นกลางให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม ซึ่งต่างจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ใช้เพียงความรู้สึกที่ดีก็พอ แต่อุเบกขาจะใช้ลำพังความรู้สึกไม่ได้ ต้องใช้ความรู้ (ปัญญา) ด้วย คือต้องรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้องดีงาม อะไรคือหลักการ แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับเข้ากับความรู้สึกให้ลงตัวพอดี เพื่อวางตัวได้ถูกต้อง เป็นกลางตามธรรม

                   อนึ่งเมื่อผู้ใดละเมิดธรรม คือ ทำผิดกฎหมายหรือกฎกติกาของสังคม ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้นั้นไม่ว่าจะสถานภาพใดต้องหยุดขวนขวายช่วยเหลือทุกวิถีทางทันที ปล่อยให้มีการปฏิบัติต่อเขาเป็นไปตามความเป็นจริง ตามหลักการโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรมเพื่อเป็นการรักษาธรรมไว้  มิฉะนั้นสังคมจะวุ่นวาย

                   ในสังคมไทยผู้ที่มีพรหมวิหารครบ 4 ข้อนั้นหายากมาก ส่วนใหญ่จะรู้จักและใช้กันตามความรู้สึกเพียง 3 ข้อแรกเท่านั้น คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ส่วนข้อ 4 อุเบกขา นั้น ไม่ค่อยได้ใช้กันเพราะขาดปัญญา ไม่รู้ ไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องของอุเบกขา เป็นเหตุให้ไม่มีพลังมากพอที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเลวร้ายต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดลงหรือหมดไปได้

                   แต่เมื่อทุกคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากมีเมตตา กรุณา มุทิตา ที่เหมาะสมพอดี และมีอุเบกขาคุมท้ายไว้แล้ว ก็จะทำให้ทุกคนมีน้ำใจช่วยเหลือ ส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วยความสัมพันธ์อันดี พร้อมทั้งดำรงรักษาความเป็นธรรมในสังคมและความเข้มแข็ง รับผิดชอบในตัวคนไว้ได้ แล้วก็จะทำให้สังคมมีสันติสุข

3. หลักหิริโอตัปปะ

                   หิริโอตัปปะ หมายถึง ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป เป็นธรรมะสำคัญที่นักปกครองใช้ควบคุมจิตใจมนุษย์ให้อยู่ในความดี ใช้ในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันของคนในสังคม การดำเนินงานและการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลที่ไม่ละอายแก่ใจต่อการกระทำผิด ไม่เกรงกลัวต่อผลของการกระทำผิดแล้วนั้น บุคคลนั้นสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้ทุกชนิด สามารถสร้างความเดือดร้อน ความเสียหายให้แก่ตนเอง และผู้คนในสังคมไม่หยุดหย่อน จะเห็นได้จากการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีข่าวออกมาให้เห็นตลอด  การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ตระหนักถึงหิริโอตัปปะได้นั้น ต้องมีบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างเด็ดขาด เข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดความตระหนักมากยิ่งขึ้น จึงจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความเกรงกลัวที่สมเหตุสมผลได้เป็นอย่างดี และจะทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้น้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย

                   เจ้าหน้าที่ของรัฐควรได้มีการปลูกฝังหิริโอตัปปะ โดยเริ่มต้นง่ายๆ คือฝึกตัวเองให้เคารพกฎหมายและระเบียบของหน่วยงาน ข้อนี้ทำไม่ยากเพราะการละเมิดกฎหมายและระเบียบนั้น มีบทลงโทษอยู่แล้ว  ฝึกหัดตัวเองให้กลัวการถูกลงโทษก่อน ถ้าหากจะพยายามหาอุบายหลีกเลี่ยงกฎหมายและระเบียบ จงระลึกอยู่เสมอว่าท่านอาจจะพลาดพลั้ง หรือถ้าท่านคิดว่าท่านฉลาดเอาตัวรอดได้ จงนึกว่าอาจมีคนฉลาดกว่าและจับได้ ถ้าท่านกำลังจะทำผิดเพราะคิดว่าไม่ใครรู้เห็น จงจำไว้ว่าความลับไม่มีในโลกนี้

                   เมื่อฝึกตนให้เป็นคนเคารพและเกรงกลัวกฎหมายแล้ว  ขั้นต่อไปก็ฝึกให้เคารพตนเอง ฝึกหัดปกครองตนเอง การปกครองตนเอง คือ การยับยั้งใจตนเองมิให้กระทำผิด จงคิดว่าเราเป็นมนุษย์ซึ่งแปลว่าผู้มีใจสูง มนุษย์เท่านั้นที่อาจฝึกให้รู้จักละอายต่อความชั่วได้ เราเกิดมาเป็นคนแล้วควรทำตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทำให้ตนเป็นผู้มีศักดิ์ศรี  หากใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างนี้แล้ว เมื่อเคยชินกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบหลักธรรมข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำตามได้

4. หลักธรรมภิบาล

                   หลักธรรมาภิบาล คือ หลักในการปกครอง บริหารงาน การจัดการและการควบคุมดูแลทั้งภาครัฐ และเอกชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองครองธรรม เพื่อให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และศรัทธา จากสังคมภายในและภายนอกองค์กรนั้น ประกอบด้วยหลักการ 6 ประการ ดังนี้คือ

                   3.1 หลักนิติธรรม หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม การบังคับการให้เป็นไปตามกฎกติกาที่ตกลงไว้อย่างเคร่งครัด โดคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมของสมาชิก

                   3.2 หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม การส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต จนเป็นนิสัยประจำชาติ

                   3.3 หลักความโปร่งใส หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทำงานของทุกองค์กรให้มีความโปร่งใส

                   3.4 หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ และอื่นๆ

                   3.5 หลักการรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากการกระทำของตน

                   3.6 หลักการคุ้มค่า หมายถึง การบริการจัดการ และการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยการรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

                   เจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบันส่วนมากยังขาดหลักธรรมทั้ง 4 ประการข้างต้น จะเห็นได้จากการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว  หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำหลักธรรมทั้ง 4 ประการ มาประพฤติปฏิบัติ ยึดถือเป็นต้นแบบ และสนับสนุนส่งเสริมให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐจะได้รับการยอมรับและความศรัทธาจากประชาชน  รวมทั้งจะส่งผลให้ประเทศชาติได้พัฒนาสืบไป

สรุป

                   จากที่กล่าวมาทั้งหมดเจ้าหน้าที่ของรัฐควรนำหลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่มาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

uttaradit Icon GPS ตามที่กรมการขนส่งกำหนด อ่าน 917 8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา
8 ปีที่ผ่านมา