ทั้งรักทั้งเกลียด อินเดีย หน้า2 เตรียมความพร้อมก่อนตะลุยเมืองแขก

Phindia profile image Phindia
เตรียมความพร้อมก่อนตะลุยเมืองแขก

ผมอาจจะเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งในจำนวนคนไทยอีกหลายๆ คน ที่ไม่เคยมีความคิดอยากจะมาศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย  แม้ในช่วงขณะถูกผีอำ อาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมาผมไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับความเป็นจริง อีกอย่างหนึ่งโดยส่วนตัวของผมเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้เดินทางมาอินเดียสักครั้ง เพียงแต่รับข้อมูลข่าวสารจากการบอกเล่าของคนอื่นบ้าง จากสื่อต่างๆ เช่น ทีวี หนังสือบ้าง และบ่อยครั้งที่ผมมักจะค้นข้อมูลทางเน็ท โดยส่วนมากมีแต่โฆษณาให้มาติดต่อบริษัทตัวเองมาเรียน แต่ไม่มีข้อมูลเป็นประโยชน์จริงๆ เป็นอยู่อย่างไร จะกินนอนอย่างไร จะต้องเผชิญดินฟ้าอากาศอย่างไร ทำไมไม่เห็นบอก  ก็ยังถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลไม่เป็นที่พอใจของผมมากนัก

หากมองจากภาพลักษณ์ของอินเดียจากสายตาคนไทยหลายๆคน อาจจะคิดว่าอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่น่ามาศึกษาแม้แต่ย่างกายเข้ามาสัมผัส  หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่าปัจจุบันมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่กำลังตบเท้าเข้าแถวมาสมัครเรียนยังประเทศอินเดีย อาจจะเป็นเพราะคนไทยกลุ่มหนึ่งได้รับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เหมือนอย่างที่ผมเคยได้รับทราบมา แล้วแผ่ขยายไปสู่ชนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยการประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก ถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของอินเดีย

ผมไม่เคยปฏิเสธถึงข้อกล่าวหาของคนไทยที่ว่า อินเดียสกปรก อินเดียขอทานเยอะ เหม็นขี้เต่าแขก ฯลฯ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ถูกส่วนหนึ่ง แต่ก็มีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่คนไทยไม่เคยรู้และบางคนก็ไม่อยากรับรู้ คนไทยบางคนบอกกับผมว่าประเทศอินเดียสกปรกทั้งประเทศ ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นเดียวกัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ถึงข้อมูลที่ตรงความเป็นจริง ว่าอันที่จริงแล้ว อินเดียไม่ได้สกปรกทั้งประเทศ คนอินเดียทั้งหมดก็ไม่ได้หน้าตาเหมือนแขกอย่างที่เราคิดๆกัน คนอินเดียบางกลุ่มหน้าตาเหมือนคนไทยมาก เชื้อสายอาจจะไม่ใช่คนอินเดียแท้ๆ อาจจะเป็นเนปาลีบ้าง ทิเบตบ้าง แต่อย่างน้อยเขาก็คือคนอินเดีย และอุปนิสัยก็แตกต่างจากแขกที่เราเห็นกัน บ้านเมืองที่ชนเหล่านี้อยู่ ก็ค่อนข้างสะอาด บ้านเมืองอินเดียในแต่ละรัฐก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศหรืออุปนิสัยใจคอของผู้คน ผิวพรรณ ก็แตกต่างกันออกไป สิ่งเหล่านี้อาจจะลบข้อครหาว่าอินเดียไม่ได้สกปรกทั้งประเทศได้ และไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายๆคนคิด ผมขอยืนยัน นั่งยัน และนอนยันว่า มันคือความจริง!


เป็นอันว่าอย่างน้อยๆการเตรียมความพร้อมหรือการได้รับข้อมูลต่างๆที่ถูกต้องอาจจะเป็นเข็มทิศนำทาง พาเราไปยังสถาบันการศึกษาที่เราวาดฝันเอาไว้ การเตรียมความพร้อมถือว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับตนเองหรือเป็นการรับรู้ข้อมูลบางอย่างที่เราอาจจะต้องประสบพบเจอในวันข้างหน้า ผมเชื่อแน่ว่าทุกสถาบันในอินเดียย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากแต่เราจะมองส่วนไหน ดังนั้น การศึกษาข้อดีและข้อเสียยังสถาบันที่เราจะไปศึกษาต่อก็ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมอีกระดับหนึ่ง ก่อนที่ผมจะย่างก้าวเข้าสู่รั้วสถาบันการศึกษาของแขก ผมไม่เคยรู้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่คนไทยนิยมมาเรียนหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยที่ผมกำลังจะไปศึกษา




มีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่ผมพอจะเข้ามาศึกษาต่อได้ และก่อนจะมาศึกษาควรจะเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง บางทีเราอาจจะลืมไปว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสพความสำเร็จในการศึกษา คือการเตรียมความพร้อมที่ดีนั่นเอง ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อ ควรจะใคร่ครวญอย่างรอบคอบ และสำรวจความพร้อมของตนเองอย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้วางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับที่เราได้มุ่งหวังเอาไว้

เรื่องทุนทรัพย์


ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่เราจะต้องพิจารณา และให้ความสำคัญก่อนเรื่องอื่นๆ อย่าเห็นช้างขี้ แล้วขี้ตามช้าง เป็นสำนวนสุภาษิตไทยอีกบทหนึ่งที่เหมาะสมกับคนไทยอีกหลายๆคน ที่ไม่เจียมกระเป๋าสตางค์ตัวเอง เห็นเพื่อนไปเรียนยังเมืองหลวงหรือเมืองที่เจริญ ก็อยากไปเรียนกับเขาบ้าง มีคนไทยจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย และทางบ้านส่งเงินให้ไม่ทัน อาจจะเป็นผลกระทบในด้านความเครียดตามมาภายหลัง ท่านอย่าลืมว่าเรากำลังไปเรียนต่างประเทศ หากทุนทรัพย์เรายังมีไม่พอ นั่นก็หมายความว่าเรายังไม่พร้อมที่จะมาเรียน นักศึกษาที่มาเรียนที่นี่ทุกๆคนก็ย่อมมีขอบเขตจำกัดในเรื่องเงิน  หากเงินขาดกระเป๋า อาจจะขอหยิบยืมใครไม่ได้ 

หากท่านมีวงเงินอยู่ประมาณ 100,000 (อ่านว่าหนึ่งแสนบาท) สำหรับเรียนในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ตามความเห็นของผมในขณะนี้ ไม่มีที่ไหนถูกสำหรับการศึกษาในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีที่แพงทั้งหมด อาจจะไปเรียนยังเมืองที่ไม่ค่อยเจริญสักเท่าไหร่ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเครื่องค่าครองชีพ เพราะเราอย่าลืมว่าบางเมืองที่เราจะไปอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งต้องซื้อมอเตอร์ไซค์สำหรับไว้เป็นพาหนะ มีบางเมืองน้อยมากที่ใช้จักรยาน โดยส่วนมากแล้วจะใช้มอเตอร์ไซค์  และค่าน้ำมันในอินเดียแพงมาก ลิตรละประมาณ 50 กว่าบาท นี่อาจจะเป็นปัจจัยที่ห้าที่หก นอกเหนือไปจากค่าเล่าเรียนหรือสิ่งอื่นๆที่เราจะต้องใช้จ่าย  

เมื่อพูดถึงการมีทุนเรียนน้อย อันดับแรกที่จะต้องคิดนั่นก็คือเรียนที่ไหนก็ได้สักแห่งที่สามารถประหยัดในเรื่องค่าครองชีพ ที่เพียงพอสำหรับทุนทรัพย์ที่เรามี เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการไปเรียนต่างประเทศ หรือเทียบกับเมืองอื่นๆในอินเดีย ในวงเงินหนึ่งแสนบาทอาจทำให้ท่านทุลักทุเลจบได้ ค่าเรียนก็เพิ่มขึ้นเหมือนเงาตามตัว ทั้งค่าหอค่าเทอมก็เริ่มแพง ปริญญาโทบางคณะก็เก็บค่า Admission เท่ากับนักศึกษาปริญญาเอกในบางคณะ บางมหาลัยเราต้องจ่ายทุกปีจนกว่าเราจะเรียนจบ แต่บางมหาลัยจ่ายครั้งเดียวจนจบ แต่สำหรับในอนาคตเงินจำนวนนี้อาจจะไม่เพียงพอ

ดังนั้นการมีเงินมากเท่าไหร่ ย่อมเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับเรามากเท่านั้น เพราะหากมีเงินจำนวนที่ว่ามานี้ อย่าริอาจหาญไปเรียนยังเมืองที่เจริญของอินเดีย อย่าลืมว่าเมืองที่เจริญค่าของชีพก็ต้องแพง  เช่น ปูเณ่ เชนไน บังกาลอร์ มุมไบ จันท์ดิการ์ฮ ไฮเดอราบาด หรือนิวเดลฮี เมืองเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเมืองที่เจริญของอินเดีย  ความเป็นอยู่ของผู้คนค่อนข้างดี และค่าครองชีพแพง ตลอดจนค่าเล่าเรียนก็แพงด้วย บางมหาลัยค่าเรียนถูก แต่ค่าครองชีพแพง


แต่สำหรับคนที่มีเงินเยอะก็ย่อมมีทางเลือกมากกว่าในการที่จะหามหาวิทยาลัยที่ดีสักแห่งในอินเดีย  เรื่องเงินถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างแรกที่ผมให้ความสำคัญและถือได้ว่าเป็นเครื่องชี้เป็นชี้ตายให้กับเราได้ว่าเราควรจะเรียนยังสถาบันแห่งไหน สำหรับท่านใดที่กำลังเตรียมความพร้อม จงเตรียมเงินให้พร้อมก่อนอันดับแรกครับ

ประการที่สอง ความพร้อมในด้านของภาษาอังกฤษ

เป็นคำแนะนำจากประสบการณ์ของผมเองไม่ว่าคุณจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งไหนในอินเดีย มีชื่อเสียงหรือไม่ ต้องถามตัวเองก่อนว่าภาษาอังกฤษของเราดีแค่ไหนการเรียนในบางสาขาวิชา หากภาษาของเราอ่อน อาจจะใช้ระยะเวลาในการศึกษานานพอสมควร อย่าลืมว่าภาษาอังกฤษคนไทยอ่อนมากในสายตาครูอาจารย์แขก  อาจารย์บางคนถึงกับพูดว่า  ภาษาอังกฤษนักศึกษาไทยแย่มาก

บางมหาวิทยาลัย การที่เราอ่อนภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นปัญหาต่อเนื่องในภายภาคหน้าของการศึกษาเล่าเรียน คือเรียนไม่รู้เรื่อง สนทนากับครูอาจารย์ก็ไม่ได้ ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่แขกก็ไม่ได้ บางคนถึงกับขาดความมั่นใจที่จะพูดเวลาตนเองมีปัญหาในเรื่องการเรียน หรือเอกสารต่างๆ กับครูอาจารย์ แต่นั้นคงไม่ใช่ปัญหา ที่ควรจะเก็บเอามาท้อหรอกนะครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ มันฝึกกันได้ หากรู้ว่าภาษาเราไม่เก่งก็สามารถเรียนเสริมได้


แต่ก็ถือว่านี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างหงุดหงิดอีกปัญหาหนึ่งเหมือนกัน แม้แต่คนอื่นหรือสำหรับผมเองก็ตาม เมื่อครั้งมาเรียนครั้งแรก  เพราะภาษาอังกฤษถือว่าเป็นสื่อสำคัญที่เราจะต้องใช้ในการสนทนากับครูอาจารย์ตลอดจนเจ้าหน้าที่แขกในมหาวิทยาลัยทุกคน นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามศักยภาพตัวเองในเรื่องภาษา ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาอันดับต้นๆ รองจากเรื่องเงิน

ส่วนในเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่เรามักจะมองข้าม หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อมที่จะมาเรียนอินเดีย ก็อย่าฝืนใจตัวเองเลยครับ เพราะอาจจะไม่เป็นผลดีสักเท่าไหร่ เพราะการทำอะไรที่ฝืนใจทำ ผลออกมามักจะไม่ค่อย Perfect เท่าที่ควร การเรียนอาจจะดูแย่ ส่วนด้านสภาพร่างกาย สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนก็ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมอีกระดับหนึ่ง เพราะสภาพโรงพยาบาลที่อินเดีย บางเมืองดูแย่มาก บางแห่งไม่คงสภาพให้เห็นว่าเป็นโรงพยาบาล แม้จะเป็นของเอกชนก็ตาม เมื่อเทียบกับบ้านเรา โรงพยาบาลท้องถิ่นที่บ้านเรายังดีกว่ามาก ในสายตาผม แต่หากท่านไปเรียนยังเมืองที่เจริญ ความเป็นอยู่อาจจะเป็นอยู่ที่ดีกว่าเมืองที่ผมอยู่

ประการสุดท้าย ทิศทางของการศึกษา


เราจะต้องพร้อมก่อนมาเรียนหรือพิจารณาว่าจะศึกษาต่อในระดับใดให้เหมาะสมกับพื้นฐานการศึกษาที่เรามีอยู่ หากจบมัธยมปลายในบ้านเรา ต้องพิจารณาว่าเราสามารถเลือกเข้าศึกษาได้ทั้งสถาบันการศึกษาแห่งไหน ถึงจะเหมาะสม ดังนั้นจึงควรจะศึกษาข้อมูลและตัดสินใจว่าจะเข้าศึกษาในระดับใด มหาวิทยาลัยแห่งใดที่เหมาะสมกับสาขาวิชาที่เราเรียนมา พร้อมทั้งกำหนดสาขาวิชาที่ต้องการศึกษาให้แน่นอนและชัดเจน โดยคำนึงถึงอาชีพการงานและทิศทางในอนาคตของตนเอง


มีเพื่อนนักศึกษาหลายๆคนที่เรียนไปสักระยะหนึ่ง แล้วต้องเปลี่ยนคณะ เพราะเรียนไม่ไหวบ้าง ไม่ชอบบ้าง และต้องศึกษารายวิชาที่ตัวเองต้องการจะเรียนว่าในมหาวิทยาลัยนั้นเปิดทำการเรียนการสอนหรือไม่จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และไม่ควรฝากเรื่องให้กับคนที่ไม่คุ้นเคยกันวิ่งเอกสารเกี่ยวกับการสมัครเรียน เพราะการเดินเอกสารสมัครเรียนในอินเดียลำบากมากๆ คนที่สามารถเดินเรื่องเอกสารให้กับเราได้ ต้องเป็นคนที่อยู่ในอินเดียจริงๆ อาจจะมีกลุ่มคนที่ไม่หวังดีอ้างว่าสามารถเดินเอกสารให้ได้ มีคนไทยหลายคน ที่ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ในการว่าจ้างให้เดินเอกสารสมัครเรียน โดยที่ไม่ได้เรียนในสถาบันและสาขาวิชาที่ตัวเองต้องการ

และบางมหาวิทยาลัยเวลาไปสมัครไม่ว่าจะเรียนคณะไหน แขกจะOKหมด รับหมด แต่พอสมัครไปแล้ว ทางคณะไม่รับพิจารณา ปัญหาเริ่มตามมาก็คือ ขอเงินค่าสมัครคืนไม่ได้ ครั้นจะลงคณะอื่นก็ต้องให้เสียเงินอีก และแขกก็เริ่มคุยกับเราไม่รู้เรื่องขึ้นมาทันที

แต่ในปัจจุบันก็มีเอเยนซี่จำนวนมากที่รับจัดการในเรื่องการสมัคร การจะส่งบุตรหลานผ่านเอเยนซี่ต้องศึกษาให้ดี เพราะคนไทยโดนหลอกมาเยอะมากในกรณีติดต่อผ่านเอเยนซี่ (Agency) ในเรื่องหาโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียนไทย ที่ต้องการมาศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย แต่โดยส่วนมากเท่าที่ผมเคยทราบมา จะเป็นเด็กนักเรียนมัธยมเสียมากกว่า เพราะผู้ปกครองค่อนข้างจะเป็นห่วงมากกว่านักศึกษาที่มาศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ราคาค่อนข้างแพงมากอาจจะตกอยู่หัวละ 3-4 แสนบาท ถือว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับมาหาที่เรียนด้วยตนเอง แต่หากเจอเอเยนซี่ที่ดีก็ดีไป แต่หากเจอเอเยนซี่ที่จ้องแต่หาผลประโยชน์กับลูกหลานเราก็ซวยไป ดังนั้นเราต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงการจะส่งลูกหลานผ่านเอเยนซี่ ควรสอบถามรายละเอียดกับสถานทูตอินเดียเป็นการดีที่สุดในการจะติดต่อเอเยนซี่อย่างน้อยก็เพิ่มความมั่นใจว่าไม่ถูกหลอก

หากติดต่อผ่านเอเยนซี่ที่ดีลูกหลานของเราก็จะได้รับสะดวกสบายทุกอย่าง เช่น ค่าเครื่อง ค่าวีซ่า ค่าเทอม ทางเอเยซี่จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด แต่หากมาติดต่อเองหรือผ่านนักศึกษาที่เรียนอยู่ในอินเดียเป็นผู้ดำเนินการให้ อาจจะไม่แพงและเป็นวิธีที่ดีที่สุดและมั่นใจได้เลยว่าไม่ถูกหลอก แต่ส่วนมากการมาติดต่อสอบถามเอง ค่อนข้างจะมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารแต่ผมเชื่อว่าทุกเมืองในอินเดียย่อมมีคนไทยอยู่อาจจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง และรู้ด้วยว่าสถาบันการศึกษาแห่งไหนที่ดีหรือไม่ดี ดังนั้นผู้ปกครองบางท่านที่ไม่ชอบเรื่องมากและมักง่าย  จึงเลือกที่จะใช้บริการผ่านทางเอเยนซี่  มากกว่าที่จะมาติดต่อด้วยตนเอง อินเดียก็ไม่แตกต่างอะไรกับเมืองไทยคือใช้เงินเป็นบัตรผ่านประตูได้ทุกอย่าง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ


เมื่อเอเยนซี่ที่เห็นแก่ได้เจอแขกจอมเขี้ยวลากดิน อะไรจะเกิดขึ้น ครั้งแล้วและครั้งเล่าที่มีผู้ปกครองที่อยากจะเห็นอนาคตบุตรหลานมาเรียนต่างประเทศต้องถูกเอเยนซี่หลอก และยังจะมีต่อไป สำหรับผู้ปกครองที่มักง่าย และที่สำคัญที่สุด ต้องทำการค้นคว้าเล็กๆบ้างว่าเมืองนี้มีคนไทยเรียนอยู่หรือเปล่า มหาวิทยาลัยมีกี่แห่ง เปิดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง ที่ไหนและอย่างไร ถ้าจะเรียนภาษาอังกฤษ ควรจะไปที่ไหน ค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน กรณีที่อยากพาลูกหลานมาเรียน อายุยังไม่เกิน 18 ปี ผมอยากให้คำแนะนำ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมาด้วยตนเองเป็นการดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยนะครับ อย่างน้อยอาจจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ตลอดจนสภาวะสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ลูกหลานเราจะใช้ชีวิตอยู่เพื่อการศึกษาครับ เพราะอย่าลืมว่าเด็กก็คือเด็ก ปัญหาบางอย่างช่วงเล็กๆอาจจะยังตัดสินใจอะไรเองไม่ได้ ต้องให้ผู้ปกครองคอยชี้แนะ

ข่าวสารข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตท่านสามารถเข้าไปดูและเยี่ยมชมได้ โดยการค้นหารายชื่อจากอินเตอร์เน็ต ในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ท่านจะได้รับข้อมูลจริงๆ นั่นก็คือประวัติมหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง หอพัก และเนื้อที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลจริงๆที่เราจะได้ และอาจจะมีภาพบรรยากาศของสถาบันการศึกษานั้นๆให้ได้ดูบ้างสัก 2-3 ภาพ ส่วนข้อมูลทางคณะที่เราจะมาเรียน โดยส่วนมากจะไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงสักเท่าไหร่ 

บางมหาวิทยาลัยประกาศในอินเตอร์เน็ตบอกว่ามีคณะที่เราสามารถเรียนได้ แต่พอมาสมัครเรียนจริงๆ อาจจะมีข้อแม้หรือเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ได้ระบุลงเอาไว้ในเว็บ ไม่มีการเรียนการสอนตามที่ประกาศเอาไว้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในอีกหลายๆอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้ ซึ่งควรจะต้องทำใจในการเดินทางมาเรียนที่อินเดียและเข้าใจระบบการทำงานของแขกด้วย และเป็นเรื่องที่ทราบกันดีโดยทั่วไปของนักศึกษาไทยในอินเดียถึงเรื่องความล้าช้าอย่างมากๆ และเอามาตรฐาน ISO อะไรมาวัดไม่ได้ แล้วแต่อารมณ์เจ้าหน้าที่ว่างั้นเถอะ

เพราะว่าระบบการศึกษาอินเดียรวมทั้งระบบการทำงานของแขกไม่เหมือนประเทศไทย ขอบอก....หากอยากทราบข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบการศึกษาจริงๆ ควรสอบถามข้อมูลจากคนที่เพิ่งจบไปหรือหากมีเวลามากและมีสตางค์พอมาหาที่เรียนที่อินเดียด้วยตัวเองจะดีกว่าจะได้รับรู้ถึงสภาพภูมิอากาศของแต่ละรัฐ หรือสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าเราน่าจะกลั้นใจอยู่ได้หรือเปล่า และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดจนอุปนิสัยของแขกในเมืองนั้นๆ ด้วย  และมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามนั่นก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในบางรัฐที่ท่านจะไปศึกษาต่อ ค่อนข้างหาลำบากหรือหากจะบอกว่าไม่มี ก็คงไม่ผิดอะไรมากนัก  เมืองที่ผมอยู่ จะหาน้ำปลาสักขวด ช่างแสนลำบาก จึงไม่แปลกอะไร หากท่านจะนำสิ่งเหล่านี้ติดกระเป๋าเดินทางมาด้วย  การเดินทางมาศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่นักศึกษาไทยที่ไปเรียนอเมริกา อังกฤษหรือออสเตเรีย ก็ลอกเลียนแบบไม่ได้


ตอนแรกๆ ที่รุ่นพี่บอกว่าให้เอามุ้งหมอน กะปิ น้ำปลา ปลาร้า ปลาแห้ง หม้อหุงข้าว คนอร์ บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำพริก อาหารแห้งพกเอามาด้วย ให้ใส่กระเป๋าเยอะๆ  มากเท่าที่จะมากได้ บอกตามตรงว่าผมอายที่จะไปบอกใครๆ ว่ากำลังไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะสิ่งของที่ผมกำลังตระเตรียมเหมือนกับผู้คนที่กำลังไปเข้าค่ายลูกเสือหรือหากมีโทรศัพท์มือถือ ก็ให้เอาแต่เครื่องเปล่ามา ซิมการ์ดไม่ต้องพกมา เพราะซิมการ์ดที่เมืองไทยใช้ไม่ได้ต้องมาซื้อซิมการ์ดที่อินเดียใส่หรือหากมี Laptop ก็ให้พกเอามาด้วยยิ่งจะเป็นการดีมาก แต่พอได้มาใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียจริงๆ ถึงได้รับรู้ถึงความลำบากในเรื่องอาหารการกิน กะปิ น้ำปลา คนอร์หรือบางคนอาจจะชอบผงชูรส  น้ำปลาเป็นสิ่งหายากในอินเดียและมีราคาแพงมาก หรือแม้แต่เครื่องแกงสำเร็จรูปบางอย่างก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตอยู่ และอีกไม่นานชีวิตผมก็ต้องยอมรับสภาพว่าชีวิตนี้ท่านขาด คนอร์ กะปิ น้ำปลา บะหมี่สำเร็จรูปและผงชูรสไม่ได้

เหตุผลง่ายๆที่ไม่ต้องอาศัยหลักการอะไร ที่ทำให้คิดมากแล้วปวดหัว นั่นก็คือ คนไทยโดยส่วนมากทานอาหารแบบแขกไม่ได้ เพราะส่วนมากอาหารแขกจะเน้นถั่วและมังสวิรัติ ซึ่งมีส่วนผสมเครื่องเทศเต็มไปหมด อาหารบางอย่างต้องขอบอกว่าโนคาร์โนเนชั่น คือไม่มีรสชาติเอาเสียเลย ที่ผมพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารแขกจะไม่มีที่อร่อยเสียทีเดียว อาหารบางรายการก็ลำแต้ๆ ตอนแรกก็อาจจะลำบากในเรื่องของการปรับตัว

ผมเองก็เลยคิดว่าการอยู่อินเดียทำไมมันช่างลำบากอะไรเช่นนี้ คิดถึงเมืองไทยอย่างแรงเลย เคยแต่ได้ยินคนที่ไปต่างประเทศพูดให้ฟัง ไม่มีที่ไหนอีกแล้วเปรียบดั่งสวรรค์บ้านนาเท่ากับประเทศไทย แต่ผมก็คิดเสมอว่ามันลำบากก็จริงแต่ทำไมคนอื่นเขาก็ยังอยู่ได้ ทำไมผมจะอยู่ไม่ได้ ดูนักศึกษาไทยรุ่นพี่แต่ละคน บางคนไม่อยากจะกลับเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ แต่ก็มีบางคนที่รับสภาพไม่ได้ คิดว่าชาตินี้คงอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับแขกไม่ได้ และทนดมเต่าแขกไม่ไหว ก็มีอันต้องกลับไปเรียนต่อที่เมืองไทยตามเดิมก็มีทุกปี

ก่อนไปเรียนที่อินเดีย ผมอยากฝากรุ่นน้องที่เป็นวัยทีนทั้งหลายท่องคาถานี้เอาไว้ “ตั้งใจเรียน...รีบเรียน รีบจบ รีบกลับ” เป็นพรอันประเสริฐที่รุ่นพี่มักจะสอน ผมก็จำแต่ก็ไม่เคยทำได้สักที อยากให้คนที่จะไปเรียนตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและแน่วแน่ว่า ไปอินเดียทำไม! หากไปเล่นไปเที่ยว ไม่ต้องลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามภูเขาไปเล่นไปเที่ยวที่อินเดีย เล่นเที่ยวที่เมืองไทยก็ได้ เพราะมีรุ่นน้องหลายๆคนที่ผมเห็นเป้าหมายชีวิตที่เคยตั้งใจเอาไว้ เปลี่ยนไปเมื่อได้เข้ามาเรียนแล้ว อาจจะเป็นเพราะห่างตาพ่อแม่หรืออิสระเสรีหรืออย่างไรก็ไม่อาจจะทราบได้ด้วยการเดา  คำพูดที่ว่ารีบเรียน รีบจบ รีบกลับ อาจจะใช้ไม่ได้กับนักศึกษาไทยบางคน

นักศึกษาหลายคน คิดว่าไม่ได้ขอตังค์ใครมาเรียน ใครเตือนใครสอนไม่ได้ หากมีคนเตือนก็โกรธ เพราะถือว่าตัวเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เก่ง รู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับอินเดีย ไม่ต้องสอน มีนักศึกษาไทยเป็นจำนวนมาก ที่ต้องเสียเวลา เพราะเล่น เที่ยว มากกว่าเรียน ทั้งที่อินเดียก็ไม่ได้มีอะไรให้น่าเที่ยวเท่ากับอยู่เมืองไทย หลายคนลืมนึกไปว่ากำลังเรียนแข่งกับอายุตัวเอง ปีหนึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก เพราะยิ่งเสียเวลามากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า เรายิ่งแก่ตัวไปมากเท่านั้น มีนักศึกษาไทยอีกจำนวนหนึ่งที่เป้าหมายชีวิตหรืออุดมการณ์ที่พกมาจากเมืองไทยต้องตบะแตกเพราะสาวแขก

บางคนสาวแขกก็หลอกเอาเงิน พ่อแม่อยู่เมืองไทยก็นึกว่าลูกคงไปเรียนหนังสือ ไม่รับรู้อะไร มีหน้าที่ส่งเงินให้อย่างเดียว นับว่าเป็นอุทาหรณ์สอนรุ่นน้องเป็นอย่างดี แต่ก็มีให้เห็นทุกปี  อาจเป็นมนต์เสน่ห์ของอินเดียอีกอย่างหนึ่ง หากมีโอกาสมาสัมผัสวิถีชีวิตนักศึกษาในเมืองแขก เราอาจจะพบนักศึกษาไทยอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีเงินแต่ไม่ค่อยอยากเรียน ส่วนกลุ่มที่สองคือไม่มีเงินแต่อยากเรียน ไม่ว่าเรียนที่มหาวิทยาลัยไหน ก็อาจจะพบนักเรียนสองประเภทนี้

อีกประการสุดท้ายที่ควรตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า เราคาดหวังอะไรมากไม่ได้ในอินเดียสำหรับท่านที่จะมาเรียนในระดับปริญญาเอก บางครั้งเราพร้อมแต่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่พร้อม ไม่ค่อยตรวจงานให้ อาจจะใช้เวลา 4-5 ปี ยิ่งใช้เวลามากเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็ต้องมากขึ้น ตั้งใจเรียน อย่าลืมเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ก่อนมาเรียนครับ คือสิ่งแรกที่ผมอยากฝากเตือน

ความคิดเห็น
guest profile guest
แป้งจะปาตีจิ้มนมข้นหวานก็อร่อยค่า ^^"

ถ้าไม่เรื่องมาก ไม่ชอบเที่ยว ก็คงอยู่ได้นะคะ

แต่ถ้าปัญหาเกิดจากทางมหาลัย และก็อาจารย์แขกเนี่ยก็น่าปวดหัวเหมือนกัน

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

10 ปีที่ผ่านมา
guest Icon อยากไปเรียน นวด ที่อินเดีย 1 อ่าน 4,617 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon บังเอิญเกิดเร็ว (ไปหน่อย) 29 อ่าน 14,587 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon เสียดายคนหูหนวกไม่ได้ฟัง 1 อ่าน 7,212 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon เงื่อนไขของชีวิต? อ่าน 4,220 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
Phindia Icon ผี ฝาโลง คนตาย..คนเป็นๆ 1 อ่าน 4,120 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา